ผลการประชุมสภารัฐมนตรีสมาคมแห่งมหาสมุทรอินเดีย ครั้งที่ 23
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 26 December 2023 23:35
- Hits: 2761
ผลการประชุมสภารัฐมนตรีสมาคมแห่งมหาสมุทรอินเดีย ครั้งที่ 23
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่กระทรวงการต่างบระเทศ (กต.) เสนอ ดังนี้
1. รับทราบผลการประชุมสภารัฐมนตรีสมาคมแห่งมหาสมุทรอินเดีย (Indian Ocean Rim Association: IORA)1 ครั้งที่ 23
2. มอบหมายส่วนราชการที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามตารางติดตามความคืบหน้าการดำเนินการ
สาระสำคัญของเรื่อง
กต. รายงานว่า
1. ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ (นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว) ได้เข้าร่วมประชุม IORA ครั้งที่ 23 เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2566 ณ กรุงโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศศรีลังกาเป็นประธาน) โดยมีผลการประชุมที่สำคัญสรุปได้ ดังนี้
1.1 ที่ประชุมฯ ได้รับรองร่างแถลงการณ์โคลัมโบ ค.ศ. 2030 และร่างวิสัยทัศน์สมาคมแห่งมหาสมุทรอินเดีย ค.ศ. 2030 และสืบต่อไป เพื่อแสดงเจตนารมณ์ของประเทศสมาชิกในการพัฒนาความร่วมมือระหว่างกันในการรับมือกับประเด็นท้าทายของโลกโดยที่ประชุมฯ ได้มีการเพิ่มเติมประเด็นในเอกสารทั้ง 2 ฉบับบางประการ ซึ่งมีสาระสำคัญไม่ต่างจากฉบับที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2566 สรุปได้ ดังนี้
ร่างเอกสาร |
ประเด็นเพิ่มเติม |
|
(1) ร่างแถลงการณ์โคลัมโบ ค.ศ. 2030 |
-ยืนยันความมุ่งมั่นที่จะดำเนินการตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของ IORA - เน้นย้ำความจำเป็นถึงการเสริมสร้างขีดความสามารถของสำนักเลขาธิการ IORA เพื่อสนับสนุนการดำเนินการ - ยินดีต่อการรับรองมุมมอง IORA ต่ออินโด-แปซิฟิกและการดำเนินการตามแผนงานร่วมกัน - รับทราบความคิดริเริ่มของบังคลาเทศต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศที่เร่งด่วน |
|
(2) ร่างวิสัยทัศน์สมาคมแห่งมหาสมุทรอินเดีย ค.ศ. 2030 และสืบไป |
- เน้นย้ำมุมมอง IORA ต่ออินโด-แปซิฟิก ซึ่งที่ประชุมสภารัฐมนตรี IORA รับรองแล้วเมื่อปี 2022 - เพิ่มบทบาทสตรีในสภาธุรกิจเพื่อเพิ่มศักยภาพและการมีส่วนร่วมของผู้ประกอบการสตรีในภูมิภาค - เพิ่มบทบาทของสภาธุรกิจ IORA ทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาค เพื่อสร้างการตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมของ สภาธุรกิจ - ส่งเสริมให้มีประเทศผู้ประสานงานสำหรับประเทศหุ้นส่วนคู่เจรจา |
1.2 ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศได้กล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมฯ โดยมุ่งเน้นการขับเคลื่อนความร่วมมือในกรอบ IORA เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนและครอบคลุมในภูมิภาค เช่น ความสำคัญของการแก้ไขปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการรักษาความปลอดภัย และความมั่นคงในภูมิภาคมหาสมุทรอินเดีย รวมถึงการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว
1.3 ประเทศสมาชิกและประเทศหุ้นส่วนคู่เจรจาได้ให้ความสำคัญร่วมกัน 5 ประเด็น ได้แก่ (1) ความมั่งคั่งในภูมิภาคมหาสมุทรอินเดีย (2) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการรับมือกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (3) การใช้ทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน (4) การรับรองสหภาพยุโรปเป็นประเทศหุ้นส่วนคู่เจรจาใหม่ และ (5) รับทราบกรณีศรีลังกาจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำ IORA ในปี 2567
2. กต. ได้กำหนดประเด็นการติดตามความคืบหน้าการดำเนินการของประเทศไทย สรุปได้ ดังนี้
ประเด็นติดตาม |
หน่วยงานรับผิดชอบ |
|
การดำเนินการตามแผนปฏิบัติการสมาคม แห่งมหาสมุทรอินเดีย ฉบับที่ 2 (ค.ศ. 2022-2027) - สาขาความมั่นคงและความปลอดภัยทางทะเล - สาขาการอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุน - สาขาบริหารจัดการด้านประมง - สาขาการจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติ - สาขาความร่วมมือทางด้านวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี - สาขาการท่องเที่ยวและการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม - สาขาเศรษฐกิจภาคทะเล - สาขาการส่งเสริมบทบาททางเศรษฐกิจของสตรี |
- กระทรวงกลาโหม (กองทัพเรือ) - กระทรวงพาณิชย์ - กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กรมประมง) - กระทรวงมหาดไทย (กรมป้องกันและบรรเทา สาธารณภัย) - กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) - กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม - กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) - กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) - กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) (กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง) - กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) (กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว) |
|
การเพิ่มความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นประเด็นคาบเกี่ยวของสมาคมแห่งมหาสมุทรอินเดียและการเตรียมการเพื่อจัดตั้งคณะทำงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ |
ทส. |
______________
1 สมาคมแห่งมหาสมุทรอินเดีย (IORA) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2538 มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือและการพัฒนาอย่างยั่งยืนในภูมิภาคมหาสมุทรอินเดีย มีสมาชิก 23 ประเทศ และประเทศคู่เจรจาอีก 11 ประเทศ ครอบคลุม 6 สาขา ความร่วมมือ ได้แก่ (1) ความมั่นคงและความปลอดภัยทางทะเล (2) การอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุน (3) การบริหารจัดการประมง (4) การจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติ (5) ความร่วมมือทางวิชาการ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ (6) การท่องเที่ยวและการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม และประเด็นที่ประเทศสมาชิกให้ความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ 3 ประเด็น ได้แก่ เศรษฐกิจภาคทะเล การส่งเสริมบทบาททางเศรษฐกิจของสตรี และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 26 ธันวาคม 2566
12835