ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 (แก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวง ฉบับที่ 44 (พ.ศ. 2538)ฯ)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 20 December 2023 03:28
- Hits: 2564
ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 (แก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวง ฉบับที่ 44 (พ.ศ. 2538)ฯ)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 (แก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวง ฉบับที่ 44 (พ.ศ. 2538)ฯ) ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอและให้ดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงมหาดไทยรับความเห็นของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
มท. เสนอว่า
1. ด้วยกฎกระทรวง ฉบับที่ 44 (พ.ศ. 2538) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 กำหนดให้การก่อสร้างอาคารเพื่อประโยชน์ในการอยู่อาศัยและประกอบกิจการต้องมีระบบระบายน้ำและการกำจัดขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล เช่น หอพัก อาคารชุด โรงแรม สถานพยาบาล ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น ต้องมีระบบบำบัดน้ำเสียซึ่งประกอบด้วยบ่อเกรอะ1 และบ่อซึม2 ก่อนที่จะระบายลงสู่แหล่งรองรับน้ำทิ้ง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมเกี่ยวกับการสาธารณสุขและการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม และมีกฎกระทรวง ฉบับที่ 51 (พ.ศ. 2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 กำหนดมาตรฐานควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากอาคารบางประเภทและบางขนาด เช่น กำหนดให้อาคารตามที่กำหนดต้องมีระบบบำบัดน้ำเสียที่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการปรับปรุงน้ำเสียจากอาคารให้เป็นน้ำที่มีคุณภาพตามมาตรฐานที่กำหนด (เช่น อาคารประเภท ง ต้องมีปริมาณตะกอนหนักไม่เกิน 0.5 มิลลิลิตร/ลิตร มีปริมาณน้ำมันและไขมัน ไม่เกิน 20 มิลลิกรัม/ลิตร เป็นต้น) เพื่อควบคุมมาตรฐานและคุณภาพน้ำทิ้ง
2. เนื่องจากข้อกำหนดเกี่ยวกับระบบบำบัดน้ำเสียที่กฎกระทรวง ฉบับที่ 44 (พ.ศ. 2538)ฯ กำหนด ยังไม่ครอบคลุมเนื้อหาและรายละเอียดที่สำคัญเกี่ยวกับแบบและขนาดขั้นต่ำของระบบบำบัดน้ำเสีย โดยกำหนดเพียงให้ระบบบำบัดน้ำเสียต้องประกอบด้วยบ่อเกรอะและบ่อซึมเท่านั้น ซึ่งไม่ได้กำหนดรายละเอียดอื่น เช่น รูปแบบ ขนาด หรือตำแหน่งของบ่ออันเป็นรายละเอียดที่จะทำให้ระบบดังกล่าวมีมาตรฐาน ประกอบกับปัจจุบันวิธีการบำบัดน้ำเสียด้วยบ่อซึมไม่เหมาะสมกับประเทศไทย3 และการกำหนดให้ระบบบำบัดน้ำเสียต้องประกอบด้วยบ่อเกรอะและบ่อซึมนั้น ไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ในทางปฏิบัติจริงที่สามารถรวมทั้ง 2 บ่อ ไว้ด้วยกัน ซึ่งการแยกระบบบำบัดออกเป็น 2 บ่อหรือรวมเป็นบ่อเดียวนี้ถือเป็นทางเลือกที่ประชาชนสามารถเลือกปฏิบัติได้ อันจะช่วยอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนและลดภาระค่าใช้จ่ายแก่ประชาชน ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องแก้ไขข้อกำหนดเกี่ยวกับแบบระบบบำบัดน้ำเสียสำหรับอาคารให้มีความเหมาะสมมากขึ้น เพื่อให้การบำบัดน้ำเสียมีประสิทธิภาพในการควบคุมเกี่ยวกับการสาธารณสุขและการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมมากขึ้นและเป็นไปตามมาตรฐานสากล อีกทั้งมีความจำเป็นต้องเพิ่มเติมข้อกำหนดสำหรับอาคารประเภทและขนาดตามที่ระบุไว้ในกฎกระทรวงฉบับที่ 44 (พ.ศ. 2538)ฯ4 ที่ขอรับบริการบำบัดน้ำเสียรวมของหน่วยงานของรัฐแล้วให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของกฎกระทรวง ฉบับที่ 44 (พ.ศ. 2538)ฯ เพื่อให้ไม่เป็นการบำบัดน้ำเสียซ้ำซ้อน และช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายที่เกินความจำเป็นให้แก่ประชาชน ทั้งนี้ ในส่วนของหลักเกณฑ์รายละเอียดของแบบระบบบำบัดน้ำเสีย เช่น รูปแบบและตำแหน่ง ลักษณะของโครงสร้าง เป็นต้นจะกำหนดไว้ในประกาศกระทรวงมหาดไทยโดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมอาคารต่อไป ซึ่งในคราวประชุมคณะกรรมการควบคุมอาคาร ครั้งที่ 1515 - 28/2565 ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงดังกล่าวด้วยแล้ว
3. มท. ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างกฎกระทรวงดังกล่าวโดยได้รับฟังความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ระบบกลางทางกฎหมาย (www.law.go.th) รวมทั้งได้จัดทำสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นและรายงานการวิเคราะห์กระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายและเปิดเผยเอกสารดังกล่าวผ่านทางเว็บไซต์ ตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 และกฎกระทรวงกำหนดร่างกฎที่ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นและวิเคราะห์ผลกระทบ พ.ศ. 2565 ด้วยแล้ว
ดังนั้น มท. จึงยืนยันให้ดำเนินการร่างกฎกระทรวงที่ สคก. ตรวจพิจารณาแล้วต่อไป
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
1. แก้ไขปรับปรุงแบบระบบบำบัดน้ำเสีย โดยกำหนดให้ระบบบำบัดน้ำเสียต้องประกอบด้วยส่วนเกรอะ5 และส่วนบำบัด6 ซึ่งในส่วนของหลักเกณฑ์รายละเอียดของส่วนเกรอะและส่วนบำบัด เช่น รูปแบบและตำแหน่ง ลักษณะของโครงสร้าง เป็นต้น จะกำหนดไว้ในประกาศกระทรวงมหาดไทยโดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมอาคารต่อไป (เนื่องจากเดิมกำหนดเพียงให้ระบบบำบัดน้ำเสียต้องประกอบด้วยบ่อเกรอะและบ่อซึม โดยต้องมีขนาดได้สัดส่วนที่เหมาะสมกับการใช้ของผู้ที่อยู่อาศัยในอาคารเท่านั้น ไม่ได้กำหนดรูปแบบหรือขนาดขั้นต่ำแต่อย่างใด) โดยมีการแก้ไขรายละเอียดในส่วนของถ้อยคำจากเดิม “บ่อ” เป็น “ส่วน” (เนื่องจากเดิมระบบบำบัดน้ำเสียต้องประกอบด้วยบ่อเกรอะและบ่อซึมแต่ในทางปฏิบัติจริงสามารถรวมบ่อเกรอะและบ่อซึมไว้ในบ่อเดียวกันได้ซึ่งประชาชนสามารถเลือกปฏิบัติได้โดยอาจแยกเป็น 2 บ่อหรือรวมไว้เป็นบ่อเดียวกันได้ จึงแก้ไขเป็นคำว่า “ส่วน” เพื่อความเหมาะสม) รวมทั้งแก้ไขเพิ่มเติมถ้อยคำ จากเดิม “บ่อซึม” เป็น “ส่วนบำบัด” (เนื่องจากปัจจุบันบ่อซึมซึ่งเป็นวิธีการบำบัดน้ำเสียรูปแบบหนึ่งนั้นไม่ใช่วิธีการบำบัดน้ำเสียที่เหมาะสมกับประเทศไทยแล้ว) เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน
2. แก้ไขเพิ่มเติมถ้อยคำจากเดิม “ใช้วิธีผ่านบ่อซึม” เป็น “ใช้วิธีการซึม” เพื่อให้สอดคล้องกับกรณีที่ได้แก้ไขคำว่า “บ่อซึม” เป็น “ส่วนบำบัด”
3. เพิ่มเติมข้อกำหนด โดยกำหนดให้อาคารประเภทและขนาดตามที่ระบุไว้ในกฎกระทรวง ฉบับที่ 44 (พ.ศ. 2538)ฯ ที่ขอรับบริการบำบัดน้ำเสียรวมของหน่วยงานของรัฐแล้วให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของกฎกระทรวง ฉบับที่ 44 (พ.ศ. 2538)ฯ เพื่อให้ไม่เป็นการบำบัดน้ำเสียซ้ำซ้อน และช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายที่เกินความจำเป็นให้แก่ประชาชน
4. กำหนดบทเฉพาะกาล โดยกำหนดให้อาคารที่ได้รับใบอนุญาตหรือใบรับแจ้งการก่อสร้างหรือดัดแปลง หรือที่ได้ยื่นคำขออนุญาตหรือได้รับแจ้งการก่สร้างหรือดัดแปลงอาคารตามมาตรา 39 ทวิ7 ได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงนี้ เนื่องจากทำให้เป็นภาระแก่ประชาชนมากขึ้น
__________________
1 บ่อเกรอะ คือบ่อที่เอาไว้กักเก็บสิ่งปฏิกูลต่างๆ เพื่อแยกกากและไขมันออกจากน้ำเสียก่อนจะส่งผ่านไปยังบ่อซึม
2 บ่อซึม คือบ่อที่รองรับน้ำเสียจากบ่อเกรอะ ก่อนจะปล่อยน้ำเสียจากบ่อซึมเหล่านี้ซึมสู่ชั้นดินหรือระบายลงสู่แหล่งรองรับน้ำทิ้ง โดยเป็นวิธีการบำบัดน้ำเสียรูปแบบหนึ่งที่ใช้ชั้นดินเป็นตัวปรับปรุงน้ำเสีย
3 บ่อเกรอะและบ่อซึมจะต้องตั้งอยู่ห่างจากแหล่งน้ำที่ใช้ในการอุปโภคบริโภคทั่วไป เนื่องจากความสกปรกสามารถกระจายมาตามดินได้ และในกรณีที่มีน้ำใต้ดินสูง ก็จะไม่สามารถใช้บ่อเกรอะและบ่อซึมได้ เพราะน้ำในบ่อซึมจะไม่สามารถซึมออกไปในดินได้ และเมื่อถึงเวลาที่บ่อเต็มจะต้องมีการดูดสิ่งปฏิกูลจากบ่อเกรอะออกไปทิ้งด้วยมิฉะนั้นจะใช้งานไม่ได้ อีกทั้งยังพบปัญหาการปนเปื้อนของบ่อซึมไปยังแหล่งน้ำใต้ดินอีกด้วย
4 อาคารจำนวน 4 ประเภท ได้แก่ (1) อาคารประเภท ก เช่น อาคารชุดตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุดที่มีจำนวนห้องชุดรวมกันทุกชั้นในอาคารหลังเดียวกันหรือหลายหลังรวมกันเกิน 500 ห้องชุด สถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาลที่มีจำนวนเตียงรับผู้ป่วยไว้ค้างคืนรวมกันทุกชั้นในอาคารหลังเดียวกันหรือหลายหลังรวมกันเกิน 30 เตียง (2) อาคารประเภท ข เช่น อาคารชุดตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุดที่มีจำนวนห้องชุดรวมกันทุกชั้นในอาคารหลังเดียวกันหรือหลายหลังรวมกันเกิน 100 ห้องชุด แต่ไม่เกิน 500 ห้องชุด ภัตตาคารหรือร้านอาหารที่มีพื้นที่รวมกันทุกชั้นในอาคารหลังเดียวกันหรือหลายหลังรวมกันเกิน 500 ตารางเมตร แต่ไม่เกิน 2,500 ตารางเมตร (3) อาคารประเภท ค เช่น อาคารชุดตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุดที่มีจำนวนห้องชุดรวมกันทุกชั้นในอาคารหลังเดียวกันหรือหลายหลังรวมกันไม่เกิน 100 ห้องชุด ภัตตาคารหรือร้านอาหารที่มีพื้นที่รวมกันทุกชั้นในอาคารหลังเดียวกันหรือหลายหลังรวมกันเกิน 100 ตารางเมตร แต่ไม่เกิน 500 ตารางเมตร และ (4) อาคารประเภท ง เช่น หอพักตามกฎหมายว่าด้วยหอพักที่มีจำนวนห้องนอนรวมกันทุกชั้นในอาคารหลังเดียวกันหรือหลายหลังรวมกันไม่เกิน 50 ห้อง ภัตตาคารหรือร้านอาหารที่มีพื้นที่รวมกันทุกชั้นในอาคารหลังเดียวกันหรือหลายหลังรวมกันไม่เกิน 100 ตารางเมตร
5 ส่วนเกรอะ คือส่วนของที่กักเก็บสิ่งปฏิกูลต่างๆ โดยในส่วนนี้จะต้องมีลักษณะมิดชิดน้ำซึมผ่านไม่ได้ เพื่อใช้เป็นที่แยกกากและไขมันที่ปนอยู่ในน้ำเสีย เพื่อเป็นการแยกกากและไขมันก่อนส่งผ่านไปยังส่วนบำบัด
6 ส่วนบำบัด คือส่วนที่รองรับน้ำเสียที่ผ่านจากส่วนเกรอะแล้ว เพื่อแยกกากและไขมันส่วนที่เหลือ และบำบัดให้น้ำเสียนี้เป็นน้ำทิ้งต่อไป
7 มาตรา 39 ทวิ กำหนดให้ผู้ใดจะก่อสร้าง ดัดแปลง หรือรื้อถอนอาคาร โดยไม่ยื่นขอรับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นก็ได้ โดยการแจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามแบบที่คณะกรรมการควบคุมอาคารกำหนดพร้อมด้วยเอกสารและหลักฐานตามที่ระบุไว้ในแบบดังกล่าว โดยอย่างน้อยต้องแจ้งข้อมูลและยื่นเอกสารและหลักฐาน เช่น (1) ชื่อของผู้รับผิดชอบงานออกแบบอาคาร ซึ่งเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมตามกฎหมายว่าด้วยสถาปนิก และต้องไม่เป็นผู้ได้รับการแจ้งชื่อตามมาตรา 49 ทวิ แผนผังบริเวณ แบบแปลน รายการประกอบแบบแปลน และรายการคำนวณของอาคารที่จะก่อสร้าง ดัดแปลง หรือรื้อถอน ซึ่งลงลายมือชื่อพร้อมกับระบุชื่อของบุคคลตาม (1) และ (2) ให้ชัดเจนว่าตนเป็นผู้รับผิดชอบงานออกแบบอาคารและเป็นผู้รับผิดชอบงานออกแบบและคำนวณอาคารนั้น
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 19 ธันวาคม 2566
12601