รายงานผลการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2566-2570)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 20 December 2023 03:16
- Hits: 2422
รายงานผลการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2566-2570)
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอดังนี้
1. รับทราบแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2566-2570)
2. รับทราบแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะในระยะต่อไป
สาระสำคัญและข้อเท็จจริง
กระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะหน่วยงานหลักที่ได้รับมอบหมายให้ติดตามและรายงานผลการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2566-2570) ต่อคณะรัฐมนตรี ขอรายงานสรุปความคืบหน้าการดำเนินการของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ในการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ปี พ.ศ. 2566 และแนวทางการขับเคลื่อน การพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ในระยะต่อไป ดังนี้
1. แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2566-2570)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2566-2570) ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2565 เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการผลิตอุปกรณ์และระบบอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะในอาเซียน โดยมีเทคโนโลยีเป็นของตนเองภายในปี 2570 โดยประกอบด้วยมาตรการ ดังนี้
มาตรการที่ 1 ยกระดับศักยภาพการแข่งขันของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เดิมและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ โดยมีแนวทางการพัฒนา ดังนี้
1) ดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ต้นน้ำ เช่น Wafer Fabrication, Micro Electronics, Power Electronics และ Communication Electronics
2) ยกระดับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่ประเทศไทยมีฐานการผลิต เช่น IC Packaging ไปสู่ IC Design และ PCB ไปสู่ High Density PCB, Flexible PCB และ Multi-Layer PCB เป็นต้น
3) สร้างผู้ประกอบการ Startup และพัฒนาบุคลากรด้าน Smart Electronics
4) สร้างและยกระดับบุคลากรให้เป็น Smart Developer (SD)
มาตรการที่ 2 : กระตุ้นอุปสงค์ เพื่อสร้างตลาดการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะในประเทศ และต่อยอดการสร้างหรือพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ โดยมีแนวทางการพัฒนา ดังนี้
1) สนับสนุนหน่วยงานภาครัฐในการจัดซื้อจัดจ้างใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะหรือใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะที่ดำเนินการโดยผู้ประกอบการไทย ในสัดส่วนที่ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 หรือได้มาตรฐานตามที่หน่วยงานมาตรฐานของไทยเป็นผู้กำหนดขึ้น
2) กระตุ้นอุปสงค์การใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะของภาคเอกชนและภาครัฐในภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้เกิดการพัฒนาต่อยอดเป็น Smart Home & Smart Appliance, Smart Factory, Smart Hospital & Health, Smart Farm และ EV
มาตรการที่ 3 : สร้างและพัฒนา Eco System สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ
1) ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและสร้าง Eco-system ให้สอดรับกับการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ เช่น IoT Platform, Cloud System, Data Center, Data Security, 5G และ Connectivity Teachnology เป็นต้น
2) จัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศเฉพาะทาง (Excellence Center) เช่น ด้าน IC/Circuit/PCB Design และ Micro/Nanotechnology Design เป็นต้น
3) ยกระดับสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ให้เป็นศูนย์กลางการพัฒนาเทคโนโลยี มาตรฐาน และการทดสอบด้าน Smart Electronics
4) ส่งเสริมให้เกิดการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และพัฒนาระบบการบริหารจัดการซากผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ตั้งแต่การจัดเก็บ รวบรวม การขนส่ง การถอดแยก การรีไซเคิล และการกำจัดซากผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
2. ความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ระยะที่ 1 ในปี พ.ศ. 2566
กระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินการติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยสรุปความคืบหน้าในการดำเนินการได้ ดังนี้
2.1 มาตรการยกระดับศักยภาพการแข่งขันของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เดิม และส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ มีการดำเนินการ ดังนี้
1) การส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ โดยมีผู้ประกอบการขอรับการส่งเสริมเพื่อขอยกเว้นเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 100 จากมูลค่าการลงทุน จำนวน 98 โครงการ คิดเป็นมูลค่า 108,266.8 ล้านบาท (สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน)
2) การสร้างผู้ประกอบการ Startup และพัฒนาบุคลากรด้าน Smart Electronics ให้มีความรู้และต่อยอดเทคโนโลยีและนวัตกรรม ผ่านการดำเนินการของกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (Technology and Innovation-Based Enterprise Development Fund หรือ TED Fund) โดยมีการบูรณาการหน่วยงานให้ทุนสนับสนุน (Funding Agency) หน่วยบ่มเพาะ (Incubator & Accelerator) และนักลงทุน (Investor) ในการสนับสนุนเงินทุน องค์ความรู้ และพัฒนาศักยภาพให้แก่ผู้ประกอบการ Startup โดยปัจจุบันมีสถานประกอบการอยู่ระหว่างดำเนินการสนับสนุนทั้งสิ้น 16 ราย (กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม)
3) การยกระดับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่ประเทศไทยมีฐานการผลิต โดยมีการดำเนินการโครงการวิจัยเชิงกลยุทธ์ (Strategic Fund; SF) ประเภทโครงการนวัตกรรม ระดับอุตสาหกรรม (Industrial Prototype) ในอุตสาหกรรมไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (Microelectronics) และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (Smart Electronics) ของประเทศ เพื่อสนับสนุนการวิจัยเพื่อออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมถึงพัฒนาบุคลากรด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์วงจรรวมในระดับอุตสาหกรรม จำนวน 7 ราย (สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ)
2.2 มาตรการกระตุ้นอุปสงค์เพื่อสร้างตลาดการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะในประเทศและต่อยอดการสร้างหรือพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ มีการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอุปกรณ์หรือผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการบริการผ่านการดำเนินโครงการ/กิจกรรม ดังนี้
1) โครงการพัฒนาศักยภาพกระบวนการผลิตสินค้าเกษตร โดยการจัดกิจกรรมส่งเสริมเกษตรกร ผู้ประกอบการธุรกิจเกษตรและอาหารแปรรูป ให้มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล มีการพัฒนาแพลตฟอร์มฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data platform) ด้านการเกษตร มีเกษตรกรเข้าร่วมจำนวน 300 ราย เกิดรายได้เป็นมูลค่ากว่า 450 ล้านบาท (กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม)
2) โครงการพัฒนาเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ โดยการจัดทำกิจกรรมแปลงเรียนรู้เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ นำเทคโนโลยี Smart Farm และ IoTs มาประยุกต์ใช้ร่วมกับองค์ความรู้ด้านการผลิตพืชของกรมวิชาการเกษตร มีแปลงเรียนรู้เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ จำนวน 6 แปลง ได้แก่ ถั่วเหลืองฝักสด ถั่วเหลือง ถั่วลิสง ถั่วเขียว มันสำปะหลัง และลำไย (กรมวิชาการเกษตร)
3) โครงการยกระดับผลิตภาพภาคอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนด้วยแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) โดยการจัดกิจกรรมเพื่อยกระดับสถานประกอบการให้สามารถใช้ทรัพยากรและพลังงานในกระบวนการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี Smart Electronics จำนวน 5 กิจการ ทำให้สามารถลดต้นทุนด้านพลังงานเฉลี่ยร้อยละ 24.5 และสามารถลดปริมาณ การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 552.75 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม/สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์)
4) การวิจัยพัฒนาต้นแบบ Smart Sensor สำหรับ Safety Home/Safety Workplace ภายใต้โครงการ “การพัฒนาระบบเซนเซอร์แบบกระจายอย่างง่าย สำหรับการเฝ้าติดตาม และแจ้งเตือนคุณภาพอากาศในพื้นที่ปฏิบัติงานแบบเรียลไทม์ผ่านระบบออนไลน์” รวมถึงมีการเผยแพร่ในบทความวิชาการ (กรมวิทยาศาสตร์บริการ)
5) การจัดงานแสดงสินค้า “TAPA 2023” ภายใต้แนวคิด “Sustainable for The Future” ระหว่างวันที่ 5-8 เมษายน 2566 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุม ไบเทค บางนา (กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์)
2.3 มาตรการสร้างและพัฒนา Ecosystem สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะโดยการพัฒนาบุคลากร ระบบ และโครงสร้างพื้นฐาน มีการดำเนินงาน ดังนี้
1) การยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและสร้าง Ecosystem เพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ผ่านการดำเนินโครงการ/กิจกรรม ดังนี้
1.1) การดำเนินการยก (ร่าง) แผนพัฒนาแรงงานและประสานงานการ ฝึกอาชีพในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ เพื่อเสนอคณะอนุกรรมการในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะก่อนนำเข้าเสนอคณะกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานการฝึกอาชีพแรงงานแห่งชาติ (กระทรวงแรงงาน)
1.2) โครงการส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ข้อมูล และปัญญาประดิษฐ์ มีการจัดกิจกรรมดิจิทัลประเทศไทยเพื่ออนาคต พ.ศ. 2566-2570 (Digital Thailand for Future 2023-2027) โดยมีศูนย์วิเคราะห์ทดสอบรับรองมาตรฐาน สร้างนวัตกรรมดิจิทัลด้านเทคโนโลยี 5G จากอุตสาหกรรมเป้าหมาย สร้างมูลค่าการลงทุนของภาคเอกชนในการดำเนินการร่วมกับรัฐ 15 ล้านบาท และมีอัตราการขยายตัวของอุตสาหกรรมและบริการดิจิทัล ข้อมูล และปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ระบบอัตโนมัติและอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ขยายตัวเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 1 (กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม)
1.3) การจัดทำ Industrial Data Analytic and Collaboration Platform ประกอบด้วยฐานข้อมูลผู้ประกอบการและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง รวมถึงเป็น Collaboration Platform เชื่อมโยงระบบนิเวศน์เชิงธุรกิจอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต รวมถึงยกระดับเป็น Smart Factory ภายใต้โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเพื่อยกระดับศักยภาพการแข่งขันเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 (สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม/สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์)
1.4) โครงการพัฒนาศูนย์วิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกสำหรับอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลพื้นฐานด้านอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ประกอบด้วย ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เช่น ข้อมูลผู้ประกอบการ ข้อมูลการผลิต ข้อมูลการตลาด ข้อมูลเทคโนโลยี ตลอดจนรายงานบทวิเคราะห์ และบทวิจัยเกี่ยวกับอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ทั้งผู้ประกอบการภาคเอกชน ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐ ได้นำข้อมูลเหล่านี้ไปวิเคราะห์ และพัฒนาต่อยอดในการดำเนินงานขององค์กร ตลอดจนการพัฒนานโยบายของประเทศต่อไป (สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม/สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์)
2) การจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศเฉพาะทาง (Excellence Center) รวมทั้งส่งเสริมการผลิตด้วยระบบเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อเป็นการยกระดับและเพิ่ม Productivity ให้กับอุตสาหกรรมไทย ผ่านการดำเนินโครงการ/กิจกรรม ดังนี้
2.1) โครงการไทยแลนด์ดิจิทัลวัลเล่ย์ (Thailand Digital Valley) เพื่อเป็นศูนย์กลางการออกแบบนวัตกรรมดิจิทัลของภูมิภาคครบวงจร ตั้งแต่การออกแบบนวัตกรรมบริการทางธุรกิจ การออกแบบวิศวกรรมและสถาปัตยกรรมดิจิทัล รวมทั้งการออกแบบผลิตภัณฑ์ และบรรจุภัณฑ์อุปกรณ์อัจฉริยะที่มีเอกลักษณ์ เพื่อสร้างแบรนด์สินค้าให้กับประเทศไทย รวมถึงเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมบนเทคโนโลยี 5G ของประเทศไทยและภูมิภาค โดยใช้พื้นที่เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (Digital Park Thailand หรือ EECd) ปัจจุบันได้ดำเนินการไปแล้ว ร้อยละ 9.04 ของแผนการจัดตั้ง (กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม)
2.2) โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมดิจิทัล ข้อมูล และปัญญาประดิษฐ์ โดยจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านการออกแบบและการวิเคราะห์ทดสอบวงจรรวมและเซนเซอร์ เพื่อพัฒนาต้นแบบวงจรรวมในระดับวงจรไฟฟ้า มีระบบครุภัณฑ์สำหรับห้องปฏิบัติการวิเคราะห์และทดสอบวงจรรวมและเซนเซอร์ มีหลักสูตรการออกแบบวงจรรวมแบบออนไลน์ รวมทั้งมีเครือข่ายผู้ออกแบบวงจรรวม ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา เพื่อให้ความเห็นในการดำเนินงานและทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง (ศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ)
2.3) ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบไมโครอิเล็กทรอนิกส์แห่งประเทศไทย ประกอบด้วย ฐานข้อมูลด้านกำลังคน ความเชี่ยวชาญ หน่วยงาน และครุภัณฑ์ ทางด้านไมโครอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศ รวมทั้งเครือข่ายภาคเอกชนและต่างประเทศ ตลอดจนมีการพัฒนากำลังคน (Workforce) ที่เกี่ยวข้องกับด้านการออกแบบไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ)
3) การยกร่างมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง 4 มาตรฐาน (สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม)
3.1) ร่างมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เทคโนโลยีสารสนเทศ ปัญญาประดิษฐ์ ภาพรวมเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือในปัญญาประดิษฐ์
3.2) ร่างมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เทคโนโลยีสารสนเทศ ปัญญาประดิษฐ์ การประเมินสมรรถนะการจำแนกของการเรียนรู้ของเครื่อง
3.3) ร่างมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เทคโนโลยีสารสนเทศ ปัญญาประดิษฐ์ ภาพรวมเกี่ยวกับข้อกังวลด้านจริยธรรมและสังคม
3.4) ร่างมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เทคโนโลยีสารสนเทศ ปัญญาประดิษฐ์ กรณีการใช้งานอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (IoT)
4) การส่งเสริมให้เกิดการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และพัฒนาระบบการบริหารจัดการซากผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ โดยผ่านการดำเนินโครงการ/กิจกรรม ดังนี้
4.1) โครงการบ่มเพาะผู้ประกอบการในชุมชนเป้าหมายสู่การเป็นวิสาหกิจหรือสถานประกอบการคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเป็นวัตถุดิบให้แก่อุตสาหกรรมในประเทศ โดยมีผลการดำเนินงาน คือ ผู้ประกอบการและประชาชนในชุมชนเป้าหมาย รวมถึงหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้หลักเกณฑ์มาตรฐานกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับขยะอิเล็กทรอนิกส์ กฎหมาย/สิทธิประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับวิสาหกิจชุมชนหรือสถานประกอบการ และรูปแบบการดำเนินธุรกิจ (Business Model) ที่ยั่งยืน รวมทั้งมีหลักสูตรการพัฒนาและยกระดับผู้ประกอบการให้เป็นวิสาหกิจหรือสถานประกอบการคัดแยก/ถอดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ (กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่)
4.2) การพัฒนาเครื่องจักรและอุปกรณ์คัดแยกซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์เพื่อต่อยอดและขยายผลเทคโนโลยีรีไซเคิลซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์สู่การผลิตในเชิงพาณิชย์ โดยผลการดำเนินงานมีเครื่องจักรและอุปกรณ์สำหรับการคัดแยกวัสดุที่เป็นองค์ประกอบหลักของซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์ ที่ผ่านกระบวนการทางความร้อน หรือ ผ่านกระบวนการคัดแยกกระจกออกด้วยกระบวนการ Hot Knife หรือ Heated Blade และบดย่อยส่วนประกอบที่เหลือเป็นผงขนาดไม่เกิน 1.2 มิลลิเมตร ได้อย่างมีประสิทธิภาพ (กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่)
4.3) การปรับปรุง (ร่าง) พระราชบัญญัติจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการกฎหมายกรมควบคุมมลพิษพิจารณาต่อไป (กรมควบคุมมลพิษ)
3. ปัญหาอุปสรรคและโอกาสในการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ
กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ติดตามความคืบหน้าในการดำเนินการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ รวมทั้งมีการจัดประชุมหารือเครือข่ายความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2566-2570) และการประชุมกลุ่มย่อย (Focus Group) 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 ด้านบุคลากร และกลุ่มที่ 2 ด้านระบบนิเวศอุตสาหกรรม โดยสามารถสรุปปัญหาอุปสรรคและโอกาสในการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะได้ ดังนี้
3.1 ปัญหาอุปสรรค
1) การลงทุน : ยังไม่มีการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ต้นน้ำในประเทศ เนื่องจากต้องมีการลงทุนสูง ผู้ประกอบการไทยยังมีข้อจำกัดด้านเงินทุน รวมทั้งสิทธิประโยชน์ยังไม่จูงใจนักลงทุนรายใหญ่ นอกจากนี้ ต้องมีการเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรในอิเล็กทรอนิกส์ต้นน้ำ เช่น ผู้ออกแบบชิปอิเล็กทรอนิกส์ (IC Design) และผู้ผลิตชิปอิเล็กทรอนิกส์ (Wafer Fabrication) ให้เพียงพอเพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมดังกล่าว
2) บุคลากร : ขาดแคลนบุคลากรด้านอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งในระดับวิศวกร ช่างเทคนิค และบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญพิเศษในส่วนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ต้นน้ำ เช่น ผู้ออกแบบชิปอิเล็กทรอนิกส์ (IC Design) ผู้ผลิตชิปอิเล็กทรอนิกส์ (Wafer Fabrication) และผู้ออกแบบวงจรพิมพ์ขั้นสูง (PCB Design) รวมถึงบุคลากรในส่วนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ปลายน้ำ ได้แก่ กลุ่มผู้ประกอบการ System Developer นอกจากนี้ การผลิตและพัฒนากำลังคนในสถาบันการศึกษา ยังไม่ตรงต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรม (Mismatch)
3) การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ : ขาดการสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อต่อยอดไปสู่เชิงพาณิชย์ รวมถึงพัฒนาห้องปฏิบัติการทดสอบที่มีศักยภาพเพียงพอสำหรับการวิเคราะห์คุณสมบัติของผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ
4) การจัดการของเสียจากกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ : กระบวนการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์มีขั้นตอนที่ซับซ้อน โดยมีทั้งทางเคมีและทางกล ทำให้เกิดของเสียในรูปแบบต่างๆ ซึ่งปัจจุบันยังมีการใช้มาตรการทางการค้าระหว่างประเทศที่กำหนดเงื่อนไขในด้านมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากกระบวนการผลิต ดังนั้น ประเทศไทยจำเป็นต้องมีระบบการจัดการที่สามารถรองรับของเสียจากกระบวนการผลิตดังกล่าวได้
3.2 โอกาสของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ
ในปัจจุบันเศรษฐกิจโลกกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่รูปแบบ Digital Transformation ส่งผลให้อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมต่างๆ เพิ่มมากขึ้น เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมเกษตร และอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ นอกจากนี้ มีความขัดแย้งเชิงภูมิภาค ทำให้มีการปรับห่วงโซ่อุปทาน มีการย้ายฐานการผลิตมากขึ้น โดยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประเทศไทยเป็นตัวเลือกสำคัญ แสดงให้เห็นถึงโอกาสในการเป็นศูนย์กลางในการผลิตอุปกรณ์ และระบบอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะในอาเซียน ซึ่งจำเป็นต้องมีการแก้ไขปัญหาอุปสรรคและเร่งดำเนินการสร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศ ทั้งในด้านมาตรการส่งเสริมการลงทุน ด้านการพัฒนาบุคลากร รวมถึงสร้างระบบนิเวศอุตสาหกรรมให้มีความพร้อมเพื่อรองรับการลงทุน รวมถึงสนับสนุนให้มีการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อต่อยอดในเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะของประเทศไทยอย่างยั่งยืนต่อไป
4. แนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะในระยะต่อไป
กระทรวงอุตสาหกรรมจะใช้กลไกคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ (กอช.) ในการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2566-2570) โดยบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา เพื่อดำเนินการตามมาตรการต่างๆ โดยแนวทางการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะเพิ่มเติมในระยะต่อไป มีดังนี้
4.1 การกำหนดมาตรการสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะให้มีความเหมาะสมกับผู้ประกอบการ เนื่องจากผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมมีหลายกลุ่มและมีหลายขนาด จึงมีความต้องการในการสนับสนุนที่แตกต่างกัน ดังนั้น มาตรการการสนับสนุนการลงทุนควรมีความหลากหลาย เพื่อให้สามารถสนับสนุนผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะได้อย่างครอบคลุม
4.2 การเตรียมความพร้อมบุคลากรเพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรม ทั้งในระดับวิศวกร ช่างเทคนิค และบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญพิเศษในเทคโนโลยีขั้นสูง รวมถึงให้การรับรองสมรรถนะบุคคลของคุณวุฒิวิชาชีพสาขาวิชาชีพไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และมีการพัฒนาหลักสูตร โดยมีความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา
4.3 การสนับสนุนให้มีการใช้อุปกรณ์หรือผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะในภาคเอกชนและภาครัฐ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการบริการ โดยสามารถใช้กลไกแผนงานบูรณาการอุตสาหกรรมศักยภาพที่ อก. เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการจัดทำคำของบประมาณ เพื่อยกระดับผลิตภาพและประสิทธิภาพ โดยการพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม และพัฒนาฝีมือแรงงานของอุตสาหกรรมศักยภาพ
4.4 การสนับสนุนด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยควรมีพื้นที่สำหรับให้บริการในการพัฒนาและทดสอบต้นแบบผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ สำหรับนักศึกษาและผู้ประกอบการ รวมทั้งมีการพัฒนามาตรฐานและยกระดับห้องปฏิบัติการทดสอบด้าน Smart Electronics เพื่อรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ มาตรฐานกระบวนการผลิตของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และมาตรฐานห้องทดสอบภายในกระบวนการผลิตสำหรับผลิตภัณฑ์ในงานเฉพาะด้าน
4.5 การสร้างกลไกการสนับสนุนของภาครัฐในการบริหารจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ตั้งแต่การจัดเก็บรวบรวม การขนส่ง การถอดแยก การรีไซเคิล และการกำจัดซากที่เหลือ เช่น การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี การจัดซื้อจัดจ้างสีเขียวที่พิจารณาเลือกซื้อผลิตภัณฑ์รีไซเคิลหรือที่มีส่วนประกอบของวัตถุดิบรีไซเคิล การเก็บภาษีหรือเพิ่มค่าธรรมเนียมฝังกลบให้สูงขึ้น การห้ามส่งออกขยะอิเล็กทรอนิกส์หรือชิ้นส่วนที่ไทยมีศักยภาพในการรีไซเคิล รวมถึงผลักดันพระราชบัญญัติจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว เป็นต้น
4.6 การพิจารณาเพิ่มกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะที่นอกเหนือจากกลุ่ม Smart Factory, Smart Product, Smart Farm, Smart Hospital & Health และรถ EV โดยเฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่เป็นเทคโนโลยีใหม่ รวมถึงกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีความสอดคล้องกับกลุ่มอุตสาหกรรมอนาคต New S-Curve เพื่อให้มาตรการสนับสนุนต่างๆ มีความครอบคลุมทุกสาขาในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ
ประโยชน์และผลกระทบ
อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อประเทศไทยมายาวนานกว่า 50 ปี ในปัจจุบันมีการพัฒนาต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะที่มีบทบาทสำคัญต่อภาคอุตสาหกรรมการผลิต ภาคการเกษตร และภาคบริการ ในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ดังนั้น ประเทศไทยจึงมีความจำเป็นต้องมีการปรับโครงสร้างการผลิตแบบเดิมในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ไปสู่การผลิตที่เน้นเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงการสร้าง Supply Chain ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ใหม่ๆ เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ยานยนต์ไร้คนขับ หุ่นยนต์ ดิจิทัล และปัญญาประดิษฐ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ ชิ้นส่วนอากาศยาน และอุตสาหกรรม S-Curve ต่างๆ ตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งทำให้การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะจะช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ผู้ประกอบการไทย และนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 19 ธันวาคม 2566
12598