รายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 3/2566 และแนวโน้มไตรมาสที่ 4/2566 และรายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนกันยายน 2566
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 20 December 2023 03:05
- Hits: 2289
รายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 3/2566 และแนวโน้มไตรมาสที่ 4/2566 และรายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนกันยายน 2566
คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 3/2566 และแนวโน้มไตรมาสที่ 4/2566 และรายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนกันยายน 2566 ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ
สาระสำคัญและข้อเท็จจริง
ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 3/2566 เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) หดตัวร้อยละ 6.19 ยังคงปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 4 ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และปัจจัยเสี่ยงทางการเงินที่เพิ่มขึ้น ทำให้การบริโภคและการลงทุนลดลง ทั้งนี้ อุตสาหกรรมสำคัญที่ชะลอตัวในไตรมาสที่ 3/2566 อาทิ ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่เติบโตได้ช้าลง ทำให้ความต้องการชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในตลาดโลกลดลง ยานยนต์ ตามการชะลอตัวของตลาดรถยนต์ในประเทศจากกำลังซื้อที่อ่อนตัวลง และความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง จากสินค้า Hard Disk Drive เป็นหลัก ปัจจัยจากผู้ผลิต รายใหญ่ปรับลดแผนการผลิตตามอุปสงค์ที่ชะลอตัวต่อเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยาวนาน สำหรับ อุตสาหกรรมที่มีการขยายตัวในไตรมาสที่ 3/2566 อาทิ น้ำตาล ตามความต้องการบริโภคที่ขยายตัวต่อเนื่องทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออก พลาสติกและยางสังเคราะห์ขั้นต้น เนื่องจากช่วงเดียวกันของปีก่อนเป็นช่วงที่เกิดภาวะ Over supply ในตลาดโลก ทำให้ผู้ผลิตไทยปรับลดการผลิตหลังส่งออกสินค้าได้ลดลง ประกอบกับในปีนี้มีการ Shut down การผลิตน้อยกว่า ปีก่อน สายไฟและเคเบิลอื่นๆ ชนิดใช้ในทางอิเล็กทรอนิกส์และไฟฟ้า จากคำสั่งซื้อตามรอบของการไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และการไฟฟ้าฝ่ายผลิต รวมถึงงานโครงการอื่นๆ จากภาครัฐและเอกชนที่มีมากขึ้น
ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเดือนกันยายน 2566 เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) หดตัวร้อยละ 6.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ปัจจัยหลักมาจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังคงเปราะบาง รวมถึงเศรษฐกิจในประเทศยังฟื้นตัวช้า โดยมีปัจจัยเสี่ยงจากปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนทางการเงินและภาระหนี้ของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวช่วยสนับสนุนการบริโภคในประเทศ รวมถึงอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวลดลง
อุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลให้ MPI เดือนกันยายน 2566 หดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คือ
1. รถยนต์ หดตัวร้อยละ 7.65 จากรถบรรทุกปิคอัพ และรถยนต์นั่งขนาดเล็กเป็นหลัก ตามการชะลอตัวของตลาดรถยนต์ในประเทศ ผลจากความเปราะบางด้านรายได้และหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง ทำให้สถาบันการเงินเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อ อย่างไรก็ตามในกลุ่มรถยนต์นั่งยังมีการขยายตัวของรถยนต์ไฟฟ้า แต่ทำให้ปริมาณจำหน่ายรถยนต์สันดาปภายในประเทศลดลง
2. ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ หดตัวร้อยละ 17.69 จากผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว รวมถึงได้รับผลจากนโยบายลดการพึ่งพาจีนของสหรัฐอเมริกากระทบห่วงโซ่อุปทานของไทย
3. ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม หดตัวร้อยละ 5.05 จากน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว น้ำมันเบนซิน 95 และน้ำมันเตาชนิดต่างๆ เป็นหลัก จากการหยุดซ่อมบำรุงโรงกลั่นของผู้ผลิตรายหนึ่ง
อุตสาหกรรมสำคัญที่ยังขยายตัวในเดือนกันยายน 2566 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน
1. พลาสติกและยางสังเคราะห์ขั้นต้น ขยายตัวร้อยละ 12.35 จาก Polyethylene resin, Ethylene และ Polypropylene resin เป็นหลัก เนื่องจากในปีก่อนมีการปิดซ่อมบำรุงของผู้ผลิตบางรายประกอบกับมีสินค้าล้นตลาดทำให้ปีก่อนปรับลดการผลิตลง
2. น้ำตาล ขยายตัวร้อยละ 74.64 ตามความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้นจากทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออก โดยน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ขยายตัวทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศจากการงดส่งออกน้ำตาลเข้าสู่ตลาดโลกของอินเดีย จึงส่งผลให้ไทยได้รับคำสั่งซื้อเพิ่ม สำหรับตลาดในประเทศขยายตัวตามกิจกรรมเศรษฐกิจโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่อง
แนวโน้มอุตสาหกรรมรายสาขาที่สำคัญ ไตรมาสที่ 4/2566
อุตสาหกรรม เหล็กและเหล็กกล้า คาดการณ์ว่าจะหดตัวเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากราคาวัตถุดิบในตลาดโลก มีแนวโน้มปรับตัวลดลง ทำให้ผู้บริโภคชะลอการสั่งซื้อเพื่อดูทิศทางราคา และอาจส่งผลต่อความต้องการใช้เหล็ก อย่างไรก็ตาม การเร่งก่อสร้างโครงการภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชนตามการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว คาดว่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวของอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศ
อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าดัชนีผลผลิตจะหดตัว เนื่องจากการแบกรับภาระต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการ การขาดแคลนวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ทำให้ไม่สามารถผลิตได้เพียงพอ อย่างไรก็ตาม ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ยังคงมีความจำเป็นต่อการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและผลิตภัณฑ์สำหรับโครงสร้างพื้นฐานทาง IT ทำให้ยังคงมีความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในตลาดโลกอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่มูลค่าการส่งออกยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง เนื่องจากสินค้าสำคัญบางอย่างยังคงได้รับส่วนแบ่งของตลาดโลกและยังเติบโตได้ เช่น โซล่าร์เซลล์จากกระแส การใช้พลังงานสะอาดและความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม SDGs ที่เป็นเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั่วโลก การขยายความต้องการใช้วงจรรวมในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องอย่างอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า
อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง ปริมาณการผลิตยางแปรรูปขั้นปฐม (ยางแผ่น ยางแท่ง และน้ำยางข้น) จะยังคงชะลอตัวจากอุปสงค์ความต้องการในตลาดต่างประเทศที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ในส่วนของปริมาณการผลิตยางรถยนต์และถุงมือยางคาดการณ์ว่าจะขยายตัว โดยยางรถยนต์คาดว่า จะขยายตัวจากการผลิต เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดต่างประเทศ และถุงมือยางคาดว่าจะขยายตัวจากการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดในประเทศเป็นหลัก
อุตสาหกรรมอาหาร คาดว่าดัชนีผลผลิตในภาพรวมยังคงหดตัว เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงชะลอตัว อย่างไรก็ตาม ภาคการส่งออกมีแนวโน้มขยายตัว จากความต้องการสินค้าเพื่อเตรียมสำหรับช่วงเทศกาลปลายปี รวมถึงปัญหาความไม่สงบของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ที่อาจส่งผลต่อความกังวลด้านความมั่นคงอาหารในระยะต่อไป
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 19 ธันวาคม 2566
12597