รายงานสถานการณ์การส่งออกของไทย ประจำเดือนตุลาคมและ 10 เดือนแรกของปี 2566
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 20 December 2023 03:00
- Hits: 2335
รายงานสถานการณ์การส่งออกของไทย ประจำเดือนตุลาคมและ 10 เดือนแรกของปี 2566
คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานสถานการณ์การส่งออกของไทย ประจำเดือนตุลาคมและ 10 เดือนแรกของปี 2566 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ
สาระสำคัญและข้อเท็จจริง
1. สรุปสถานการณ์การส่งออกของไทย ประจำเดือนตุลาคม 2566
การส่งออกของไทยในเดือนตุลาคม 2566 มีมูลค่า 23,578.8 ล้านเหรียญสหรัฐ (841,366 ล้านบาท) ขยายตัวร้อยละ 8.0 หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวร้อยละ 5.4 ทั้งนี้ การส่งออกของโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี โดยการส่งออกของไทยในเดือนนี้ขยายตัวมากกว่าที่คาดและมากกว่าประเทศในอาเซียน มีสัญญาณฟื้นตัวในหลายสินค้าสำคัญที่กลับมาเป็นบวกหรือชะลอตัวลดลง อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง อาหารสัตว์เลี้ยง เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน ฯลฯ ด้วยแรงหนุนจากอุปสงค์ที่ทยอยฟื้นตัวในช่วงเทศกาลปลายปี อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั่วโลกเริ่มลดลง แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะอยู่ในระดับสูง แต่เริ่มมีสัญญาณใกล้ยุติมาตรการคุมเข้มทางการเงินโดยเฉพาะสหรัฐฯ ในขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของจีนเริ่มส่งผล โดยตัวเลขการบริโภคและการลงทุนของจีนเริ่มฟื้นตัวขึ้น สำหรับสถานการณ์อิสราเอลและฮามาสยังคงอยู่ในวงจำกัดจึงยังไม่กระทบต่อการส่งออกภาพรวม ทั้งนี้ การส่งออกไทย 10 เดือนแรกของปี 2566 หดตัวร้อยละ 2.7 และเมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย หดตัวร้อยละ 0.6
มูลค่าการค้ารวม
มูลค่าการค้าในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ เดือนตุลาคม 2566 มีมูลค่าการค้ารวม 47,990.0 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 9.1 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยการส่งออกมีมูลค่า 23,578.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 8.0 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 24,411.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 10.2 ดุลการค้า ขาดดุล 832.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ภาพรวม 10 เดือนแรกของปี 2566 มีมูลค่าการค้ารวม 479,961.4 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ .3.7 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการส่งออก มีมูลค่า 236,648.2 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 2.7 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 243,313.2 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 4.6 ดุลการค้า ขาดดุล 6,665.0 ล้านเหรียญสหรัฐ
มูลค่าการค้าในรูปเงินบาท เดือนตุลาคม 2566 มีมูลค่าการค้ารวม 1,722,490 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 5.8 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยการส่งออก มีมูลค่า 841,366 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 4.7 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 881,124 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 6.9 ดุลการค้า ขาดดุล 39,758 ล้านบาท ภาพรวม 10 เดือนแรกของปี 2566 มีมูลค่าการค้ารวม 16,549,033 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 3.7 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการส่งออก มีมูลค่า 8,109,766 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 2.6 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 8,439,268 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 4.7 ดุลการค้า ขาดดุล 329,502 ล้านบาท
การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร
มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 9.3 โดยสินค้าเกษตร ขยายตัวร้อยละ 12.3 และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 5.9 ทั้งนี้ สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ข้าว ขยายตัวร้อยละ 37.7 (ขยายตัวในตลาดอินโดนีเซีย สหรัฐฯ แอฟริกาใต้ มาเลเซีย และโกตดิวัวร์) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ขยายตัวร้อยละ 4.8 (ขยายตัวในตลาดจีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน มาเลเซีย และสหรัฐฯ) ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง ขยายตัวร้อยละ 44.6 (ขยายตัวในตลาดจีน สหรัฐฯ ฮ่องกง เวียดนาม และเกาหลีใต้) อาหารสุนัขและแมว ขยายตัวร้อยละ 5.5 (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น อิตาลี มาเลเซีย เยอรมนี และไต้หวัน) ไขมันจากน้ำมันจากพืชและสัตว์ ขยายตัวร้อยละ 20.0 (ขยายตัวในตลาดอินเดีย เกาหลีใต้ เมียนมา เนเธอร์แลนด์ และเวียดนาม) ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง ขยายตัวร้อยละ 9.6 (ขยายตัวในตลาดจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฮ่องกง และเมียนมา) สิ่งปรุงรสอาหาร ขยายตัวร้อยละ 29.4 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ เนเธอร์แลนด์ และมาเลเซีย) ผักกระป๋องและผักแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 19.4 (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น สหรัฐฯ เกาหลีใต้ จีน และออสเตรเลีย) ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ ยางพารา หดตัวร้อยละ 5.4 (หดตัวในตลาดมาเลเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ตุรกี และอินเดีย) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป หดตัวร้อยละ 5.6 (หดตัวในตลาดญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ซาอุดีอาระเบีย เกาหลีใต้ และอียิปต์) ไก่แปรรูป หดตัวร้อยละ 2.2 (หดตัวในตลาด สหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ แคนาดา ฮ่องกง และออสเตรเลีย) น้ำตาลทราย หดตัวร้อยละ 24.9 (หดตัวในตลาดลาว ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ มาเลเซีย และปาปัวนิวกินี) ทั้งนี้ 10 เดือนแรกของปี 2566 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หดตัวร้อยละ 1.0
การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม
มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 5.4 แต่ยังมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 9.0 (ขยายตัวในตลาดออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น ซาอุดีอาระเบีย และมาเลเซีย) อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัวร้อยละ 8.7 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ฮ่องกง อินเดีย เยอรมนี และสหราชอาณาจักร) เครื่องโทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 15.1 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ฮ่องกง เม็กซิโก จีน และแคนาดา) อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และ ไดโอด ขยายตัวร้อยละ 27.3 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย และเกาหลีใต้) หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 38.5 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ เนเธอร์แลนด์ ไต้หวัน อิตาลี และจีน) ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 4.2 (หดตัวในตลาดจีน ฮ่องกง เนเธอร์แลนด์ ญี่ปุ่น และมาเลเซีย) แผงวงจรไฟฟ้าหดตัวร้อยละ 4.6 (หดตัวในตลาดสิงคโปร์ ไต้หวัน จีน มาเลเซีย และสหรัฐฯ) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 34.2 (หดตัวในตลาดออสเตรเลีย สหรัฐฯ เวียดนาม ญี่ปุ่น และฟิลิปปินส์) รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 19.5 (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน สหราชอาณาจักร กัมพูชา และออสเตรเลีย) ทั้งนี้ 10 เดือนแรกของปี 2566 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม หดตัว ร้อยละ 2.8
ตลาดส่งออกสำคัญ
การส่งออกไปยังตลาดสำคัญมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีขึ้น ในขณะที่บางตลาดอุปสงค์ยังคงอ่อนแอ ท่ามกลางความเสี่ยงใหม่จากความไม่สงบในอิสราเอล ทั้งนี้ ภาพรวมการส่งออกไปยังกลุ่มตลาดต่างๆ สรุปได้ดังนี้ (1) ตลาดหลัก ขยายตัวร้อยละ 5.1 โดยขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ร้อยละ 13.8 จีน ร้อยละ 3.4 และอาเซียน (5) ร้อยละ 16.5 ในขณะที่ตลาดญี่ปุ่น สหภาพยุโรป (27) และ CLMV หดตัวร้อยละ 1.1 ร้อยละ 1.4 และร้อยละ 9.7 ตามลำดับ (2) ตลาดรอง ขยายตัวร้อยละ 10.6 โดยขยายตัวในตลาดเอเชียใต้ ร้อยละ 7.2 ทวีปออสเตรเลีย ร้อยละ 13.7 แอฟริกา ร้อยละ 24.5 ลาตินอเมริกา ร้อยละ 8.6 และรัสเซียและกลุ่ม CIS ร้อยละ 77.2 ขณะที่ตะวันออกกลางและสหราชอาณาจักร หดตัวร้อยละ 3.0 และร้อยละ 11.4 ตามลำดับ (3) ตลาดอื่นๆ ขยายตัวร้อยละ 109.6 อาทิ สวิตเซอร์แลนด์ ขยายตัวร้อยละ 135.1
2. มาตรการส่งเสริมการส่งออกและแนวโน้มการส่งออกระยะต่อไป
การส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ดำเนินงานที่สำคัญในรอบเดือนที่ผ่านมา อาทิ (1) การเจรจาเพื่อสนับสนุน SMEs ไทยรุกตลาดสินค้าเกษตรในญี่ปุ่น โดยนายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ร่วมหารือกับประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ JETRO เพื่อร่วมมือผลักดันศักยภาพ SMEs ไทย และผลักดันการนำเข้าสินค้าเกษตรของไทยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกล้วยหอมทอง (2) การสนับสนุนนักออกแบบไทยสู่ตลาดโลก ผ่านโครงการส่งเสริมนักออกแบบไทยสู่ตลาดโลก ปี 2566 ที่มีเป้าหมายในการพัฒนาศักยภาพ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับนักออกแบบรุ่นใหม่จากทั่วประเทศ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ พัฒนาแบรนด์ให้เป็นที่ยอมรับ ยกระดับสินค้าไทย ให้ตอบสนองความต้องการของตลาดสากล โดยสามารถสร้างนักออกแบบไทยที่มีศักยภาพแล้วกว่า 744 ราย แบรนด์สินค้าที่เข้าร่วมแล้วกว่า 60 แบรนด์ (3) มาตรการสนับสนุนการระบายสต็อกน้ำมันปาล์ม ซึ่งเป็นกลไกรับมือกับปัญหาสต็อกน้ำมันปาล์มดิบส่วนเกินในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก ด้วยการช่วยค่าบริหารจัดการระบายสต็อกส่วนเกิน 2 บาท/กิโลกรัม โดยมีเป้าหมายที่ 2 แสนตัน พร้อมติดตามสถานการณ์การผลิต การส่งออก และการบริโภคในประเทศให้มีความสมดุลทุกภาคส่วน รวมทั้งประเมินสถานการณ์ล่วงหน้าเพื่อวางแผนรองรับได้ทันท่วงที
สำหรับมาตรการขับเคลื่อนการส่งออกในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปี 2566 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้สั่งการให้ทำแผนเร่งด่วน (Quick Win) เพื่อผลักดันการส่งออก โดยจะดำเนินกิจกรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวม 73 กิจกรรม คาดว่าจะช่วยเพิ่มมูลค่าการส่งออกได้กว่า 12,400 ล้านบาท กิจกรรมสําคัญ เช่น การจัดเจรจาธุรกิจออนไลน์ การเข้าร่วมงานแสดงสินค้า การจัดคณะผู้แทนการค้าไปเยือนงานแสดงสินค้า China International Import Expo (CIIE 2023) ที่นครเซี่ยงไฮ้ การนําผู้ประกอบการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ เช่น Automechanika ที่ดูไบ American Film Market ที่สหรัฐฯ Anuga และ Medica ที่เยอรมนี รวมทั้งการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายสินค้า TOP Thai บนแพลตฟอร์ม Shopee ในมาเลเซีย และ Rakuten ในญี่ปุ่น เป็นต้น
แนวโน้มการส่งออกในระยะถัดไป กระทรวงพาณิชย์ ประเมินว่า การส่งออกในช่วงสุดท้ายของปีจะขยายตัวเป็นบวกอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงปลายปีที่จะเข้าสู่ช่วงเทศกาลเฉลิมฉลอง สอดรับกับแรงกดดันด้านราคาที่ค่อยๆ ลดลง เนื่องจากเงินเฟ้อที่ชะลอตัว และแนวโน้มที่ธนาคารกลางสหรัฐฯจะยุติวงจรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย อย่างไรก็ตามยังคงต้องติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งอิสราเอล-ฮามาส ที่หากขยายวงกว้างอาจจะกระทบต่อราคาน้ำมันและต้นทุนการขนส่ง ซึ่งจะไม่เป็นผลดีต่อบรรยากาศการค้าโลกที่กำลังกลับมาฟื้นตัว
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 19 ธันวาคม 2566
12596