ร่างพระราชกฤษฎีกาเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ พ.ศ. ....
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 13 December 2023 02:33
- Hits: 2084
ร่างพระราชกฤษฎีกาเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ดังนี้
1. เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอและให้ดำเนินการต่อไปได้
2. ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติรับความเห็นของสำนักงบประมาณไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
ทั้งนี้ ร่างพระราชกฤษฎีกาที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอคณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติอนุมัติหลักการและสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาแล้วซึ่งสาระสำคัญเป็นการกำหนดการได้รับเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ (ก.พ.ค.ตร.) (ทำงานเต็มเวลา) ซึ่งมีหน้าที่และอำนาจพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์และเรื่องร้องทุกข์ รวมทั้งกำหนดระบบคุณธรรมให้เกิดขึ้น โดยให้ประธานกรรมการ ก.พ.ค.ตร. รับเงินประจำตำแหน่ง 80,540 บาทต่อเดือน และรับเงินเพิ่ม 42,500 บาทต่อเดือน ส่วนกรรมการ ก.พ.ค.ตร. รับเงินประจำตำแหน่ง 76,800 บาทต่อเดือน และรับเงินเพิ่ม 41,500 บาท ต่อเดือน รวมทั้งมีสิทธิได้รับค่ารักษาพยาบาล หรือการประกันสุขภาพตามที่จ่ายจริงในอัตราเบี้ยประกันคนละไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี และได้รับเงินบำเหน็จตอบแทนตามระยะเวลาในการดำรงตำแหน่ง ซึ่งมีหลักการและอัตราเช่นเดียวกับอัตราเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่กรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ได้รับตามพระราชกฤษฎีกาเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม กรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ และกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ พ.ศ. 2561 โดยค่าใช้จ่ายในการดำเนินการตามร่างพระราชกฤษฎีกานี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติสามารถถัวเฉลี่ยจ่ายสำหรับค่าใช้จ่ายงบประมาณบุคลากรที่เพิ่มขึ้นจากงบประมาณประจำปีที่ได้รับจัดสรร (งบบุคลากร) จึงไม่กระทบต่องบประมาณหมวดเงินเดือนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติแต่อย่างใด
สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา
เป็นการกำหนดการได้รับเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของกรรมการ ก.พ.ค.ตร. สรุปได้ ดังนี้
1. ให้กรรมการ ก.พ.ค.ตร. ได้รับเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มเป็นรายเดือนตามอัตราในบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกานี้ ตั้งแต่วันที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ดังนี้
ตำแหน่ง |
เงินประจำตำแหน่ง (บาท/เดือน) |
เงินเพิ่ม (บาท/เดือน) |
ประธานกรรมการ ก.พ.ค.ตร. |
80,540 |
42,500 |
กรรมการ ก.พ.ค.ตร. |
76,800 |
41,500 |
2. กำหนดให้กรรมการ ก.พ.ค.ตร. มีสิทธิได้รับค่ารักษาพยาบาลหรือการประกันสุขภาพตามที่จ่ายจริงในอัตราเบี้ยประกันคนละไม่เกิน 30,000 บาทต่อปีและให้นำพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลและระเบียบกระทรวงการคลังซึ่งออกตามความในพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมาใช้บังคับแก่ค่ารักษาพยาบาลของกรรมการ ก.พ.ค.ตร. ตามพระราชกฤษฎีกานี้โดยอนุโลม
3. ให้กรรมการ ก.พ.ค.ตร. ซึ่งดำรงตำแหน่งไม่น้อยกว่า 1 ปีบริบูรณ์ มีสิทธิได้รับบำเหน็จตอบแทนเป็นเงินซึ่งจ่ายครั้งเดียวเมื่อพ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุออกตามวาระ ลาออก และมีอายุครบ 75 ปี (อัตราเงินประจำตำแหน่งคูณด้วยระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่ง) ทั้งนี้ สิทธิในบำเหน็จตอบแทนนั้น เป็นสิทธิเฉพาะตัวจะโอนไม่ได้
4. ในกรณีที่กรรมการ ก.พ.ค.ตร. พ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุถึงแก่ความตายไม่ว่าผู้นั้นจะดำรงตำแหน่งครบ 1 ปีหรือไม่ ให้จ่ายบำเหน็จตอบแทนเป็นเงินซึ่งจ่ายครั้งเดียวตามระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งให้แก่ทายาทโดยธรรมซึ่งเป็นผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย
5. กำหนดให้กรรมการ ก.พ.ค.ตร. ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอยู่แล้วในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ มีสิทธิได้รับเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นตามพระราชกฤษฎีกานี้นับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง (เพิ่มเติมในชั้นการตรวจพิจารณาของ สคก.)
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 12 ธันวาคม 2566
12336