ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การทบทวนกิจกรรมการศึกษาเพื่อความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ของคณะกรรมาธิการการทหารและความมั่นคงของรัฐ วุฒิสภา
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 13 December 2023 02:24
- Hits: 1896
ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การทบทวนกิจกรรมการศึกษาเพื่อความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ของคณะกรรมาธิการการทหารและความมั่นคงของรัฐ วุฒิสภา
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การทบทวนกิจกรรมการศึกษาเพื่อความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ของคณะกรรมาธิการการทหารและความมั่นคงของรัฐ วุฒิสภา ตามที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เสนอและแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทราบต่อไป
เรื่องเดิม
1. สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาได้เสนอรายงานการพิจารณาศึกษาเรื่อง การทบทวนกิจกรรมการศึกษาเพื่อความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของคณะกรรมาธิการการทหารและความมั่นคงของรัฐ วุฒิสภา มาเพื่อดำเนินการ โดยคณะกรรมาธิการฯ พิจารณาศึกษาการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานการศึกษา การพัฒนาระบบการจัดการศึกษาและสนับสนุนทุนและเงินอุดหนุนการศึกษาเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์และลดการเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเพื่อความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาการบ่มเพาะเด็กและเยาวชน1 ซึ่งมีข้อเสนแเนะ รวม 2 ประเด็น ได้แก่ (1) ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย และ (2) ข้อเสนอแนะเชิงปฏิบัติ
2. นายกรัฐมนตรี (พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ในขณะนั้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ ศอ.บต. เป็นหน่วยงานหลักรับรายงานและข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงกลาโหม กระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ สำนักข่าวกรองแห่งชาติ สำนักงบประมาณ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักงาน ก.พ. กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของรายงานและข้อเสนอแนะดังกล่าว และสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
ข้อเท็จจริง
ศอ.บต. ได้รวบรวมผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษาและข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการการทหารและความมั่นคงของรัฐ วุฒิสภา จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามข้อ 2 แล้ว ซึ่งเห็นด้วยกับรายงานและข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการ โดยสรุปผลการพิจารณาในเรื่องดังกล่าว ดังนี้
ข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ |
ผลการพิจารณา |
|
1. ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เช่น การดำเนินนโยบายการแก้ปัญหาโดยสันติวิธี การจัดให้มีการประเมินสถานการณ์ กำหนดกิจกรรมการศึกษาเพื่อความมั่นคงโดยมุ่งผลลัพธ์ลดการบ่มเพาะ และการทบทวนการปรับค่าเป้าหมายและตัวชี้วัด รวมถึงการเพิ่มระดับการกำกับมาตรฐานสถานศึกษาเอกชน เป็นต้น 2. ข้อเสนอแนะเชิงปฏิบัติ เช่น การพิจารณาทบทวนงบประมาณที่ใช้จ่ายในแผนงานหรือโครงการให้ตรงตามเป้าหมายที่กำหนด การกำหนดตัวชี้วัดและการประเมินผลสัมฤทธิ์ในแผนงานการบูรณาการ การพิจารณาหลักเกณฑ์การให้ทุนการศึกษา และการเพิ่มมาตรฐานการศึกษาและบุคลากรทางการศึกษา รวมถึงหน่วยงานด้านความมั่นคงควรสนับสนุนข้อมูลให้กับหน่วยงานด้านการศึกษา เป็นต้น |
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นว่า รายงานในเรื่องนี้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับการขับเคลื่อนตามยุทธศาสตร์ชาติในระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 - 2570) นโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2565 - 2570 แผนปฏิบัติการด้านการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2566 - 2570 และจุดเน้นของการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในปัจจุบัน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับข้อเสนอแนะ อาทิ การดำเนินนโยบายการแก้ปัญหาโดยสันติวิธี การประเมินสถานการณ์ตามห้วงระยะเวลา การกำหนดกิจกรรมการศึกษาเพื่อความมั่นคงที่มุ่งผลลัพธ์ในการลดการบ่มเพาะ ความร่วมมือทางด้านการศึกษากับต่างประเทศ การเพิ่มมาตรฐานการศึกษาและบุคลากรทางการศึกษา สำหรับข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและข้อเสนอแนะเชิงปฏิบัติที่ยังไม่ได้มีการขับเคลื่อนหรือยังดำเนินการไม่บรรลุเป้าหมาย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมนำข้อเสนอแนะดังกล่าวไปดำเนินการขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการบูรณาการและบรรลุเป้าหมายของการศึกษาเพื่อความมั่นคง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า รายงานในเรื่องนี้ ยังมีอีกหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนและสนับสนุนกิจกรรมการศึกษาเพื่อความมั่นคงที่ไม่ได้นำแผนงานหรือโครงการมาระบุไว้ในรายงาน รวมทั้งวิธีการศึกษาที่นำกิจกรรมด้านการศึกษาฯ เฉพาะที่กำหนดไว้ในแผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้มาใช้ประกอบการจัดทำรายงานอาจไม่สามารถสะท้อนให้เห็นภาพการขับเคลื่อนงานการศึกษาเพื่อความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ได้อย่างครบถ้วน และมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม ดังนี้ 1. ควรเปิดกว้างให้ผู้รับทุนการศึกษาสามารถเดินทางไปศึกษาในประเทศอื่นนอกเหนือจากประเทศมุสลิม และควรสนับสนุนให้ผู้ได้รับทุนการศึกษาได้มีโอกาสเข้าทำงานในตำแหน่งที่สามารถนำประสบการณ์ที่ได้รับระหว่างการศึกษาในต่างประเทศมาถ่ายทอดสู่เยาวชนและชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ 2. การจัดทำโครงการต่างๆ ในการจัดการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ของสถาบันอุดมศึกษายังประสบปัญหาในหลายด้าน อาทิ ความเชื่อมั่นของผู้ปกครอง มาตรฐานของสถานศึกษาเอกชน ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา การพัฒนาระบบการจัดการศึกษาของภาครัฐ ดังนั้น ควรส่งเสริมและสนับสนุนการจัดกิจกรรมต่างๆ ให้มากขึ้น เช่น การหารือร่วมกันระหว่างสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่เพื่อร่วมกันพัฒนาหลักสูตร สนับสนุนให้เยาวชนได้เข้าศึกษาในสถาบันศึกษาต่างๆ ที่สอดคล้องกับความต้องการในการพัฒนาพื้นที่ ยกระดับมาตรฐานของสถานศึกษาเอกชน สนับสนุนให้บุคลากรทางการศึกษาได้รับการพัฒนาในวิชาชีพอย่างต่อเนื่องทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เป็นต้น 3. เพื่อให้รายงานในเรื่องนี้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้นเห็นควรให้มีการปรับข้อความบางส่วน เช่น การใช้คำว่า “การเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางความคิด” แทน “การลดการบ่มเพาะ” เป็นต้น |
____________________
1 การบ่มเพาะเด็กและเยาชน หมายถึง การอบรมสั่งสอนและการพัฒนาบุคคล ซึ่งพบว่าการใช้หลักการบ่มเพาะเป็นหนึ่งในยุทธวิธีที่ใช้ในการขับเคลื่อนของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง โดยการบ่มเพาะความรุนแรงและปลูกฝังการต่อต้านอำนาจรัฐให้กับเด็กและเยาวชน ซึ่งมีสาระสำคัญที่ใช้ในการบ่มเพาะ คือ เรื่องเชื้อชาติ ศาสนา และประวัติศาสตร์ ทำให้หลงเชื่อและปฏิบัติตามแนวทางของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 12 ธันวาคม 2566
12333