การขอรับความเห็นชอบต่อร่างหนังสือแสดงเจตจำนงระหว่างกรมความร่วมมือระหว่างประเทศและองค์การความร่วมมือเพื่อการพัฒนาแห่งสมาพันธรัฐสวิส ร่วมกับองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน เพื่อดำเนินความร่วมมือในโครงการลดปัญหาความยากจนโดยการโยกย้ายถิ่นฐานที่ปลอด
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 13 December 2023 02:03
- Hits: 2044
การขอรับความเห็นชอบต่อร่างหนังสือแสดงเจตจำนงระหว่างกรมความร่วมมือระหว่างประเทศและองค์การความร่วมมือเพื่อการพัฒนาแห่งสมาพันธรัฐสวิส ร่วมกับองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน เพื่อดำเนินความร่วมมือในโครงการลดปัญหาความยากจนโดยการโยกย้ายถิ่นฐานที่ปลอดภัย การพัฒนาทักษะแรงงาน และการยกระดับโอกาสการเข้าถึงการจ้างงานในประเทศกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เมียนมา และไทย ระยะที่ 2
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอดังนี้
1. เห็นชอบต่อร่างหนังสือแสดงเจตจำนงระหว่างกรมความร่วมมือระหว่างประเทศและองค์การความร่วมมือเพื่อการพัฒนาแห่งสมาพันธรัฐสวิสร่วมกับองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน เพื่อดำเนินความร่วมมือในโครงการลดปัญหาความยากจนโดยการโยกย้ายถิ่นฐานที่ปลอดภัย การพัฒนาทักษะแรงงาน และการยกระดับโอกาสการเข้าถึงการจ้างงานในประเทศกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เมียนมา และไทย ระยะที่ 2 (หนังสือแสดงเจตจำนงฯ) (โครงการ PROMISE ระยะที่ 2) [Letter of Intent between Thailand International Cooperation Agency (TICA) and Swiss Agency for Development and Cooperation (SDC) with International Organization for Migration (IOM) on the Cooperation to Implement the Project on Poverty Reduction through Safe Migration, Skills Development, and Enhanced Job Placement in Cambodia, Lao PDR, Myanmar and Thailand (PROMISE II)]
2. อนุมัติให้อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศเป็นผู้ลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนงฯ
3. หากมีความจำเป็นต้องปรับแก้ถ้อยคำในร่างหนังสือแสดงเจตจำนงฯ ในส่วนที่ไม่กระทบต่อสาระสำคัญ ขอให้ กต. ดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีก
(ไม่กำหนดวันลงนาม)
สาระสำคัญของเรื่อง
กต. รายงานว่า
1. กต. (กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ) ได้รับการทาบทามให้เข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนไตรภาคี [3 ฝ่าย ได้แก่ (1) กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (กต. ฝ่ายไทย) (2) SDC (องค์การฝ่ายสมาพันธรัฐสวิส) และ (3) IOM (องค์การระหว่างประเทศ)] ภายใต้โครงการ PROMISE ระยะที่ 2 ซึ่งมีกำหนดระยะเวลาระหว่างเดือนกันยายน 2564 - สิงหาคม 2568 ทั้งนี้ เพื่อเป็นการต่อยอดจากการดำเนินโครงการ PROMISE ระยะที่ 1* (ไทยยังไม่ได้เข้าร่วมโครงการฯ) ซึ่งประสบความสำเร็จในการส่งเสริมการคุ้มครองแรงงานสัญชาติกัมพูชา สปป.ลาว และเมียนมา ที่เดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทย การสนับสนุนด้านเทคนิคแก่ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในการกำกับแรงงานข้ามชาติ และการพัฒนาทักษะฝีมือให้แก่แรงงานข้ามชาติ โดยโครงการ PROMISE ระยะที่ 2 มีรายะเอียดสรุปได้ ดังนี้
หัวข้อ |
รายละเอียด |
วัตถุประสงค์ |
เพื่อให้แรงงานข้ามชาติทั้งเพศชายและเพศหญิงจากกัมพูชา สปป.ลาว และเมียนมาในประเทศไทยตลอดจนแรงงานข้ามชาติที่เดินทางกลับไปยังภูมิลำเนาเดิม ได้รับการจ้างงานอย่างเหมาะสมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ซึ่งจะนำไปสู่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและลดปัญหาความยากจน |
เป้าหมายของโครงการ |
(1) แรงงานข้ามชาติจำนวนมากกว่า 450,000 ราย ใน 4 ประเทศ (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และไทย) จะได้รับผลประโยชน์จากการดำเนินโครงการนี้ (2) แรงงานข้ามชาติ 150,000 ราย จะสามารถเข้าถึงการพัฒนาและการรับรองทักษะฝีมือรวมถึงการส่งต่องาน เพื่อนำไปสู่การจ้างงานและคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น (3) แรงงานข้ามชาติ 300,000 ราย จะได้รับข้อมูลข่าวสาร การขยายเครือข่ายและการคุ้มครองที่เพิ่มขึ้น เพื่อเอื้อต่อการใช้ประโยชน์สูงสุดจากโอกาสต่างๆ ที่มีอยู่ (4) นายจ้าง 300 ราย จะสร้างกลไกการจัดฝึกอบรมแก่แรงงานข้ามชาติภายในสถานประกอบการนั้นๆ และได้รับการฝึกอบรม ทั้งในด้านการพัฒนาทักษะฝีมือและการคุ้มครองแรงงานในการโยกย้ายถิ่นฐาน (5) ผู้แทนจากภาครัฐ นายจ้าง และภาคประชาสังคม 400 ราย จะได้รับการฝึกอบรมด้านการจ้างงานอย่างมีจริยธรรมและมีความยุติธรรม ตลอดจนการตรวจสอบลักษณะการจ้างงานให้เป็นไปตามมาตรฐาน |
การดำเนินโครงการ |
(1) ให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคเพื่อขยายการจัดฝึกอบรมพัฒนาทักษะฝีมือซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน และครอบคลุมแรงงานข้ามชาติที่หลากหลาย โดยเฉพาะแรงงานเพศหญิง (2) สนับสนุนการให้บริการด้านสิทธิแรงงานที่มีคุณภาพแก่แรงงานข้ามชาติ เช่น การให้คำบรึกษาการลงพื้นที่ชุมชน การส่งต่อแรงงานไปเข้ารับการพัฒนาทักษะฝีมือ รวมถึงโอกาสในการจ้างงาน (3) ปรับปรุงลู่ทางในการเข้าถึงการโยกย้ายถิ่นฐานที่ปลอดภัยและการพัฒนาทักษะฝีมือโดยอำนวยความสะดวกต่อการจัดฝึกอบรมและการทดสอบทักษะฝีมือ ตลอดจนการให้ข้อมูลด้านสิทธิแรงงานซึ่งรองรับความหลากหลายทางเพศ (4) ประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐอำนวยความสะดวกในการจัดเวทีการประชุมหารือเพื่อการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง และให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคเพื่อการพัฒนาและปฏิบัตินโยบายธรรมาภิบาลในการโยกย้ายถิ่นฐานที่ปลอดภัย การพัฒนาทักษะฝีมือและการจ้างแรงงานข้ามชาติอย่างเหมาะสม/มีจริยธรรม (5) การมีส่วนร่วมกับนายจ้างและสมาคมนายจ้างเพื่อจัดทำหลักสูตรฝึกอบรมพัฒนาทักษะฝีมือซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานให้แก่แรงงานข้ามชาติ และช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถในด้านการคุ้มครองผู้โยกย้ายถิ่นฐานและการจัดหางานที่เหมาะสม |
งบประมาณ |
เบื้องต้นได้รับการสนับสนุนจาก SDC จำนวน 7.5 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ หากไทยเข้าร่วมโครงการและมีกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง จะเบิกจ่ายจากงบประมาณประจำปีของ กต. (กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ) โดยจะพิจารณาให้การสนับสนุนกิจกรรมภายใต้โครงการดังกล่าวเป็นรายกรณีไป |
2. หนังสือแสดงเจตจำนงฯ จัดทำขึ้นเพื่อวางกรอบการดำเนินความร่วมมือไตรภาคี (3 ฝ่าย) สำหรับการดำเนินโครงการ PROMISE ระยะที่ 2 มีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
หัวข้อ |
รายละเอียด |
|
เจตจำนง |
ผู้เข้าร่วมโครงการมุ่งดำเนินงานร่วมกันเพื่อดำเนินกิจกรรมต่างๆ ภายใต้กรอบความร่วมมือไตรภาคีและเป็นไปตามขอบเขตความร่วมมืออย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล |
|
ขอบเขตความร่วมมือ |
(1) การประชุมหารือเชิงนโยบายเพื่อส่งเสริมให้มีการหารืออย่างสร้างสรรค์ระหว่างหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในไทย ซึ่งจะช่วยปรับปรุงนโยบายและกฎระเบียบต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในการส่งเสริมการพัฒนาทักษะฝีมือและการจ้างงานให้แก่แรงงานข้ามชาติโดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติและเพศ (2) การเสริมสร้างขีดความสามารถให้แก่เจ้าหน้าที่ภาครัฐเพื่อเพิ่มพูนองค์ความรู้และพัฒนาทักษะของเจ้าหน้าที่ภาครัฐจากประเทศกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และไทย ในด้านต่างๆ ที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกัน (3) การสนับสนุนกิจกรรมพัฒนาทักษะฝีมือให้แก่แรงงานข้ามชาติในประเทศต้นทางและประเทศปลายทาง |
|
ระยะเวลาในการดำเนินโครงการ |
ภายในเดือนตุลาคม 2566 (ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติ) - เดือนสิงหาคม 2568 |
|
การจัดการในเชิงเทคนิคและด้านการบริหารโครงการ |
(1) กิจกรรมต่างๆ จะดำเนินการร่วมกันระหว่างกรมความร่วมมือระหว่างประเทศและ IOM ผ่านการประสานงานอย่างใกล้ชิดกับ SDC (2) การสนับสนุนงบประมาณและสิ่งของจะอยู่ในรูปแบบการร่วมให้เงินอุดหนุนตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องของแต่ละฝ่าย (3) ผู้เข้าร่วมโครงการจะลงนามในการเอกสารข้อตกลงย่อยเพิ่มเติมเพื่อกำหนดบทบาทและความรับผิดชอบของแต่ละฝ่ายในการดำเนินโครงการ ซึ่งรวมถึงภาระทางการเงินที่แต่ละฝ่ายสามารถดำเนินการเบิกจ่ายได้ |
|
ข้อตกลงทั่วไป |
(1) หนังสือแสดงเจตจำนงฯ มีผลใช้บังคับนับแต่วันที่ลงนามไปจนกระทั่งสิ้นสุดระยะเวลาในการดำเนินโครงการ PROMISE ระยะที่ 2 ในเดือนสิงหาคม 2568 และหนังสือใดๆ ที่อ้างอิงถึงหนังสือแสดงเจตจำนงฉบับนี้เป็นการเฉพาะจะถือเป็นส่วนประกอบสำคัญของหนังสือแสดงเจตจำนงฯ ฉบับนี้ด้วยเช่นกัน (2) หนังสือแสดงเจตจำนงฯ ฉบับนี้สามารถปรับแก้ไขได้หากมีหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้เข้าร่วมโครงการแต่ละฝ่าย (3) ข้อขัดข้องหรือความคิดเห็นที่ขัดแย้งกันใดๆ ควรได้รับการแก้ไขด้วยวิธีการเจรจากันอย่างฉันมิตรและการปรึกษาหารือกันระหว่างผู้เข้าร่วมโครงการ (4) ข้อมูลใดๆ ก็ตาม รวมถึงข้อมูลส่วนบุคคล ที่อยู่ภายใต้การครอบครองของผู้เข้าร่วมโครงการและมีความข้องเกี่ยวกับหนังสือแสดงเจตจำนงฯ ให้ถือเป็นความลับอย่างเข้มงวด และการเก็บรวบรวม การรับ การใช้ การส่งต่อ และการจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคลใดๆ จะต้องเป็นไปตามกฎระเบียบและข้อบังคับของแต่ละหน่วยงาน และไม่อนุญาตให้มีการเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคลไปยังบุคคลที่สามโดยปราศจากหนังสือแสดงความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้เข้าร่วมโครงการ (5) ไม่มีข้อความใดในหนังสือแสดงเจตจำนงฯ ที่เป็นการให้ข้อยกเว้น แสดงออก หรือบอกเป็นนัยเกี่ยวกับเอกสิทธิ์และความคุ้มกันที่มอบให้แก่ IOM ในฐานะที่เป็นองค์การระหว่างรัฐบาล (ไม่ได้ให้เอกสิทธิ์และความคุ้มกันแก่ IOM ในฐานะองค์การระหว่างประเทศ) |
|
คำชี้แจงที่สำคัญ |
หนังสือแสดงเจตจำนงฯ ฉบับนี้ไม่มีสถานะเป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศ หรือเป็นเอกสารที่มีข้อผูกมัดทางกฎหมาย และมิได้ก่อให้เกิดสิทธิหรือพันธกรณีใดๆ ระหว่างผู้เข้าร่วมโครงการ ดังนั้น หนังสือแสดงเจตจำนงฯ จึงปราศจากข้อผูกมัดทางด้านการเงิน ซึ่งเป็นไปตามความพร้อมด้านงบประมาณของแต่ละฝ่าย |
3. การดำเนินโครงการ PROMISE ระยะที่ 2 ไม่ได้มีการกำหนดกรอบวงเงินงบประมาณไว้ล่วงหน้า แต่จะพิจารณาให้การสนับสนุนกิจกรรมภายใต้โครงการดังกล่าวเป็นรายกรณีไป และจะเบิกจ่ายจากงบประมาณประจำปีของ กต. (กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ) หมวดงบเงินอุดหนุนทั่วไป รายการเงินอุดหนุนโครงการความร่วมมือกับแหล่งความช่วยเหลือต่างๆ ที่ให้กับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ตามความพร้อมและข้อจำกัดด้านงบประมาณ รวมถึงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง
4. ประโยชน์ที่จะได้รับ/ผลกระทบจากการดำเนินโครงการ PROMISE ระยะที่ 2 : โครงการดังกล่าวจะมีส่วนขับเคลื่อนงานการทูตเพื่อการพัฒนากับกลุ่มประเทศยุทธศาสตร์ของไทยและผลักดันการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ รวมทั้งมีส่วนช่วยสนับสนุนการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติของไทยให้สอดคล้องกับบรรทัดฐานระหว่างประเทศที่ไทยได้ให้การรับรองในข้อตกลงระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐานที่ปลอดภัย และยังส่งเสริมการทำงานของกลไกในระดับภูมิภาคด้านแรงงานข้ามชาติ เช่น เวทีการประชุมอาเซียนด้านแรงงานข้ามชาติ อันจะส่งผลให้แรงงานข้ามชาติที่มาทำงานในประเทศไทยได้รับความคุ้มครองและได้รับการพัฒนาทักษะจนเป็นกำลังสำคัญของภาคเศรษฐกิจของไทย รวมถึงเขตอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงอันนำไปสู่การเติบโตที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน และช่วยลดปัญหาความยากจนของภูมิภาคในระยะยาว
5. กต. แจ้งว่า กระทรวงแรงงาน (รง.) (สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน) ไม่มีข้อขัดข้องต่อการเข้าเป็นหุ้นส่วนไตรภาคีภายใต้หนังสือแสดงเจตจำนงฯ และเห็นว่าสอดคล้องกับภารกิจของ รง. ในการส่งเสริมการโยกย้ายถิ่นฐานของแรงงานข้ามชาติที่ปลอดภัย การจัดหางานให้แก่แรงงานข้ามชาติอย่างมีจริยธรรม และการยกระดับโอกาสการเข้าถึงโอกาสการจ้างงานผ่านการพัฒนาทักษะฝีมือ
6. กต. แจ้งว่า ร่างหนังสือแสดงเจตจำนงฯ มิได้มีบริบทใดที่มุ่งจะก่อให้เกิดพันธกรณีภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ โดยได้ระบุว่า ไม่เป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศ หรือเอกสารที่มีผลผูกผันทางกฎหมาย และมิได้ก่อให้เกิดสิทธิหรือพันธกรณีใดๆ ระหว่างกัน ตลอดจนมิได้ก่อให้เกิดภาระผูกพันทางด้านเงินทุนหรืองบประมาณแก่ฝ่ายใด จึงไม่เป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศ และไม่เข้าข่ายเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
______________________
หมายเหตุ: * โครงการ PROMISE ระยะที่ 1 เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนกันยายน 2560 - สิงหาคม 2564
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 12 ธันวาคม 2566
12330