การยกเว้นการตรวจลงตราให้แก่ผู้ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางสัญชาติญี่ปุ่นซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อการติดต่อธุรกิจระยะสั้นเป็นกรณีพิเศษและเป็นการชั่วคราว
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 13 December 2023 01:51
- Hits: 1990
การยกเว้นการตรวจลงตราให้แก่ผู้ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางสัญชาติญี่ปุ่นซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อการติดต่อธุรกิจระยะสั้นเป็นกรณีพิเศษและเป็นการชั่วคราว
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและเห็นชอบตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ ดังนี้
1. อนุมัติในหลักการในการกำหนดให้ญี่ปุ่นอยู่ในรายชื่อประเทศในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดรายชื่อประเทศที่ผู้ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง ซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรเป็น การชั่วคราวเพื่อการติดต่อธุรกิจระยะสั้น ได้รับการยกเว้นการตรวจลงตราและให้อยู่ในราชอาณาจักรได้ไม่เกินสามสิบวัน เป็นกรณีพิเศษ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2569 เพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการต่างประเทศกับญี่ปุ่น โดยเฉพาะด้านการส่งเสริมการค้า การลงทุน และการดำเนินธุรกิจระหว่างทั้งสองประเทศ
2. เห็นชอบร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดรายชื่อประเทศที่ผู้ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง ซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว เพื่อการติดต่อธุรกิจระยะสั้น ได้รับการยกเว้นการตรวจลงตราและให้อยู่ในราชอาณาจักรได้ไม่เกินสามสิบวัน เป็นกรณีพิเศษ และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขประกาศหรือกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป อนึ่ง กระทรวงมหาดไทยได้พิจารณาร่างประกาศฉบับนี้ด้วยแล้ว
3. มอบหมายให้หน่วยงานความมั่นคงและด้านเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกำกับติดตามและประเมินผลจากการออกประกาศกระทรวงมหาดไทยฉบับนี้ ทั้งนี้ หากมีผลกระทบต่อผลประโยชน์แห่งชาติ หน่วยงานความมั่นคงและด้านเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องอาจเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณายกเลิกประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวต่อไปได้
สาระสำคัญ
1. ฝ่ายไทยได้ยกเว้นการตรวจลงตราให้ผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดาหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางสัญชาติญี่ปุ่นซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อการท่องเที่ยวเป็นเวลา 30 วัน (ผ.30) โดยเป็นการให้ฝ่ายเดียว ตั้งแต่ปี 2538 ดังนั้น ในทางปฏิบัตินักธุรกิจญี่ปุ่นสามารถใช้มาตรการ ผ.30 เดินทางเข้าไทย โดยได้รับการยกเว้นการตรวจลงตรา แต่กรณีนักธุรกิจญี่ปุ่นซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อติดต่อธุรกิจระยะสั้น จะไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของ ผ.30 ดังนั้น เมื่อปี 2565 สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ได้ขอให้ไทยยกเว้นการตรวจลงตราให้แก่นักธุรกิจญี่ปุ่นที่จะเดินทางเข้าราชอาณาจักรเพื่อติดต่อธุรกิจระยะสั้นด้วย ส่วนญี่ปุ่นได้ยกเว้นการตรวจลงตราให้ผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดาหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางไทย ซึ่งเดินทางไปญี่ปุ่นเพื่อการท่องเที่ยวและ/หรือติดต่อธุรกิจเป็นเวลา 15 วัน ตั้งแต่ปี 2556 โดยเป็นมาตรการที่ให้แก่ไทยฝ่ายเดียวแบบชั่วคราว คราวละ 3 ปี ซึ่งล่าสุดมีการต่ออายุจนถึงปี 2568
2. ฝ่ายญี่ปุ่นได้หยิบยกเรื่องนี้ในการหารือกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยทุกระดับ อาทิ ในการหารือทวิภาคีระหว่างรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2566 ที่กรุงเทพฯ และในการหารือทวิภาคีระหว่างนายกรัฐมนตรีกับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2566 ในห้วงการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคที่นครซานฟรานซิสโก ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องว่ามีประโยชน์ในภาพรวม โดยญี่ปุ่นเป็นนักลงทุนต่างชาติที่มียอดลงทุนสะสมเป็นอันดับ 1 หลายทศวรรษ และปัจจุบันเป็นคู่ค้าอันดับ 3 ของไทย
3. ตามที่คณะรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 ในส่วนของการสนับสนุนเศรษฐกิจด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่และยกระดับศักยภาพการแข่งขันของประเทศ กระทรวงการต่างประเทศจึงเห็นควรเสนอให้รัฐบาลไทยออกมาตรการยกเว้นการตรวจลงตราให้แก่ผู้ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางสัญชาติญี่ปุ่น ซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อการติดต่อธุรกิจระยะสั้น โดยให้อยู่ในราชอาณาจักรได้ไม่เกินสามสิบวัน เป็นการชั่วคราว โดยมีผลบังคับใช้ 3 ปี ตั้งแต่เดือน วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2569 ซึ่งสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของรัฐบาลไทยที่ต้องการกระตุ้นและพื้นฟูเศรษฐกิจของไทยโดยเร็ว
ประโยชน์และผลกระทบ
การกำหนดให้ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ผู้ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง เข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อการติดต่อธุรกิจระยะสั้นได้รับการยกเว้นการตรวจลงตราและให้อยู่ในราชอาณาจักรได้ไม่เกินสามสิบวัน เป็นกรณีพิเศษ จะช่วยส่งเสริมให้นักธุรกิจญี่ปุ่นเดินทางมาขยายความร่วมมือและดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจในไทยได้สะดวกมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในภาพรวม ทั้งนี้ ญี่ปุ่นมีศักยภาพในอุตสาหกรรมที่รัฐบาลมุ่งเป้าจะส่งเสริม ได้แก่ (1) อุตสาหกรรมสีเขียว (2) ยานยนต์ไฟฟ้า (3) การแพทย์ (4) ชีวภาพ (5) เศรษฐกิจดิจิทัล (6) โครงสร้างพื้นฐาน (7) การพัฒนาการเกษตร และ (8) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 12 ธันวาคม 2566
12328