การประชุมระดับรัฐมนตรีแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ ครั้งที่ 26 (The 26th GMS Ministerial Conference)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 13 December 2023 01:42
- Hits: 1742
การประชุมระดับรัฐมนตรีแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ ครั้งที่ 26 (The 26th GMS Ministerial Conference)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบต่อเอกสารที่จะมีการรับรองในการประชุมระดับรัฐมนตรีแผนงาน GMS ครั้งที่ 26 ได้แก่ (1) ร่างแถลงการณ์ร่วมระดับรัฐมนตรีแผนงาน GMS ครั้งที่ 26 และ (2) ร่างข้อเสนอแนวคิดสำหรับการยกร่างยุทธศาสตร์นวัตกรรมเพื่อการพัฒนาของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง พ.ศ. 2573 และขอความเห็นชอบให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติสามารถปรับปรุงถ้อยคำในร่างแถลงการณ์ร่วมฯ และร่างข้อเสนอแนวคิดฯ ได้ในกรณีที่มิใช่การเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญ โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบอีก
2. อนุมัติให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์) หรือผู้แทนที่รัฐมนตรีช่วยว่การกระทรวงการคลัง (นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์) มอบหมาย ปฏิบัติหน้าที่เป็นรัฐมนตรีประจำแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ (GMS Minister) และเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีแผนงาน GMS ครั้งที่ 26 ในวันที่ 15 ธันวาคม 2566
3. ขอความเห็นชอบให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์) หรือผู้แทนที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์) มอบหมายได้ร่วมกับรัฐมนตรีของประเทศลุ่มแม่น้ำโขงให้การรับรอง (1) แถลงการณ์ร่วมระดับรัฐมนตรีแผนงาน GMS ครั้งที่ 26 และ (2) ข้อเสนอแนวคิดสำหรับการยกร่างยุทธศาสตร์นวัตกรรมเพื่อการพัฒนาของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง พ.ศ. 2573 ในวันที่ 15 ธันวาคม 2566 โดยไม่มีการลงนาม
สาระสำคัญ
1) สาระสำคัญร่างแถลงการณ์ร่วมระดับรัฐมนตรีแผนงาน GMS ครั้งที่ 26 (Joint Ministerial Statement) (1) รัฐมนตรีรับทราบความก้าวหน้าสำคัญในสาขาความร่วมมือในสาขาต่างๆ (2) รัฐมนตรีรับทราบและให้การรับรองแผนงาน การศึกษา และความก้าวหน้าต่างๆ ในประเด็นเชิงบูรณาการ (3) การดำเนินงานในระยะต่อไปของแผนงาน GMS
2) สาระสำคัญของร่างข้อเสนอแนวคิดสำหรับการยกร่างยุทธศาสตร์นวัตกรรมเพื่อการพัฒนาของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง พ.ศ. 2573 (A Proposal to Develop a GMS Innovation Strategy for Development 2030) เช่น ข้อเสนอแนวคิดสำหรับการยกร่างยุทธศาสตร์นวัตกรรมเพื่อการพัฒนา พ.ศ. 2573 เกิดขึ้นจากความตระหนักถึงควมสำคัญของนวัตกรรมในการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและการส่งเสริมความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาข้ามพรมแดน โดยความร่วมมือด้านนวัตกรรมจะเป็นโอกาสในการใช้ศักยภาพสร้างประโยชน์ให้แก่ประเทศสมาชิกในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง บนพื้นฐานของความต้องการ ศักยภาพและระดับการพัฒนาที่แตกต่างกันของแต่ละประเทศ เพื่อลดความเหลือมล้ำทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศสมาชิก ผ่านการพัฒนาและแบ่งปันความรู้ร่วมกัน โดยสร้างความเชื่อมโยงกับประเด็นสำคัญและโครงการริเริ่มที่มีอยู่แล้วของแผนงาน GMS อาทิ การเปลี่ยนผ่านดิจิทัล ในการกำหนดทิศทางการพัฒนา การเสริมสร้างศักยภาพด้านนวัตกรรมและการกำหนดนโยบายนวัตกรรม โดยจะพัฒนาเป็นยุทธศาสตร์ฯ ฉบับสมบูรณ์ และคาดว่าจะเสนอต่อที่ประชุมระดับผู้นำแผนงาน GMS พ.ศ. 2567 เพื่อให้การรับรองแนวปฏิบัติได้ในห้วง พ.ศ. 2568 – 2573
3) ประโยชน์และผลกระทบ
การเข้าร่วมประชุมระดับรัฐมนตรีแผนงาน GMS ครั้งที่ 26 ของผู้แทนประเทศไทยที่ได้รับมอบหมาย รวมถึงการให้การรับรองร่างแถลงการณ์ร่วมฯ และร่างข้อเสนอแนวคิดสำหรับการยกร่างยุทธศาสตร์นวัตกรรมเพื่อการพัฒนาของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง พ.ศ. 2573 จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย ดังนี้ (1) ส่งเสริมความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อผลักดันประเด็นที่จะเป็นประโยชน์ร่วมกันของอนุภูมิภาคในด้านต่างๆ โดยเฉพาะในด้านการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัลและการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (2) แสดงความมุ่งมั่นของไทยในการพัฒนาด้านนวัตกรรมที่เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงภายใต้การดำเนินโครงการของแผนงาน GMS ซึ่งสอดคล้องกับการขับเคลื่อนประเทศตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ที่มุ่งให้ไทยเป็นศูนย์กลางของระบบโลจิสติกส์และห่วงโช่มูลค่าของภูมิภาคบนฐานนวัตกรรม(3) ขับเคลื่อนการดำเนินงานของไทยภายใต้แผนงาน GMS ให้มีประสิทธิภาพ และสอดรับกับหมุดหมายการพัฒนาของไทยตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 - 2570) รวมถึงผลักดันให้แผนงาน GMS เป็นเวทีพหุภาคีที่เปิดกว้างและครอบคลุม โดยมีการประสานงานร่วมกันของหลายภาคส่วน ทั้งภาคเอกชน หุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา และภาคส่วนท้องถิ่นของไทยในการขับเคลื่อนแผนงาน
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 12 ธันวาคม 2566
12324