ร่างคำมั่นของประเทศไทยเนื่องในโอกาสครบรอบ 75 ปี ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 05 December 2023 10:37
- Hits: 1841
ร่างคำมั่นของประเทศไทยเนื่องในโอกาสครบรอบ 75 ปี ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างคำมั่นของประเทศไทยเนื่องในโอกาสครบรอบ 75 ปี ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights: UDHR)1 (ร่างคำมั่นฯ) เพื่อประกาศในกิจกรรมระดับสูงเนื่องในโอกาสครบรอบ 75 ปี ของ UDHR ในวันที่ 11 ธันวาคม 2566 ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ ทั้งนี้ หากมีการแก้ไขร่างคำมั่นฯ โดยหน่วยงานไทยที่เกี่ยวข้องในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญ หรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย อนุมัติให้ กต. ดำเนินการโดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีอีก โดยให้รายงานผลให้คณะรัฐมนตรีทราบในภายหลัง
(จะมีการประกาศคำมั่นฯ ในกิจกรรมระดับสูงเนื่องในโอกาสครบรอบ 75 ปี ของ UDHR ในวันที่ 11 ธันวาคม 2566 ณ นครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์)
สาระสำคัญ
กต. รายงานว่า สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Office of the High Commissioner for Human Rights: OHCHR) มีกำหนดจัดกิจกรรมระดับสูงเนื่องในโอกาสครบรอบ 75 ปี ของ UDHR ระหว่างวันที่ 11 - 12 ธันวาคม 2566 ณ นครเจนีวา และจะมีการเชื่อมต่อกับศูนย์กลางระดับภูมิภาครวมถึงกรุงเทพมหานคร ผ่านช่องทางการประชุมทางไกลหรือการบันทึกวีดิทัศน์ล่วงหน้า โดยมีการดำเนินการที่สำคัญ ดังนี้
1. วันที่ 11 ธันวาคม 2566 จะมีการประกาศคำมั่นด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศต่างๆ เพื่อแสดงความมุ่งมั่นในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี (นายปานปรีย์ พหิทธานุกร) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ประกาศคำมั่นฯ ของไทย เพื่อแสดงความมุ่งมั่นในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ผ่านช่องทางการประชุมทางไกล หรือการบันทึกวีดิทัศน์ล่วงหน้า
2. วันที่ 12 ธันวาคม 2566 ให้นายกรัฐมนตรีกล่าวถ้อยแถลงในพิธีเปิดกิจกรรมระดับสูงที่กรุงเทพมหานคร ผ่านช่องทางการประชุมทางไกล2 ซึ่งจะมีการถ่ายทอดสดไปยังกิจกรรมระดับสูงที่จะจัดขึ้นที่นครเจนีวา
กต. ได้จัดทำร่างคำมั่นฯ ของประเทศไทยที่จะประกาศในกิจกรรมระดับสูงดังกล่าว โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. ผลักดันความคืบหน้าของพันธกรณีและการดำเนินการด้านสิทธิมนุษยชนของไทย โดยให้สัตยาบันอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญ โดยถูกบังคับ3 ภายในต้นปี 2567 และเพิ่มความพยายามในการส่งเสริมประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรม โดยการดำเนินการตามพระราชบัญญัติกำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. 25654 รวมทั้งผลักดันให้ความเท่าเทียมทางเพศให้มีความก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น โดยการออกกฎหมายและการปรับแก้ไขเพื่อยกระดับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
2. ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศในการรับมือกับความท้าทายใหม่ในโลกโดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม โดยจัดตั้งหน่วยงานที่รับผิดชอบเป็นการเฉพาะ และลงทุนเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถ รวมถึงจัดทำกฎหมายที่เกี่ยวข้อง5
3. ยกระดับคุณภาพและการเข้าถึงบริการสุขภาพของทุกคน โดยเน้นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อยกระดับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในระดับประเทศและระดับท้องถิ่น ปรับปรุงกลไกสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค รวมถึงการดูแลแบบประคับประคอง รวมทั้งรักษาระดับของอัตราครัวเรือนที่ต้องกลายเป็นครัวเรือนยากจนภายหลังจากการจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้ต่ำกว่าร้อยละ 0.25 ให้ได้จนถึงปี 25706
4. จัดอบรมด้านสิทธิมนุษยชนให้กับข้าราชการและทุกภาคส่วนของสังคม โดยมีการสนับสนุน ความร่วมมือ และความเป็นหุ้นส่วนกับส่วนราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ภาควิชาการ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และองค์การที่เกี่ยวข้องภายใต้สหประชาชาติ
5. ให้ความสำคัญกับเยาวชน ผ่านกลไกและเวทีต่างๆ ของภาครัฐ และการเสริมสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อส่งเสริมการมีบทบาทของเยาวชน อันมีส่วนช่วยสนับสนุนที่ดีต่อทั้งชุมชนและสังคม
ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการกำกับดูแลการจัดทำรายงานประเทศและติดตามการปฏิบัติตามข้อเสนอแนะภายใต้กลไก Universal Periodic Review ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2566 (อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศแทนปลัดกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธาน) ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อร่างคำมั่นฯ ของประเทศไทย โดย กต. ได้ปรับแก้ร่างคำมั่นฯ ตามข้อพิจารณาของที่ประชุมฯ และที่ได้รับมาในภายหลังด้วยแล้ว
กต. แจ้งว่า ร่างคำมั่นฯ ไม่มีถ้อยคำหรือบริบทใดที่มุ่งจะก่อให้เกิดพันธกรณีภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ จึงไม่เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศและไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
____________________
1 เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2491 ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ สมัยที่ 3 ได้มีข้อมติรับรองปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights: UDHR) ซึ่งถือเป็นเอกสารในการวางรากฐานด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศฉบับแรกของโลก และเป็นพื้นฐานของกฎหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนในปัจจุบัน โดยถือเป็นมาตรฐานที่ประเทศสมาชิกสหประชาชาติได้ร่วมกันจัดทำขึ้นเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชนทั่วโลก ทั้งนี้ ประเทศไทยเป็น 1 ใน 48 แรกที่ลงคะแนนเสียงร่วมรับรองปฏิญญาฉบับนี้ในการประชุมดังกล่าว ซึ่งจัดขึ้น ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
2 นายกรัฐมนตรีได้ตอบรับการกล่าวถ้อยแถลงดังกล่าวแล้ว โดยจะมีการกล่าวถ้อยแถลง ความยาวประมาณ 5 นาที ในพิธีเปิดกิจกรรมของผู้นำ ผ่านระบบการประชุมทางไกลเพื่อถ่ายทอดสดไปยังนครเจนีวา ในวันอังคารที่ 12 ธันวาคม 2566 เวลาประมาณ 15.00 น. ณ ทำเนียบรัฐบาล
3อนุสัญญาฯ รับรองโดยข้อมติสมัชชาสามัญสหประชาชาติ สมัยสามัญ สมัยที่ 61 เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2549 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดให้การบังคับบุคคลให้หายสาบสูญ (การอุ้มหาย) เป็นความผิดตามกฎหมายอาญา (เน้นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐหรือในนามเจ้าหน้าที่รัฐ) รวมทั้งกำหนดโทษของความผิดดังกล่าวด้วยความเหมาะสม ทั้งนี้ ประเทศไทยได้ลงนามในอนุสัญญาดังกล่าวเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2555 และอยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อให้สัตยาบันเข้าเป็นภาคี
4 พระราชบัญญัติกำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. 2565 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมกำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรมทุกขั้นตอนให้ชัดเจน เพื่อให้ประชาชนได้รับความยุติธรรมโดยไม่ล่าช้า และให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทราบได้ว่าหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมจะพิจารณาเรื่องที่อยู่ระหว่างการดำเนินงานเสร็จสิ้นเมื่อใด รวมทั้งตรวจสอบความคืบหน้าได้โดยผ่านช่องทางที่หลากหลาย
5 ที่ผ่านมาประเทศไทยได้มีการดำเนินการในเรื่องดังกล่าว เช่น การเปลี่ยนชื่อกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมเป็นกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม การจัดตั้งศูนย์ประสานงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพในหลายจังหวัด เพื่อสื่อสาร สร้างความรู้ ความเข้าใจ ส่งเสริม และสนับสนุนการบูรณาการการดำเนินงานเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การจัดทำร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติอากาศสะอาด พ.ศ. .... เป็นต้น
6 อัตราครัวเรือนที่ต้องกลายเป็นครัวเรือนยากจนภายหลังจากการจ่ายค่ารักษาพยาบาล คำนวณจากจำนวนครัวเรือนที่อยู่เหนือเส้นความยากจน แต่ภายหลังจ่ายค่ารักษาพบาบาลแล้วครัวเรือนตกอยู่ใต้เส้นความยากจน โดยข้อมูลล่าสุดปี 2564 อัตราดังกล่าวอยู่ที่ร้อยละ 0.22 (ข้อมูลจากรายงานประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ)
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 4 ธันวาคม 2566
12226