มาตรการส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและการใช้จ่าย
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 29 November 2023 02:14
- Hits: 2138
มาตรการส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและการใช้จ่าย
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบในหลักการการดำเนินมาตรการส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและการใช้จ่าย
2. มอบหมายให้มีการดำเนินการศึกษารายละเอียด ผลประโยชน์และผลกระทบ ทั้งในมิติของเศรษฐกิจ การคลัง และสังคม รวมทั้งข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน ดังนี้
หน่วยงานที่ได้รับมอบหมาย |
ดำเนินการศึกษา |
|
กค. |
(1) มาตรการภาษีและการเงินเพื่อสนับสนุนสินค้าไทยให้เป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยว (มาตรการภาษีและการเงินฯ) (2) การปรับปรุงโครงสร้างและอัตราภาษีสรรพสามิตและภาษีประเภทอื่นรวมทั้งปรับปรุงกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนภาคการท่องเที่ยว (การปรับปรุงโครงสร้างและอัตราภาษีสรรพสามิตฯ) (3) การพิจารณาความเหมาะสมในการยกเลิกการอนุญาตให้จัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บน1 เพื่อขายสำหรับร้านค้าปลอดอากรขาเข้า รวมถึงการยกเว้นอากรของที่ซื้อจากร้านค้าปลอดอากรสำหรับผู้โดยสารขาเข้าเพื่อส่งเสริมการบริโภคและการใช้สินค้าภายในประเทศ (การยกเลิกการอนุญาตให้จัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บนฯ) |
|
กระทรวงมหาดไทย (มท.) |
การผ่อนปรนเวลาเปิดปิดของสถานบริการ (การผ่อนปรนเวลาเปิดปิดฯ) |
|
กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) |
การยกเว้นการตรวจลงตราเพื่อการท่องเที่ยวให้แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ (การยกเว้นการตรวจลงตราฯ) |
ทั้งนี้ ให้ กค. มท. และ กต. นำเสนอรายละเอียดของมาตรการที่เกี่ยวข้องและประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อรวบรวมมาตรการอื่นที่เห็นว่าเหมาะสมต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบการดำเนินการต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
กค. รายงานว่า
1. โดยที่คำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี (แถลงต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566) ได้กล่าวถึงนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจว่ารัฐบาลจะผลักดันการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว ซึ่งจะเป็นการสร้างรายได้ที่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจ2 ได้ในระยะสั้นและสร้างงานให้กับประชาชนเป็นจำนวนมาก ประกอบกับคณะรัฐมนตรีได้มีมติเกี่ยวกับการยกเว้นการตรวจลงตรา (ผ.30) ให้กับประเทศต่างๆ มาแล้ว ซึ่งในปัจจุบันมีประเทศที่ได้รับยกเว้นการตรวจลงตราทั้งหมด 61 ประเทศ และมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 3 ตุลาคม 2566 กค. จึงได้เสนอมาตรการส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและการใช้จ่าย 5 มาตรการ ดังนี้
มาตรการ |
วัตถุประสงค์ |
การมอบหมาย |
||
(1) มาตรการภาษีและการเงินฯ |
เพื่อเป็นการกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศและการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติในประเทศไทย โดยเฉพาะสินค้าที่นักท่องเที่ยวนิยมซื้อในระหว่างการท่องเที่ยวในประเทศไทย เช่น น้ำหอม เสื้อผ้า กระเป๋า เป็นต้น เพื่อให้สินค้าไทยเป็นที่รู้จักและที่นิยมอย่างกว้างขวาง |
มอบหมาย กค. พิจารณาความเป็นไปได้ในการดำเนินมาตรการดังกล่าว |
||
(2) การปรับปรุงโครงสร้างและอัตราภาษีสรรพสามิตฯ* |
เพื่อให้สินค้าและบริการบางประเภทมีราคาที่สามารถจูงใจในการบริโภคของนักท่องเที่ยวเมื่อเทียบเคียงกับประเทศอื่นที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของการท่องเที่ยวตลอดจนสามารถทำให้ค่าใช้จ่ายท่องเที่ยวต่อหัวของนักท่องเที่ยวเพิ่มสูงขึ้น |
มอบหมาย กค. พิจารณาความเหมาะสมในการดำเนินมาตรการดังกล่าว |
||
(3) การยกเลิกการอนุญาตให้จัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บนฯ |
เพื่อเป็นการส่งเสริมการบริโภคและการใช้สินค้าภายในประเทศมากยิ่งขึ้น [คือการยกเลิกคลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทที่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งเป็นพื้นที่แสดงและขายของ (ร้าน Duty Free ขาเข้า) เพื่อให้นักท่องเที่ยวต่างชาติหรือคนไทยที่เดินทางกลับเข้ามาในประเทศเกิดการจับจ่ายซื้อของในประเทศแทนที่จะซื้อสินค้าจากในร้าน Duty Free ขาเข้า ดังกล่าว] |
มอบหมาย กค. พิจารณาความเหมาะสมในการดำเนินมาตรการดังกล่าว |
||
(4) การผ่อนปรนเวลาเปิดปิดฯ |
เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายต่อวันของนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เพิ่มมากขึ้น และเพิ่มรายได้ให้แก่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้อง เช่น สถานบันเทิง ร้านอาหาร ผู้ให้บริการขนส่ง เป็นต้น |
มอบหมาย มท. พิจารณาความเป็นได้ในการผ่อนปรนเวลาเปิดปิดของสถานบริการต่อไป |
||
(5) การยกเว้นการตรวจลงตราฯ |
เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจด้วยการส่งเสริมการเดินทางเข้าในประเทศไทยของนักท่องเที่ยวต่างชาติ |
มอบหมาย กต. พิจารณายกเว้นการตรวจลงตราฯ เพิ่มเติมจากปัจจุบัน |
หมายเหตุ * กค. แจ้งเพิ่มเติมว่า การปรับปรุงโครงสร้างและอัตราภาษีสรรพสามิตฯ คือ การลด/ยกเว้นภาษีดังกล่าวให้แก่ซัพพลายเออร์ (supplier) ที่เป็นผู้นำเข้าสินค้าต่างๆ โดยเฉพาะสินค้าที่นักท่องเที่ยวต่างชาตินิยมซื้อในระหว่างท่องเที่ยวในประเทศไทย (พวกสินค้าฟุ่มเฟื่อย อาทิ เครื่องสำอาง น้ำหอม กระเป๋า) หรือซัพพลายเออร์ที่เป็นผู้นำเข้าหรือผลิตสินค้าในกลุ่มที่ต้องเสียภาษีสรรพสามิต (อาทิ สุรา ยาสูบ ไพ่) เพื่อให้สามารถลดราคาสินค้าดังกล่าวให้มีราคาถูกลง ซึ่งจะช่วยดึงดูดให้ทั้งคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติซื้อสินค้าต่างๆ ในประเทศไทยมากขึ้น
2. การดำเนินมาตรการข้างต้นจะก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้ภาษีซึ่งจะต้องมีการจัดทำประมาณการการสูญเสียที่ชัดเจนต่อไป แต่จะสามารถเพิ่มรายได้จากการใช้จ่ายในประเทศ ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้แก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวโดยรวมของประเทศทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมทั้งช่วยลดการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าในต่างประเทศของคนไทย ทั้งนี้ หน่วยงานที่ได้รับมอบหมายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องศึกษารายละเอียดและนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบการดำเนินการต่อไป
______________________
1 คลังสินค้าทัณฑ์บน คือ พื้นที่ที่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งเป็นคลังสินค้าทัณฑ์บนตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรเพื่อใช้สำหรับเก็บของ (คลังสินค้าทัณฑ์บนทั่วไป คลังสินค้าทัณฑ์บนสำหรับเก็บก๊าซปิโตรเลียมเหลว คลังสินค้าทัณฑ์บนสำหรับอู่ซ่อมหรือสร้างเรือ คลังสินค้าทัณฑ์บนสำหรับเก็บน้ำมัน) หรือแสดงและขายของที่เก็บ [คลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทร้านค้าปลอดอากร (Duty Free) คลังสินค้าทัณฑ์บนสำหรับจัดแสดงหรือนิทรรศการ คลังสินค้าทัณฑ์บนเพื่อกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากรบนเที่ยวบิน] หรือผลิต ผสม ประกอบ บรรจุ หรือดำเนินการด้วยวิธีอื่นใดกับของที่เก็บในคลังสินค้าทัณฑ์บน (คลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทโรงผลิตสินค้า คลังเสบียงทัณฑ์บน)
2 เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1 ขยายตัวร้อยละ 2.6 ต่อปี และชะลอตัวลงในไตรมาสที่ 2 อยู่ที่ร้อยละ 1.8 ต่อปี ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยครึ่งแรกของปี 2566 ขยายตัวเพียงร้อยละ 2.2 ต่อปี ส่วนเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 เริ่มมีสัญญาณการชะลอตัวเนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอาจไม่ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ รัฐบาลจึงจำเป็นต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2566 ให้ขยายตัวได้ตามที่คาดการณ์ไว้
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 28 พฤศจิกายน 2566
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
111166