รายงานผลการดำเนินการตามมาตรา 8 แห่งพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 29 November 2023 02:01
- Hits: 1981
รายงานผลการดำเนินการตามมาตรา 8 แห่งพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอรายงานผลการดำเนินการตามมาตรา 8 แห่งพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 และให้เสนอรัฐสภาทราบต่อไป
ทั้งนี้ กค. เสนอว่า โดยที่พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 มาตรา 8 บัญญัติให้การดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารและจัดการการกู้เงิน การเบิกจ่ายเงินกู้ การชำระหนี้ การรายงานการกู้เงิน และการอื่นใดที่เกี่ยวกับการกู้เงินตามพระราชกำหนดนี้ ให้นำความในมาตรา 91 และมาตรา 102 แห่งพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม โดยให้ กค. รายงานการกู้เงินตามพระราชกำหนดนี้ที่กระทำในปีงบประมาณที่ล่วงมาแล้วให้รัฐสภาทราบภายในหกสิบวันนับแต่วันสิ้นปีงบประมาณ โดยรายงานดังกล่าวอย่างน้อยต้องระบุรายละเอียดของการกู้เงิน วัตถุประสงค์ของการใช้จ่ายเงินกู้ รวมถึงผลสัมฤทธิ์และประโยชน์ที่ได้รับหรือคาดว่าจะได้รับ
สาระสำคัญของรายงาน
กค. ได้จัดทำรายงานผลการดำเนินการตามมาตรา 8 แห่งพระราชกำหนดให้อำนาจ กค. กู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1. ความเป็นมาและข้อเท็จจริง ตามที่ได้มีพระราชกำหนดให้อำนาจ กค. กู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 บัญญัติให้ กค. มีอำนาจกู้เงินหรือออกตราสารหนี้ในนามรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย เพื่อนำไปใช้ในแผนงานหรือโครงการตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดฯ วงเงินรวมไม่เกิน 5 แสนล้านบาท โดยต้องลงนามในสัญญากู้เงินหรือออกตราสารหนี้ภายในวันที่ 30 กันยายน 2565 ทั้งนี้ ภายใน 60 วันนับแต่วันสิ้นปีงบประมาณ ให้ กค. รายงานการกู้เงินตามพระราชกำหนดนี้ที่กระทำในปีงบประมาณที่ล่วงมาแล้วให้รัฐสภาทราบ โดยรายงานดังกล่าวอย่างน้อยต้องระบุรายละเอียดของการกู้เงิน วัตถุประสงค์ของการใช้จ่ายเงินกู้ รวมถึงผลสัมฤทธิ์และประโยชน์ที่ได้รับหรือคาดว่าจะได้รับ ตามมาตรา 8 แห่งพระราชกำหนดให้อำนาจ กค. กู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ประกอบกับมาตรา 10 แห่งพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563
2. รายละเอียดของการกู้เงินภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจ กค. กู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 โดยที่การกู้เงินตามพระราชกำหนดฯ สิ้นสุดลง เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2565 กค. ได้ลงนามในสัญญากู้เงินและออกตราสารหนี้ รวม 5 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 100.00 ของวงเงินกู้ตามพระราชกำหนดฯ โดยเป็นการกู้เงินในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จำนวน 144,166.35 ล้านบาท และปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จำนวน 355,833.65 ล้านบาท
3. วัตถุประสงค์ของการใช้จ่ายเงินกู้ คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติแผนงานหรือโครงการตามที่คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้เสนอ จำนวน 2,539 โครงการ ซึ่ง ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 มีหน่วยงานที่ขอยกเลิกโครงการเนื่องจากไม่สามารถดำเนินการได้ในช่วงที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จำนวน 172 โครงการ คงเหลือโครงการที่ดำเนินการและใช้จ่ายเงินกู้ตามพระราชกำหนดฯ ทั้งสิ้น 2,367 โครงการ วงเงินรวม 499,521.66 ล้านบาท ซึ่ง ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 หน่วยงานได้เบิกจ่ายเงินกู้แล้วจำนวน 473,797.97 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 94.85 ของวงเงินอนุมัติ ประกอบด้วย
(1) แผนงานที่ 1 แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 วงเงินกู้ 220,096.18 ล้านบาท มีการเบิกจ่ายเงินกู้แล้ว จํานวน 201,177.55 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 91.40 ของวงเงินอนุมัติ มีโครงการที่ดำเนินการแล้วเสร็จ จํานวน 40 โครงการ จากทั้งหมด 45 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 88.89 และมีโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินงาน จำนวน 5 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 11.11 โดยเป็นการใช้จ่ายเงินกู้สำหรับดำเนินโครงการเพื่อการจัดซื้อวัคซีนโควิด-19 จํานวน 87.66 ล้านโดส การสนับสนุนค่าบริการสาธารณสุขภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของประชาชนที่เจ็บป่วยจากโควิด-19 จำนวน 135,500.30 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลให้กับผู้ติดเชื้อที่ไร้สิทธิ จำนวน 1,347.00 ล้านบาท การสนับสนุนค่าตอบแทนสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ประจำสถานพยาบาลและโรงพยาบาลทั่วประเทศ จำนวน 9,463.35 ล้านบาท
(2) แผนงานที่ 2 แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้แก่ประชาชนทุกสาขาอาชีพ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 วงเงินกู้ 155,435.85 ล้านบาท มีการเบิกจ่ายเงินกู้แล้วจำนวน 153,380.24 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 98.68 ของวงเงินอนุมัติ และมีโครงการที่ดำเนินการแล้วเสร็จจำนวน 31 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 100 โดยเป็นการใช้จ่ายเงินกู้สำหรับดำเนินโครงการเพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้กับผู้ประกันตนในมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 รวมทั้งสิ้น 11.94 ล้านราย โดยมีนายจ้างในระบบที่ได้รับการช่วยเหลือ จํานวน 160,000 ราย การช่วยเหลือประชาชนผ่านมาตรการบรรเทาค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภค (ค่าไฟฟ้า/น้ำประปา) ให้กับประชาชน จำนวน 28.27 ล้านราย รวมถึงกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระ ที่มีอายุเกิน 65 ปี จำนวน 11,201 ราย และเพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา จำนวน 30,491.67 ล้านบาท
(3) แผนงานที่ 3 แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 วงเงินกู้ 123,989.63 ล้านบาท มีการเบิกจ่ายเงินกู้แล้ว จำนวน 119,240.18 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 96.17 ของวงเงินอนุมัติ และมีโครงการที่ดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 2,232 โครงการ จากทั้งหมด 2,291 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 97.42 อยู่ระหว่างดำเนินงาน จำนวน 34 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 1.49 และมีโครงการที่อยู่ระหว่างขอยกเลิกการดำเนินโครงการ จำนวน 25 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 1.09 โดยเป็นการใช้จ่ายเงินกู้สำหรับดำเนินโครงการเพื่อกระตุ้นการบริโภคในประเทศ ซึ่งพบว่า นายจ้างกลุ่ม SMEs ได้รับเงินอุดหนุน จำนวน 240,718 ราย มีแรงงานสัญชาติไทยได้รับการจ้างงานเพื่อรักษาระดับการจ้างงาน จำนวน 3,256,138 ราย และแรงงานสัญชาติไทยที่ได้รับการจ้างงานใหม่ จำนวน 176,987 ราย จากผลการสำรวจ SMEs จํานวน 419 ราย ที่เข้าร่วมโครงการ พบว่า ร้อยละ 97.60 ยังดำเนินกิจการอยู่ มีผลิตภัณฑ์แปรรูปที่มีนวัตกรรมจากวัตถุท้องถิ่น 45 ผลิตภัณฑ์ โดยสามารถสร้างรายได้แก่เกษตรกรในระดับภูมิภาคและท้องถิ่น จำนวน 477.31 ล้านบาท นอกจากนี้ การดำเนินโครงการในพื้นที่เศรษฐกิจฐานราก สามารถขยายช่องทางการสัญจรให้ง่ายต่อการเชื่อมต่อของผู้บริโภค
4. ผลสัมฤทธิ์และประโยชน์ที่ได้รับจากการกู้เงิน โดยในปีงบประมาณ 2566 ยังคงมุ่งเน้นการแก้ไขสถานการณ์และหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 การช่วยเหลือ เยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบเพื่อให้สามารถดำรงชีพได้ในช่วงที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาด และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ยังคงมีความยึดเยื้อและมีการระบาดระลอกใหม่ในปี 2564 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลอย่างต่อเนื่องซึ่งเงินกู้ตามพระราชกำหนดฯ มีความสำคัญอย่างยิ่งในการสนับสนุนการดำเนินงานดังกล่าวในส่วนของการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม รัฐบาลได้ใช้จ่ายเงินกู้เพื่อดำเนินโครงการเพื่อส่งเสริมและกระตุ้นการบริโภคของภาคเอกชน เช่น โครงการคนละครึ่ง โครงการเราเที่ยวด้วยกัน เพื่อเพิ่มอุปสงค์การบริโภคในประเทศและสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการ ร้านค้า ร้านอาหาร โรงแรม/ที่พัก สถานที่ท่องเที่ยว รวมทั้งผู้ประกอบการรายย่อย หาบเร่ แผงลอย ซึ่งช่วยให้เกิดการหมุนเวียนของเงินในระบบเศรษฐกิจและพยุงกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้สามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ อีกทั้งเป็นการลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชนรวมไปถึงโครงการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมในรูปแบบอื่นๆ อาทิ โครงการส่งเสริมธุรกิจ SMEs การท่องเที่ยวและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
ทั้งนี้ จากการประเมินผลโครงการภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจ กค. กู้เงินฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 พบว่า ผลการประเมินในระดับภาพรวมของทุกแผนงานอยู่ในระดับ “เกรด A หรือดีมาก” และมีผลคะแนนในภาพรวมถ่วงน้ำหนักทุกแผนงาน อยู่ที่ระดับ 2.69 คะแนน (จากคะแนนเต็ม 3.00 คะแนน) โดยแผนงานที่ 1 (แผนงานเพื่อจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยารักษาโรค วัคซีน และการวิจัย พัฒนา และผลิตวัคซีนภายในประเทศ แผนงานเพื่อปรับปรุงสถานพยาบาลสำหรับการบำบัดรักษาผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และแผนงานเพื่อรองรับค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข) มีผลการประเมินอยู่ในระดับ “เกรด A หรือดีมาก” และมีผลคะแนนถ่วงน้ำหนักอยู่ที่ระดับ 2.88 คะแนน แผนงานที่ 2 (แผนงานเพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน และแผนงานเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบอาชีพ หรือผู้ประกอบการทุกสาขาอาชีพให้สามารถประกอบอาชีพหรือดำเนินธุรกิจได้) มีผลการประเมิน อยู่ในระดับ “เกรด A หรือดีมาก” และมีผลคะแนนถ่วงน้ำหนักอยู่ที่ระดับ 2.55 คะแนน และแผนงานที่ 3 (แผนงานเพื่อรักษาระดับการจ้างงานของผู้ประกอบการ และแผนงานเพื่อเป็น ค่าใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นการลงทุนและการบริโภคในระบบเศรษฐกิจของประเทศ) มีผลการประเมิน อยู่ในระดับ “เกรด B หรือดี” และมีผลคะแนนถ่วงน้ำหนักอยู่ที่ระดับ 2.54 คะแนน
____________________
1มาตรา 9 บัญญัติให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะมีหน้าที่และอำนาจดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารและจัดการการกู้เงิน การเบิกจ่ายเงินกู้ การชำระหนี้ และการอื่นใดที่เกี่ยวกับการกู้เงินตามพระราชกำหนดนี้ และให้นำกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะมาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม เว้นแต่คำว่าหน่วยงานของรัฐ ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ ทั้งนี้ นอกจากพระราชกำหนดนี้จะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น
2มาตรา 10 บัญญัติให้ภายในหกสิบวันนับแต่วันสิ้นปีงบประมาณ ให้ กค. รายงานการกู้เงินตามพระราชกำหนดนี้ที่กระทำในปีงบประมาณที่ล่วงมาแล้วให้รัฐสภาทราบ โดยรายงานดังกล่าวอย่างน้อยต้องระบุรายละเอียดของการกู้เงิน วัตถุประสงค์ของการใช้จ่ายเงินกู้ รวมถึงผลสัมฤทธิ์และประโยชน์ที่ได้รับหรือคาดว่าจะได้รับ
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 28 พฤศจิกายน 2566
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
111164