WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

รายงานผลการศึกษาตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2566 (เรื่อง การปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำ และการปรับอัตราเงินเดือนสำหรับกลุ่มข้าราชการพลเรือนและเจ้าหน้าที่ของรัฐ)

Gov 23

รายงานผลการศึกษาตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2566 (เรื่อง การปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำ และการปรับอัตราเงินเดือนสำหรับกลุ่มข้าราชการพลเรือนและเจ้าหน้าที่ของรัฐ)

          คณะรัฐมนตรีพิจารณารายงานผลการศึกษาตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2566 (เรื่อง การปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำและการปรับอัตราเงินเดือนสำหรับกลุ่มข้าราชการพลเรือน และเจ้าหน้าที่ของรัฐ) แล้วมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงาน ก.พ. เสนอ ดังนี้ 

          1. เห็นชอบในหลักการการปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุและการปรับเงินเดือนชดเชยผู้ได้รับผลกระทบ การปรับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราว และแนวทางในการปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบราชการ ตามรายงานผลการศึกษาฯ ที่สำนักงาน ก.พ. นำเสนอ 

          2. มอบหมายให้สำนักงาน ก.พ. ร่วมกับคณะกรรมการบริหารงานบุคคลของข้าราชการประเภทต่างๆ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการให้เป็นไปตามขั้นตอนที่กำหนดตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการแต่ละประเภท รวมทั้งกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดำเนินการมีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมายและสอดคล้องตามหลักการดังกล่าวต่อไป

          3. มอบหมายให้สำนักงาน ก.พ. ประสานกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้รับหลักการและแนวทางการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวไปประกอบการพิจารณาดำเนินการในส่วนของข้าราชการและพนักงานส่วนท้องถิ่น และพนักงานรัฐวิสาหกิจต่อไป 

          สาระสำคัญ 

          สำนักงาน ก.พ. เห็นควรรายงานผลการศึกษาความเหมาะสมและเป็นไปได้ แนวทาง กรอบระยะเวลา และผลกระทบของการปรับอัตราเงินเดือนสำหรับกลุ่มข้าราชการพลเรือนและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2566 ซึ่งได้รับความเห็นชอบร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงาน ก.พ.ร. กรมบัญชีกลาง และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง แล้ว โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้ 

          1. การปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุและการปรับเงินเดือนชดเชยผู้ได้รับผลกระทบ

              1.1 วัตถุประสงค์

                    เพื่อปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุตามคุณวุฒิการศึกษาให้มีความเหมาะสม สอดคล้องตามนโยบายรัฐบาล และสามารถดึงดูดบุคลากรที่มีคุณภาพเข้าสู่ระบบราชการ และเพื่อปรับเงินเดือนชดเชยผู้ได้รับผลกระทบซึ่งรับราชการอยู่ก่อนวันที่อัตราเงินเดือนแรกบรรจุใหม่มีผลใช้บังคับ

              1.2 หลักการ

                    อัตราเงินเดือนแรกบรรจุมีความเหมาะสมและแตกต่างกันตามระดับคุณวุฒิ การศึกษา และอัตราเงินเดือนของผู้ที่รับราชการอยู่ก่อนจะต้องไม่น้อยกว่าผู้ที่บรรจุเข้ารับราชการใหม่ โดยใช้คุณวุฒิระดับเดียวกัน และอัตราเงินเดือนหลังการปรับจะต้องไม่ทำให้ผู้ซึ่งเคยได้รับเงินเดือนสูงกว่า กลายเป็นผู้ได้รับเงินเดือนต่ำกว่าผู้ดำรงตำแหน่งประเภทและระดับเดียวกันที่บรรจุในวุฒิเดียวกัน ทั้งนี้ โดยไม่เป็นภาระงบประมาณมากจนเกินควร

              1.3 เป้าหมาย

                    ปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุทุกคุณวุฒิให้แตกต่างกันตามระดับคุณวุฒิการศึกษา โดยผู้ที่ปฏิบัติงานในตำแหน่งที่ใช้คุณวุฒิระดับปริญญาตรีจะมีเงินเดือนไม่น้อยกว่า 18,000 บาท และผู้ที่ปฏิบัติงานในตำแหน่งที่ใช้คุณวุฒิระดับ ปวช. จะมีเงินเดือนไม่น้อยกว่า 11,000 บาท ภายใน 2 ปี และปรับอัตราเงินเดือนของคุณวุฒิอื่นๆ ให้สอดคล้องกัน รวมทั้งปรับเงินเดือนชดเชยผู้ได้รับผลกระทบจากการปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุดังกล่าวภายในช่วงระยะเวลาเดียวกันด้วย

              1.4 แนวทางดำเนินการ

                    (1) การปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุ โดยทยอยปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุตามคุณวุฒิเพิ่มขึ้น (ทุกคุณวุฒิ) และแตกต่างกันตามระดับคุณวุฒิการศึกษา ภายใน 2 ปี โดยมีเป้าหมายการปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุตามคุณวุฒิการศึกษา (คุณวุฒิหลัก) ดังนี้ 

 

คุณวุฒิ

ปัจจุบัน

ปีที่ 1

ปีที่ 2

ปวช.

9,400 – 10,340

10,340 – 11,380

11,380 – 12,520

ปวส.

11,500 – 12,650

12,650 – 13,920

13,920 – 15,320

ปริญญาตรี

15,000 – 16,500

16,500 – 18,150

18,150 – 19,970

ปริญญาโท

17,500 – 19,250

19,250 – 21,180

21,180 – 23,300

ปริญญาเอก

21,000 – 23,100

23,100 – 25,410

25,410 – 27,960

 

                    (2) การปรับเงินเดือนชดเชยผู้ได้รับผลกระทบ จำนวน 2 ครั้ง ให้มีผลใช้บังคับพร้อมกับการปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุในปีที่ 1 และปีที่ 2 โดยปรับเงินเดือนชดเชยในแต่ละปีให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายผู้เข้ารับราชการก่อนวันที่อัตราแรกบรรจุที่กำหนดใหม่มีผลใช้บังคับอย่างน้อย 10 ปี

              1.5 กลุ่มเป้าหมาย

                    ครอบคลุมข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ประกอบด้วย ข้าราชการพลเรือนสามัญ ข้าราชการทหาร ข้าราชการตำรวจ ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ข้าราชการรัฐสภาสามัญ พนักงานราชการ ข้าราชการในหน่วยธุรการของศาล ได้แก่ สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานศาลปกครอง และสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ข้าราชการในสำนักงานขององค์กรอิสระและองค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญ ได้แก่ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงาน ป.ป.ช. สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และข้าราชการธุรการอัยการ

              1.6 การมีผลใช้บังคับ

                    ปีที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 และปีที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2568 

              1.7 ประมาณการงบประมาณ 

                    การปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุและปรับเงินเดือนชดเชยผู้ได้รับผลกระทบของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ คาดว่าจะใช้งบประมาณในปีที่ 1 (12 เดือน) จำนวน 7,200 ล้านบาท และปีที่ 2 (12 เดือน) จำนวน 8,800 ล้านบาท โดยให้ส่วนราชการใช้จ่ายจากงบประมาณของแต่ละส่วนราชการเป็นลำดับแรก หากไม่เพียงพอให้ใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบกลาง รายการเงินเลื่อนเงินเดือน และเงินปรับวุฒิข้าราชการในลำดับต่อไป

              1.8 ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณา

                    กฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการประเภทต่างๆ กำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารงานบุคคลของข้าราชการประเภทนั้นๆ ในการกำหนดอัตราเงินเดือนตามคุณวุฒิ เพื่อใช้ในการบรรจุและแต่งตั้ง (ยกเว้นกฎหมายว่าด้วยข้าราชการทหารให้กำหนดเป็นกฎกระทรวง) ดังนั้น เพื่อให้การปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุตามคุณวุฒิและการปรับเงินเดือนชดเชยผู้ได้รับผลกระทบของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกประเภท บรรลุวัตถุประสงค์ หลักการ และเป้าหมายเดียวกัน โดยมีความเป็นธรรมไม่เหลื่อมล้ำกัน จึงเห็นควรให้ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการบริหารงานบุคคลของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐแต่ละประเภทนำเสนอคณะกรรมการบริหารงานบุคคลของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุตามคุณวุฒิ และการปรับเงินเดือนชดเชยผู้ได้รับผลกระทบ ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติให้ใช้งบประมาณ สำหรับการดำเนินการดังกล่าวต่อไป 

          2. การปรับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราว เพื่อให้การดำเนินการสอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับการปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุในช่วงปี พ.ศ. 2555 กระทรวงการคลัง (กรมบัญชีกลาง) เห็นควรพิจารณาปรับเพดานเงินเดือนขั้นสูงที่มีสิทธิได้รับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราว จากเดิม เงินเดือนไม่ถึงเดือนละ 13,285 บาท เป็น เงินเดือนไม่ถึงเดือนละ 14,600 บาท และปรับเพดานชั้นต่ำของเงินเดือนรวมกับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราว จากเดิม เดือนละ 10,000 บาท เป็น เดือนละ 11,000 บาท และปรับเงินเพิ่มการครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญขั้นต่ำ จากเดิม 10,000 บาท เป็น 11,000 บาท ซึ่งการปรับเพดานเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวในครั้งนี้ จะครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย ข้าราชการ ลูกจ้างประจำ ทหารกองประจำการ และผู้รับบำนาญ และคาดว่าจะใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นไม่เกิน 3,000 ล้านบาทต่อปี โดยให้ส่วนราชการใช้จ่ายจากงบประมาณของแต่ละส่วนราชการเป็นลำดับแรก หากไม่เพียงพอให้ขอทำความตกลงกับสำนักงบประมาณเพื่อขอใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบกลาง ต่อไป

          3. การปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบราชการ นอกจากการปรับอัตราเงินเดือน แรกบรรจุเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการดึงดูดบุคลากรที่มีคุณภาพเข้าสู่ระบบราชการแล้ว สำนักงาน ก.พ เห็นควรมีมาตรการหรือแนวทางในการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการและการปฏิบัติงานของส่วนราชการและหน่วยงานภาครัฐควบคู่กันไปด้วย โดยเบื้องต้นอาจพิจารณาโดยให้ความสำคัญกับมาตรการหรือแนวทางในการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบราชการที่สามารถเริ่มดำเนินการได้ทันที ดังต่อไปนี้

              3.1 การบริหารจัดการอัตรากำลังเพื่อเร่งรัดการเป็นรัฐบาลดิจิทัล (Digital Government) คณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี จะเป็นผู้กำหนดมาตรการ/แนวทาง/นโยบายในการกระตุ้นให้ส่วนราชการเร่งปรับเปลี่ยนรูปแบบและวิธีการทำงาน โดยการยุบเลิกตำแหน่งว่างจากการเกษียณของตำแหน่งในสายงานสนับสนุน (เฉพาะตำแหน่งที่สามารถนำเทคโนโลยีมาใช้แทนได้) เป็นระยะเวลา 3 ปีต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการส่งเสริมและสนับสนุนให้ส่วนราชการจัดทำและดำเนินการตาม Digital Transformation Plan ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมภายในช่วงระยะเวลาดังกล่าว อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในระยะเปลี่ยนผ่าน รัฐบาลโดยคณะกรรมการบริหารพนักงานราชการ (คพร.) จะพิจารณาจัดสรรกรอบอัตรากำลังพนักงานราชการ เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ถูกยุบเลิกตามแนวทางดังกล่าว (เต็มจำนวน) โดยส่วนราชการจะจ้างพนักงานราชการได้ไม่เกิน 1 สัญญาจ้าง (ไม่เกิน 4 ปี) ทั้งนี้ หากมีเหตุผลและความจำเป็น คพร. อาจพิจารณาให้ต่อสัญญาได้เป็นรายกรณี

              3.2 การบริหารจัดการอัตรากำลังข้าราชการที่ไปช่วยราชการ เนื่องจากปรากฏข้อมูลว่า ปัจจุบันส่วนราชการต่างๆ มีการอนุมัติให้ข้าราชการไปช่วยราชการในส่วนราชการอื่นเป็นจำนวนมาก การช่วยราชการในลักษณะดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบต่ออัตรากำลังผู้ปฏิบัติงานของส่วนราชการต้นสังกัด ดังนั้น เพื่อให้การใช้กำลังคนภาครัฐเกิดประโยชน์สูงสุด (Workforce Optimization) จึงเห็นควรมีมาตรการเพื่อจำกัดการช่วยราชการให้เกิดขึ้นเฉพาะกรณีที่มีความจำเป็น/หลีกเลี่ยงไม่ได้เท่านั้น โดยคณะรัฐมนตรีอาจมีมติเป็นหลักการในทำนองเดียวกับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2554 (เรื่อง การปรับปรุงอัตรากำลังข้าราชการที่ไปช่วยราชการ) และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2545 (เรื่อง แนวคิดในการแก้ไขปัญหาการให้ข้าราชการไปช่วยราชการ) กล่าวคือ ให้ทบทวนหรือยกเลิกการช่วยราชการทั้งหมด และต่อไปหากมีความจำเป็นต้องขอยืมตัวข้าราชการผู้ใดไปช่วยราชการที่ใด ให้เสนอขออนุมัติต่อผู้บังคับบัญชาระดับสูง เช่น ปลัดกระทรวง เพื่อพิจารณาเป็นการเฉพาะราย 

              3.3. การเชื่อมโยงฐานข้อมูลข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ เนื่องจากปัจจุบันส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ ในฐานะต้นสังกัดของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐประเภทต่างๆ ได้มีการพัฒนาระบบสารสนเทศหรือฐานข้อมูลทรัพยากรบุคคลเป็นของตนเอง ทำให้ข้อมูลกำลังคนภาครัฐประเภทต่างๆ กระจายตัวอยู่ในแต่ละส่วนราชการหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องดังกล่าว ส่งผลให้รัฐบาลขาดข้อมูลที่จะนำมาใช้ประกอบการพิจารณากำหนดนโยบายกำลังคนภาครัฐให้มีความเหมาะสมและทันต่อสถานการณ์ ดังนั้น เพื่อประโยชน์ในการวางแผน ติดตาม และประเมินผลการใช้ประโยชน์กำลังคนภาครัฐ ตลอดจนการเกลี่ยอัตรากำลังที่มีอยู่อย่างจำกัดไปยังภารกิจที่มีความสำคัญและจำเป็นเร่งด่วน จึงเห็นควรมีมาตรการเชิงบังคับให้ส่วนราชการและหน่วยงานภาครัฐเชื่อมโยงฐานข้อมูลกำลังคนกับระบบโปรแกรมกลางด้านสารสนเทศทรัพยากรบุคคล (DPIS Center) ของสำนักงาน ก.พ. ทั้งนี้ เพื่อให้รัฐบาลมีข้อมูลที่ครบถ้วนสมบูรณ์ และเพียงพอต่อการกำหนดนโยบายในการบริหารจัดการกำลังคนภาครัฐให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป

              3.4 การพัฒนาระบบค่าตอบแทนภาครัฐในระยะต่อไป สำนักงาน ก.พ. จะดำเนินการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาทบทวนโครงสร้างเงินเดือนและระบบค่าตอบแทนภาครัฐให้มีความเหมาะสม เป็นธรรม และสอดคล้องกับสภาวการณ์ โดยมุ่งเน้นให้ระบบค่าตอบแทนภาครัฐเป็นเครื่องมือในการดึงดูดและรักษาบุคลากรที่มีคุณภาพ เสริมสร้างขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงานให้แก่ข้าราชการ การจ่ายค่าตอบแทนที่สะท้อนถึงผลการปฏิบัติงานที่แท้จริง (Performance Based Pay) ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงความยั่งยืนทางการคลังของประเทศและประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับเป็นสำคัญ 

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 28 พฤศจิกายน 2566

สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396

 

 

111163

Click Donate Support Web 

Banner GPF720x100 PX

CKPower 720x100

MTL 720x100

SME 720x100 66

kbank 720x100 66

TOA 720x100

วิริยะ 720x100

AXA 720 x100

aia 720 x100

BKI 720 x 100

PTG 720x100

ais 720x100

QIC 720x100

gen 720x100

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!