ขอขยายระยะเวลาดำเนินการจัดทำกฎหมายลำดับรอง (กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Thursday, 23 November 2023 00:17
- Hits: 1962
ขอขยายระยะเวลาดำเนินการจัดทำกฎหมายลำดับรอง (กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการขยายระยะเวลาการดำเนินการจัดทำกฎหมายลำดับรองตามพระราชบัญญัติความร่วมมือระหว่างประเทศในทางแพ่งเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิควบคุมดูแลเด็ก พ.ศ. 2555 ออกไปอีกหนึ่งปีนับแต่วันที่ครบกำหนดตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 จนถึงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2567 ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ
สาระสำคัญ
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชนมีพระราชบัญญัติความร่วมมือระหว่างประเทศในทางแพ่งเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิควบคุมดูแลเด็ก พ.ศ. 2555 ที่ต้องมีการออกกฎหมายลำดับรองตามมาตรา 11 วรรคสอง โดยมีสาระสำคัญให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ออกระเบียบว่าด้วยการคุ้มครองดูแลเด็ก กรณีพนักงานอัยการยื่นคำขอต่อศาลเพื่อขอให้มีคำสั่งอนุญาตให้นำตัวเด็กส่งไว้ในความคุ้มครองดูแลของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และมาตรา 24 โดยมีสาระสำคัญให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ออกกฎกระทรวงเพื่อกำหนดรายละเอียดค่าใช้จ่ายต่างๆ เกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือตามพระราชบัญญัติดังกล่าว เป็นการขอความช่วยเหลือไปยังต่างประเทศในการให้ความช่วยเหลือเด็กให้พ้นจากภยันตรายอันเกิดจากการถูกพาไปหรือกักตัวไว้โดยมิชอบ ซึ่งบรรดาค่าใช้จ่ายให้ความช่วยเหลือซึ่งต้องร่วมพิจารณากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดหรือประเมินค่าใช้จ่ายให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ตามข้อเท็จจริง หรือกำหนดแบบประเมินเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันอยู่ในชั้นการพิจารณาของกรมกิจการเด็กและเยาวชน และอาจดำเนินการในขั้นตอนการพิจารณาร่างกฎหมายและประกาศในราชกิจจานุเบกษาได้ไม่ทันภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 21 พฤศจิกายน 2566
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
11878