ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนเพื่อความยั่งยืนของประเทศไทย)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Thursday, 23 November 2023 00:13
- Hits: 1822
ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนเพื่อความยั่งยืนของประเทศไทย)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนเพื่อความยั่งยืนของประเทศไทย) ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาต่อไป
ทั้งนี้ กค. เสนอว่า
1. โดยที่รัฐบาลมีนโยบายจะใช้การพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ สภาธุรกิจตลาดทุนไทยจึงได้มีข้อเสนอต่อ กค. ในการใช้ตลาดทุนไทยเป็นกลไกบรรลุเป้าหมายด้านความสามารถในการแข่งขันควบคู่ไปกับความยั่งยืนของประเทศ กค. จึงได้ประชุมร่วมกันกับสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 โดยที่ประชุมได้มีความเห็นร่วมกันในการจัดตั้ง “กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thailand ESG1 Fund หรือ TESG)” และกำหนดสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในกองทุนรวมดังกล่าว
2. การลงทุนของกองทุน TESG จะเป็นการนำเงินที่ได้จากการขายหน่วยลงทุนไปลงทุนในหลักทรัพย์ของบริษัทที่ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคมและบรรษัทภิบาล (Environmental, Social, and Governance หรือ ESG) สำหรับการลงทุนในตราสารทุนจะลงทุนในบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่อยู่ในรายชื่อหุ้นยั่งยืน (Thailand Sustainability Investment หรือ THSI) ของตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือที่เปิดเผยข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งปัจจุบันมี 210 บริษัทกระจายอยู่ในหลายกลุ่ม อาทิ ขนส่ง จัดการของเสีย ทรัพยากร พลังงาน อสังหาริมทรัพย์ อุตสาหกรรม และคาดว่าจะมีเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต สำหรับการลงทุนในตราสารหนี้จะลงทุนในตราสารหนี้กลุ่มความยั่งยืน (Sustainable Bond) ตามหลักเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์2 (สำนักงาน ก.ล.ต.) ได้แก่ ตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond) ตราสารหนี้เพื่อพัฒนาสังคม (Social Bond) ตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) และตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-Linked Bond) โดยจะลงทุนในหลักทรัพย์ของบริษัทไทยเท่านั้น
3. กค. พิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อสนับสนุนนโยบายรัฐบาลที่จะใช้การพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ จึงเห็นควรยกร่างกฎกระทรวงฉบับที่ ..(พ.ศ. .... ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร กำหนดให้เงินได้ของบุคคลธรรมดาที่จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนใน TESG ในอัตราไม่เกินร้อยละ 30 ของเงินได้เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 100,000 บาทสำหรับปีภาษีนั้น เป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ สำหรับเงินได้ที่ได้รับตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2575 และกำหนดให้ผู้มีเงินได้ไม่ต้องนำเงินหรือผลประโยชน์ใดๆ ที่ได้รับเนื่องจากการขายหน่วยลงทุนคืนให้แก่ TESG มารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เฉพาะกรณีที่เงินหรือผลประโยชน์ดังกล่าวคำนวณมาจากเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามที่กล่าวมา ทั้งนี้ ต้องถือหน่วยลงทุนดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่า 8 ปีนับตั้งแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุน
4. กค. ได้พิจารณาการสูญเสียรายได้และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับตามมาตรา 27 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 โดยสภาธุรกิจตลาดทุนไทยได้คาดการณ์ว่า ในปีแรก (ปี 2566) จะมีบัญชีนักลงทุนใหม่ 100,000 บัญชี และในปีถัดๆ ไปจะมีบัญชีนักลงทุนใหม่ 300,000 บัญชี จึงจะมีจำนวนเงินลงทุนใหม่ 10,000 ล้านบาท และ 30,000 ล้านบาทตามลำดับ คาดว่าจะก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้ของรัฐโดยสูญเสียรายได้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปีแรกประมาณ 3,000 ล้านบาท และในปีถัดๆ ไปปีละประมาณ 10,000 ล้านบาท มีประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ ดังนี้ 1) เพิ่มทางเลือกในการออมและการลงทุนระยะยาวให้แก่ผู้มีเงินได้ 2) เพิ่มการลงทุนระยะยาวในตลาดทุนไทย อันจะทำให้เสถียรภาพของตลาดทุนไทยเพิ่มขึ้นด้วย และ 3) ทำให้เกิดการลงทุนในกิจการที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาลเพิ่มขึ้น และบริษัทไทยที่ให้ความสำคัญแก่สิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาลเพิ่มขึ้นตามไปด้วย อันจะมีส่วนช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals หรือ SDGs3) ของสหประชาชาติ รวมทั้งเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality4) และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero5)
จึงได้เสนอร่างกฎกระทรวงฯ มาเพื่อดำเนินการ
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
ประเด็น |
สาระสำคัญ |
|||
1. ผู้มีสิทธิได้รับสิทธิประโยชน์ |
● บุคคลธรรมดาที่มีรายได้ (ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล และกองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง) |
|||
2. เงื่อนไขการได้รับสิทธิประโยชน์ |
จากการซื้อหน่วยลงทุน TESG |
จากการขายหน่วยลงทุน TESG |
||
● นำเงินได้มาซื้อหน่วยลงทุนใน TESG ● เป็นเงินได้ที่ได้มาตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 75 ● ต้องถือหน่วยลงทุนใน TESG ไม่น้อยกว่า 8 ปีนับตั้งแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุน (แต่ไม่รวมกรณีทุพพลภาพหรือตาย) |
● ขายหน่วยลงทุนคืนให้แก่ TESG ● ถือหน่วยงลงทุนใน TESG มาแล้วไม่น้อยกว่า 8 ปีนับตั้งแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุน (แต่ไม่รวมกรณีทุพพลภาพหรือตาย) |
|||
3. สิทธิประโยชน์ |
จากการซื้อหน่วยลงทุน TESG |
จากการขายหน่วยลงทุน TESG |
||
● ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำเงินค่าซื้อหน่วยลงทุนใน TESG มารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ในอัตราไม่เกินร้อยละ 30 ของเงินได้พึงประเมิน เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 100,000 บาท สำหรับปีภาษีนั้นๆ |
● ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำเงินหรือผลประโยชน์ที่ได้รับเนื่องจากการขายหน่วยลงทุนคืนให้แก่ TESG มารวมคำนวณภาษีเงินได้ (เฉพาะกรณีที่คำนวณเงินหรือผลประโยชน์จากเงินที่ได้หักลดหย่อนกรณีซื้อหน่วยลงทุนใน TESG) |
___________________
1 ESG (Environment, Social, Governance) คือแนวคิดการดำเนินธุรกิจที่มุ่งเน้นความยั่งยืน โดยไม่หวังผลกำไรเพียงอย่างเดียว แต่คำนึงถึง 3 ปัจจัยหลัก คือ 1) ด้านสิ่งแวดล้อม 2) ด้านสังคม และ 3) ด้านบรรษัทภิบาล
2 สำนักงาน ก.ล.ต. กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการออกประกาศเพื่อรองรับการจัดตั้งกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (TESG)
3 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) เป็นชุดเป้าหมายการพัฒนาระดับโลกที่ได้รับการรับรองจากสหประชาชาติ เป็นทิศทางการพัฒนาที่ทุกประเทศที่ต้องดำเนินการร่วมกันมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2016 ไปจนถึงปี ค.ศ. 2030 มีทั้งหมด 17 เป้าหมาย (Goals) และจัดกลุ่มได้เป็น 5 มิติแห่งความยั่งยืน ได้แก่ (1) People (มิติด้านสังคม) (2) Prosperity (มิติด้านเศรษฐกิจ) (3) Planet (มิติด้านสิ่งแวดล้อม) (4) Peace (มิติด้านสันติภาพและสถาบัน) และ (5) Partnership (มิติด้านหุ้นส่วนการพัฒนา)
4 Carbon neutrality หรือ ความเป็นกลางทางคาร์บอน คือ การที่ปริมาณการปล่อยคาร์บอน (CO2) เข้าสู่ชั้นบรรยากาศเท่ากับปริมาณคาร์บอนที่ถูกดูดซับกลับคืนมาผ่านป่าหรือวิธีการอื่น
5 Net Zero หรือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ คือ การที่ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีความสมดุลเท่ากับก๊าซเรือนกระจกที่ถูกดูดซับออกจากชั้นบรรยากาศ
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 21 พฤศจิกายน 2566
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
11876