รายงานประเมินผลสัมฤทธิ์การดำเนินงานตามแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2562 - 2565)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 22 November 2023 19:31
- Hits: 1884
รายงานประเมินผลสัมฤทธิ์การดำเนินงานตามแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2562 - 2565)
คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานประเมินผลสัมฤทธิ์การดำเนินงานตามแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2562 - 2565) (แผนสิทธิมนุษยชนฯ) ตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอ
สาระสำคัญ
ยธ. รายงานว่า
1. แผนสิทธิมนุษยชนฯ เป็นเครื่องมือ กลไก และมาตรการให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องน่าไปใช้ในการส่งเสริม ปกป้อง คุ้มครองสิทธิมนุษยชนให้กับประชาชน ซึ่ง ยธ. ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้จัดทำและขับเคลื่อนแผนดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง โดยแผนสิทธิมนุษยชนฯ ประกอบด้วย โครงการ/กิจกรรม จำนวน 2,409 โครงการ มีโครงการที่ทำเสร็จ จำนวน 1,837 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 76.26 และมีผลการดำเนินการในภาพรวม ดังนี้
ปีงบประมาณ |
โครงการ ทั้งหมด |
โครงการ ที่ทำสำเร็จ |
โครงการ ที่กำลัง ดำเนินการ |
โครงการ ที่ยังไม่ได้ ดำเนินการ |
โครงการ ที่ไม่ได้รับรายงานผล |
ไม่ปรากฏ ข้อมูล |
พ.ศ. 2563 |
707 |
707 |
- |
- |
- |
- |
พ.ศ. 2564 |
853 |
470 |
251 |
67 |
42 |
23 |
พ.ศ. 2565 |
849 |
660 |
104 |
85 |
- |
- |
รวม |
2,409 |
1,837 |
355 |
152 |
42 |
23 |
คิดเป็นร้อยละ |
- |
76.26 |
14.74 |
6.31 |
1.74 |
0.95 |
2. เมื่อนำผลการประเมินระยะครึ่งแผนและระยะสิ้นสุดแผนการสังเคราะห์มีผลสำเร็จและข้อสังเกตของการดำเนินงานตามแผนสิทธิมนุษยชนฯ สรุปได้ ดังนี้
2.1 ตัวอย่างผลการดำเนินงานตามแผนสิทธิมนุษยชนฯ มีสาระสำคัญ สรุปได้ ดังนี้
ด้าน |
ผลการดำเนินการ/ข้อสังเกต |
|
1) กระบวนการยุติธรรม |
ได้มีสร้างกลไกการให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนและความรู้พื้นฐานในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของประชาชนผ่านกลไกต่างๆ เช่น (1) กลไกระดับจังหวัดทุกจังหวัด (2) ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชนจำนวนกว่า 1,500 แห่ง ทั่วประเทศ และ (3) การส่งเสริม “บวร” สร้างเครือข่ายบ้าน วัด โรงเรียน รวมถึงการทำงานของสำนักงานอัยการสูงสุดในการมีคณะทำงานเพื่อติดตามและประสานเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนของคนไทยในต่างประเทศอีกด้วย |
|
2) การศึกษา |
อัตราการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาขั้นพื้นฐานในภาพรวมมีการเพิ่มขึ้นน้อยมาก ดังนั้น การศึกษายังคงต้องมีการทุ่มเทด้านทรัพยากรกำลังคนและงบประมาณอีกเป็นอย่างมาก |
|
3) ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม |
ควรถอดบทเรียนและปรับแนวทางในการเตรียมความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะหากเกิดโรคระบาดใหม่หรือภัยพิบัติฝุ่น PM2.5 ซึ่งถือเป็นภัยที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและส่งผลต่อสุขภาพของประชาชน เช่น ลดการเผาป่า ทำไร่เลื่อนลอย การควบคุมควันดำจากรถยนต์ ตลอดจนการส่งเสริมพลังงานสะอาด รถไฟฟ้า การใช้พลังงานในครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรม |
|
4) เศรษฐกิจและธุรกิจ |
ไทยมีความเหลื่อมล้ำด้านรายได้สูงเป็นอันดับ 4 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกและผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด - 19 ส่งผลให้เศรษฐกิจของไทยหดตัวอย่างรุนแรง ประชาชนไทยในภาพรวมและยังได้รับผลกระทบทางการเมืองและภาวะการเงินการลงทุนที่ผันผวน แม้จะมีโครงการที่เกี่ยวข้องกับตัวชี้วัดและข้อเสนอแนะต่างๆ แต่ไม่มีโครงการใด หรือผลในภาพรวมที่ชี้ให้เห็นถึงความสำเร็จ ของการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านรายได้และความยากจนในไทยได้ |
|
5) การขนส่ง |
มีการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกด้านคมนาคมขนส่งในการดำเนินการพัฒนาสู่ “ระบบขนส่งเพื่อความเสมอภาคและเท่าเทียม” เป็นระบบขนส่งสำหรับทุนคน เช่น การสร้างสะพานข้ามแยก อย่างไรก็ดี อัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนยังคงเพิ่มขึ้น เนื่องจากโครงการฯ ไม่มีมาตรฐานด้านความปลอดภัย |
|
6) สาธารณสุข |
มีการขับเคลื่อนงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับงานด้านสาธารณสุขทั้งหมดและการสร้างหลักประกันสุขภาพให้กับผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทย รวมถึงการให้บริการทางการแพทย์ทางไกล (TeleMedicine) เพื่อให้ประชาชนทุกที่ทั่วไทยเข้าถึงบริการได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด |
|
7) ข้อมูลข่าวสารและเทคโนโลยีสารสนเทศ |
การผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนบนโลกออนไลน์หรือกฎหมาย Personal Data Protection Act: PDPA1 และอื่นๆ การยอมรับและนำไปใช้ปฏิบัติในสังคม รวมถึงการสร้างทักษะการรู้เท่ากันสื่อดิจิทัล เพราะระดับความรุนแรงส่งผลถึงชีวิตและทรัพย์สิน และมีแนวโน้มความรุนแรงเพิ่มขึ้นตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่เพิ่มมากขึ้น |
|
8) ด้านการเมือง การปกครองและความมั่นคง |
ประชาชนคนไทย โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่สนใจมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น อย่างไรก็ดี มีประเด็นสังคมอีกมากที่สะท้อนถึงข้อสงสัยว่า หน่วยงานหลักสามารถดำเนินการตามที่ให้สร้างวัฒนธรรมการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ได้หรือไม่ ซึ่งสถาบันการเมืองหลักของประเทศควรจะเป็นหน่วยงานสำคัญที่ขับเคลื่อนงานตามข้อเสนอแนะให้ประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมให้ได้ |
|
9) ที่อยู่อาศัย |
การพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มเปราะบางยังมีอีกมากที่ยังไม่มีที่อยู่อาศัยทั้งในเขตเมืองและชนบท ทำให้เกิดปัญหาชุมชนแออัด คนเร่ร่อนและการบุกรุกพื้นที่ของกรมป่าไม้ หรือที่ดินของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ในต่างจังหวัดที่ยังไม่สามารถแก้ไขปัญญาตามข้อเท็จจริงได้ |
|
10) ชุมชน วัฒนธรรมและศาสนา |
ไทยมีความหลากหลายทางศาสนา และมีการส่งเสริมกิจกรรมของศาสนาต่างๆ รวมถึงวิถีวัฒนธรรมต่างๆ ได้ดี |
2.2 รายงานระบุประเด็นที่แสดงถึงความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนแผนสิทธิมนุษยชนฯ มีสาระสำคัญ เช่น
(1) การประกาศใช้บังคับกฎหมายหลายฉบับที่สอดคล้องตามสิทธิในกระบวนการยุติธรรม เช่น พระราชบัญญัติกำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. 2565 มีผลใช้บังคับวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2566 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 พระราชบัญญัติการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2566
(2) การมีคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์กลาง ที่ได้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทน และค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา และมีคำสั่งให้คณะกรรมการขับเคลื่อนงานสิทธิมนุษยชนของไทย (คณะกรรมการฯ) พิจารณาวินิจภัยกำหนดค่าตอบแทนผู้เสียหายแก่ผู้เสียหาย แม้จะเป็นแรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เท่ากับเป็นการยืนยันว่ารัฐมีหน้าที่ในการปกป้องคุ้มครองบุคคลทุกคนสอดคล้องตามมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง
(3) การส่งเสริมสิทธิเข้าถึงสิทธิการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยโดยประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การตรวจและรับคำปรึกษาทางเลือกในการยุติการตั้งครรภ์ตามมาตรา 305 (5) แห่งประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2565 โดยสอดคล้องกับหลักการมีอิสระที่จะตัดสินใจบนฐานข้อมูลที่รอบด้าน ทั้งในเรื่องสุขภาพ และเพื่อป้องกันการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัยซึ่งอาจนำไปสู่อันตรายและเสียชีวิตได้
3. ข้อเสนอแนะต่อกลไกการติดตามและประเมินผลของแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2566 - 2570) สาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
ประเด็น |
ข้อเสนอแนะ |
|
ด้านบริบทและปัจจัยนำเข้า |
ควรขับเคลื่อนแผนในลักษณะแผนบูรณาการทั้งการจัดทำแผนและโครงการที่มีความจำเป็นเร่งด่วนและดำเนินงานในลักษณะงบบูรณาการ เพื่อยกระดับการขับเคลื่อนงานด้านสิทธิมนุษยชน รวมทั้งการเตรียมความพร้อมบุคลากรและระบบการจัดเก็บข้อมูล รวมถึงการประชาสัมพันธ์โครงการที่โดดเด่นให้มีความตระหนักรู้ไปในทิศทางเดียวกัน ทำให้กระบวนการติดตามผลการจัดทำตัวชี้วัด การรายงานผลการดำเนินการและผลการใช้งบประมาณมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น |
|
ด้านกระบวนการ |
ควรมีการกำหนดกรอบแนวทางในการขับเคลื่อนแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติสู่แผนปฏิบัติการโดยมีการกำหนดหน่วยงานเจ้าภาพ หน่วยงานหลัก หน่วยงานสนับสนุนจะต้องกำหนดกิจกรรมไว้อย่างชัดเจน เพื่อจะสามารถกำหนดผลผลิต (Output) ผลลัพธ์ (Outcome) ได้อย่างถูกต้อง |
|
ด้านการติดตามและประเมินผล |
ควรมีระบบการติดตามประเมินผล พร้อมทั้งมีคณะทำงานติดตามจัดเก็บข้อมูลที่มีความต่อเนื่องชัดเจนระบบการจัดเก็บข้อมูลส่วนกลาง และกำหนดรูปแบบการรายงานให้หน่วยงานสามารถรายงานข้อมูลให้เป็นปัจจุบันได้ตลอดเวลา |
|
ด้านการถ่ายทอดส่งต่อและความยั่งยืน |
ควรมีกลไกการขับเคลื่อนแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในรูปของกฎหมาย และควรมีการพิจารณาโครงการต้นแบบเพื่อสานต่อโครงการได้อย่างต่อเนื่อง และขยายผลในระดับประเทศ พร้อมทั้งมีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แก้ไขปัญหา หรืออุปสรรคร่วมกัน |
|
ด้านความรู้ ความเข้าใจ และการสื่อสารสังคม |
ควรมีการประชาสัมพันธ์เชิงรุกให้เข้าถึงประชาชน และสถาบันการศึกษาทุกระดับ ภาคประชาสังคม เพื่อช่วยให้งานด้านสิทธิมนุษยชนส่งผลในระดับประเทศได้อย่างชัดเจนมากขึ้น การกำหนดเป้าหมายโดยพิจารณาจากปัญหาและสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยที่ยังคงเพิ่มขึ้นในทุกๆ ด้าน เพื่อให้สามารถสะท้อนได้ว่า การดำเนินงานตามแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติตอบสนองต่อการลดสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในไทยอย่างแท้จริง |
|
กรณีการเกิดสถานการณ์ข้อท้าทายที่เข้ามาแทรกระหว่างการขับเคลื่อนแผนฯ |
เช่น การจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 สถานการณ์ปัญหาความขัดแย้งในต่างประเทศที่ส่งผลกระทบต่อไทย ควรมีการนำมาเป็นกรณีตัวอย่างหรือเป็นต้นแบบ หากเกิดกรณีสถานการณ์ฉุกเฉินที่ไม่คาดคิดขึ้น หน่วยงานอื่นๆ จะมีความยืดหยุ่นในการปรับแผนดำเนินงานอย่างไร เพื่อให้โครงการ/กิจกรรมที่กำหนดไว้ประสบความสำเร็จและบรรลุเป้าหมายต่อไปได้ |
4. ยธ. โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพได้นำเสนอรายงานประเมินผลสัมฤทธิ์การดำเนินงานตามแผนสิทธิมนุษยชนฯ ต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมการประสานความร่วมมือด้านสิทธิมนุษยชนและขับเคลื่อนแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2566 เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2566 และที่ประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 2/2566 เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2566 เรียบร้อยแล้ว โดยที่ประชุมทั้ง 2 คณะ มีมติเห็นชอบต่อรายงานประเมินผลสัมฤทธิ์การดำเนินงานตามแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฯ และให้ ยธ. โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพเสนอรายงานประเมินผลสัมฤทธิ์การดำเนินงานตามแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฯ ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อรับทราบต่อไป
_______________
1 พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 เป็นกฎหมายที่เข้ามากำหนดเกณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ได้แก่ (1) ข้อมูลสวนบุคคลพื้นฐาน และ (2) ข้อมูลส่วนบุคคลที่มีความละเอียดอ่อน
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 21 พฤศจิกายน 2566
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
11865