ผลการประชุมรัฐมนตรียุติธรรมอาเซียน - ญี่ปุ่น สมัยพิเศษ (ASEAN - Japan Special Meeting of Justice Ministers: AJSMJ) และการประชุมที่เกี่ยวข้อง
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 22 November 2023 17:38
- Hits: 1728
ผลการประชุมรัฐมนตรียุติธรรมอาเซียน - ญี่ปุ่น สมัยพิเศษ (ASEAN - Japan Special Meeting of Justice Ministers: AJSMJ) และการประชุมที่เกี่ยวข้อง
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอ ดังนี้
1. รับทราบผลการประชุมรัฐมนตรียุติธรรมอาเซียน - ญี่ปุ่น สมัยพิเศษ ASEAN - Japan Special Meeting of Justice Ministers: AJSMJ (การประชุม AJSMJ) และการประชุมที่เกี่ยวข้อง
2. มอบหมายให้ ยธ. เป็นหน่วยงานในการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินความร่วมมือตามแผนงานอาเซียน - ญี่ปุ่น ด้านกฎหมายและงานยุติธรรม (แผนงานอาเซียนฯ) ซึ่งเป็นเอกสารผลลัพธ์การประชุมดังกล่าวต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
ยธ. รายงานว่า
1. การประชุม AJSMJ จัดขึ้นในวาระครบรอบ 50 ปี แห่งมิตรภาพและความร่วมมืออาเซียน - ญี่ปุ่น โดยกระทรวงยุติธรรมญี่ปุ่น เป็นเจ้าภาพ และมาเลเซียเป็นประธานร่วม ระหว่างวันที่ 5-7 กรกฎาคม 2566 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ในส่วนของไทยมีรองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) ในขณะนั้น เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว โดยผลการประชุม AJSMJ และการประชุมที่เกี่ยวข้องสรุปได้ ดังนี้
1.1 การประชุมประสานงานระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน (ASEAN Coordination Meeting) ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาร่างเอกสารผลลัทธ์การประชุม AJSMJ เป็นครั้งสุดท้าย จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ 1) ร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุม AJSMJ และ 2) แผนงานอาเซียนฯ โดยเห็นพ้องที่จะคงไว้ซึ่งสาระสำคัญของเอกสารทั้ง 2 ฉบับ ตามที่ได้เคยหารือกันไว้ในที่ประชุมเตรียมการสำหรับการประชุม AJSMJ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566 และมีการปรับแก้ไขในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญและไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบไว้ เพื่อให้เกิดความชัดเจนและตรงกับความเป็นจริง ดังนี้ (1) แถลงการณ์ร่วมฯ ในย่อหน้าที่ 1 (อารัมภบท) จากเดิมที่ได้ระบุวันที่การประชุม AJSMJ คือ “6th and 7 th of July 2023” ปรับแก้ไขเป็น “6th of July 2023” และจากเดิมที่ได้ระบุชื่อประเทศประธานร่วมกับญี่ปุ่นคือ “ZZZZ” ปรับแก้ไขเป็น “Malaysia” และในย่อหน้าสุดท้ายจากเดิมที่ได้ระบุสถานที่ในการรับรองเอกสาร คือ “[city], [country], [date] and [month)” ปรับแก้ไขเป็น “Tokyo, Japan this 6th of July...” และ (2) แผนงานอาเซียนฯ ย่อหน้าที่ 1 จากเดิมที่ได้ระบุวันที่การประชุม AJSM คือ “July 6-7, 2023” ปรับแก้ไขเป็น “July 6, 2023”
1.2 การประชุม AJSMJ โดยมีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ในฐานะประธาน (ASEAN Law Ministers’ Meeting : ALAWMM) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมญี่ปุ่น (นายเคน ไซโต) เป็นประธานร่วม ซึ่งการประชุมในครั้งนี้ หัวหน้าคณะผู้แทนไทยได้กล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมสรุปว่า “ไทยในฐานะประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น มีความยินดีที่เป็นส่วนหนึ่งโอกาสการเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ระหว่างกันในครั้งนี้โดยไทยมีการดำเนินงานเพื่อมุ่งสู่สังคมที่มีความมั่นคงและปลอดภัย เช่น การมีผลใช้บังคับของพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. 2565 และการจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน เป็นต้น เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนและสังคมที่สงบสุขและตั้งอยู่บนพื้นฐานของกฎหมายโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีมติต่อเอกสารผลลัพธ์ของการประชุม AJSMJ 2 ฉบับ ได้แก่ (1) รับรองแถลงการณ์ร่วมการประชุม AJSMJ และ (2) เห็นชอบแผนงานอาเซียนฯ
1.3 การประชุมพบปะระหว่างรัฐมนตรียุติธรรมอาเซียนและกลุ่มประเทศ G7 (ASEAN - G7 Justice Ministers’ Interface: Interface) โดยมีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ในฐานะประธาน ALAWMM และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมญี่ปุ่น ในฐานะประธาน G7 ปี 2566 เป็นประธานร่วม ซึ่งนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น (นายฟุมิโอะ คิชิดะ) ได้กล่าวถ้อยแถลงในพิธีเปิดการประชุมฯ โดยเน้นย้ำว่า การประชุมในครั้งนี้ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นในการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างอาเซียนและ G7 ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นในด้านกฎหมายและงานยุติธรรม ทั้งในมิติทางวัฒนธรรมและระบบกฎหมายที่มีความแตกต่าง
1.4 การหารือทวิภาคี หัวหน้าคณะผู้แทนไทยได้เข้าร่วมประชุมหารือทวิภาคีกับหัวหน้าคณะผู้แทนประเทศและองค์การระหว่างประเทศ ในห้วงการประชุม AJSMJ และการประชุม Interface ดังนี้
(1) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมญี่ปุ่น ในประเด็นการส่งเสริมการดำเนินงานต่อยอดให้เกิดผลเป็นรูปธรรมภายหลังจากการประชุม AJSMJ และการประชุม Interface สิ้นสุดลง และการดำเนินงานภายใต้บันทึกความร่วมมือฯ ระหว่าง ยธ. -ญี่ปุ่น ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมของทั้งสองประเทศได้ลงนามไว้ร่วมกันเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2562
(2) ผู้อำนวยการของสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) (Ms. Ghada Waly ในประเด็นการบริหารจัดการเรือนจำและการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิด การป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติผ่านกรอบความร่วมมือต่างๆ การต่อต้านการทุจริต และการแสดงความพร้อมที่สนับสนุนไทยในการดำเนินการประเด็นอื่นๆ เช่น การสนับสนุนการดำเนินงานตามประมวลกฎหมายยาเสพติด การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการต่อต้านการลักลอบขนขยะ และอาชญากรรมภาคประมง และการส่งเสริมให้ไทยเป็นภาคีพิธีสารต่อต้านการผลิตและลักลอบค้าอาวุธปืน ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ และเครื่องกระสุนโดยผิดกฎหมาย
2. การเข้าร่วมการประชุมดังกล่าวเป็นโอกาสในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและแนวปฏิบัติ เพื่อนำมาประกอบการพัฒนาการดำเนินงานด้านกฎหมายและงานยุติธรรมที่เกี่ยวข้องของไทยให้เป็นไปตามมาตรฐานและแนวปฏิบัติที่ดีต่างๆ ของสากล ดังนั้น จึงจะต้องขอความร่วมมือการบูรณาการการทำงานกับหน่วยงานด้านกฎหมายและงานยุติธรรม รวมถึงหน่วยงานอื่นๆ ที่มีภารกิจเกี่ยวข้องของไทยภายใต้กรอบความร่วมมือนี้ต่อไป
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 21 พฤศจิกายน 2566
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
11859