(ร่าง) แผนปฏิบัติการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อหรือโรคระบาด พ.ศ. 2566 - 2570 ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 15 November 2023 00:53
- Hits: 2590
(ร่าง) แผนปฏิบัติการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อหรือโรคระบาด พ.ศ. 2566 - 2570 ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อหรือโรคระบาด พ.ศ. 2566 - 2570 ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 [(ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ)] ตามที่คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ (คณะกรรมการฯ) (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานกรรมการ) เสนอ
โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการการทำงานและนำแผนปฏิบัติการดังกล่าวไปใช้เป็นกรอบในการจัดทำแผนปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ โดยคำนึงหลักความประหยัดและความคุ้มค่า ตลอดจนสนับสนุนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ซึ่งรวมถึงภาคเอกชน ภาคประชาชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการดังกล่าว สำหรับค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินการภายใต้ (ร่าง) แผนปฏิบัติการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อหรือโรคระบาด พ.ศ. 2566 - 2570 ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ดังกล่าว ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาใช้จ่ายตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ไปพลางก่อน ในโอกาสแรกก่อน สำหรับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในปีต่อๆ ไป ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณตามภารกิจความจำเป็นและเหมาะสม เพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี และ/หรือพิจารณาเงินนอกงบประมาณ รวมถึงรายได้ หรือเงินอื่นใดที่หน่วยงานมีอยู่ หรือสามารถนำมาใช้จ่ายสมทบค่าใช้จ่ายในการดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
สาระสำคัญของเรื่อง
คณะกรรมการฯ รายงานว่า
1. ที่ผ่านมาได้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อหรือโรคระบาด มาแล้ว 2 ฉบับ ต่อมาคณะกรรมการฯ เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาดำเนินงานแผนปฏิบัติการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อหรือโรคระบาด พ.ศ. 2562 - 2564 ไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2565 ซึ่งปัจจุบันสิ้นสุดระยะเวลาดำเนินงานแล้ว กรมควบคุมโรค ในฐานะสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการฯ จึงจัดทำ (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ ซึ่งเป็นแผนฉบับที่ 3 ที่มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561 - 2580) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 - 2570) และแผนระดับที่ 3 ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ คณะกรรมการด้านวิชาการ ในคราวประชุมครั้งที่ 17/2565 เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2565 และคณะกรรมการฯ ในคราวประชุมครั้งที่ 8/2565 เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2565 มีมติเห็นชอบในหลักการ (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ ด้วยแล้ว
2. (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ มีฐานะเป็นแผนระดับ 3 จัดทำขึ้นเพื่อใช้เป็นเครื่องมือสำหรับหน่วยงานของรัฐ คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดและคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ในการใช้นำไปเป็นกรอบ การดำเนินงานโดยส่งเสริมความร่วมมือของทุกภาคส่วนให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน สามารถเตรียมความพร้อมและป้องกันควบคุมโรคติดต่อ ทั้งในระดับประเทศและระดับพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้ประชาชนมีความมั่นคงทางสุขภาพเป็นพื้นฐานสำหรับการพัฒนาความมั่นคงด้านต่างๆ ของประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป โดยมีสาระคัญสรุปได้ ดังนี้
2.1 วิสัยทัศน์ พันธกิจ เป้าประสงค์หลัก นโยบายการเฝ้าระวังป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อ วัตถุประสงค์ และเป้าหมายสำคัญ
หัวข้อ |
สาระสำคัญ |
|
วิสัยทัศน์ |
ประเทศไทยปลอดภัยจากโรคติดต่อด้วยระบบเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อที่มีประสิทธิภาพทันต่อสถานการณ์ และได้มาตรฐานในระดับนานาชาติ ภายใต้ความร่วมมือของทุกภาคส่วน เพื่อนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนอย่างยั่งยืน |
|
ตัวอย่างพันธกิจที่สำคัญ |
● พัฒนาองค์ความรู้ นวัตกรรม ระบบข้อมูล เทคโนโลยี และโครงสร้างพื้นฐาน ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อ ● กำหนดกลไกการพัฒนาระบบการจัดการภาวะฉุกเฉิน และการยกระดับการเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรคติดต่อ โดยการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ● กำหนดนโยบาย แนวทางการพัฒนากำลังคนให้มีขีดความสามารถในการเฝ้าระวังเตือนภัย สอบสวนป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ และสร้างกลไกเชื่อมโยงเครื่อข่ายทั้งภายในประเทศ และระหว่างประเทศ ● พัฒนาระบบ กลไก และเครือข่ายในการสื่อสารความเสี่ยง และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารในการสนับสนุนการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคติดต่อ และตอบสนองต่อการระบาดของโรค |
|
เป้าประสงค์หลัก |
ป้องกัน ควบคุม กำจัด กวาดล้าง และลดผลกระทบจากโรคติดต่อ ด้วยระบบการทำงานที่เข้มแข็งของเครือข่ายการทำงานทุกภาคส่วน รวมทั้งการมีส่วนร่วมของประชาชน |
|
ตัวอย่างนโยบายการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรคติดต่อที่สำคัญ |
● เร่งรัดการกำจัดและกวาดล้างโรคที่เป็นพันธสัญญากับนานาชาติ และเป็นโรคที่ประเทศไทยสามารถควบคุมได้ระดับหนึ่งแล้ว เช่น โรคโปลิโอ โรคมาลาเรีย โรคเรื้อน โรคเอดส์ โรคหัด โรคพิษสุนัขบ้า และโรคเท้าช้าง ● พัฒนาระบบการป้องกันโรคติดต่ออันตรายเพื่อลดโอกาสการระบาดของโรคติดต่ออันตรายในประเทศไทยให้เหลือน้อยที่สุด ● ควบคุมโรคติดต่อประจำถิ่น เช่น ไข้เลือดออก ไข้หวัดใหญ่ มือเท้าปาก วัณโรค ด้วยมาตรการที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้ส่งผลกระทบต่อสุขภาวะของประชาชนให้น้อยที่สุด |
|
ตัวอย่างวัตถุประสงค์ที่สำคัญ |
● เพื่อให้ประเทศไทยมีระบบเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อ ที่มีประสิทธิภาพ โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ● เพื่อเป็นกรอบแนวทางในการจัดทำแผนปฏิบัติการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่ออันตราย โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง หรือโรคระบาด ในเขตพื้นที่จังหวัดและกรุงเทพมหานคร |
|
ตัวอย่างเป้าหมายสำคัญ |
● ทุกจังหวัดมีแผนปฏิบัติการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่ออันตราย โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังหรือโรคระบาด ซึ่งผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดและกรุงเทพมหานคร ● ประเทศไทยสามารถกำจัดกวาดล้างโรคติดต่อตามพันธสัญญานานาชาติ (โรคมาลาเรีย โรคโปลีโอ โรคหัด โรคเอดส์ โรคพิษสุนัขบ้า และโรคเรื้อน) บรรลุตามเป้าหมาย เช่น ทุกอำเภอไม่มีการแพร่เชื้อมาลาเรียภายในปี 2567 และไม่มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้า ภายในปี 2568 เป็นต้น ● มีระบบปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินที่สามารถรับมือภาวะฉุกเฉินจากโรคติดต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ ● มีการพัฒนาเครือข่ายภายในประเทศและระหว่างประเทศ เพื่อสนับสนุนการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ |
|
ตัวอย่างตัวชี้วัดตามเป้าหมายที่สำคัญ |
● จำนวนจังหวัดที่มีแผนปฏิบัติการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่ออันตราย โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง หรือโรคระบาด ในเขตพื้นที่จังหวัดและกรุงเทพมหานคร ● ร้อยละความสำเร็จในการบรรลุเป้าหมายกำจัดกวาดล้างโรคติดต่อตามพันธสัญญานานาชาติ ● ร้อยละของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องมีแผนเตรียมความพร้อมและตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข รวมทั้งแผนประคองกิจการ (Business Continuity Plan) และฝึกซ้อมแผนร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ● ร้อยละของเครือข่ายระหว่างประเทศที่มีแผนงานโครงการความร่วมมือในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อ |
2.2 ประเด็นการพัฒนา ประกอบด้วย 5 ประเด็น ดังนี้
หัวข้อ |
สาระสำคัญ |
|
ประเด็นการพัฒนา 1 : การพัฒนานโยบาย มาตรการ กฎหมาย และกลไกการบริหารจัดการการป้องกันควบคุมโรคติดต่อ |
||
เป้าหมาย |
(1) นโยบาย กฎหมาย มาตรการที่เอื้อต่อการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคติดต่อมีประสิทธิภาพ (2) กลไกการบริหารจัดการในการเร่งรัด กำจัด กวาดล้างโรคติดต่อตามพันธสัญญานานาชาติ โรคติดต่ออุบัติใหม่ และการขับเคลื่อนการดำเนินงานเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคติดต่อในระดับประเทศ และระดับจังหวัด |
|
ตัวชี้วัดผลการดำเนินงานหลักและค่าเป้าหมาย |
ประกอบด้วย 2 ตัวชี้วัด ดังนี้ ● ภายในปี 2570 จำนวนกฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์ที่เกี่ยวกับการป้องกันควบคุมโรคติดต่อได้รับการพัฒนาหรือปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 5 เรื่อง ● ภายในปี 2570 จังหวัดมีแผนปฏิบัติการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่ออันตราย โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังหรือโรคระบาดในเขตพื้นที่จังหวัดหรือกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2566 - 2570 คิดเป็นร้อยละ 100 |
|
แนวทางการพัฒนา (กลยุทธ์) |
กลยุทธ์ที่ 1 พัฒนานโยบาย มาตรการ กฎหมาย ด้านการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคติดต่อ เช่น ทบทวน ปรับปรุง และบูรณาการกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงหลักเกณฑ์ด้านการเงิน การคลังที่เอื้อต่อการควบคุมโรค รวมทั้งพัฒนาคู่มือการปฏิบัติงานให้ทันสมัยและสอดคล้องกับสถานการณ์ กลยุทธ์ที่ 2 พัฒนาระบบและกลไกการดำเนินงานเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคติดต่อ เช่น พัฒนาระบบบริหารจัดการโรคติดต่อหรือโรคระบาดตามสถานการณ์ และพัฒนาระบบบริการพิเศษหรือเฉพาะด้านที่เกี่ยวกับการป้องกัน ควบคุมโรคติดต่อ กลยุทธ์ที่ 3 เสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่ออุบัติใหม่ เช่น พัฒนาระบบเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่ออุบัติใหม่แบบบูรณาการทุกระดับ ภายใต้แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว กลยุทธ์ที่ 4 เร่งรัดการกำจัด กวาดล้าง โรคติดต่อตามพันธสัญญานานาชาติ เช่น ขับเคลื่อนและกำกับติดตามการกำจัดกวาดล้างโรคตามพันธสัญญานานาชาติ |
|
โครงการหรือกิจกรรมสำคัญ |
ประกอบด้วย 23 โครงการสำคัญ เช่น ● โครงการทบทวนและจัดทำแผนปฏิบัติการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคติดต่อต่างๆ และกลไกการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการไปสู่การปฏิบัติ ● โครงการพัฒนากลไกการดำเนินงานและเสริมสร้างความเข้มแข็งของทีมปฏิบัติการสอบสวนโรคและภัยสุขภาพให้ได้มาตรฐาน ● โครงการส่งเสริมนโยบาย สิทธิการรักษาตามนโยบายรัฐ เพื่อคุ้มครองผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ (Universal Coverage for Emergency Patients : UCEP) สำหรับประชากรข้ามชาติและประชากรที่ไม่ใช่คนไทย ● โครงการพัฒนารูปแบบ วิจัย นวัตกรรม ด้านการป้องกันควบคุมโรคอุบัติใหม่ |
|
หน่วยงานรับผิดชอบ |
เช่น กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักงบประมาณ (สงป.) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร |
|
ประเด็นการพัฒนา 2 : การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และยกระดับการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคติดต่อ |
||
เป้าหมาย |
(1) โครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุขมีความพร้อมในการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคติดต่อมีอย่างประสิทธิภาพ (2) ระบบการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคติดต่อมีประสิทธิภาพ ครอบคลุมทั้งประชากรไทย และประชากรข้ามชาติ (3) พัฒนาองค์ความรู้ วิจัย และนวัตกรรม ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคติดต่อ และนำไปใช้ประโยชน์ |
|
ตัวชี้วัดผลการดำเนินงานหลักและค่าเป้าหมาย |
ประกอบด้วย 5 ตัวชี้วัด เช่น ● ภายในปี 2570 ห้องปฏิบัติการเครือข่ายมีมาตรฐานความปลอดภัย และผ่านการรับรองระบบบริหารจัดการคุณภาพและความสามารถทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ตามมาตรฐาน ที่เป็นที่ยอมรับในระดับชาติหรือนานาชาติ คิดเป็นร้อยละ 100 ● ภายในปี 2570 สถานพยาบาลมีการรายงานโรคติดต่ออันตราย หรือโรคระบาดเป็นไปตามบทบัญญัติภายใต้พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 คิดเป็นร้อยละ 100 ● ภายในปี 2570 ผลงานวิจัยและพัฒนาด้านการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรค และดูแลรักษาผู้ป่วยโรคติดต่อที่นำไปใช้ประโยชน์ คิดเป็นร้อยละ 80 |
|
แนวทางการพัฒนา (กลยุทธ์) |
กลยุทธ์ที่ 1 พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุข เช่น พัฒนาห้องปฏิบัติการและระบบเครือข่ายห้องปฏิบัติการเพื่อรองรับโรคอุบัติใหม่และโรคอุบัติซ้ำ โดยเชื่อมโยงผลการตรวจวินิจฉัยของห้องปฏิบัติการทางการแพทย์และสาธารณสุขเข้าสู่ระบบเฝ้าระวังและระบบตระหนักรู้สถานการณ์ให้ได้โดยเร็ว กลยุทธ์ที่ 2 พัฒนาความเข้มแข็งของระบบการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุม และดูแลรักษาผู้ป่วยโรคติดต่อ เช่น พัฒนาระบบการแจ้งเตือนภัยโรคระบาดที่รวดเร็ว ทันต่อสถานการณ์ (Real time) กลยุทธ์ที่ 3 ส่งเสริมการพัฒนาองค์ความรู้ วิจัย และนวัตกรรมในการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุม และดูแลรักษาผู้ป่วยโรคติดต่อ |
|
โครงการหรือกิจกรรมสำคัญ |
ประกอบด้วย 21 โครงการสำคัญ เช่น ● โครงการพัฒนาระบบเฝ้าระวังเหตุการณ์ การคัดกรองผู้เดินทาง และยานพาหนะที่ช่องทางเข้าออกประเทศด้วยระบบดิจิทัล ● โครงการพัฒนาระบบข่าวกรองทางระบาดวิทยา ● โครงการพัฒนาศักยภาพการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการเพื่อการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคและภัยสุขภาพ ● โครงการสนับสนุนการนำผลงานนวัตกรรม วิจัย การจัดการความรู้ ด้านการป้องกัน ควบคุมโรคและภัยสุขภาพไปใช้ประโยชน์ |
|
หน่วยงานรับผิดชอบ |
เช่น สธ. กก. อว. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดศ. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กระทรวงยุติธรรม กระทรวงแรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ |
|
ประเด็นการพัฒนา 3 : การยกระดับการจัดการภาวะฉุกเฉินจากโรคติดต่อ |
||
เป้าหมาย |
ระบบและกลไกการจัดการภาวะฉุกเฉินจากโรคติดต่อมีประสิทธิภาพและบูรณาการร่วมกับเครือข่ายสามารถเฝ้าระวัง ตรวจจับ ตอบโต้ภาวะฉุกเฉินได้ทันต่อเหตุการณ์และฟื้นฟูสภาพได้รวดเร็ว |
|
ตัวชี้วัดผลการดำเนินงานหลักและค่าเป้าหมาย |
ประกอบด้วย 3 ตัวชี้วัด ดังนี้ ● ภายในปี 2570 หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องมีแผนเตรียมความพร้อมและตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข และฝึกซ้อมแผนอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 100 ● ภายในปี 2570 ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขที่มีสมรรถนะผ่านเกณฑ์ที่กำหนด คิดเป็นร้อยละ 80 ● ภายในปี 2570 จังหวัดมีการจัดทำแผนระดมบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขสาขาที่จำเป็นทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน ในภาวะฉุกเฉินจากโรคติดต่อ คิดเป็น ร้อยละ 100 |
|
แนวทางการพัฒนา (กลยุทธ์) |
กลยุทธ์ที่ 1 ส่งเสริมการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือการระบาดของโรคติดต่อ เช่น การจัดทำแผนเตรียมความพร้อมและตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข การเตรียมความพร้อมบุคลากร และการฝึกซ้อมแผนเตรียมความพร้อม กลยุทธ์ที่ 2 พัฒนาระบบบริหารจัดการควบคุมการระบาดของโรคติดต่อ เช่น พัฒนาศูนย์ปฏิบัติการและระบบบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน การจัดการข้อมูลภาวะฉุกเฉินอย่างเป็นระบบและทันสมัยเพื่อการตัดสินใจและสั่งการได้อย่างรวดเร็วทันเหตุการณ์ กลยุทธ์ที่ 3 เสริมความเข้มแข็งของระบบการดูแลรักษาผู้ป่วยในสถานการณ์การระบาดของโรคติดต่อ เช่น พัฒนาศักยภาพของโรงพยาบาลภาครัฐทุกระดับให้สามารถรับ ภาระดูแลผู้ป่วยจำนวนมากในสถานการณ์โรคระบาด รวมทั้งจัดให้มีสถานที่กักกัน และโรงพยาบาลสนามตามความจำเป็น กลยุทธ์ที่ 4 เตรียมการฟื้นฟูหลังภาวะฉุกเฉินจากโรคติดต่อ เช่น พัฒนาแนวทางและแผนบริหารจัดการเพื่อการฟื้นฟูสุขภาวะของบุคคลที่ได้รับผลกระทบ |
|
โครงการหรือกิจกรรมสำคัญ |
ประกอบด้วย 13 โครงการสำคัญ เช่น ● โครงการพัฒนาแผนรับมือเพื่อตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข ● โครงการพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านการจัดการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข ● โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพของศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขในทุกระดับรองรับการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินทางสาธารณสุข ● โครงการพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน |
|
หน่วยงานรับผิดชอบ |
เช่น สธ. กระทรวงกลาโหม อว. ดศ. และกระทรวงมหาดไทย (มท.) |
|
ประเด็นการพัฒนา 4 : การพัฒนากำลังคนและเครือข่ายความร่วมมือระดับชาติและนานาชาติ |
||
เป้าหมาย |
(1) การเตรียมกำลังคนด้านการป้องกันควบคุมโรคติดต่อให้ได้ตามมาตรฐาน ทั้งปริมาณและขีดความสามารถ (Capacity) รวมทั้งการระดมสรรพกำลังรองรับการระบาดของโรคติดต่อได้ทันท่วงทีและเพียงพอ (2) เครือข่ายในประเทศและระหว่างประเทศมีความร่วมมือในการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคติดต่ออย่างเข้มแข็ง และมีประสิทธิภาพ |
|
ตัวชี้วัดผลการดำเนินงานหลักและค่าเป้าหมาย |
ประกอบด้วย 5 ตัวชี้วัด เช่น ● ภายในปี 2570 จังหวัดมีกำลังคนด้านการป้องกันควบคุมโรคติดต่อได้ตามมาตรฐานทั้งปริมาณ และขีดความสามารถ คิดเป็นร้อยละ 100 ● ภายในปี 2570 จังหวัดมีฐานข้อมูลด้านการบริหารทรัพยากรบุคลากร ผู้เชี่ยวชาญ และเครือข่ายการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อ คิดเป็นร้อยละ 90 ● ภายในปี 2570 เครือข่ายระหว่างประเทศมีความร่วมมือในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อ คิดเป็นร้อยละ 100 |
|
แนวทางการพัฒนา (กลยุทธ์) |
กลยุทธ์ที่ 1 จัดทำแผนกำลังคนด้านการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคติดต่อ เช่น สรรหาบุคลากรในสาขาวิชาชีพที่มีความจำเป็นให้เพียงพอ กลยุทธ์ที่ 2 เสริมสร้างความเข้มแข็งและการมีส่วนร่วมของเครือข่ายการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคติดต่อ เช่น ส่งเสริมการประสานงาน และการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างเครือข่าย รวมทั้งการสร้างชุมชนต้นแบบด้านสุขภาพและการป้องกันควบคุมโรค กลยุทธ์ที่ 3 พัฒนาเครือข่ายความร่วมมือระหว่างประเทศในการขับเคลื่อนการป้องกันควบคุมโรคติดต่อ เช่น ส่งเสริมบทบาทของประเทศไทยในการดำเนินงานของศูนย์อาเซียนเพื่อการจัดการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคติดต่ออุบัติใหม่ |
|
โครงการหรือกิจกรรมสำคัญ |
ประกอบด้วย 17 โครงการสำคัญ เช่น ● โครงการวิเคราะห์อัตรากำลังที่จำเป็นสำหรับการป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพ ● โครงการพัฒนาขีดความสามารถของอาสาสมัครสาธารณสุข และสมาชิกเครือข่ายในชุมชนท้องถิ่น เพื่อการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคติดต่อ ● โครงการจัดเวทีระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ขายแดนและกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการพัฒนาสุขภาพแรงงานข้ามชาติที่อาศัยในพื้นที่ชายแดน ● โครงการพัฒนาโครงสร้างศูนย์อาเซียนเพื่อการจัดการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคติดต่ออุบัติใหม่ (ASEAN Center for Public Health Emergency and Emerging Infectious Diseases: ACPHEED) |
|
หน่วยงานรับผิดชอบ |
เช่น สธ. กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) อว. มท. และสถาบันวัคซีนแห่งชาติ (สวช.) |
|
ประเด็นการพัฒนา 5 : การพัฒนาการสื่อสารความเสี่ยงและระบบสนับสนุนการป้องกันควบคุมโรคติดต่อ |
||
เป้าหมาย |
(1) การสื่อสารความเสี่ยงและการประชาสัมพันธ์ที่มีประสิทธิภาพ และครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย (2) ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจ ที่ถูกต้องและมีพฤติกรรมสุขภาพที่ดีในการป้องกันควบคุมโรคติดต่อหรือโรคระบาด (3) ระบบสนับสนุนการป้องกัน ควบคุม และดูแลรักษาผู้ป่วยโรคติดต่อมีประสิทธิภาพ |
|
ตัวชี้วัดผลการดำเนินงานหลักและค่าเป้าหมาย |
ประกอบด้วย 3 ตัวชี้วัด ดังนี้ ● ภายในปี 2570 ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจในการป้องกันควบคุมโรคติดต่อหรือโรคระบาด คิดเป็นร้อยละ 80 ● ภายในปี 2570 จังหวัดมีการขับเคลื่อนการสื่อสารความเสี่ยงด้านการป้องกัน ควบคุมโรคและภัยสุขภาพตามมาตรฐานสากล JEE/IHR (2005) 1 คิดเป็นร้อยละ 75 ● ภายในปี 2570 จังหวัดมีการยกระดับความพร้อมของระบบส่งกำลังบำรุง (Logistics) คลังสำรองเวชภัณฑ์และวัคซีน ระบบบริหารจัดการข้อมูลคลังเวชภัณฑ์และวัคซีน ในการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินขนาดใหญ่ โรคติดต่อหรือโรคระบาด คิดเป็นร้อยละ 90 |
|
แนวทางการพัฒนา (กลยุทธ์) |
กลยุทธ์ที่ 1 พัฒนาระบบการสื่อสารความเสี่ยง เช่น พัฒนายุทธศาสตร์และแนวทางการเฝ้าระวังด้านสื่อสารและตอบโต้ข้อมูลข่าวสารเท็จ ข่าวปลอม ข่าวบิดเบือน กลยุทธ์ที่ 2 พัฒนาระบบข้อมูลข่าวสาร และเทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น พัฒนาฐานข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวกับการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคให้สามารถเชื่อมโยงได้อย่างกว้างขวางและรวดเร็ว มีความเป็นเอกภาพ รวมทั้งการเตือนภัยล่วงหน้าที่ทันเหตุการณ์ เพื่อขยายการใช้ประโยชน์ของข้อมูล กลยุทธ์ที่ 3 พัฒนาการจัดหาเวชภัณฑ์ วัคซีน และวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็น เช่น ปรับปรุงกลไกการจัดซื้อจัดหาเวชภัณฑ์ วัคซีน และวัสดุอุปกรณ์ในภาครัฐให้เพียงพอและทันเวลา |
|
โครงการหรือกิจกรรมสำคัญ |
ประกอบด้วย 21 โครงการสำคัญ เช่น ● โครงการความร่วมมือด้านประชาสัมพันธ์และสื่อสารมวลชนกับต่างประเทศ ● โครงการยกระดับความรอบรู้ด้านสุขภาพในการป้องกันโรคติดต่อของประชาชน ● โครงการพัฒนาระบบสารสนเทศทางห้องปฏิบัติการ ● โครงการพัฒนากลไกการจัดซื้อจัดหาและสำรองวัคซีนในภาวะฉุกเฉินและการสำรองวัคซีนในระดับภูมิภาค |
|
หน่วยงานรับผิดชอบ |
เช่น สธ. กต. อว. ดศ. ทส. สำนักนายกรัฐมนตรี และ สวช. |
2.3 การนำ (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ ไปสู่การปฏิบัติ
(ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ ได้กำหนดกลไกการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติ 4 ด้าน สรุปได้ ดังนี้
กลไกการขับเคลื่อน |
รายละเอียด |
|
(1) ด้านการบริหารจัดการ |
จัดให้มีกลไกการขับเคลื่อนในระดับประเทศและจังหวัด โดยกำหนดกลไกสำคัญ เช่น (1) ใช้กลไกของคณะกรรมการฯ เป็นกลไกขับเคลื่อน (2) ให้เขตตรวจราชการของทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เป็นกลไกผลักดันนโยบายและยุทธศาสตร์จากระดับชาติสู่ระดับจังหวัดเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม (3) จัดตั้งคณะกรรมการและคณะทำงาน เป็นกลไกในการประสานงานระหว่างหน่วยงานเพื่อให้การดำเนินงานแต่ละปีมุ่งไปในทิศทางเดียวกัน (4) ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องร่วมกันทบทวนและยืนยันค่าเป้าหมายของตัวชี้วัดผลการดำเนินงานหลักในแต่ละปี และเมื่อกระทรวงที่เกี่ยวข้องรับรองตัวชี้วัดผลการดำเนินงานหลักและค่าเป้าหมายแต่ละปีแล้ว ให้ดำเนินการถ่ายทอดตัวชี้วัดดังกล่าวไปยังส่วนราชการ/หน่วยงานในส่วนกลาง/ส่วนราชการในจังหวัด/ส่วนราชการท้องถิ่น ไปดำเนินการให้เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อไป |
|
(2) ด้านการบริหารจัดการงบประมาณ |
การขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการฯ มีกลไกการบริหาร จัดการงบประมาณสรุปได้ ดังนี้ (1) กลไกในภาวะปกติ ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี เพื่อดำเนินงานตามภารกิจของหน่วยงานซึ่งเชื่อมโยงกับแผนปฏิบัติการฯ (2) กลไกกรณีฉุกเฉินหรือมีความจำเป็น เช่น กรณีส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจใดมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายงบประมาณนอกเหนือจากที่ได้รับการจัดสรรแล้วให้ขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายงบกลางรายการเงินสำรองเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น หรือเมื่อเกิดภัยพิบัติขึ้นในพื้นที่ใด ให้จังหวัด/กรุงเทพมหานคร หรือส่วนราชการที่มีเงินทดรองราชการ ใช้วงเงินทดรองราชการในระหว่างที่ยังไม่ได้รับการจัดสรรเงินงบประมาณรายจ่าย เพื่อดำเนินการช่วยเหลือโดยเร่งด่วนตามความจำเป็นและเหมาะสม |
|
(3) ด้านการประสานความร่วมมือและประสานการปฏิบัติ |
ได้กำหนดกลไกการขับเคลื่อนไว้ทุกระดับและทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดความร่วมมือแบบบูรณาการ ดังนี้ (1) กลไกความร่วมมือภายในประเทศ ประกอบด้วย กลไกความร่วมมือทุกระดับ ได้แก่ ระดับประเทศ (ใช้รูปแบบของคณะกรรมการฯ เป็นจุดเชื่อมการประสาน) ระดับจังหวัด (ใช้รูปแบบคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดประสานงานกับคณะกรรมการฯ) และระดับชุมชน (ส่งเสริมบทบาทของอาสามัคร เช่น อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ผู้นำชุมชน ชมรมแม่บ้าน เป็นต้น ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่เพื่อการประสานงานสู่พื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม) (2) กลไกความร่วมมือระหว่างประเทศ หน่วยงานระดับกระทรวงที่เกี่ยวข้องผลักดันให้เกิดความร่วมมือระดับนานาชาติ โดยร่วมกันผลักดันให้ทุกภาคีมีพันธสัญญาร่วมในรูปแบบต่างๆ เพื่อสร้างความร่วมมือเกี่ยวกับการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อในระดับนานาชาติร่วมกัน (3) การประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน สนับสนุนให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนปฏิบัติการ การฝึกอบรม และพัฒนาบุคลากร การถ่ายทอดนโยบายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและการประสานงานระหว่างกัน (4) การสร้างช่องทางการประสานงานที่รวดเร็ว เช่น Line Application ในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับผู้บริหารของทุกส่วนราชการและระหว่างประเทศ |
|
(4) ด้านการติดตาม การประเมินผลและการรายงานผล |
จัดระบบการติดตามและประเมินผล ดังนี้ (1) ช่วงต้นแผน ประเมินการนำไปใช้ การดำเนินการในหน่วยงาน (ระยะเวลา 1 - 2 ปี พ.ศ. 2566 - 2567) (2) ช่วงกลางแผน ประเมินความก้าวหน้าการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ (ระยะเวลา 2 - 3 ปี พ.ศ. 2567 - 2569) (3) ช่วงปลายแผน ประเมินผลสำเร็จของการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ (ระยะเวลา 1 - 2 ปี ท้ายแผน พ.ศ. 2569 - 2570) |
3. สธ. ได้ดำเนินการเสนอ (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ ต่อสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ซึ่งในคราวประชุมสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒนาฯ) เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2566 ได้มีมติเห็นชอบในหลักการ (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ และมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม สรุปได้ ดังนี้
หัวข้อ |
ข้อเสนอแนะ |
(1) ประเด็นการพัฒนา |
● ควรสร้างองค์ความรู้ในการดูแลและป้องกันตนเองจากโรคติดต่อ รวมถึงสร้างจิตสำนึกเรื่องการป้องกันและการปฏิบัติต่อโรคติดต่อที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมกับคนทุกกลุ่มในสังคม และเพิ่มเติมบทบาทของภาคประชาสังคมและภาคส่วน อื่นๆ เพิ่มเติม อาทิ โรงเรียน โรงพยาบาลระดับชุมชน ผู้นำชุมชน เป็นต้น ● ควรพัฒนาแนวทางรองรับการบริหารจัดการกำลังคนในสาขาที่ขาดแคลนทั้งระบบที่ชัดเจน ● ควรมีแผนการบริหารจัดการวัคซีนและแผนการกำหนดแนวทางพัฒนาและ การผลิตวัคซีนชนิดต่างๆ ของประเทศที่ชัดเจน |
(2) การกำหนดตัวชี้วัด |
ควรเพิ่มเติมตัวชี้วัดที่วัดองค์ประกอบสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จของการบริหารจัดการโรคระบาดและโรคอุบัติใหม่ที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น เช่น การมีคณะกรรมการเฉพาะกิจหรือคณะทำงานที่พร้อมจัดการสถานการณ์ฉุกเฉิน และการมีงบประมาณเพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินจากโรคระบาด เป็นต้น |
(3) การพัฒนาฐานข้อมูล |
ควรมีแนวทางจัดทำและเชื่อมโยงฐานข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการโรคระบาดเข้าด้วยกัน |
(4) การขับเคลื่อนแผน |
ควรเพิ่มเติมบทบาทของภาคเอกชน หน่วยงานส่วนท้องถิ่น มหาวิทยาลัยและโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัย ในการสนับสนุนเพื่อร่วมจัดการกับโรคติดต่อหรือโรคระบาดใหม่ให้มีประสิทธิผลยิ่งขึ้น |
(5) การผนวกรวมแผน |
เพื่อความเป็นเอกภาพและประสิทธิภาพในการทำงาน ควรพิจารณาผนวกรวม (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ และเผนปฏิบัติการด้านเตรียมความพร้อม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่ พ.ศ. 2566 – 2570 โดยคำนึงถึงโรคระบาดเดิม และโรคอุบัติใหม่ ที่ต้องการการรับมือที่แตกต่างกัน (สธ. แจ้งว่าได้มอบหมายหน่วยงานที่รับผิดชอบของทั้งสองแผนให้บูรณาการและประสานงานเพื่อการดำเนินงานขับเคลื่อนแผนให้เป็นไปในทางเดียวกันด้วยแล้ว) |
ทั้งนี้ สธ. ได้ดำเนินการปรับปรุง (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ ตามข้อเสนอแนะของสภาพัฒนาฯ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว รวมทั้งคณะกรรมการฯ ได้ให้ความเห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ ที่ปรับปรุงดังกล่าวด้วยแล้ว เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2566
_________________
1 JEE/IHR ย่อมาจาก Joint External Evaluation on Core Capacities of IHR คือการประเมินการพัฒนาขีดความสามารถหลักตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายภูมิธรรม เวชยชัย (รองนายกรัฐมนตรี) 14 พฤศจิกายน 2566
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
11602