ขอขยายระยะเวลาการดำเนินการจัดทำกฎหมายลำดับรองที่ออกตามพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 15 November 2023 00:33
- Hits: 2943
ขอขยายระยะเวลาการดำเนินการจัดทำกฎหมายลำดับรองที่ออกตามพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการดำเนินการจัดทำกฎหมายลำดับรอง จำนวน 3 ฉบับ ซึ่งออกตามพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542 ออกไป 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ
ทั้งนี้ สธ. เสนอว่า
1. คณะรัฐมนตรีได้มีมติ (19 มกราคม 2564) ให้หน่วยงานของรัฐตรวจสอบกฎหมายใน ความรับผิดชอบของตนว่า มีกรณีที่ต้องมีการออกกฎหรือกำหนดให้รัฐต้องดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อที่ประชาชนจะสามารถปฏิบัติตามกฎหมายหรือได้รับสิทธิประโยชน์จากกฎหมาย ตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 หรือไม่ โดยให้มีการเร่งออกกฎหรือดำเนินการดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาสองปีนับแต่วันที่กฎหมายนั้นมีผลใช้บังคับสำหรับกฎหมายที่มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 เป็นต้นไป หรือภายในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 สำหรับกฎหมายที่มีผลใช้บังคับก่อนวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 ประกอบกับคณะรัฐมนตรีได้มีมติ (28 กุมภาพันธ์ 2566) ให้หน่วยงานของรัฐทุกหน่วยเร่งตรวจสอบกฎหมายในความรับผิดชอบของตนซึ่งมีผลใช้บังคับก่อนวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 ที่เข้าข่ายเป็นกรณีตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายฯ และเร่งออกกฎหรือดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อที่ประชาชนจะสามารถปฏิบัติตามกฎหมายหรือได้รับสิทธิประโยชน์จากกฎหมายนั้นได้ ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 หากไม่อาจดำเนินการให้แล้วเสร็จครบถ้วนได้ทันภายในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 ให้พิจารณาเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อขอขยายระยะเวลาออกไปอีก 1 ปี โดยให้ระบุเหตุผลความจำเป็นของการขอขยายระยะเวลาดังกล่าวประกอบด้วย
2. พระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม 2543 ซึ่งบทบัญญัติตามพระราชบัญญัติฉบับนี้กำหนดให้ออกกฎหมายลำดับรอง จำนวน 47 ฉบับ สธ. ได้ยกร่างกฎหมายลำดับรองและประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว จำนวน 44 ฉบับ (เป็นกฎกระทรวง จำนวน 12 ฉบับ ระเบียบ จำนวน 6 ฉบับ และประกาศ จำนวน 26 ฉบับ) ขณะนี้ยังมีกฎหมายลำดับรองที่อยู่ในขั้นตอนการจัดทำร่างกฎหมายอีก 3 ฉบับ แต่โดยที่พระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์ แผนไทยฯ ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีผลใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายฯ มีผลใช้บังคับ ดังนั้น การออกกฎหมายลำดับรองจึงต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 ตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายฯ ประกอบมติคณะรัฐมนตรีในข้อ 1. สธ. จึงมีความจำเป็นต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขอขยายระยะเวลาในการออกกฎหมายลำดับรอง จำนวน 3 ฉบับดังกล่าว พร้อมทั้งได้ระบุเหตุผลความจำเป็นของการขอขยายระยะเวลาประกอบการพิจารณาด้วยแล้ว ดังนี้
กฎหมายลำดับรอง ที่ สธ. ต้องออกตามพระราชบัญญัติคุ้มครองฯ |
เหตุผลความจำเป็นในการขอขยายระยะเวลา |
|
1. ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการขอจดทะเบียน การออกหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียน และการเพิกถอนการจดทะเบียนสิทธิในภูมิปัญญาการแพทย์พื้นเมือง พ.ศ. .... |
กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกได้ยก ร่างกฎกระทรวงดังกล่าวไว้แล้ว แต่คณะกรรมการคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยให้ชะลอการออกกฎกระทรวงดังกล่าวไว้ก่อนเนื่องจากเห็นว่า 1. ยังมีข้อมูลในการศึกษาไม่เพียงพอว่าการยินยอมให้ประชาชนของรัฐอื่นมาขอจดทะเบียนสิทธิภูมิปัญญาที่อยู่ในประเทศของตนเพื่อแลกกับการให้ประชาชนไทยไปจดทะเบียนสิทธิในภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยของรัฐอื่นมีผลดีผลเสียหรือข้อได้เปรียบเสียเปรียบอย่างไร สมควรต้องออกกฎกระทรวงฉบับดังกล่าวหรือไม่ 2. ปัจจุบันยังไม่มีข้อตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลประเทศอื่นในเรื่องต่างตอบแทนระหว่างกันกรณีต่างฝ่ายต่างยอมให้ประชาชนในประเทศของตนสามารถนำภูมิปัญญาในประเทศของอีกฝ่ายหนึ่งไปจดทะเบียนสิทธิภูมิปัญญาทางการแพทย์กับรัฐอีกฝ่ายหนึ่งได้ |
|
2. ร่างกฎกระทรวงการจัดทำแผนที่แนวเขตที่ดินกำหนดเขตพื้นที่คุ้มครองสมุนไพร พ.ศ. .... |
ต้องมีการลงพื้นที่เพื่อศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบและรับฟังความคิดเห็นให้รอบด้าน และทำความเข้าใจกับคนในชุมชนที่อาจได้รับผลกระทบก่อนการกำหนดเขตพื้นที่คุ้มครองสมุนไพรดังกล่าว จึงทำให้ไม่สามารถดำเนินการออกกฎกระทรวงได้ทันตามกำหนดเวลา |
|
3. ร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตจัดการบริหารพื้นที่คุ้มครองสมุนไพรหรือใช้ประโยชน์จากสมุนไพร พ.ศ. .... |
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ได้ตรวจพิจารณาร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจัดการบริหารพื้นที่คุ้มครองสมุนไพรหรือใช้ประโยชน์จากสมุนไพร พ.ศ. .... เสร็จแล้ว โดยแก้ไขชื่อร่างเป็น “ร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตจัดการบริหารพื้นที่คุ้มครองสมุนไพรหรือใช้ประโยชน์จากสมุนไพร พ.ศ. ....” ขณะนี้กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกอยู่ระหว่างดำเนินการเสนอร่างกฎกระทรวงดังกล่าวให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขลงนาม เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป ซึ่งในกระบวนการดำเนินงานดังกล่าวอาจไม่แล้วเสร็จทันภายในระยะเวลาที่กำหนด |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายภูมิธรรม เวชยชัย (รองนายกรัฐมนตรี) 14 พฤศจิกายน 2566
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
11598