ขอขยายระยะเวลาการดำเนินการจัดทำกฎหมายลำดับรองที่ออกตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 08 November 2023 19:10
- Hits: 1891
ขอขยายระยะเวลาการดำเนินการจัดทำกฎหมายลำดับรองที่ออกตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการดำเนินการจัดทำกฎหมายลำดับรองที่ออกตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 จำนวน 4 ฉบับ ออกไป 1 ปี นับแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ
ทั้งนี้ สธ. เสนอว่า
1. คณะรัฐมนตรีได้มีมติ (19 มกราคม 2564) ให้หน่วยงานของรัฐตรวจสอบกฎหมายในความรับผิดชอบของตนว่า มีกรณีที่ต้องมีการออกกฎหรือกำหนดให้รัฐต้องดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อที่ประชาชนจะสามารถปฏิบัติตามกฎหมายหรือได้รับสิทธิประโยชน์จากกฎหมาย ตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 หรือไม่ โดยให้มีการเร่งออกกฎหรือดำเนินการดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาสองปีนับแต่วันที่กฎหมายนั้นมีผลใช้บังคับสำหรับกฎหมายที่มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 เป็นต้นไป หรือภายในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 สำหรับกฎหมายที่มีผลใช้บังคับก่อนวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 ประกอบกับคณะรัฐมนตรีได้มีมติ (28 กุมภาพันธ์ 2566) ให้หน่วยงานของรัฐทุกหน่วยงานเร่งตรวจสอบกฎหมายในความรับผิดชอบของตนซึ่งมีผลใช้บังคับก่อนวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 ที่เข้าข่ายเป็นกรณีตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายฯ และเร่งออกกฎหรือดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อที่ประชาชนจะสามารถปฏิบัติตามกฎหมายหรือได้รับสิทธิประโยชน์จากกฎหมายนั้นได้ ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 หากไม่อาจดำเนินการให้แล้วเสร็จครบถ้วนได้ทันภายในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 ให้พิจารณาเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อขอขยายระยะเวลาออกไปอีก 1 ปี โดยให้ระบุเหตุผลความจำเป็นของการขอขยายระยะเวลาดังกล่าวประกอบด้วย
2. พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2551 ซึ่งบทบัญญัติตามพระราชบัญญัติฉบับนี้กำหนดให้ออกกฎหมายลำดับรอง จำนวน 26 ฉบับ สธ. ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว จำนวน 22 ฉบับ ขณะนี้ยังมีกฎหมายลำดับรองที่อยู่ในขั้นตอนการจัดทำร่างกฎหมายอีก 4 ฉบับ แต่โดยที่พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มฯ ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีผลใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายฯ มีผลใช้บังคับ การออกกฎหมายลำดับรองจึงต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 ตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายฯ ประกอบมติคณะรัฐมนตรีในข้อ 1. สธ. จึงมีความจำเป็นต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขอขยายระยะเวลาในการออกกฎหมายลำดับรองจำนวน 4 ฉบับดังกล่าว พร้อมทั้งได้ระบุเหตุผลความจำเป็นของการขอขยายระยะเวลาประกอบการพิจารณาด้วยแล้ว ดังนี้
สาระสำคัญของร่างกฎหมายลำดับรอง |
เหตุผลความจำเป็นในการขอขยายระยะเวลา |
|
1. ร่างระเบียบ คกก. นโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติว่าด้วยการเลือกและการแต่งตั้งที่ปรึกษา พ.ศ. .... อาศัยอำนาจตามความใน ม.6 วรรคสองแห่ง พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มฯ มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกและการแต่งตั้งที่ปรึกษาใน คกก. นโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ |
ที่ผ่านมา คกก. นโยบายเครื่องดื่มฯ สามารถดำเนินงานตาม พ.ร.บ. ควบคุมฯ ได้ด้วยดี ไม่ได้มีอุปสรรคในการดำเนินงานแต่อย่างใด จึงมิได้เร่งรัดในการออกประกาศดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าร่างระเบียบดังกล่าวอาจไม่เข้าข่ายที่จำเป็นต้องเร่งรัดในการออกกฎตาม ม. 22 พ.ร.บ. หลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 62 แต่เนื่องจากยังมีข้อถกเถียงกันอยู่ว่ากฎหมายลำดับรองที่ออกตามความใน ม. 6 แห่ง พ.ร.บ. ควบคุมฯ อาจเข้าข่ายตาม ม. 22 หรือไม่ เพื่อมิให้เกิดผลกระทบหรือความเสียหายแก่การบริหารราชการแผ่นดิน หรือต่อสิทธิของประชาชน หากออกกฎไม่ทันในกำหนดระยะเวลา กรมควบคุมโรคจึงได้มีหนังสือหารือประเด็นดังกล่าวไปยัง สคก. เพื่อที่จะได้นำมาปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายต่อไป ขณะนี้อยู่ระหว่าง สคก. พิจารณาตอบข้อหารือดังกล่าว |
|
2. ม. 26 (1) แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มฯ บัญญัติให้ผู้ผลิตหรือนำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จัดให้มีบรรจุภัณฑ์ และจัดให้มีข้อความคำเตือนสำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผลิตหรือนำเข้า ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่ คกก. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประกาศโดยความเห็นชอบของ คกก. ได้แก่ 2.1 ร่างประกาศ คกก. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. .... 2.2 ร่างประกาศ คกก. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับข้อความคำเตือนของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. .... |
โดยที่ พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มฯ ม. 26 (1) บัญญัติให้ผู้ผลิตหรือนำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จัดให้มีบรรจุภัณฑ์ ฉลาก พร้อมทั้งข้อความคำเตือนสำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผลิตหรือนำเข้า โดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่ คกก. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของ คกก. และประกาศ ใน รจ. ที่ผ่านมา สธ. ได้ออกประกาศ คกก. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับฉลากของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 58 แล้ว อย่างไรก็ตาม ประเทศสมาชิก WTO มีข้อห่วงกังวลเกี่ยวกับประกาศดังกล่าว ที่อาจส่งผลกระทบต่อการค้าของประเทศสมาชิกอื่น ดังนั้น ปัจจุบันจึงยังไม่มีการออกประกาศเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์และข้อความคำเตือน เพราะต้องศึกษากฎ ระเบียบ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งมาตรฐานสากล อย่างรอบคอบและละเอียดถี่ถ้วน ทั้งนี้ ได้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาการออกร่างประกาศ ทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวด้วยแล้ว พร้อมทั้งได้ศึกษาวิจัยเพื่อให้ได้ข้อมูลทางวิชาการมาสนับสนุนการออกร่างประกาศทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว |
|
3. ร่างระเบียบ คกก. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอรับการสนับสนุนเพื่อการบำบัดรักษาหรือฟื้นฟูสภาพผู้ติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. .... อาศัยอำนาจตามความใน ม. 33 แห่ง พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มฯ มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้ผู้ติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือญาติ คณะบุคคลหรือองค์กรทั้งภาครัฐหรือเอกชนที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการบำบัดรักษาหรือฟื้นฟูสภาพผู้ติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สามารถมาขอรับการสนับสนุนเพื่อการบำบัดรักษาหรือฟื้นฟูสภาพผู้ติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จากสำนักงานคกก. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค สธ. |
เนื่องจากต้องศึกษาแนวปฏิบัติต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงงานวิชาการที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม และบูรณาการร่วมกับหลายหน่วยงานเพื่อหาแนวทางสนับสนุนการออกกฎดังกล่าวต่อไป เช่น คณะอนุกรรมการด้านการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสภาพผู้ติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งมีหน้าที่ในการจัดทำร่างหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการขอรับการสนับสนุนเพื่อการบำบัดรักษาหรือฟื้นฟูสภาพผู้ติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 7 พฤศจิกายน 2566
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
11320