รายงานผลการจัดสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาไทยตามกฎหมายการค้าสหรัฐฯ มาตรา 301 พิเศษ ประจำปี พ.ศ. 2566
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 08 November 2023 16:15
- Hits: 1900
รายงานผลการจัดสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาไทยตามกฎหมายการค้าสหรัฐฯ มาตรา 301 พิเศษ ประจำปี พ.ศ. 2566
คณะรัฐมนตรีรับทราบและมอบหมายตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอดังนี้
1. รับทราบผลการจัดสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ตามกฎหมายการค้าของสหรัฐอเมริกา (สหรัฐฯ) ว่าด้วยเรื่องการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา (กฎหมายการค้าสหรัฐฯ) มาตรา 301 พิเศษ ประจำปี พ.ศ. 2566
2. มอบหมายให้หน่วยงานต่างๆ ดำเนินการส่งเสริมการคุ้มครองและป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาให้มีประสิทธิภาพ ดังนี้
2.1 หน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมาย ได้แก่ กระทรวงกลาโหม (กห.) (กองทัพบกและกองทัพเรือ) กระทรวงการคลัง (กค.) (กรมศุลกากร) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) (กรมสอบสวนคดีพิเศษ) กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ กวดขันปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอย่างจริงจังและเต็มประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจำหน่ายสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในท้องตลาดและช่องทางออนไลน์ และเร่งดำเนินคดีกับผู้ผลิตสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาต้นน้ำ การละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในภาคเอกชน และการละเมิดลิขสิทธิ์ออนไลน์ผ่านอุปกรณ์
หรือแอปพลิเคชันสำหรับการสตรีมและดาวน์โหลด
2.2 หน่วยงานภาครัฐปฏิบัติตาม “แนวทางการจัดซื้อจัดจ้างโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (Software : ซอฟต์แวร์) และการใช้งานชอฟต์แวร์ที่มีลิขสิทธิ์สำหรับหน่วยงานภาครัฐ” อย่างเคร่งครัด ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2564
2.3 สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ร่วมกับกรมรัพย์สินทางปัญญาเร่งรัดการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติสิทธิบัตร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เพื่อนำไปสู่การออกกฎหมายให้เท่าทันกับสถานการณ์ และรองรับการเข้าเป็นภาคีความตกลงกรุงเฮกว่าด้วยการจดทะเบียนการออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมระหว่างประเทศ (ความตกลงกรุงเฮกฯ)ต่อไป
2.4 กรมทรัพย์สินทางปัญญาร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.) เร่งรัดการพิจารณากำหนดให้ตำแหน่งผู้ตรวจสอบสิทธิบัตรเป็นตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษให้ได้รับเงินเพิ่ม
2.5 กรมทรัพย์สินทางปัญญาร่วมกับกรมบัญชีกลาง กค. พิจารณาแนวทางการขอหักเงินค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาที่ต้องส่งเข้าเงินคงคลังไว้เป็นค่าตอบแทนการปฏิบัติงานนอกเวลาราชการของผู้ตรวจสอบสิทธิบัตรเพื่อช่วยสะสางงานค้างสะสม
สาระสำคัญของเรื่อง
พณ. รายงานว่า
1. ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) ได้จัดทำรายงานสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศคู่ค้าสำคัญภายใต้กฎหมายการค้าสหรัฐฯ มาตรา 301 พิเศษ (รายงานสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศคู่ค้าฯ) เป็นประจำทุกปีและประกาศผลในช่วงปลายเดือนเมษายน โดยแบ่งสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศคู่ค้า เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ (1) ประเทศที่มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญามากที่สุด (Priority Foreign Country: PFC) (2) ประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ (Priority Watch List : PWL)และ (3) ประเทศที่ต้องจับตามอง (Watch List: WL) นอกจากนี้ USTR ได้ จัดทำรายงานรายชื่อตลาดที่มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาสูง (Notorious Markets for Counterfeiting and Piracy: Notorious Markets) ด้วย โดยที่ผ่านมาระหว่างปี 2550-2560 ไทยถูกจัดอยู่ในบัญชี PWL มาโดยตลอด จนเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2560 USTR ได้ปรับสถานะของไทยให้ดีขึ้นจากบัญชี PWL เป็นบัญชี WL (คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบการปรับสถานะดังกล่าวแล้วเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2561)
1. สถานะของไทยและประเทศคู่ค้าอื่นของสหรัฐฯ ประจำปี 2566
รายงาน/ประกาศ |
รายละเอียด |
|
การรายงาน Notorious Markets ประจำปี พ.ศ. 2565 ณ วันที่ 31 มกราคม 2566 |
USTR ได้เผยแพร่รายงานดังกล่าว โดยระบุให้ศูนย์การค้าเอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ (MBK Center) เป็นตลาดที่มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาสูงในไทยเพียงแห่งเดียว |
|
การประกาศสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศคู่ค้าฯ ประจำปี พ.ศ. 2566 ณ วันที่ 26 เมษายน 2566 |
USTR ได้ประกาศเรื่องดังกล่าว ดังนี้ - ไทยยังคงสถานะคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศคู่ค้าฯ อยู่ในบัญชี WL ร่วมกับประเทศอื่น จำนวน 22 ประเทศ เช่น สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม สาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน สาธารณรัฐอุซเบกิสถาน - ประเทศที่อยู่ในบัญชี PWL จำนวน 7 ประเทศ เช่น สาธารณรัฐอาร์เจนตินา สาธารณรัฐชิลี สาธารณรัฐประชาชนจีน |
3. พัฒนาการและความคืบหน้าการดำเนินการของไทย
สหรัฐฯ แสดงความพอใจต่อนโยบายและผลการดำเนินการด้านทรัพย์สินทางปัญญาของไทยที่สำคัญ ดังนี้
3.1 การแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยเจ้าของลิขสิทธิ์สามารถแจ้งไปยังผู้ให้บริการให้นำงานละเมิดลิขสิทธิ์ออกหรือระงับการเข้าถึงตามกระบวนการแจ้งเตือนและนำออกและการขยายอายุความคุ้มครองภาพถ่าย ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวนำไปสู่การเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาว่าด้วยลิขสิทธิ์ขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO Copyright Treaty: WCT) (สนธิสัญญา WCT) และเพิ่มประสิทธิภาพการคุ้มครองมาตรการทางเทคโนโลยี (Technological Protection Measures: TPM) เพื่อคุ้มครองลิขสิทธิ์ในยุคดิจิทัล
3.2 การจัดทำระบบฐานข้อมูลเครื่องหมายการค้าและลิขสิทธิ์ของกรมศุลกากร (Thai Customs IPR Recordation System: TCIRs) เพื่อให้เจ้าของสิทธิสามารถยื่นคำขอแจ้งข้อมูลเครื่องหมายการค้าและลิขสิทธิ์ผ่านช่องทางออนไลน์และเจ้าหน้าที่ศุลกากรสามารถใช้ข้อมูลดังกล่าวในการยืนยันสินค้าละเมิดเครื่องหมายการค้าและลิขสิทธิ์
3.3 การบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง
ภายใต้กลไกการทำงานของคณะอนุกรรมการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาโดยมีรองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) เป็นประธาน (ในขณะนั้น) มีการบูรณาการร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างมีประสิทธิภาพ
3.4 การจัดทำบันทึกข้อตกลงเพื่อส่งเสริมความร่วมมือในการคุ้มครองและป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อระงับการจำหน่ายสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาบนอินเทอร์เน็ตและการร่วมมือกับสมาคมด้านการโฆษณาเพื่อไม่ให้การสนับสนุนเว็บไซต์ที่มีการจำหน่ายสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา
4. ข้อกังวล/ข้อเสนอแนะของสหรัฐฯ สรุปได้ ดังนี้
ประเด็น |
ข้อกังวล/ข้อเสนอแนะ |
|
(1) การแก้ไข/ดำเนินการตามกฎหมายต่างๆ และการเข้าเป็นภาคีความตกลงระหว่างประเทศ |
||
พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 และที่แก้ไขเพิ่มเติม |
- สนับสนุนให้ไทยเร่งแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติดังกล่าวเพื่อเตรียมการเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาว่าด้วยการแสดงและสิ่งบันทึกเสียงขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WPO Performances and Phonograms Treaty: WPPT) - เน้นย้ำให้ไทยแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติดังกล่าวเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องต่างๆ เช่น ปัญหาและอุปสรรคในการจับกุมการลักลอบบันทึกภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์และการแอบอ้างสิทธิในการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ |
|
พระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม |
สหรัฐฯ ยังมีข้อกังวลในประเด็นการปรับปรุงขั้นตอนการจดทะเบียนและการจัดการปัญหางานจดทะเบียนสิทธิบัตรค้างสะสมโดยเฉพาะในสาขายาเพื่อเตรียมการเข้าเป็นภาคีความตกลงกรุงเฮกฯ ซึ่งไทยอยู่ระหว่างการเสนอแก้ไขพระราชบัญญัติดังกล่าว |
|
พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 |
การเปิดช่องให้กำหนดสัดส่วนระหว่างภาพยนตร์ไทยกับภาพยนตร์ต่างประเทศที่จะนำออกฉายในโรงภาพยนตร์ภายใต้พระราขบัญญัติดังกล่าว |
|
(2) ประเด็นอื่นๆ |
||
เช่น การจำหน่ายสินค้าละเมิดเครื่องหมายการค้าและลิขสิทธิ์และการขึ้นทะเบียน |
- ให้มีมาตรการป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาที่มีประสิทธิภาพและดำเนินคดีกับผู้ผลิตสินค้าละเมิด - ให้มีระบบป้องกันข้อมูลสำหรับการขึ้นทะเบียนยาและเคมีภัณฑ์ทางการเกษตรที่มีประสิทธิภาพและเป็นความลับจากการนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์โดยไม่เป็นธรรม |
5. ข้อมูลเกี่ยวกับการกำหนดให้ตำแหน่งผู้ตรวจสอบสิทธิบัตรได้รับเงินเพิ่มและการขอหักเงินค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาที่ต้องส่งคลังมาใช้เป็นค่าตอบแทนการปฏิบัติงานนอกเวลาราชการ สรุปว่า
5.1 กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้พัฒนาระบบและนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้เพื่อเพิ่มความรวดเร็วในการปฏิบัติงานของผู้ตรวจสอบสิทธิบัตรอย่างต่อเนื่องแต่เนื่องด้วยจำนวนคำขอรับสิทธิบัตรมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปีและประสบปัญหาการขาดแคลนและสูญเสียข้าราชการในตำแหน่งนักวิชาการตรวจสอบสิทธิบัตรโดยเฉพาะในกลุ่มเภสัชภัณฑ์และกลุ่มไฟฟ้าและดิจิทัล ซึ่งแม้กรมทรัพย์สินทางปัญญาจะได้รับอัตรากำลังสำหรับตำแหน่งนักวิชาการตรวจสอบสิทธิบัตรระหว่างปีงบประมาณพ.ศ. 2559-2561 จำนวน 88 ตำแหน่งแล้ว แต่ไม่สามารถรักษาบุคลากรดังกล่าวไว้ได้เนื่องจากความยุ่งยากของงานและความแตกต่างระหว่างค่าตอบแทนในภาคเอกชนกับหน่วยงานราชการและระหว่างหน่วยงานราชการด้วยกันเอง โดยเฉพาะตำแหน่งวิศวกรหรือเภสัชกรในหน่วยงานราชการอื่นจะได้รับเงินประจำตำแหน่งเป็นรายเดือนเพิ่มเติม อีกทั้งมีความล่าช้าในการสรรหาผู้ปฏิบัติงานทดแทน เนื่องจากวุฒิการศึกษาของผู้ตรวจสอบสิทธิบัตรเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน จึงมีผู้สมัครน้อยและเมื่อบรรจุแล้วจำเป็นต้องใช้เวลาสั่งสมประสบการณ์ 2-4 ปี จึงจะสามารถปฏิบัติงานทดแทนผู้ปฏิบัติงานเดิมได้ประกอบกับการตรวจสอบคำขอรับสิทธิษัตรมีความละเอียดซับซ้อนและไม่สามารถดำเนินการให้เสร็จสิ้นกระบวนการได้ในเวลาราชการปกติ ดังนั้น นักวิชาการตรวจสอบสิทธิบัตรจำเป็นต้องปฏิบัติงานนอกเวลาราชการเพื่อเร่งรัดสะสางงานค้างสะสม
5.2 การกำหนดให้ตำแหน่งผู้ตรวจสอบสิทธิบัตรเป็นตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษให้ได้รับเงินเพิ่มและการขอหักเงินที่ต้องส่งเข้าเงินคงคลังไว้เป็นค่าตอบแทนการปฏิบัติงานนอกเวลาราชการของผู้ตรวจสอบสิทธิบัตร สรุปได้ ดังนี้
ข้อเสนอ |
รายละเอียดการดำเนินการ/ความคืบหน้า |
|
การกำหนดให้ตำแหน่งผู้ตรวจสอบสิทธิบัตรเป็นตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษให้ได้รับเงินเพิ่ม (ตามข้อเสนอ 1.2.4) |
กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ขอความอนุเคราะห์สำนักงาน ก.พ. ให้พิจารณาตำแหน่งนักวิชาการตรวจสอบสิทธิบัตรเป็นตำแหน่งที่ได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษตามระเบียบ ก.พ. ว่าด้วยเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2552 ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการประชุมหารือร่วมกันและได้จัดทำข้อมูลประกอบการพิจารณาส่งให้สำนักงาน ก.พ. อย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันสำนักงาน ก.พ. อยู่ระหว่างพิจารณาปรับปรุงระเบียบดังกล่าว ซึ่งหากดำเนินการแล้วเสร็จสำนักงาน กพ. จะพิจารณาและประกาศให้ตำแหน่งนักวิชาการตรวจสอบสิทธิบัตรเป็นตำแหน่งที่ได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษต่อไป |
|
การขอหักเงินค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาที่ต้องส่งเข้าเงินคงคลังไว้เป็นค่าตอบแทนการปฏิบัติงานนอกเวลาราชการของผู้ตรวจสอบสิทธิบัตร (ตามข้อเสนอ 1.2.5) |
กรมทรัพย์สินทางปัญญาอยู่ระหว่างประสานกรมบัญชีกลาง กค. เพื่อขอหักเงินค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาที่ต้องส่งเข้าบัญชีเงินคงคลังในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เพื่อนำมาสนับสนุนค่าตอบแทนการปฏิบัติงานนอกเวลาราชการและเร่งรัดการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติเงินคงคลัง พ.ศ. 2491 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 4 วรรคสอง (2) ที่บัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีอำนาจกำหนดข้อบังคับอนุญาตให้หัวหน้าส่วนราชการใดๆ หักรายจ่ายจากเงินที่จะต้องส่งเข้าบัญชีเงินคงคลังได้ในกรณีที่จำเป็นต้องจ่ายตามระเบียบที่ได้รับความตกลงจาก กค. และระเบียบ กค. ว่าด้วยการจ่ายเงินค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อเสริมเงินงบประมาณ พ.ศ. 2549 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 5 ที่กำหนดให้เงินค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาให้นำไปจ่ายเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงประสิทธิภาพการให้บริการส่งเสริมและคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาได้ |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 7 พฤศจิกายน 2566
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
11307