ผลการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง - คงคา ครั้งที่ 12
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 08 November 2023 16:03
- Hits: 2040
ผลการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง - คงคา ครั้งที่ 12
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง - คงคา ครั้งที่ 12 (12th Mekong - Ganga Cooperation Foreign Ministers’ Meeting: 12th MGC FMM) (การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ) และเห็นชอบมอบหมายส่วนราชการดำเนินการและติดตามความคืบหน้าในส่วนของภารกิจที่เกี่ยวข้องตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ และให้ กต. รับความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
กต. รายงานว่า
1. การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศฯ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2566 ณ โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพมหานคร โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐอินเดีย และรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เป็นประธานร่วมในรูปแบบการประชุมผสมผสานซึ่งก่อนการประชุมดังกล่าว ฝ่ายอินเดียได้ขอปรับแก้ชื่อการประชุม จาก การประชุมรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง - คงคา ครั้งที่ 12 เป็น การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง - คงคา ครั้งที่ 12 และชื่อเอกสารผลลัพธ์การประชุม จากเดิม คือ แถลงการณ์ร่วมการประชุมรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง - คงคา ครั้งที่ 12 เป็น แถลงการณ์ร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง - คงคา ครั้งที่ 12 เนื่องจากผู้เข้าร่วมการประชุมทั้งหมดเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหรือผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของประเทศสมาชิกกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง - คงคา ครั้งที่ 12 มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
หัวข้อ |
สาระสำคัญของการประชุม |
|
โครงการพัฒนาถนนสามฝ่ายเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมระหว่างอินเดีย - เมียนมา - ไทย |
1) ความคืบหน้าของโครงการฯ เกี่ยวกับ (1) เส้นทางคาเลวา - ยาร์กี้ (ระยะทาง 112 กิโลเมตร) และเส้นทาง โมเรห์/ทามู - คาเลวา (ระยะทาง 160 กิโลเมตร) และ (2) ความท้าทายของการดำเนินโครงการฯ โดยเฉพาะปัญหาของระบบธนาคาร การปริวรรตเงินตรา1 การเข้าถึงพื้นที่ก่อสร้างฯ และความปลอดภัยของคนงานในเมียนมา รวมทั้งการเจรจาความตกลงยานยนต์ระหว่างอินเดีย - เมียนมา - ไทย และพิธีสารที่เกี่ยวข้องที่ยังคั่งค้าง 2) เร่งรัดการดำเนินโครงการฯ และสนับสนุนการขยายเส้นทางต่อออกไปยังกัมพูชา สปป. ลาว และเวียดนาม เพื่อส่งเสริมการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก - ตะวันตก (East - West - Economic Corridor: EWEC) และไทยได้เสนอแนวคิดการสร้างทางรถไฟคู่ขนานกับเส้นทางถนนซึ่งอินเดียเห็นว่าสามารถดำเนินการได้หลังจากการก่อสร้างเส้นทางถนนเสร็จสมบูรณ์แล้ว |
|
การทบทวนความร่วมมือที่ผ่านมา และการหารือเกี่ยวกับทิศทางในอนาคตของกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโข่ง - คงคา |
1) บทบาทของอินเดียในฐานะหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาของอนุภูมิลุ่มน้ำโขง ภายใต้นโยบายมุ่งตะวันออก (Act East Policy) ของอินเดีย ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความร่วมมือกับทุกประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยเน้นการเสริมสร้างความเชื่อมโยงทางกายภาพและดิจิทัล รวมถึงการเสริมสร้างศักยภาพ 2) ขยายระยะเวลาการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการของกรอบความร่วมมือกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง - คงคา ครั้งที่ 12 จากเดิม (ค.ศ. 2019 - 2022) ออกไปจนถึง ค.ศ. 2024 เนื่องจากได้รับผลกระทลบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 และไทยเสนอให้เร่งรัดการเตรียมการยกร่างแผนปฏิบัติการฯ ฉบับใหม่ โดยสะท้อนประเด็นที่ความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์และความต้องการด้านการพัฒนาในอนุภูมิภาคฯ ที่สอดคล้องกับบริบทปัจจุบัน 3) การส่งเสริมความร่วมมือในสาขาต่างๆ เช่น การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร การเสริมสร้างทักษะทางดิจิทัล วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดเล็กและขนาดย่อม (Micro, Small and Medium Enterprise: MSMEs) และการท่องเที่ยวและวัฒนธรรม 4) ไทยเสนอแนวทาง “READY” เพื่อขับเคลื่อนกอบความร่วมมือฯ ในอนาคต ได้แก่ (1) ความยืดหยุ่น (Resilience) (2) ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Sustainability) (3) การปรับตัว (Adaptation) และการสร้างความหลากหลายของเศรษฐกิจ (Diversification) และ (4) การกำหนดให้ปี 2568 ซึ่งเป็นการครบรอบ 25 ปี ของการจัดตั้งกรอบความร่วมมือฯ เป็นปีแห่งการแลกเปลี่ยนลุ่มน้ำโขง - คงคา (MGC Year of Exchange) โดยเสนอการจัดทำภาพยนตร์และสารคดีร่วมกันซึ่งที่ประชุมสนับสนุนและมอบหมายให้เจ้าหน้าที่อาวุโสประเทศสมาชิกหารือในรายละเอียดต่อไป 5) ที่ประชุมได้รับรองเอกสารผลลัพธ์การประชุม จำนวน 1 ฉบับ คือ แถลงการณ์ร่วมฯ พร้อมด้วยเอกสารภาคผนวก 2 ฉบับ ได้แก่ (1) เอกสารแนวคิดเรื่องการฟื้นฟูกลไกประเทศผู้ขับเคลื่อนหลักและการกำหนดในแต่ละสาขาความร่วมมือของกรอบความร่วมมือฯ โดยไทยเป็นประเทศผู้นำด้านการท่องเที่ยว และประเทศผู้นำการขับเคลื่อนร่วมกับเมียนมา ด้านสาธารณสุขและการแพทย์แผนดั้งเดิม และ (2) เอกสารแนวคิดเรื่อง การจัดตั้งสภาธุรกิจกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง - คงคา (ไทยได้เสนอเอกสารแนวคิดทั้ง 2 ฉบับ ต่อที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศฯ ครั้งที่ 11 เมื่อปี 2564) ทั้งนี้ สาระสำคัญของเอกสารผลลัพธ์การประชุมดังกล่าวไม่แตกต่างจากร่างแถลงการณ์ร่วมฯ ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2566 โดยมีการปรับแก้ไข ได้แก่ (1) การเปลี่ยนชื่อเอกสารผลลัพธ์ เพื่อให้สอดคล้องกับชื่อการประชุมและผู้แทนเข้าร่วมการประชุมฯ และ (2) จำนวนสมาชิกสภาธุรกิจกรอบความร่วมมือฯ ซึ่งปรับลดลงจากประเทศละ 10 คน เป็นประเทศละ 5 คน 6) เป็นสักขีพยานการส่งมอบตำแหน่งประธานร่วมของกรอบความร่วมมือฯ ของฝ่ายประเทศลุ่มน้ำโขง จาก สปป. ลาว ให้แก่เมียนมาอย่างเป็นทางการ |
|
ประโยชน์และผลกระทบ |
การดำเนินการตามผลการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศฯ จะช่วยส่งเสริมความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมระหว่างอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงกับอินเดีย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมการพัฒนาการค้าและการลงทุนระหว่างกันอย่างยั่งยืน เสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน และกระชับสายสัมพันธ์ระหว่างประชาชนของอนุภูมิภาคฯ กับอินเดียให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น |
2. กต. พิจารณาแล้วเห็นว่า ผลการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศฯ มีประเด็นของการดำเนินการที่สำคัญและเกี่ยวข้องกับส่วนราชการต่างๆ ดังนี้
การดำเนินการที่สำคัญ |
หน่วยงาน ที่รับผิดชอบหลัก |
|
กลไกความร่วมมือภายใต้กรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง - คงคา |
||
(1) การจัดทำแผนปฏิบัติการฯ ฉบับใหม่ ทดแทนฉบับปัจจุบันที่จะสิ้นสุดในปี 2567 โดยไทยเสนอให้แผนปฏิบัติการฯ ฉบับใหม่สะท้อนประเด็นที่ประเทศสมาชิกให้ความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ร่วมกัน และความต้องการด้านการพัฒนาในอนุภูมิภาคฯ ที่สอดคล้องกับบริบทการเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศ รวมทั้งแนวโน้มการพัฒนาของโลกในปัจจุบัน |
กต. |
|
(2) การผลักดันกิจกรรมและความร่วมมือในสาขาที่ไทยเป็นประเทศผู้ขับเคลื่อนหลัก (Lead Country) โดยไทยเป็นผู้ขับเคลื่อนหลักในสาขาการท่องเที่ยว และผู้ขับเคลื่อนหลักร่วมกับเมียนมา ในสาขาสาธารณสุขและการแพทย์แผนดั้งเดิม |
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) |
|
(3) การส่งเสริมการสอดประสานระหว่างกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง - คงคา กับกลไกความร่วมมือระดับอนุภูมิภาคและภูมิภาคที่เกี่ยวข้อง |
กต. |
|
ความเชื่อมโยง |
||
(1) การเร่งรัดการก่อสร้างโครงการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมระหว่างอินเดีย - เมียนมา - ไทย (โครงการถนนสามฝ่าย) ให้แล้วเสร็จและพิจารณาขยายโครงการฯ ไปยังกัมพูชา สปป. ลาว และเวียดนาม รวมทั้งการเร่งสรุปการเจรจาความตกลงยานยนต์ระหว่างอินเดีย - เมียนมา - ไทย และพิธีสารที่เกี่ยวข้อง |
กระทรวงคมนาคม (คค.) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) |
|
(2) การส่งเสริมการขนส่งทางทะเล |
||
(3) การส่งเสริมการสอดประสานระหว่างความร่วมมือด้านความเชื่อมโยงภายใต้กรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง - คงคา กับกรอบความร่วมมืออื่นๆ |
||
สาธารณสุข |
||
การส่งเสริมความร่วมมือด้านสาธารณสุข ในฐานะที่ไทยเป็นประเทศผู้ขับเคลื่อนหลักในด้านนี้ โดยเฉพาะการวิจัยและการพัฒนาด้านการแพทย์การผลิตยาและวัคซีน การแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีในการรับมือและป้องกันโรคโควิด - 19 รวมถึงโรคระบาดอื่นๆ ในอนาคต การเสริมสร้างขีดความสามารถให้แก่บุคลากรด้านสาธารณสุข และข้อเสนอของไทยในการส่งเสริมความร่วมมือด้านยาสมุนไพรการถ่ายทอดเทคโนโลยีในการผลิตยา และอุตสาหกรรมสมุนไพร รวมทั้งความร่วมมือด้านการป้องกันโรค |
สธ. กระทรวงการอุดมการณ์ศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) |
|
การพัฒนาที่ยั่งยืน |
||
(1) การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างอินเดียกับประเทศลุ่มน้ำโขงด้านการบริหารจัดการน้ำที่ยั่งยืนและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ องค์ความรู้ ข้อมูล และแนวปฏิบัติที่ดีในการบริการจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการ รวมทั้งการสนับสนุนการเสริมสร้างขีดความสามารถและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในด้านดังกล่าว และการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างอินเดียกับคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง |
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) |
|
(2) การส่งเสริมการเกษตรอัจฉริยะ ความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน โดยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาปรับใช้ในการเกษตร รวมทั้งการส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานทดแทน โดยเฉพาะพลังงานไฮโดรเจนสีเขียวและพลังงานแสงอาทิตย์ |
อว. กษ. กระทรวงพลังงาน (พน.) |
|
การค้าและการลงทุน |
||
การส่งเสริมการค้าและการลงทุน โดยสนับสนุนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อมและขนาดย่อยในอาเซียน (MSMEs) ผ่านการประชุมภาคธุรกิจและการจัดตั้งสภาธุรกิจกรอบความร่วมมือฯ เพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุน และการขยายเครือข่ายธุรกิจระหว่างประเทศสมาชิก รวมถึงการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน - อินเดีย มากยิ่งขึ้น |
สศช. กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) |
|
การเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล |
||
การส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล การสนับสนุนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และความร่วมมือที่เกี่ยวกับดิจิทัลด้านอื่นๆ โดยเฉพาะด้านความมั่นคงไซเบอร์ เศรษฐกิจดิจิทัล ความร่วมมือด้าน ICT/Fintech2 ระบบ e - Commerce3 และ e - Government |
อว. ดศ. พณ. กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ |
|
การศึกษา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี |
||
การส่งเสริมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในภูมิภาค โดยเฉพาะทักษะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ผ่านโครงการความร่วมมือ โครงการฝึกอบรมและทุนการศึกษาต่างๆ รวมทั้งการพัฒนาความร่วมมือภายใต้กรอบอาเซียน - อินเดีย เช่น การนำเทคโนโลยีทางอวกาศมาใช้ในการจัดการปัญหาและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ |
กต. อว. ดศ. กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) |
|
การท่องเที่ยวและความร่วมมือด้านวัฒนธรรม |
||
(1) การส่งเสริมการท่องเที่ยวและความร่วมมือด้านวัฒนธรรม และการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชน เช่น การท่องเที่ยวเชิงพุทธศาสนาและประวัติศาสตร์ การท่องเที่ยวอัจฉริยะ การท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ การบูรณปฏิสังขรณ์มรดกโลกและสถานที่เชิงประวัติศาสตร์ รวมทั้งการส่งเสริมกิจกรรมทางวัฒนธรรมที่พิพิธภัณฑ์สิ่งทอพื้นเมืองเอเชียที่จังหวัดเสียมราฐ กัมพูชา ตลอดจนการพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียกับอนุภูมิภาคฯ โดยไทยได้รับมอบหมายให้เป็นประเทศผู้ขับเคลื่อนหลักด้านการท่องเที่ยวด้วย |
กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กก. การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) |
|
(2) การผลักดันให้ปี 2568 เป็นปีแห่งการแลกเปลี่ยนลุ่มน้ำโขง - คงคา ในโอกาสครบรอบ 25 ปี ของการจัดตั้งกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง - คงคา เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและระหว่างประชาชน รวมทั้งการสร้างความตระหนักรู้ของกรอบความร่วมมือฯ แก่สาธารณชน โดยอาจพิจารณาจัดกิจกรรมและการจัดทำภาพยนตร์และสารคดีร่วมกัน |
กต. วธ. กก. ททท. |
_______________________
1 ปริวรรตเงินตรา เป็นการแลกเปลี่ยนเงินตราสกุลหนึ่งไปเป็นอีกสกุลหนึ่ง โดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนที่กำหนด
2 Fintech คือ อนาคตของเทคโนโลยีการเงินและการธนาคารแห่งยุคดิจิทัล
3 e - Commerce คือ การดำเนินการซื้อขายสินค้าและบริการด้วยสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ผ่านระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์หรืออินเทอร์เน็ต หรือแบบออนไลน์
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 7 พฤศจิกายน 2566
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
11306