รายงานการประชุมรัฐมนตรีสารนิเทศอาเซียน ครั้งที่ 16 การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสสารนิเทศอาเซียน ครั้งที่ 20 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 08 November 2023 15:44
- Hits: 1823
รายงานการประชุมรัฐมนตรีสารนิเทศอาเซียน ครั้งที่ 16 การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสสารนิเทศอาเซียน ครั้งที่ 20 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง
คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานการประชุมรัฐมนตรีสารนิเทศอาเซียน ครั้งที่ 16 การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสสารนิเทศอาเซียน ครั้งที่ 20 และการประชุมที่เกี่ยวข้องตามที่สำนักนายกรัฐมนตรี (นร.) โดยกรมประชาสัมพันธ์ (กปส.) เสนอ
สาระสำคัญ
กปส. รายงานว่า นายกรัฐมนตรีได้แต่งตั้งองค์ประกอบคณะผู้แทนไทยในการประชุมระดับรัฐมนตรีและระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส โดยมีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด) เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย และรองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ (นางสุดฤทัย เลิศเกษม) เป็นหัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่อาวุโสสารนิเทศอาเซียน เพื่อเข้าร่วมการประชุมสารนิเทศอาเซียน (ASEAN Ministers Responsible for Information: AMRI) ครั้งที่ 16 การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสสารนิเทศอาเซียน (ASEAN Senior Officials Responsible for Information: SOMRI) ครั้งที่ 20 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-23 กันยายน 2566 ณ นครดานัง สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม โดยมีผลการประชุม สรุปได้ ดังนี้
1. การประชุมรัฐมนตรีสารนิเทศอาเซียน ครั้งที่ 16 ประกอบด้วย การประชุมย่อย จำนวน 5 การประชุม ได้แก่ (1) การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสสารนิเทศอาเซียน (2) การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสสารนิเทศอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา+3 (3) การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสสารนิเทศอาเซียน - ญี่ปุ่น (4) การประชุมรับมนตรีสารนิเทศอาเซียน และ (5) การประชุมรัฐมนตรีสารนิเทศอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา+3 สรุปได้ ดังนี้
1.1 ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับหัวข้อ “สื่อ: จากข้อมูลสู่ความรู้เพื่ออาเซียนที่ยืดหยุ่นและพร้อมตอบสนอง” โดยได้เน้นย้ำการยกระดับการดำเนินงานของสื่อในการปรับตัวใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสร้างสังคมแห่งความรู้ ซึ่งประเทศไทยได้เสนอแนวคิด 3I (สามไอ) เพื่อให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาประชาคมอาเซียน ได้แก่ (1) Informative การให้ข้อมูลความรู้ที่เป็นประโยชน์ (2) Intelligent การพัฒนาคนให้มีความฉลาดเท่าทันในการใช้สื่อ และ (3) Inclusive การส่งเสริมให้ข้อมูลข่าวสารเข้าถึงในทุกกลุ่ม เพื่อให้ประชาชนรู้เท่าทันสื่อให้มากยิ่งขึ้น
1.2 ที่ประชุมให้การรับรองเอกสารผลลัพธ์อย่างเป็นทางการจำนวน 5 ฉบับ* ดังนี้
(1) แถลงการณ์วิสัยทัศน์ของรัฐมนตรีสารนิเทศอาเซียนอาเซียน 2578: มุ่งสู่สารนิเทศอาเซียนที่พร้อมเปลี่ยนแปลง พร้อมตอบสนอง และยืดหยุ่น (Vision Statement by AMR-ASEAN 2035: Toward a Transformative, Responsive and Resilient Information and Media Sector) โดยเน้นย้ำบทบาทของสื่อจากการทำงานเชิงรับเป็นเชิงรุกไม่ใช่แค่ให้ข้อมูลข่าวสารแต่ให้ความรู้ ส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้เท่าทันสื่อ มีความสามารถแสวงหาความรู้ และปลูกฝังค่านิยมในการเรียนรู้ตลอดชีวิต
(2) ปฏิญญาดานังว่าด้วย “สื่อ: จากข้อมูลสู่ความรู้เพื่ออาเซียนที่ยืดหยุ่นและพร้อมตอบสนอง” (Danang Declaration on “Media: From Information to Knowledge for a Resilient and Responsive ASEAN”) โดยแสดงจุดยืนและความมุ่งมั่นของรัฐมนตรีสารนิเทศอาเซียนในการสร้างสภาพแวดล้อมสำหรับสื่อในยุคดิจิทัล ผ่านการส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อให้มีทักษะการคิดวิเคราะห์แยกแยะข้อมูลข่าวสารในยุคดิจิทัลได้
(3) แนวทางการจัดการข้อมูลภาครัฐเพื่อต่อต้านข่าวปลอมและข้อมูลบิดเบือนในสื่อ(Guideline on Management of Government Information in Combating Fake News and Disinformation in the Media) โดยมีคู่มือแนวทางในการรับมือข่าวลวงซึ่งมีตัวอย่างการจัดการและต่อต้านข่าวลวงของรัฐบาลแต่ละประเทศ และนำเสนอแนวทางการพัฒนาความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
(4) แผนปฏิบัติการคณะทำงานเฉพาะกิจอาเซียนด้านการรับมือข่าวลวง (Plan of Action of ASEAN Task Force on Fake News) โดยมีแผนงานโครงการและกิจกรรมเพื่อการรับมือข่าวลวง จัดทำขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ นโยบายและแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ รวมถึงแนวทางแก้ไขปัญหาระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน
(5) แถลงการณ์ร่วมการประชุมรัฐมนตรีสารนิเทศอาเซียนครั้งที่ 16 และการประชุมรัฐมนตรีสารนิเทศอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา+3 ครั้งที่ 7 (Joint Media Statement: 16th Conference of the ASEAN Ministers Responsible for Information & 7th Conference of the ASEAN Plus Three Ministers Responsible for Information) โดยได้เน้นย้ำถึงการใช้สื่อและสารนิเทศ ในการสนับสนุนประชาคมอาเซียนให้เป็นสังคมที่พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลง ตอบสนอง และยืดหยุ่นโดยสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้องไปยังประชาชน ตลอดจนการส่งเสริมความรู้สึกเป็นพลเมืองอาเซียน
1.2 การประชุมทวิภาคีระหว่างไทย-สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด) ได้ร่วมหารือกับนายเหวียน แม็ง ห่ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการสารสนเทศ และการสื่อสารเวียดนาม ในประเด็นความร่วมมือด้านการต่อต้านข่าวปลอม และชื่นชมเวียดนามที่ริเริ่มจัดตั้งคณะทำงานรับมือกับข่าวลวงซึ่งเป็นโมเดลทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่องในภูมิภาค โดยเสนอให้แลกเปลี่ยนการข่าวอาเซียนให้มากยิ่งขึ้นเพื่อให้ได้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องและน่าเชื่อถือทั้งในห้วงปกติและภาวะวิกฤต
1.3 การประชุมทวิภาคีระหว่างไทย-ราชอาณาจักรกัมพูชา รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด) ได้ร่วมหารือกับนายเนตร พักตรา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการสื่อสารกัมพูชา ในประเด็นความร่วมมือในการแก้ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่ประชาชนตกเป็นเหยื่อถูกหลอกลวง ทั้งนี้ ประเทศไทยได้เสนอให้ใช้กลไกความร่วมมือด้านสื่อที่ประเทศไทยกับราชอาณาจักรกัมพูชาได้มีความร่วมมือกันผ่านรายการวิทยุระหว่างสองประเทศ (Twin Radio) เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนทั้งสองประเทศมีความรู้เท่าทันสื่อและมีแนวทางในการรับมือจากภัยการหลอกลวงทางออนไลน์
_______________________
* คณะรัฐมนตรีมีมติ (18 กันยายน 2566) เห็นชอบร่างเอกสารผลลัพธ์เพื่อรับรองในที่ประชุรัฐมนตรีสารนิเทศอาเซียน ครั้งที่ 16 จำนวน 5 ฉบับ และให้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด) รับรองเอกสารผลลัพธ์ทั้ง 5 ฉบับ
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 7 พฤศจิกายน 2566
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
11305