เอกสารผลลัพธ์การประชุมรัฐมนตรีเอเปค และการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคประจำปี ค.ศ. 2023
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 08 November 2023 15:34
- Hits: 1957
เอกสารผลลัพธ์การประชุมรัฐมนตรีเอเปค และการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคประจำปี ค.ศ. 2023
คณะรัฐมนตรีมีมติตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบต่อร่างเอกสารจำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ (1) ร่างถ้อยแถลงร่วมรัฐมนตรีเอเปค ประจำปี ค.ศ. 2023 (ร่างถ้อยแถลงร่วมฯ) และ (2) ร่างปฏิญญาผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ประจำปี ค.ศ. 2023 (ร่างปฏิญญาฯ) ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างเอกสารดังกล่าวในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้ กต. และกระทรวงพาณิชย์ (พณ.) ดำเนินการได้โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีอีก
2. ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ร่วมรับรองถ้อยแถลงร่วมฯ
3. ให้นายกรัฐมนตรี หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีร่วมรับรองปฏิญญาฯ ประจำปี ค.ศ. 2023
สาระสำคัญของเรื่อง
กต. รายงานว่าสหรัฐอเมริกาเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค ปี 2566 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 11 - 17 พฤศจิกายน 2566 เช่น การประชุมรัฐมนตรีเอเปค ระหว่างวันที่ 14 - 15 พฤศจิกายน 2566 และการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคประจำปี ค.ศ. 2023 ระหว่างวันที่ 15 -17 พฤศจิกายน 2566 ณ นครซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ภายใต้หัวข้อหลัก “สร้างอนาคตที่ยั่งยืนและยืดหยุ่นสำหรับทุกคน” ซึ่งในระหว่างการประชุมฯ จะมีการรับรองร่างเอกสาร จำนวน 2 ฉบับ (ตามข้อ 1) เพื่อใช้เป็นเอกสารผลลัพธ์ในการประชุมดังกล่าว โดยร่างเอกสารทั้ง 2 ฉบับ มีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
1. ร่างถ้อยแถลงร่วมฯ เป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์ระดับรัฐมนตรีมีสาระสำคัญเพื่อทบทวนการทำงานของเอเปคในปีที่ผ่านมาและให้แนวทางสำหรับการดำเนินการต่อไป โดยมีหัวข้อ
1) การสร้างเชื่อมโยง (1) การส่งเสริมด้านการค้าและการลงทุนที่จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในภูมิภาคเอเปค เช่น MSME สตรี และกลุ่มอื่นๆ ที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจแต่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ (เช่น กลุ่มชนพื้นเมือง ดั้งเดิม ผู้พิการ และกลุ่มคนจากชุมชนชนบทและชุมชนห่างไกล) โดยใช้ความร่วมมือทางเทคนิคและการเสริมสร้างขีดความสามารถในอนาคต (เช่น การฝึกอบรม) รวมทั้งการสนับสนุนจากระบบการค้าพหภาคีที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกฎระเบียบ โดยมีองค์การการค้าโลกเป็นแกนกลางเพื่อให้สมาชิกเอเปคสามารถจัดการกับความท้าทายทางการค้าโลกในปัจจุบันและที่จะเกิดขึ้นใหม่อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การหารือเพื่อให้มีกลไกระงับข้อพิพาทที่ทำงานได้ดี เต็มที่ และเข้าถึงได้ โดยสมาชิกทั้งหมดขององค์การการค้าโลก ภายในปี ค.ศ. 2024 (2) ความร่วมมือในการอำนวยความสะดวกของการไหลเวียนของข้อมูลและเสริมสร้างความเชื่อมั่นของธุรกิจและผู้บริโภคในการทำธุรกรรมดิจิทัล ผ่านความร่วมมือด้านกฎระเบียบสำหรับอินเทอร์เน็ตและเศรษฐกิจดิจิทัล ตลอดจนการคุ้มครองผู้บริโภคในระบบดิจิทัล และการส่งเสริมสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาผ่านนโยบายและโครงการที่ผลักดันนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ (3) การเสริมสร้างระบบสาธารณสุข เพื่อป้องกัน เตรียมความพร้อม และตอบสนองต่อโรคระบาด
2) การส่งเสริมนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (1) การบริหารจัดการเหตุฉุกเฉินเพื่อเตรียมความพร้อมของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ต่อภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นในอนาคต (2) การทำงานร่วมกันเพื่อบรรลุระบบการเกษตรและอาหารที่ยั่งยืน เป็นธรรม และยืดหยุ่น (3) ส่งเสริมการใช้เศรษฐกิจดิจิทัลเพื่ออำนวยความสะดวกให้เกิดการเติบโตที่ยั่งยืน ครอบคลุม และมีนวัตกรรม (4) การเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวผ่านข้อริเริ่มของเขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปค และคำมั่น เรื่อง การปล่อยก๊าซสุทธิเป็นศูนย์ รวมถึงการปรับการดำเนินงานของภาครัฐให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (4) ภัยคุกคามร้ายแรงจากการทุจริต
3) เสริมสร้างที่ครอบคลุม (1) ส่งเสริม MSME เข้าสู่ตลาดโลก โดยการเพิ่มการเข้าถึงเงินทุน การพัฒนาโอกาส และเพิ่มการมีส่วนร่วมในตลาดภูมิภาคและตลาดโลก รวมถึงการบูรณาการในห่วงโซ่อุปทานและห่วงโซ่มูลค่าโลก (2) การบูรณาการประเด็นเพศสภาพ ผ่านการมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ เท่าเทียม และมีความหมายของสตรีในทุกเศรษฐกิจ เช่น ให้ความสำคัญของการลงทุนอย่างเพียงพอในโครงสร้างพื้นฐานด้านการดูแล (เช่น การเข้าถึงบริการสุขภาพ การศึกษาขั้นพื้นฐาน และการจ้างงานที่เป็นธรรม ฯลฯ) (3) การปรับปรุงคุณภาพของการศึกษาและอาชีวศึกษา ผลักดันการจ้างงานและการมีงานที่ดี โดยการสร้างทักษะใหม่และพัฒนาทักษะเดิมให้ดีขึ้น รวมทั้งส่งเสริมโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต การฝึกอบรมเพื่อสร้างแรงงานที่มีทักษะ มีประสิทธิผล และคล่องตัว ซึ่งจะเป็นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการที่ครอบคลุม (4) การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานที่เป็นธรรม โดยส่งเสริมให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามามีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมในการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานในภูมิภาคเอเปค และสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตามความมุ่งมั่นระดับโลกเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์และ/หรือความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในหรือประมาณกลางศตวรรษ และผลักดันเป้าหมายใหม่ๆ สำหรับเอเปคเพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนและพลังงานรูปแบบใหม่
2. ร่างปฏิญญาฯ เป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์ระดับผู้นำที่เน้นย้ำความมุ่งมั่นในเรื่องต่างๆ ได้แก่ การสร้างสภาพแวดล้อมทางการค้าและการลงทุนที่เสรี การเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด การสนับสนุนแรงงาน และการเร่งการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัลเพื่อส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุม
ทั้งนี้ประโยชน์และผลกระทบ การดำเนินการตามร่างถ้อยแถลงร่วมฯ และร่างปฏิญญาฯ จะช่วยส่งเสริมความร่วมมือเพื่อการเติบโตที่เข้มแข็ง ยืดหยุ่น ยั่งยืนและครอบคลุมของเขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปคและของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกในภาพรวมซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการต่างประเทศของไทย รวมทั้งเป็นการสานต่อผลลัพธ์ของการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยเมื่อปี 2565 และสะท้อนบทบาทที่สร้างสรรค์ของไทยในการร่วมมือกับประชาคมระหว่างประเทศเพื่อจัดการกับความท้าทายและส่งเสริมผลประโยชน์ร่วมกัน โดย กต. แจ้งว่า ร่างถ้อยแถลงร่วมฯ และร่างปฏิญญาฯ ไม่มีถ้อยคำหรือบริบทใดที่มุ่งจะก่อให้เกิดพันธกรณีภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ ประกอบกับไม่มีการลงนามในร่างเอกสารทั้ง 2 ฉบับ ดังนั้น ร่างเอกสารทั้ง 2 ฉบับ จึงไม่เป็นสินธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศ และไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 7 พฤศจิกายน 2566
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
11303