WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

สรุปผลการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 43 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง

Gov 15

สรุปผลการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 43 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง

          คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ ดังนี้

          1. รับทราบผลการประชุมสุยอดอาเซียน ครั้งที่ 43 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง (การประชุมสุดยอดอาเซียนฯ)

          2. มอบหมายหน่วยงานรับผิดชอบหลักนำผลการประชุมสุดยอดอาเซียนฯ ไปปฏิบัติและติดตามความคืบหน้าต่อไป โดยให้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

          สาระสำคัญของเรื่อง

          กต. รายงานว่า

          1. การประชุมสุดยอดอาเซียนฯ ซึ่งมีปลัดกระทรวงการต่างประเทศ (นายศรัณย์ เจริญสุวรรณ) ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีให้เป็นผู้แทนเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว โดยมีสาธารณรัฐอินโดนีเซียเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดอาเซียนฯ เมื่อวันที่ 5 - 7 กันยายน 2566 ในหัวข้อหลัก “อาเซียนเป็นศูนย์กลาง: สรรค์สร้างความเจริญ” โดยอินโดนีเซียได้เปิดตัวศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อการควบคุมมลพิษจากหมอกควันข้ามพรมแดนอย่างไม่เป็นทางการในช่วงพิธีเปิดการประชุมสุดยอดอาเซียนฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมของการเป็นประธานอาเซียนของอินโดนีเซียในปีนี้ ทั้งนี้ การประชุมสุดยอดอาเซียนฯ มีหลายประเด็นที่สำคัญ ดังนี้

 

ประเด็น

 

สาระสำคัญ/ผลการประชุมสุดยอดอาเซียนฯ

ภาพรวม

 

(1) การประชุมสุดยอดฯ ครั้งนี้ประกอบด้วยการประชุมระดับผู้นำจำนวน 12 รายการ ได้แก่ การประชุมสุดยอดอาเซียนฯ (แบบเต็มคณะ และแบบไม่เป็นทางการ) กับคู่เจรจา (จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา แคนาดา) และสหประชาชาติ การประชุมสุดยอดอาเซียนบวกสามและการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก โดยมีประธานาธิบดีอินโดนีเซียเป็นประธานการประชุมทั้งหมด

(2) ผู้นำอาเซียนและผู้นำคู่เจรจาได้เดินทางมาเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ยกเว้นเมียนมา ซึ่งได้รับเชิญในระดับที่ไม่ใช่การเมืองจึงไม่ส่งผู้แทนเข้าร่วม

(3) ที่ประชุมได้รับรองเอกสารผลลัพธ์รวม 23 ฉบับ

(4) อินโดนีเซียได้จัดกิจกรรมคู่ขนานเพื่อผลักดันความร่วมมือภายใต้มุมมองอาเซียนต่ออินโด - แปซิฟิก (ASEAN Outlook on the Indo-Pacific: AOIP)1 อย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ ยังมีพิธีลงนามร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างอาเซียนกับสมาคมแห่งภูมิภาคมหาสมุทรและกับองค์กรการประชุมหมู่เกาะแปซิฟิก รวมทั้งพิธีลงนามการภาคยานุวัติสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเซอร์เบีย คูเวต และปานามา

สถานการณ์ในเมียนมา

 

ผู้นำอาเซียนทบทวนและมีข้อตัดสินใจเกี่ยวกับการดำเนินการตามฉันทามติ 5 ข้อ2 เป็นหลักอ้างอิงในการแก้ไขวิกฤตการณ์ในเมียนมา สรุปสาระสำคัญ เช่น

(1) คงข้อตัดสินใจเกี่ยวกับการเชิญผู้แทนเมียนมาที่ไม่ใช่ระดับการเมืองเข้าร่วมการประชุมฯ

(2) เลื่อนให้ฟิลิปปินส์ขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนในปี 2569 แทนเมียนมา โดยหลังจากนั้น ให้ประเทศอื่นๆ ดำรงตำแหน่งต่อจากฟิลิปปินส์ตามลำดับตัวอักษร จนกว่าจะมีข้อตัดสินใจเป็นอื่น ซึ่งจะส่งผลให้วาระการดำรงตำแหน่งของไทยเร็วขึ้น 1 ปี เป็นปี 2571 

(3) ส่งเสริมความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านของเมียนมาในการแก้ไขอาชญากรรมข้ามชาติที่เพิ่มขึ้น เช่น ยาเสพติดและการค้ามนุษย์

การเสริมสร้างประชาคมอาเซียน

 

รับทราบร่างวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน .. 2045 โดยร่างเอกสารดังกล่าวจะเป็นพื้นฐานในการจัดทำแผนงานทั้งหมดในปี 2568 รวมถึงให้ความสำคัญในการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานของอาเซียน ผ่านการเสริมสร้างความเข้มแข็งของกระบวนการตัดสินใจขององค์กรต่างๆ พร้อมทั้งสนับสนุนด้านงบประมาณและทรัพยากรให้กับอาเซียนด้วย

ความร่วมมืออินโด - แปซิฟิก (AOIP)

 

(1) อาเซียนไม่ประสงค์ที่จะให้ภูมิภาคเป็นพื้นที่แห่งความขัดแย้งและการเผชิญหน้า โดยเชิญชวนให้ทุกประเทศร่วมมือภายใต้ AOIP

(2) สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และแคนาดาย้ำว่า อาเซียนคือหัวใจของยุทธศาสตร์อินโด - แปซิฟิก ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ได้มีการรองรับเอกสารเกี่ยวกับความร่วมมือภายใต้ AOIP กับจีน สหรัฐอเมริกา และเกาหลีใต้ด้วย

ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ

 

(1) ความตกลงการค้าเสรี (FTA) การยกระดับ FTA ของอาเซียนให้ทันสมัย รวมทั้งการใช้ประโยชน์และยกระดับ FTA กับคู่เจรจา อาทิ ความตกลงการค้าสินค้าอาเซียน - อินเดีย และความตกลงการค้าเสรีอาเซียน - ออสเตรเลีย - นิวซีแลนด์

(2) ความร่วมมือด้านดิจิทัล จะเริ่มในปี 2567 โดยไทยจะเป็นประธานการเจรจาและอาเซียนจึงได้ผลักดันความร่วมมือในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและไอที พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์และการบ่มเพาะธุรกิจสตาร์ทอัพด้านดิจิทัล

(3) การสร้างเสถียรภาพทางการเงินการคลัง เน้นการเพิ่มประสิทธิภาพของมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคีและการส่งเสริมความร่วมมือทางการเงิน เช่น โครงการริเริ่มตลาดตราสารหนี้เอเชีย การใช้เงินสกุลหลักในภูมิภาคในการทำธุรกรรม การชำระเงินข้ามแดน และการเพิ่มขีดความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน

การเติบโตที่ยั่งยืน

 

เพื่อการส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม เช่น

(1) การพัฒนาระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า อาเซียนและคู่เจรจาแสดงความพร้อมที่จะมีความร่วมมือกับสหรัฐอเมริกา ผ่านข้อริเริ่ม โครงการริเริ่มยานยนต์ไฟฟ้าสหรัฐอเมริกา - อาเซียน และในกรอบอาเซียนบวกสาม ซึ่งผู้นำได้รับรองแถลงการณ์ร่วมกันในประเด็นนี้

(2) ความมั่นคงทางอาหาร เป็นประเด็นที่อินโดนีเซียผลักดันอย่างมาก เนื่องจากทุกประเทศได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ในยูเครน ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ย้ำถึงการขยายบทบาทขององค์กรสำรองข้าวฉุกเฉินของอาเซียนบวกสามให้ครอบคลุมธัญพืชชนิดอื่นนอกเหนือจากข้าวด้วย

(3) การรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อรับมือและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว3 การพัฒนาอุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ และการส่งเสริมพลังงานทดแทน ทั้งนี้ อินเดียแสดงความพร้อมที่จะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการส่งเสริมวิถีชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ความมั่นคงของมนุษย์

 

(1) การพัฒนาทุนมนุษย์ คู่เจรจาพร้อมที่จะส่งเสริมความร่วมมือด้านการศึกษาและการพัฒนาศักยภาพของการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อมและขนาดย่อยในอาเซียน (MSMEs) รวมทั้งผู้ประกอบการสตรี เช่น โครงการทุนการศึกษาอาเซียน - แคนาดา และการแลกเปลี่ยนทางการศึกษาเพื่อการพัฒนาและโครงการเครือข่ายการแลกเปลี่ยนสำหรับนักเรียนและเยาวชนแห่งเอเชียตะวันออกญี่ปุ่น

(2) ความร่วมมือด้านสาธารณสุข ญี่ปุ่นและออสเตรเลียสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์อาเซียนด้านการรับมือกับภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ ซึ่งไทยเป็นที่ตั้งของสำนักเลขาธิการและสำนักงานของศูนย์ฯ ในขณะที่อินเดียเชิญชวนให้อาเซียนใช้ประโยชน์จากศูนย์การแพทย์แผนโบราณระดับโลกที่องค์การอนามัยโลกกำลังจัดตั้งที่อินเดีย

สถานการณ์ระหว่างประเทศ

 

(1) ทะเลจีนใต้ หลายประเทศแสดงความห่วงกังวลต่อการดำเนินมาตรการของจีน ทั้งในกรณีการออกแผนที่มาตรฐานใหม่ของจีนและย้ำถึงการแก้ไขข้อพิพาทโดยสันติวิธีและสนับสนุนการเร่งรัดการเจรจาจัดทำประมวลการปฏิบัติในทะเลจีนใต้ที่มีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ รวมถึงอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล

(2) คาบสมุทรเกาหลี ประเทศตะวันตกประณามการทดสอบขีปนาวุธของเกาหลีเหนือและเรียกร้องให้เกาหลีเหนือกลับสู่กระบวนการเจรจา เพื่อทำให้คาบสมุทรเกาหลีปราศจากอาวุธนิวเคลียร์ ในขณะที่ญี่ปุ่นเน้นย้ำความสำคัญของการแก้ไขปัญหาการลักพาตัว

(3) สถานการณ์ในยูเครน สหรัฐอเมริกาและประเทศตะวันตกประณามการรุกรานยูเครนของรัสเซียซึ่งส่งผลให้เกิดวิกฤตอาหารและพลังงานโลก และเรียกร้องให้รัสเซียถอนทหารจากยูเครน รวมทั้งแสดงความห่วงกังวลต่อการข่มขู่ที่จะใช้อาวุธนิวเคลียร์ โดยรัสเซียตอบโต้ว่า การแทรกแซงทางทหารของสหรัฐอเมริกาจะนำไปสู่การขยายตัวของกลุ่มก่อการร้าย เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในภูมิภาคแอฟริกาเหนือและตะวันออกกลาง

เรื่องอื่นๆ

 

(1) ไทยได้ขอรับการสนับสนุนจากประเทศสมาชิกอาเซียนต่อการสมัครสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ วาระปี .. 2025 - 2027 ในฐานะผู้สมัครอาเซียน

(2) ลาวจะทำหน้าที่เป็นประธานอาเซียนปี 2567 ภายใต้หัวข้อหลัก (Theme) “ASEAN: Echancing Connectivity and Resilience” โดยจะเริ่มปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567

ประโยชน์และผลกระทบ

 

(1) ไทยได้ย้ำถึงประเด็นสำคัญที่อาเซียนควรเร่งขับเคลื่อนเพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนในภูมิภาค อาทิ การส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพที่เอื้อต่อการค้าการลงทุน การเร่งปรับปรุง FTA ต่างๆ ให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน การส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล การดูแลและยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนและวาระความยั่งยืนและการเติบโตสีเขียว

(2) ไทยจะได้รับประโยชน์จากความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับคู่เจรจาในสาขาต่างๆ เช่น การค้าและการลงทุน การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การศึกษา เป็นต้น โดยการประชุมครั้งนี้คู่เจรจาของอาเซียนได้ประกาศให้การสนับสนุนทั้งด้านงบประมาณและทุนการศึกษาแก่ประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งประชาชนชาวไทยจะได้รับประโยชน์โดยตรง

 

          2. กต. พิจารณาแล้วเห็นว่า ผลการประชุมสุดยอดอาเซียนฯ มีประเด็นสำคัญที่เกี่ยวกับส่วนราชการต่างๆ เช่น

 

ประเด็น

 

การดำเนินการที่สำคัญ

 

หน่วยงาน

ที่รับผิดชอบหลัก

การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 43 (แบบเต็มคณะและแบบไม่เป็นทางการ)

ภาพรวม

 

ประชุมรับรองเอกสารผลลัพธ์การประชุม 11 ฉบับ เช่น

(1) ปฏิญญาจาการ์ตาอาเซียนเป็นศูนย์กลาง: สรรค์สร้างความเจริญ

(2) แถลงการณ์ผู้นำว่าด้วยการจัดทำกรอบความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน

(3) กรอบความร่วมมือด้านเศรษฐกิจภาคทะเล

(4) ปฏิญญาผู้นำอาเซียนว่าด้วยการเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการในการตอบสนองต่อภาวะวิกฤต

(5) ปฏิญญาผู้นำอาเซียนว่าด้วยการเป็นภูมิภาคที่มีภูมิคุ้มกันอย่างยั่งยืน

 

กต. พณ.

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

กษ. กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ทส. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

เศรษฐกิจ

 

เร่งรัดให้อาเซียนยกระดับความตกลงการค้าเสรี (FTA) ของอาเซียนให้ทันสมัย โดยเฉพาะความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ASEAN Trade in Goods Agreement) รวมทั้งการยกระดับ FTA กับคู่เจรจาของอาเซียน

 

พณ.

การประชุมสุดยอดอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ 26

ภาพรวม

 

ที่ประชุมรับรองเอกสารผลลัพธ์การประชุม 1 ฉบับ ได้แก่ แถลงการณ์ผู้นำอาเซียนบวกสามว่าด้วยการพัฒนาระบบนิเวศของยานยนต์ไฟฟ้า

 

พณ. กระทรวงคมนาคม (คค.)

กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.)

เศรษฐกิจ

 

เกาหลีใต้ประกาศเพิ่มการอุดหนุนในองค์กรสำรองข้าวฉุกเฉินของอาเซียนบวกสาม (APT Emergency Rice Reserve: APTERR) เป็นสองเท่า และจะบริจาคข้าวเพิ่มเติมอีก 4,500 ตันภายในปี 2566

 

กษ.

 

จีนเสนอจัดเกี่ยวกับห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมและการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทานในภาคอุตสาหกรรมและดิจิทัล

 

พณ. อก. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.)

การประชุมสุดยอดอาเซียน - สหรัฐอเมริกา ครั้งที่ 11

ภาพรวม

 

ที่ประชุมรับรองเอกสารผลลัพธ์การประชุม 1 ฉบับ ได้แก่ แถลงการณ์ผู้นำอาเซียน - สหรัฐอเมริกา ว่าด้วยความร่วมมือต่อมุมมองอาเซียนต่ออินโด - แปซิฟิก

 

กต.

 

สหรัฐอเมริกาเชิญชวนให้อาเซียนใช้ประโยชน์จากข้อริเริ่มในสาขาต่างๆ มูลค่า 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เช่น

(1) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การพัฒนาที่ยั่งยืน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจ

(2) การศึกษา อาทิ การเพิ่มเงินทุนเพื่อสนับสนุนโครงการ

(3) ความร่วมมือทางทะเล

(4) สาธารณสุข

 

คค. ดศ. กษ. สธ.

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) 

กระทรวงศึกษาธิการ

กระทรวงกลาโหม. (กห.)

ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.)

การประชุมสุดยอดอาเซียน - จีน ครั้งที่ 26

ภาพรวม

 

ได้มีการรับรองเอกสารผลลัพธ์การประชุม 2 ฉบับ ได้แก่

(1) แถลงการณ์ร่วมว่าด้วยความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมกันระหว่างข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทางกับมุมมองอาเซียนต่ออินโด - แปซิฟิก

(2) แถลงการณ์ร่วมอาเซียน - จีน ว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือด้านเกษตรกรรม

 

กต. กษ.

การเมือง

และความมั่นคง

 

ยินดีต่อการแสดงความพร้อมของจีนที่จะลงนามในพิธีสารแนบท้ายสนธิสัญญาว่าด้วยเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยไม่มีข้อสงวน

 

กต.

 

สนับสนุนการเร่งรัดการเจรจาจัดทำประมวลการปฏิบัติในทะเลจีนใต้ที่มีประสิทธิภาพมีเนื้อหาที่ครอบคลุม และสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ

 

 

เศรษฐกิจ

 

สนับสนุนการยกระดับความตกลงการค้าเสรีอาเซียน - จีน และการใช้ประโยชน์ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ จีนขอรับการสนับสนุนการเข้าเป็นภาคี RCEP ของฮ่องกง

 

พณ.

 

จีนประกาศจะจัดสรรงบประมาณอย่างน้อย 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2568 เพื่อสนับสนุนการดำเนินการตามความคิดริเริ่มร่วมเพื่อพัฒนาโครงการเสริมสร้างวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมจีน - อาเซียน (Joint Initiative on Advancing the China - ASEAN Science, Technology and Innovation Enhancing Program)

 

อว.

 

_______________________

1 AOIP ประกอบด้วย (1) ความร่วมมือทางทะเล (2) การเชื่อมโยง (3) เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ 2573 และ (4) ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจต่างๆ

2 ฉันทามติ 5 ข้อ ประกอบด้วย (1) ทุกฝ่ายหยุดความรุนแรง (2) ทุกฝ่ายเจรจาอย่างสันติ (3) ให้มีทูตพิเศษเพื่อให้เกิดกระบวนการเจรจา (4) อาเซียนช่วยเหลือด้านมนุษยชน และ (5) ทูตพิเศษเข้าไปในเมียนมาเพื่อพูดคุยกับทุกฝ่าย

3 โครงสร้างพื้นฐานสีเขียว คือ ผสมผสานเชื่อมต่อกันระหว่างพื้นที่ว่างสวนสาธารณะ ต้นไม้บนถนน พื้นที่ชุ่มน้ำ ทะเลสาบ บึงน้ำ ลำคลอง และพื้นที่สีเขียวอื่นๆ สามารถเป็นแหล่งอาหาร และพื้นที่สร้างรายได้ให้กับชุมชนได้

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 7 พฤศจิกายน 2566

สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396

 

 

11302

Click Donate Support Web 

Banner GPF720x100 PX

CKPower 720x100

MTL 720x100

kasat 720x100TOA 720x100

kbank 720x100 66

QIC 720x100

วิริยะ 720x100

AXA 720 x100

aia 720 x100

BKI 720 x 100

PTG 720x100

ais 720x100

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!