สรุปผลการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 43 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 08 November 2023 13:58
- Hits: 2162
สรุปผลการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 43 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ ดังนี้
1. รับทราบผลการประชุมสุยอดอาเซียน ครั้งที่ 43 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง (การประชุมสุดยอดอาเซียนฯ)
2. มอบหมายหน่วยงานรับผิดชอบหลักนำผลการประชุมสุดยอดอาเซียนฯ ไปปฏิบัติและติดตามความคืบหน้าต่อไป โดยให้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
สาระสำคัญของเรื่อง
กต. รายงานว่า
1. การประชุมสุดยอดอาเซียนฯ ซึ่งมีปลัดกระทรวงการต่างประเทศ (นายศรัณย์ เจริญสุวรรณ) ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีให้เป็นผู้แทนเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว โดยมีสาธารณรัฐอินโดนีเซียเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดอาเซียนฯ เมื่อวันที่ 5 - 7 กันยายน 2566 ในหัวข้อหลัก “อาเซียนเป็นศูนย์กลาง: สรรค์สร้างความเจริญ” โดยอินโดนีเซียได้เปิดตัวศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อการควบคุมมลพิษจากหมอกควันข้ามพรมแดนอย่างไม่เป็นทางการในช่วงพิธีเปิดการประชุมสุดยอดอาเซียนฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมของการเป็นประธานอาเซียนของอินโดนีเซียในปีนี้ ทั้งนี้ การประชุมสุดยอดอาเซียนฯ มีหลายประเด็นที่สำคัญ ดังนี้
ประเด็น |
สาระสำคัญ/ผลการประชุมสุดยอดอาเซียนฯ |
|
ภาพรวม |
(1) การประชุมสุดยอดฯ ครั้งนี้ประกอบด้วยการประชุมระดับผู้นำจำนวน 12 รายการ ได้แก่ การประชุมสุดยอดอาเซียนฯ (แบบเต็มคณะ และแบบไม่เป็นทางการ) กับคู่เจรจา (จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา แคนาดา) และสหประชาชาติ การประชุมสุดยอดอาเซียนบวกสามและการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก โดยมีประธานาธิบดีอินโดนีเซียเป็นประธานการประชุมทั้งหมด (2) ผู้นำอาเซียนและผู้นำคู่เจรจาได้เดินทางมาเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ยกเว้นเมียนมา ซึ่งได้รับเชิญในระดับที่ไม่ใช่การเมืองจึงไม่ส่งผู้แทนเข้าร่วม (3) ที่ประชุมได้รับรองเอกสารผลลัพธ์รวม 23 ฉบับ (4) อินโดนีเซียได้จัดกิจกรรมคู่ขนานเพื่อผลักดันความร่วมมือภายใต้มุมมองอาเซียนต่ออินโด - แปซิฟิก (ASEAN Outlook on the Indo-Pacific: AOIP)1 อย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ ยังมีพิธีลงนามร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างอาเซียนกับสมาคมแห่งภูมิภาคมหาสมุทรและกับองค์กรการประชุมหมู่เกาะแปซิฟิก รวมทั้งพิธีลงนามการภาคยานุวัติสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเซอร์เบีย คูเวต และปานามา |
|
สถานการณ์ในเมียนมา |
ผู้นำอาเซียนทบทวนและมีข้อตัดสินใจเกี่ยวกับการดำเนินการตามฉันทามติ 5 ข้อ2 เป็นหลักอ้างอิงในการแก้ไขวิกฤตการณ์ในเมียนมา สรุปสาระสำคัญ เช่น (1) คงข้อตัดสินใจเกี่ยวกับการเชิญผู้แทนเมียนมาที่ไม่ใช่ระดับการเมืองเข้าร่วมการประชุมฯ (2) เลื่อนให้ฟิลิปปินส์ขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนในปี 2569 แทนเมียนมา โดยหลังจากนั้น ให้ประเทศอื่นๆ ดำรงตำแหน่งต่อจากฟิลิปปินส์ตามลำดับตัวอักษร จนกว่าจะมีข้อตัดสินใจเป็นอื่น ซึ่งจะส่งผลให้วาระการดำรงตำแหน่งของไทยเร็วขึ้น 1 ปี เป็นปี 2571 (3) ส่งเสริมความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านของเมียนมาในการแก้ไขอาชญากรรมข้ามชาติที่เพิ่มขึ้น เช่น ยาเสพติดและการค้ามนุษย์ |
|
การเสริมสร้างประชาคมอาเซียน |
รับทราบร่างวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ. 2045 โดยร่างเอกสารดังกล่าวจะเป็นพื้นฐานในการจัดทำแผนงานทั้งหมดในปี 2568 รวมถึงให้ความสำคัญในการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานของอาเซียน ผ่านการเสริมสร้างความเข้มแข็งของกระบวนการตัดสินใจขององค์กรต่างๆ พร้อมทั้งสนับสนุนด้านงบประมาณและทรัพยากรให้กับอาเซียนด้วย |
|
ความร่วมมืออินโด - แปซิฟิก (AOIP) |
(1) อาเซียนไม่ประสงค์ที่จะให้ภูมิภาคเป็นพื้นที่แห่งความขัดแย้งและการเผชิญหน้า โดยเชิญชวนให้ทุกประเทศร่วมมือภายใต้ AOIP (2) สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และแคนาดาย้ำว่า อาเซียนคือหัวใจของยุทธศาสตร์อินโด - แปซิฟิก ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ได้มีการรองรับเอกสารเกี่ยวกับความร่วมมือภายใต้ AOIP กับจีน สหรัฐอเมริกา และเกาหลีใต้ด้วย |
|
ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ |
(1) ความตกลงการค้าเสรี (FTA) การยกระดับ FTA ของอาเซียนให้ทันสมัย รวมทั้งการใช้ประโยชน์และยกระดับ FTA กับคู่เจรจา อาทิ ความตกลงการค้าสินค้าอาเซียน - อินเดีย และความตกลงการค้าเสรีอาเซียน - ออสเตรเลีย - นิวซีแลนด์ (2) ความร่วมมือด้านดิจิทัล จะเริ่มในปี 2567 โดยไทยจะเป็นประธานการเจรจาและอาเซียนจึงได้ผลักดันความร่วมมือในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและไอที พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์และการบ่มเพาะธุรกิจสตาร์ทอัพด้านดิจิทัล (3) การสร้างเสถียรภาพทางการเงินการคลัง เน้นการเพิ่มประสิทธิภาพของมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคีและการส่งเสริมความร่วมมือทางการเงิน เช่น โครงการริเริ่มตลาดตราสารหนี้เอเชีย การใช้เงินสกุลหลักในภูมิภาคในการทำธุรกรรม การชำระเงินข้ามแดน และการเพิ่มขีดความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน |
|
การเติบโตที่ยั่งยืน |
เพื่อการส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม เช่น (1) การพัฒนาระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า อาเซียนและคู่เจรจาแสดงความพร้อมที่จะมีความร่วมมือกับสหรัฐอเมริกา ผ่านข้อริเริ่ม โครงการริเริ่มยานยนต์ไฟฟ้าสหรัฐอเมริกา - อาเซียน และในกรอบอาเซียนบวกสาม ซึ่งผู้นำได้รับรองแถลงการณ์ร่วมกันในประเด็นนี้ (2) ความมั่นคงทางอาหาร เป็นประเด็นที่อินโดนีเซียผลักดันอย่างมาก เนื่องจากทุกประเทศได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ในยูเครน ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ย้ำถึงการขยายบทบาทขององค์กรสำรองข้าวฉุกเฉินของอาเซียนบวกสามให้ครอบคลุมธัญพืชชนิดอื่นนอกเหนือจากข้าวด้วย (3) การรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อรับมือและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว3 การพัฒนาอุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ และการส่งเสริมพลังงานทดแทน ทั้งนี้ อินเดียแสดงความพร้อมที่จะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการส่งเสริมวิถีชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม |
|
ความมั่นคงของมนุษย์ |
(1) การพัฒนาทุนมนุษย์ คู่เจรจาพร้อมที่จะส่งเสริมความร่วมมือด้านการศึกษาและการพัฒนาศักยภาพของการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อมและขนาดย่อยในอาเซียน (MSMEs) รวมทั้งผู้ประกอบการสตรี เช่น โครงการทุนการศึกษาอาเซียน - แคนาดา และการแลกเปลี่ยนทางการศึกษาเพื่อการพัฒนาและโครงการเครือข่ายการแลกเปลี่ยนสำหรับนักเรียนและเยาวชนแห่งเอเชียตะวันออกญี่ปุ่น (2) ความร่วมมือด้านสาธารณสุข ญี่ปุ่นและออสเตรเลียสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์อาเซียนด้านการรับมือกับภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ ซึ่งไทยเป็นที่ตั้งของสำนักเลขาธิการและสำนักงานของศูนย์ฯ ในขณะที่อินเดียเชิญชวนให้อาเซียนใช้ประโยชน์จากศูนย์การแพทย์แผนโบราณระดับโลกที่องค์การอนามัยโลกกำลังจัดตั้งที่อินเดีย |
|
สถานการณ์ระหว่างประเทศ |
(1) ทะเลจีนใต้ หลายประเทศแสดงความห่วงกังวลต่อการดำเนินมาตรการของจีน ทั้งในกรณีการออกแผนที่มาตรฐานใหม่ของจีนและย้ำถึงการแก้ไขข้อพิพาทโดยสันติวิธีและสนับสนุนการเร่งรัดการเจรจาจัดทำประมวลการปฏิบัติในทะเลจีนใต้ที่มีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ รวมถึงอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (2) คาบสมุทรเกาหลี ประเทศตะวันตกประณามการทดสอบขีปนาวุธของเกาหลีเหนือและเรียกร้องให้เกาหลีเหนือกลับสู่กระบวนการเจรจา เพื่อทำให้คาบสมุทรเกาหลีปราศจากอาวุธนิวเคลียร์ ในขณะที่ญี่ปุ่นเน้นย้ำความสำคัญของการแก้ไขปัญหาการลักพาตัว (3) สถานการณ์ในยูเครน สหรัฐอเมริกาและประเทศตะวันตกประณามการรุกรานยูเครนของรัสเซียซึ่งส่งผลให้เกิดวิกฤตอาหารและพลังงานโลก และเรียกร้องให้รัสเซียถอนทหารจากยูเครน รวมทั้งแสดงความห่วงกังวลต่อการข่มขู่ที่จะใช้อาวุธนิวเคลียร์ โดยรัสเซียตอบโต้ว่า การแทรกแซงทางทหารของสหรัฐอเมริกาจะนำไปสู่การขยายตัวของกลุ่มก่อการร้าย เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในภูมิภาคแอฟริกาเหนือและตะวันออกกลาง |
|
เรื่องอื่นๆ |
(1) ไทยได้ขอรับการสนับสนุนจากประเทศสมาชิกอาเซียนต่อการสมัครสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ วาระปี ค.ศ. 2025 - 2027 ในฐานะผู้สมัครอาเซียน (2) ลาวจะทำหน้าที่เป็นประธานอาเซียนปี 2567 ภายใต้หัวข้อหลัก (Theme) “ASEAN: Echancing Connectivity and Resilience” โดยจะเริ่มปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 |
|
ประโยชน์และผลกระทบ |
(1) ไทยได้ย้ำถึงประเด็นสำคัญที่อาเซียนควรเร่งขับเคลื่อนเพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนในภูมิภาค อาทิ การส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพที่เอื้อต่อการค้าการลงทุน การเร่งปรับปรุง FTA ต่างๆ ให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน การส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล การดูแลและยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนและวาระความยั่งยืนและการเติบโตสีเขียว (2) ไทยจะได้รับประโยชน์จากความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับคู่เจรจาในสาขาต่างๆ เช่น การค้าและการลงทุน การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การศึกษา เป็นต้น โดยการประชุมครั้งนี้คู่เจรจาของอาเซียนได้ประกาศให้การสนับสนุนทั้งด้านงบประมาณและทุนการศึกษาแก่ประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งประชาชนชาวไทยจะได้รับประโยชน์โดยตรง |
2. กต. พิจารณาแล้วเห็นว่า ผลการประชุมสุดยอดอาเซียนฯ มีประเด็นสำคัญที่เกี่ยวกับส่วนราชการต่างๆ เช่น
ประเด็น |
การดำเนินการที่สำคัญ |
หน่วยงาน ที่รับผิดชอบหลัก |
||
การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 43 (แบบเต็มคณะและแบบไม่เป็นทางการ) |
||||
ภาพรวม |
ประชุมรับรองเอกสารผลลัพธ์การประชุม 11 ฉบับ เช่น (1) ปฏิญญาจาการ์ตา “อาเซียนเป็นศูนย์กลาง: สรรค์สร้างความเจริญ” (2) แถลงการณ์ผู้นำว่าด้วยการจัดทำกรอบความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน (3) กรอบความร่วมมือด้านเศรษฐกิจภาคทะเล (4) ปฏิญญาผู้นำอาเซียนว่าด้วยการเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการในการตอบสนองต่อภาวะวิกฤต (5) ปฏิญญาผู้นำอาเซียนว่าด้วยการเป็นภูมิภาคที่มีภูมิคุ้มกันอย่างยั่งยืน |
กต. พณ. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กษ. กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ทส. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย |
||
เศรษฐกิจ |
เร่งรัดให้อาเซียนยกระดับความตกลงการค้าเสรี (FTA) ของอาเซียนให้ทันสมัย โดยเฉพาะความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ASEAN Trade in Goods Agreement) รวมทั้งการยกระดับ FTA กับคู่เจรจาของอาเซียน |
พณ. |
||
การประชุมสุดยอดอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ 26 |
||||
ภาพรวม |
ที่ประชุมรับรองเอกสารผลลัพธ์การประชุม 1 ฉบับ ได้แก่ แถลงการณ์ผู้นำอาเซียนบวกสามว่าด้วยการพัฒนาระบบนิเวศของยานยนต์ไฟฟ้า |
พณ. กระทรวงคมนาคม (คค.) กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) |
||
เศรษฐกิจ |
เกาหลีใต้ประกาศเพิ่มการอุดหนุนในองค์กรสำรองข้าวฉุกเฉินของอาเซียนบวกสาม (APT Emergency Rice Reserve: APTERR) เป็นสองเท่า และจะบริจาคข้าวเพิ่มเติมอีก 4,500 ตันภายในปี 2566 |
กษ. |
||
จีนเสนอจัดเกี่ยวกับห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมและการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทานในภาคอุตสาหกรรมและดิจิทัล |
พณ. อก. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) |
|||
การประชุมสุดยอดอาเซียน - สหรัฐอเมริกา ครั้งที่ 11 |
||||
ภาพรวม |
ที่ประชุมรับรองเอกสารผลลัพธ์การประชุม 1 ฉบับ ได้แก่ แถลงการณ์ผู้นำอาเซียน - สหรัฐอเมริกา ว่าด้วยความร่วมมือต่อมุมมองอาเซียนต่ออินโด - แปซิฟิก |
กต. |
||
สหรัฐอเมริกาเชิญชวนให้อาเซียนใช้ประโยชน์จากข้อริเริ่มในสาขาต่างๆ มูลค่า 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เช่น (1) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การพัฒนาที่ยั่งยืน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจ (2) การศึกษา อาทิ การเพิ่มเงินทุนเพื่อสนับสนุนโครงการ (3) ความร่วมมือทางทะเล (4) สาธารณสุข |
คค. ดศ. กษ. สธ. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงกลาโหม. (กห.) ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) |
|||
การประชุมสุดยอดอาเซียน - จีน ครั้งที่ 26 |
||||
ภาพรวม |
ได้มีการรับรองเอกสารผลลัพธ์การประชุม 2 ฉบับ ได้แก่ (1) แถลงการณ์ร่วมว่าด้วยความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมกันระหว่างข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทางกับมุมมองอาเซียนต่ออินโด - แปซิฟิก (2) แถลงการณ์ร่วมอาเซียน - จีน ว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือด้านเกษตรกรรม |
กต. กษ. |
||
การเมือง และความมั่นคง |
ยินดีต่อการแสดงความพร้อมของจีนที่จะลงนามในพิธีสารแนบท้ายสนธิสัญญาว่าด้วยเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยไม่มีข้อสงวน |
กต. |
||
สนับสนุนการเร่งรัดการเจรจาจัดทำประมวลการปฏิบัติในทะเลจีนใต้ที่มีประสิทธิภาพมีเนื้อหาที่ครอบคลุม และสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ |
|
|||
เศรษฐกิจ |
สนับสนุนการยกระดับความตกลงการค้าเสรีอาเซียน - จีน และการใช้ประโยชน์ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ จีนขอรับการสนับสนุนการเข้าเป็นภาคี RCEP ของฮ่องกง |
พณ. |
||
จีนประกาศจะจัดสรรงบประมาณอย่างน้อย 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2568 เพื่อสนับสนุนการดำเนินการตามความคิดริเริ่มร่วมเพื่อพัฒนาโครงการเสริมสร้างวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมจีน - อาเซียน (Joint Initiative on Advancing the China - ASEAN Science, Technology and Innovation Enhancing Program) |
อว. |
_______________________
1 AOIP ประกอบด้วย (1) ความร่วมมือทางทะเล (2) การเชื่อมโยง (3) เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ 2573 และ (4) ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจต่างๆ
2 ฉันทามติ 5 ข้อ ประกอบด้วย (1) ทุกฝ่ายหยุดความรุนแรง (2) ทุกฝ่ายเจรจาอย่างสันติ (3) ให้มีทูตพิเศษเพื่อให้เกิดกระบวนการเจรจา (4) อาเซียนช่วยเหลือด้านมนุษยชน และ (5) ทูตพิเศษเข้าไปในเมียนมาเพื่อพูดคุยกับทุกฝ่าย
3 โครงสร้างพื้นฐานสีเขียว คือ ผสมผสานเชื่อมต่อกันระหว่างพื้นที่ว่างสวนสาธารณะ ต้นไม้บนถนน พื้นที่ชุ่มน้ำ ทะเลสาบ บึงน้ำ ลำคลอง และพื้นที่สีเขียวอื่นๆ สามารถเป็นแหล่งอาหาร และพื้นที่สร้างรายได้ให้กับชุมชนได้
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 7 พฤศจิกายน 2566
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
11302