ผลการประชุมคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Council) ครั้งที่ 23
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 08 November 2023 13:29
- Hits: 1892
ผลการประชุมคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Council) ครั้งที่ 23
คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community Council : AEC Council) ครั้งที่ 23 ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ
สาระสำคัญ
1. อินโดนีเซียเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม AEC Council ครั้งที่ 23 (การประชุม ฯ) เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2566 ณ กรุงจาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย โดยในส่วนของไทยมีรองปลัดกระทรวงพาณิชย์ (นายเอกฉัตร ศีตวรรัตย์) เข้าร่วมการประชุมดังกล่าวแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งผลการประชุมฯ เป็นผลลัพธ์สำคัญในการดำเนินงานของเสาประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่เสนอต่อที่ประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit) ครั้งที่ 43 มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
ประเด็น |
สาระสำคัญ |
|
การผลักดันประเด็นสำคัญด้านเศรษฐกิจของอินโดนีเซียในฐานะประธานอาเซียนให้บรรลุผลในปี 2566 |
สามารถดำเนินการผลักดันเสร็จสมบูรณ์ จำนวน 11 ประเด็น เช่น (1) การจัดทำกรอบการดำเนินงานด้านการอำนวยความสะดวกด้านบริการอาเซียน (2) การส่งเสริมการฟื้นตัวและรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงินและความยืดหยุ่น (3) การจัดตั้งหน่วยสนับสนุนความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ในสำนักเลขาธิการอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย |
|
การเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลของอาเซียน |
ให้ความสำคัญเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัลในการขับเคลื่อนอาเซียนไปสู่กลุ่มประเทศดิจิทัลชั้นนำ โดยประกาศเริ่มต้นการเจรจาจัดทำความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียน (ASEAN Digital Economy Framework Agreement: DEFA) และตั้งเป้าหมายการเจรจาให้แล้วเสร็จภายในปี 2568 |
|
การพัฒนาด้านความยั่งยืนของอาเซียน |
รายงานความคืบหน้าการดำเนินการต่างๆ เช่น (1) แผนปฏิบัติการตามกรอบเศรษฐกิจหมุนเวียนของอาเซียนที่จะนำแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้กับ 3 สาขานำร่อง ได้แก่ ภาคเกษตร พลังงาน และขนส่ง (2) ยุทธศาสตร์อาเซียนเพื่อความเป็นกลางทางคาร์บอนที่เน้นอุตสาหกรรมเป้าหมายการลดการปล่อยคาร์บอน 5 อุตสาหกรรม ได้แก่ ภาคพลังงาน (รวมภาคการขนส่ง) ภาคกระบวนการอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ ภาคการเกษตร ภาคป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดินและภาคการจัดการของเสีย (3) แผนงานการลงทุนที่ยั่งยืนของอาเซียน (แผนงานฯ) ซึ่งจะเป็นแนวทางช่วยกำหนดยุทธศาสตร์ที่ส่งเสริมการลงทุนสีเขียว การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบ และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างอาเซียนในการใช้ประโยชน์จากการลงทุนที่ยั่งยืน โดยตั้งเป้าสรุปเอกสารแผนงานฯ ในปี 2567 |
|
การจัดทำวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนหลังปี ค.ศ. 2025 |
รับทราบแผนการดำเนินการในระยะต่อไปก่อนจะเสนอวิสัยทัศน์ฯ ให้ผู้นำรับรองในปี 2568 |
ทั้งนี้ พณ. ได้จัดทำตารางติดตามผลการประชุม AEC Council ครั้งที่ 23 โดยมีสาระสำคัญเป็นการสรุปประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับมติที่ประชุมในแต่ละเวทีเพื่อใช้ติดตามผลการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย
2. ในการประชุมฯ ได้มีการพิจารณารับรองและเห็นชอบเอกสารจำนวน 8 ฉบับ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบไว้เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2566 [เรื่อง การร่วมรับรองและให้ความเห็นชอบเอกสารผลลัพธ์ด้านเศรษฐกิจสำหรับการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (AEM) การประชุม AEC Council การประชุม ASEAN Summit และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ของ พณ.] และวันที่ 23 สิงหาคม 2566 (เรื่อง การขอความเห็นซอบต่อร่างเอกสารผลลัพธ์ของการประชุม ASEAN Summit ครั้งที่ 43 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง ของกระทรวงการต่างประเทศ และเรื่อง ร่างเอกสารผลลัพธ์สำหรับการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 41 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง ของกระทรวงพลังงาน) ได้แก่
(1) ยุทธศาสตร์อาเซียนเพื่อความเป็นกลางทางคาร์บอน (Development of ASEAN Strategy for Carbon Neutrality)
(2) ปฏิญญารัฐมนตรีว่าด้วยกรอบการดำเนินงานสำหรับโครงการพื้นฐานด้านอุตสาหกรรม (Ministerial Declaration on the Framework for ASEAN Industrial Projects Based Initiative: AIPBI)
(3) ปฏิญญาผู้นำอาเซียนว่าด้วยการเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการในการตอบสนองต่อภาวะวิกฤต (ASEAN Leaders' Declaration on Strengthening Food Security and Nutrition in Response to Crises)
(4) กรอบความร่วมมือด้านเศรษฐกิจภาคทะเลของอาเซียน(ASEAN Blue Economy Framework)
(5) แถลงการณ์ผู้นำว่าด้วยการจัดทำกรอบความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน (Leaders’ Statement on the DEFA)
(6) กรอบสำหรับการเจรจากรอบความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน (Framework for Negotiating the ASEAN DEFA)
(7) รายงานการศึกษากรอบความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน (Study on the ASEAN DEFA)
(8) ถ้อยแถลงร่วมของการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 41 ว่าด้วยความมั่นคงทางพลังงานที่ยั่งยืนผ่านการเชื่อมโยงระหว่างกัน (Joint Declaration of the 41st AMEM on Sustainable Energy Security through Interconnectivity)
3. พณ. แจ้งว่า ปัจจุบันอาเซียนให้ความสำคัญกับประเด็นเศรษฐกิจดิจิทัล โดยได้เริ่มการเจรจาจัดทำความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียน ซึ่งจะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมทางการค้าภายในอาเซียนให้เอื้อกับการค้ายุคใหม่ที่ปรับเปลี่ยนไปสู่รูปแบบดิจิทัลมากยิ่งขึ้น เช่น การอำนวยความสะดวกในการค้าข้ามพรมแดนทางดิจิทัล พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การชำระเงิน และความปลอดภัยทางไซเบอร์ เป็นต้น และสนับสนุนการค้าสินค้าภายในอาเซียนให้เติบโตและขยายตัวเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการดึงดูดการค้าและการลงทุนทั้งภายในและจากภายนอกภูมิภาค และนำไปสู่การเป็นตลาดเดียวอย่างไร้รอยต่อในอนาคตซึ่งภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะต้องเตรียมพร้อมรองรับและปรับตัวในเชิงรุก ทั้งการปรับปรุงกฎระเบียบของภาครัฐ การเสริมสร้างทักษะ (upskill) และเปลี่ยนทักษะ (reskill) ที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัลในภาคเอกชนและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน และเป็นการสร้างโอกาสในการเป็นห่วงโซ่อุปทานด้านดิจิทัลในอาเซียนต่อไป
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 7 พฤศจิกายน 2566
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
11300