ขอความเห็นชอบร่างเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน ครั้งที่ 29 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 08 November 2023 13:15
- Hits: 1888
ขอความเห็นชอบร่างเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน ครั้งที่ 29 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างเอกสารในข้อ 2 และ 3 จำนวน 18 ฉบับ โดยหากมีความจำเป็นต้องแก้ไขร่างเอกสารที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ขอให้กระทรวงคมนาคมดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก รวมทั้งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายร่วมรับรองร่างเอกสารในข้อ 2 และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายร่วมรับรองร่างเอกสารในข้อ 2.13 พร้อมทั้งอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมหรือผู้ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมมอบหมายเป็นผู้ลงนามร่างเอกสารในข้อ 3 และให้กระทรวงการต่างประเทศออกหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้แก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมหรือผู้ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมมอบหมาย สำหรับการลงนามร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงอาเซียนตามที่กระทรวงคมนาคม (กค.) เสนอ
สาระสำคัญของร่างเอกสาร
1. กระทรวงคมนาคมข้อเสนอร่างผลลัพธ์การประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน ครั้งที่ 29 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ต่อคณะรัฐมนตรี รวม 18 ฉบับ โดยแบ่งเป็นเอกสารที่รัฐมนตรีขนส่งอาเซียนจะร่วมกันรับรอง (adopt) จำนวน 17 ฉบับ และเอกสารที่รัฐมนตรีขนส่งอาเซียนจะลงนาม จำนวน 1 ฉบับ
2. สาระสำคัญของร่างเอกสารที่จะรับรอง จำนวน 17 ฉบับ ได้แก่
2.1 ร่างแนวทางสำหรับท่าเรืออัจฉริยะ (The Guidelines on Smart Ports) เป็นการกำหนดแนวทางการประเมินท่าเรือโดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ การกำหนดตัวชี้วัดประสิทธิภาพท่าเรืออัจฉริยะ และดัชนีความพร้อมด้านดิจิทัลและนวัตกรรมของท่าเรือ เพื่อนำไปเป็นแนวทางการพัฒนาท่าเรืออัจฉริยะในอนาคต โดยการจัดทำร่างแนวทางนี้ได้รับการสนับสนุนด้านเทคนิคผ่านความร่วมมือด้านการขนส่งระหว่างอาเซียน-ญี่ปุ่น
2.2 ร่างข้อเสนอแนะเรื่อง การอำนวยความสะดวกการผลัดเปลี่ยนและส่งลูกเรือกลับสู่ภูมิลำเนา (Recommendations to Ensure Continuity of Port Terminal Operations during Crisis and Recommendations on Measures Pertaining to Issues on Crew Change and Repatriation during Crisis) เป็นการรวบรวมแนวทางปฏิบัติของประเทศสมาชิกอาเซียน ในการรับมือกับปัญหาและอุปสรรคด้านการเปลี่ยนถ่ายคนประจำเรือ และการรักษาความต่อเนื่องของธุรกิจท่าเรือเมื่อเกิดกรณีฉุกเฉินที่ไม่คาดคิด อาทิ การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งสอดคล้องกับเอกสารแนวทางการฟื้นตัวอย่างครอบคลุมของอาเซียน ซึ่งที่ประสุดยอดอาเซียนได้ให้การรับรองเมื่อปี 2563
2.3 ร่างข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานสถานีอัดประจุสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าในอาเซียน (Policy Recommendations to Improve Electric Vehicle (EV) Infrastructure and Charging Stations in ASEAN) เป็นการรายงานข้อเสนอแนะแนวทางเชิงนโยบายเพื่อผลักดันการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าอย่างแพร่หลายและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสถานีอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้าที่มีมาตรฐานระดับสากลและส่งเสริมระบบนิเวศ (Ecosystems) ยานยนตไฟฟ้าแบบบูรณาการในอาเซียน โดยได้รับการสนับสนุนการศึกษาผ่านแผนงานความร่วมมือด้านการขนส่งอาเซียน-สหรัฐฯ ภายใต้โครงการด้านยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle : EV)
2.4 ร่างเอกสารแนวทางการประเมินด้านความสามารถ/ประสิทธิภาพของท่าเทียบเรือคอนเทนเนอร์ในภูมิภาคอาเซียน (Guideline for Evaluation Capacity/Performance of Container Terminals in the ASEAN Region) เป็นการนำเสนอแนวทางการประเมินและกำหนดตัวขี้วัดความสามารถ/ประสิทธิภาพของท่าเทียบเรือตู้สินค้าในอาเซียน และระบุแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดเพื่อให้ประเทศสมาชิกอาเซียนพึงตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาขีดความสามารถของท่าเทียบเรือฯ ให้มีศักยภาพรองรับการแข่งขันในเวทีโลก
2.5 ร่างรายงานฉนับสมบูรณ์เรื่อง การพัฒนาขีดความสามารถของเจ้าหน้าที่ควบคุมการจราจรทางน้ำ ปี 2563-2564 (Completion Report of the Development of VTS Operator’s Capacity Programme (2020-2021)) เป็นการนำเสนอรายงานผลการฝึกอบรมบุคลากรด้านการควบคุมการจราจรทางน้ำของประเทศสมาชิกอาเซียน ที่มุ่งเน้นการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในการเดินเรือ และป้องกันมลพิษทางทะเลที่เกิดจากการชนกันของเรือในทะเล ตามมาตรฐานที่กำหนดของสมาคมประภาคารและเครื่องหมายทางเรือระหว่างประเทศ โดยการฝึกอบรมดังกล่าวเป็นโครงการภายใต้กองทุนเพื่อการรวมกลุ่มระหว่างอาเซียน-ญี่ปุ่น
2.6 ร่างผลการศึกษาเรื่อง การจัดทำร่างยุทธศาสตร์อาเซียนว่าด้วยการขนส่งอัจฉริยะ (Building a Comprehensive Strategy for ASEAN Smart Mobility) เป็นแนวทางการกำหนด กลยุทธ์ของประเทศสมาชิกอาเซียนในการเปลี่ยนผ่านสู่การขนส่งในเมืองที่ยั่งยืน มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ โดยนำระบบดิจิทัลและเทคนโลยีอัจฉริยะเข้ามาปรับใช้ มุ่งเน้นการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า ยกระดับมาตรฐานความเป็นอยู่ของประชาชน และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากภาคการขนส่งในภูมิภาค โดยการจัดทำร่างยุทธศาสตร์นี้ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนความร่วมมืออาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี
2.7 ร่างปฏิญญาร่วมว่าด้วยความร่วมมือที่ครอบคลุมเพื่อการเดินทางและขนส่งอัจฉริยะระหว่างอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี (Joint Declaration on Comprehensive Cooperation for Smart Mobility between Association of Southeast Asian Nations (ASEAN) and the Republic of Korea (ROK)) เป็นการส่งเสริมความเป็นกลางทางคาร์บอนในภาคการขนส่งและอุตสาหกรรมการคมนาคม การสนับสนุนการพัฒนาสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการให้บริการด้านการเดินทางและขนส่ง การส่งเสริมความก้าวหน้าและประสิทธิภาพระบบขนส่งอัจฉริยะ การสนับสนุนและปรับปรุงการให้บริการการเดินทางและขนส่งอัจฉริยะ การพัฒนาระบบนิเวศอุตสาหกรรมการเดินทางและขนส่ง และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในเวทีความร่วมมือด้านการขนส่งระหว่างอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี
2.8 ร่างแผนปฏิบัติการหลวงพระบางภายใต้ความเป็นหุ้นส่วนด้านการขนส่งระหว่างอาเซียน-ญี่ปุ่น (The Luang Prabang Action Plan under the ASEAN-Japan Transport Partnership (AJTP)) เป็นการกำหนดขอบเขตการดำเนินความร่วมมือด้านการขนส่งระหว่างอาเซียน-ญี่ปุ่น ระยะ 10 ปี (พ.ศ. 2567-2576) ครอบคลุมนโยบายด้าน (1) ความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทาน (2) การเพิ่มความเชื่อมโยงระหว่างผู้คน (3) การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และการขนส่งที่ยั่งยืน (4) การขนส่งที่ครอบคลุมและเข้าถึงได้ง่าย และ (5) การขนส่งที่ปลอดภัยและมั่นคง
2.9 ร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน ครั้งที่ 29 (The Twenty-Ninth ASEAN Transport Ministers Meeting (29th ATM) Joint Ministerial Statement) เป็นการรับรองแผนแม่บทว่าด้วยการจัดการการจราจรทางอากาศ ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 3 การรับรองพิธีสาร 3 ว่าด้วยความสามารถในการกำกับดูแลความปลอดภัยขององค์การบริหารการบินแห่งชาติของข้อตกลงยอมรับร่วมใบอนุญาตผู้ปฏิบัติหน้าที่ประจำเที่ยวบิน การรับรองรายงานข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานสถานีอัดประจุสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าในอาเซียน การลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงอาเซียน ความคืบหน้าการดำเนินการและการมีผลบังคับใช้ของกรอบความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการขนส่งฉบับต่างๆ ของอาเซียน การรับรองแนวทางท่าเรืออัจฉริยะ การรับรองร่างข้อเสนอแนะเรื่อง การผลัดเปลี่ยนและส่งลูกเรือกลับสู่ภูมิลำเนา ความคืบหน้าการดำเนินกิจกรรม/ความร่วมมือด้านการขนส่งระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา อาทิ นิวซีแลนด์ สหภาพยุโรป สหรัฐอมริกา จีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี
2.10 ร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียนจีน ครั้งที่ 22 (The Twenty-Second ASEAN-China Transport Ministers Meeting (22rd ATM+China) Joint Ministerial Statement) เป็นการแสดงความยินดีต่อกิจกรรม/โครงการที่ดำเนินการแล้วเสร็จในช่วงปี 2566 อาทิ การฝึกอบรมระดับภูมิภาคอาเซียนว่าด้วยความปลอดภัยในการเดินเรือเฟอร์รี่ ครั้งที่ 2 การสัมมนาว่าด้วยการเสริมสร้างศักยภาพของเจ้าหน้าที่ควบคุมการจราจรทางน้ำระหว่างจีน-อินโดนีเซีย โครงการฝึกอบรมขั้นสูงว่าด้วยการค้นหาและช่วยเหลือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนและจีน และความก้าวหน้าการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการภายใต้ยุทธศาสตร์ความร่วมมือด้านการขนส่งอาเซียน-จีน ปี 2564-2568
2.11 ร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน-ญี่ปุ่นครั้งที่ 21 (The Twenty-First ASEAN-Japan Transport Ministers Meeting (21st ATM+Japan) Joint Ministerial Statement) เป็นการแสดงความยินดีต่อการสถาปนาความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์แบบรอบด้านระหว่างอาเซียน-ญี่ปุ่น ในโอกาสการเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปี มิตรภาพอาเซียน-ญี่ปุ่น และครบรอบ 20 ปี ของแผนงานความร่วมมือด้านการขนส่งระหว่างอาเซียน-ญี่ปุ่น ในปี 2566 การให้การรับรองผลลัพธ์การดำเนินโครงการต่างๆ ในปี 2565-2566 การให้การรับรองแผนปฏิบัติการหลวงพระบาง การให้ความเห็นชอบข้อเสนอโครงการใหม่ที่จะดำเนินการในปี 2566-2567 และความคืบหน้าการดำเนินการจัดทำร่างความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศในภูมิภาคระหว่างอาเซียน-ญี่ปุ่น
2.12 ร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียนสาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ 14 (The Fourteenth ASEAN and Republic of Korea Transport Ministers Meeting (14th ASEAN+ROK) Joint Ministerial Statement) เป็นการแสดงความยินดีต่อผลสำเร็จของโครงการ/กิจกรรมภายใต้แผนงานความร่วมมือด้านการขนส่งระหว่างอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี ปี 2564-2568 ที่ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ อาทิ ผลการศึกษาเรื่อง การจัดทำยุทธศาสตร์อาเซียนว่าด้วยการขนส่งอัจฉริยะ และความคืบหน้าการจัดทำความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศระหว่างอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี
2.13 ร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมร่วมระดับรัฐมนตรีอาเซียนสาขาการขนส่ง-สาขาการท่องเที่ยว (Interface Meeting between ASEAN Tourism Ministers and ASEAN Transport Ministers Joint Ministerial Statement) เป็นการเสริมสร้างให้มีการดำเนินความร่วมมือระหว่างสาขาการขนส่งและสาขาการท่องเที่ยวของอาเซียน เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในภูมิภาค โดยเฉพาะการเชื่อมโยงการขนส่งทางอากาศ ทางทะเล และทางบก ผ่านรูปแบบการขนส่งที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมทรัพย์สินทางวัฒนธรรม ธรรมชาติ และมรดกของประเทศสมาชิกอาเซียน การใช้ประโยชน์จากช่องทางการสื่อสารต่างๆ เพื่อส่งเสริมด้านการตลาดของทั้งสองสาขา การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน และการจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจร่วมระหว่างองค์การท่องเที่ยวแห่งอาเซียนและเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการขนส่งอาเซียน
2.14 ร่างรายงานฉนับสมบูรณ์เรื่อง โครงการฝึกอบรมระบบนำร่องเดินอากาศในอาเซียน (Final Draft - Project Report on the GNSS Implementation Plan Training in ASEAN (GIPTA)) เป็นการรายงานผลการฝึกอบรมบุคลากรในหน่วยปฏิบัติงานการนำร่องเดินอากาศของประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือภายใต้กองทุนเพื่อการรวมกลุ่มระหว่างอาเซียน-ญี่ปุ่น โดยมุ่งเน้นการใช้ระบบอย่างมีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และคุ้มค่าต่อการลงทุน
2.15 ร่างแผนปฏิบัติการอาเซียนด้านการบินที่ยั่งยืน (ASEAN Sustainable Aviation Action Plan: ASAAP) เป็นการกำหนดแนวทางการดำเนินการในระยะ 10 ปี เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในด้านต่างๆ ของอุตสาหกรรมการบินอาเซียนให้มีความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น รองรับการใช้เชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel: SAF) และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ โดยประเทศสมาชิกอาเซียนจะรายงานผลการดำเนินงานต่อที่ประชุมคณะทำงานด้านการขนส่งทางอากาศอาเซียน ปีละ 1 ครั้ง
2.16 ร่างแผนแม่บทว่าด้วยการจัดการจราจรทางอากาศ ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 3 (ASEAN Air Navigation Service Master Plan, Third Edition) เป็นการปรับปรุงข้อกำหนดแนวทางการดำเนินการเพื่อพัฒนาระบบการจราจรทางอากาศของประเทศสมาชิกอาเซียนให้มีศักยภาพสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันของโลก การลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และมุ่งเน้นให้เกิดความปลอดภัยในห้วงอากาศอาเซียน
2.17 ร่างพิธีสาร 3 ว่าด้วยความสามารถในการกำกับดูแลความปลอดภัยขององค์การบริหารการบินแห่งชาติ (Protocol 3 Safety Oversight Capabilities for National Aviation Administration) เป็นเอกสารแนบท้ายข้อตกลงยอมรับร่วมใบอนุญาตผู้ปฏิบัติหน้าที่ประจำเที่ยวบิน (ASEAN Mutual Recognition Arrangement on Flight Crew Licensing: MRA-FCL) โดยการกำหนดคุณสมบัติขององค์การการบริหารการบินของประเทศสมาชิกอาเซียนในการกำกับดูแลความปลอดภัยการบิน สำหรับการดำเนินการเพื่อการออกใบอนุญาตผู้ปฏิบัติหน้าที่ประจำเที่ยวบิน (นักบิน) ที่เป็นมาตรฐานเดียวกันในอาเซียน และสอดคล้องกับข้อกำหนดขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ
3. สาระสำคัญของร่างเอกสารที่จะลงนาม จำนวน 1 ฉบับ ได้แก่ ร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงอาเซียน (Memorandum of Understanding on the Development of ASEAN Highway Network) เป็นการปรับปรุงบันทึกความเข้าใจระดับรัฐมนตรีว่าด้วยการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงอาเซียน ซึ่งลงนามเมื่อปี พ.ศ. 2542 (ค.ศ. 1999) ให้มีข้อมูลโครงข่ายทางหลวงอาเซียนที่เป็นปัจจุบัน การกำหนดมาตรฐานและเกณฑ์การออกแบบทางหลวง ระบบหมายเลข และมาตรฐานป้ายบอกทางบนทางหลวงอาเซียนให้เป็นรูปแบบเดียวกัน และกำหนดขอบเขตความร่วมมือ เพื่อการพัฒนาความเชื่อมโยงของโครงข่ายทางหลวงอาเซียนที่มีความปลอดภัย และส่งเสริมความคล่องตัวในเดินทางและการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ โดยบันทึกความเข้าใจฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ประเทศสมาชิกมีการลงนามครบทั้งสิบประเทศ
4. ประโยชน์และผลกระทบ
ร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมดังกล่าวข้างต้น เป็นเอกสารแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของประเทศสมาชิกอาเซียนในการดำเนินความร่วมมือด้านการขนส่งให้เป็นมาตรฐานสากลทั้งด้านการอำนวยความสะดวก ความปลอดภัย การรักษาความปลอดภัย การประหยัดพลังงาน การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ และการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ด้านการขนส่งของอาเซียน ปี 2559-2568 และเป็นไปในทิศทางเดียวกับแผนยุทธศาสตร์เพื่อความเป็นกลางทางคาร์บอนของอาเซียน ซึ่งที่ประชุมคณะมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนได้ให้การรับรอง เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2566 ณ กรุงจาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ตลอดจนสนับสนุนเป้าหมายบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ก่อนปี 2608
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 7 พฤศจิกายน 2566
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
11298