การดำเนินการเพื่อเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด - แปซิฟิก เพื่อความเจริญรุ่งเรืองว่าด้วยความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทาน
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 08 November 2023 12:39
- Hits: 1866
การดำเนินการเพื่อเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด - แปซิฟิก เพื่อความเจริญรุ่งเรืองว่าด้วยความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทาน
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอดังนี้
1. เห็นชอบต่อร่างความตกลงกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด - แปซิฟิก เพื่อความเจริญรุ่งเรืองว่าด้วยความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทาน และการเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงฯ ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงร่างความตกลงฯ ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญก่อนมีการลงนาม ขอให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง
2. อนุมัติให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายจากรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศลงนามในร่างความตกลงฯ ในช่วงการประชุมระดับรัฐมนตรี IPEF ที่นครซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ ในกรณีมอบหมายผู้แทนให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศออกหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้ผู้แทนดังกล่าวลงนามในร่างความตกลงฯ
3. มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ความตกลงฯ มีผลใช้บังคับ
4. มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการจัดทำสัตยาบันสารของความตกลงฯ เมื่อกระทรวงอุตสาหกรรมได้มีหนังสือแจ้งยืนยันมายังกระทรวงการต่างประเทศแล้วว่า ได้ดำเนินกระบวนการภายในประเทศที่จำเป็นสำหรับการมีผลใช้บังคับของความตกลงฯ เสร็จสิ้นแล้ว
5. มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการมอบสัตยาบันสารของความตกลงฯ ให้กับผู้เก็บรักษา (Depositary) ความตกลงฯ
ทั้งนี้ ประเทศหุ้นส่วนของกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด - แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework: IPEF) ได้สรุปผลการเจรจาร่างความตกลงฯ แล้ว โดยมีเป้าหมายที่จะลงนามร่างความตกลงฯ ในช่วงการประชุมระดับรัฐมนตรี IPEF ซึ่งสหรัฐอเมริกาจะเป็นเจ้าภาพขึ้นระหว่างวันที่ 13 - 14 พฤศจิกายน 2566 ณ นครซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา
สาระสำคัญ
1. ประเทศหุ้นส่วน IPEF ประกอบด้วย เครือรัฐออสเตรเลีย บรูไนดารุสชาลาม ฟิจิ สาธารณรัฐอินเดีย สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี มาเลเซีย นิวซีแลนด์ สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐสิงคโปร์ ไทย สหรัฐอเมริกา และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ได้ร่วมเจรจาร่างเอกสารความร่วมมือที่ครอบคลุมทั้ง 4 เสาความร่วมมือมาอย่างต่อเนื่อง อันประกอบด้วยเสาความร่วมมือที่ 1 ด้านการค้า เสาความร่วมมือที่ 2 ด้านห่วงโซ่อุปทาน เสาความร่วมมือที่ 3 ด้านเศรษฐกิจที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเสาความร่วมมือที่ 4 ด้านเศรษฐกิจที่เป็นธรรม ซึ่งภายใต้เสาความร่วมมือที่ 2 ประเทศหุ้นส่วน IPEF ได้เจรจาจัดทำร่างความตกลงกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด - แปซิฟิกเพื่อความเจริญรุ่งเรืองว่าด้วยความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทานเสร็จสิ้นแล้ว และอยู่ระหว่างเตรียมการเพื่อร่วมลงนามก่อนที่จะดำเนินการให้ความตกลงฯ มีผลใช้บังคับต่อไป ซึ่งจะเป็นความตกลงภายใต้กรอบ IPEF ฉบับแรกที่เสร็จสมบูรณ์
2. ร่างความตกลงฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความโปร่งใสและความหลากหลายของห่วงโซ่อุปทาน สนับสนุนการจัดทำนโยบายทางการค้าและการลงทุนอย่างครอบคลุมในห่วงโซ่อุปทาน ส่งเสริมบทบาทของแรงงานในระบบห่วงโซ่อุปทาน สนับสนุนการรับมือกับวิกฤติต่างๆ ที่จะนำมาซึ่งปัญหาห่วงโซ่อุปทานหยุดชะงัก ลดการบิดเบือนกลไกตลาด และสนับสนุนความร่วมมือด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่อุปทาน อาทิ การลงทุน วิชาการ โครงสร้างพื้นฐาน การเสริมสร้างขีดความสามารถทางอุตสาหกรรม และการเสริมสร้างความเชื่อมโยง เป็นต้น
3. ร่างความตกลงฯ ประกอบด้วยข้อบทที่ครอบคลุมความร่วมมือในด้านต่างๆ ดังนี้ (1) การประสานความร่วมมือเพื่อสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทาน (2) การดำเนินการเพื่อสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทาน (3) การส่งเสริมความโปร่งใสด้านกฎระเบียบ (4) การดำเนินความร่วมมือที่เกี่ยวข้องกับด้านแรงงาน ได้แก่ การเสริมสร้างบทบาทแรงงาน การแก้ไขการปฏิบัติที่ไม่สอดคล้องกับกฎหมายสิทธิแรงงานของประเทศนั้นในสถานที่ทำงานเฉพาะแห่ง (5) การจัดตั้งกลไกเพื่อกำกับดูแลการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับระบบห่วงโซ่อุปทาน ได้แก่ Supply Chain Council, Supply Chain Crisis Response Network และ Labor Rights Advisory Board (6) การกำหนดสาขาอุตสาหกรรมที่สำคัญหรือสินค้าหลัก (7) การติดตามและแก้ไขปัญหาจุดเปราะบางของห่วงโซ่อุปทาน และ (8) การรับมือกับการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน
4. ร่างความตกลงฯ ไม่มีถ้อยคำหรือบริบทที่จะทำให้เกิดพันธกรณีที่นำไปสู่การแก้ไขกฎหมายภายในประเทศเพื่อปฏิบัติตามความตกลงฯ รวมถึงไม่มีการใช้บังคับกลไกระงับข้อพิพาท และเป็นหนังสือสัญญาซึ่งมีขั้นตอนการลงนามและขั้นตอนการแสดงเจตนาให้มีผลผูกพัน (consent to be bound) แยกออกจากกัน โดยข้อบทที่ 21 ของร่างความตกลงฯ กำหนดให้ประเทศหุ้นส่วน IPEF ที่ลงนามแล้วให้สัตยาบันแสดงการยอมรับ หรือให้ความเห็นชอบความตกลงดังกล่าว ซึ่งความตกลงฯ จะมีผลใช้บังคับ 30 วันหลังจากวันที่ประเทศหุ้นส่วน IPEF ให้สัตยาบันอย่างน้อย 5 ประเทศ
ประโยชน์และผลกระทบ
1. การเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงฯ จะส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศหุ้นส่วน IPEF อันจะนำไปสู่การเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุนและก่อให้เกิดการเพิ่มมูลค่าการค้าและการลงทุนในประเทศไทยและภูมิภาค ทั้งในด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและอุตสาหกรรมที่สำคัญ และยังส่งเสริมการบริหารจัดการระบบห่วงโซ่อุปทานให้มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และช่วยกระจายความเสี่ยงในการจัดหาแหล่งวัตถุดิบและวัตถุดิบทดแทน ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงกรณีห่วงโซ่อุปทานหยุดชะงัก รวมทั้งสนับสนุนการจัดการแก้ไขปัญหาการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานให้เป็นไปอย่างรวดเร็วผ่านการดำเนินการของกลไกที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ยังช่วยพัฒนาบทบาทและศักยภาพแรงงานและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของแรงงานในระบบห่วงโซ่อุปทาน
2. สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยได้จัดทำรายงานผลการศึกษาเบื้องต้นเกี่ยวกับการดำเนินความร่วมมือด้านห่วงโซ่อุปทานภายใต้ IPEF และเห็นว่า ไทยจะได้รับประโยชน์จากเสาความร่วมมือที่ 2 ในการเข้าถึงข้อมูลและใช้ประโยชน์จากกลไกความร่วมมือต่างๆ โดยเฉพาะเครือข่ายแก้ไขปัญหาวิกฤติด้านห่วงโซ่อุปทาน การดึงดูดการลงทุนในสาขาเศรษฐกิจที่มีความสำคัญหรือสินค้าหลัก และเป็นช่องทางสำหรับความร่วมมือเพื่อลดอุปสรรคทางการค้าต่อสินค้าส่งออกจากไทย
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 7 พฤศจิกายน 2566
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
11295