ขอขยายระยะเวลาการดำเนินการจัดทำกฎหมายลำดับรองที่ออกตามพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 01 November 2023 01:36
- Hits: 2881
ขอขยายระยะเวลาการดำเนินการจัดทำกฎหมายลำดับรองที่ออกตามพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554
คณะรัฐมนตรีมีติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการดำเนินการจัดทำกฎหมายลำดับรองตามพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 จำนวน 4 ฉบับ ตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ
ทั้งนี้ รง. เสนอว่า
1. คณะรัฐมนตรีได้มีมติ (19 มกราคม 2564) ให้หน่วยงานของรัฐตรวจสอบกฎหมายในความรับผิดชอบของตนว่า มีกรณีที่ต้องมีการออกกฎหรือกำหนดให้รัฐต้องดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อที่ประชาชน จะสามารถปฏิบัติตามกฎหมายหรือได้รับสิทธิประโยชน์จากกฎหมาย ตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 25621 หรือไม่ โดยให้มีการเร่งออกกฎหรือดำเนินการดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาสองปีนับแต่วันที่กฎหมายนั้นมีผลใช้บังคับ สำหรับกฎหมายที่มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 เป็นต้นไป หรือภายในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 สำหรับกฎหมายที่มีผลใช้บังคับก่อนวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 ประกอบกับคณะรัฐมนตรีได้มีมติ (28 กุมภาพันธ์ 2566) ให้หน่วยงานของรัฐทุกหน่วยเร่งตรวจสอบกฎหมายในความรับผิดชอบของตนซึ่งมีผลใช้บังคับก่อนวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 ที่เข้าข่ายเป็นกรณีตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายฯ และเร่งออกกฎหรือดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อที่ประชาชนจะสามารถปฏิบัติตามกฎหมายหรือได้รับสิทธิประโยชน์จากกฎหมายนั้นได้ ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 หากไม่อาจดำเนินการให้แล้วเสร็จครบถ้วนได้ทันภายในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 ให้พิจารณาเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อขอขยายระยะเวลาออกไปอีก 1 ปี โดยให้ระบุเหตุผลความจำเป็นของการขอขยายระยะเวลาดังกล่าวประกอบด้วย
2. พระราชบัญญัติความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2554 ซึ่งบทบัญญัติตามพระราชบัญญัติฉบับนี้กำหนดให้ออกกฎหมายลำดับรอง จำนวน 20 ฉบับ รง. ได้ยกร่างกฎหมายลำดับรองและประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว จำนวน 16 ฉบับ (เป็นกฎกระทรวงทั้งหมด) ขณะนี้ยังมีกฎหมายลำดับรองที่อยู่ในขั้นตอนการจัดทำร่างกฎหมายอีก 4 ฉบับ แต่โดยที่พระราชบัญญัติความปลอดภัยอาชีวอนามัยฯ ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีผลใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายฯ มีผลใช้บังคับ การออกกฎหมายลำดับรองจึงต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 ตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายฯ ประกอบมติคณะรัฐมนตรีในข้อ 1. รง. จึงมีความจำเป็นต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขอขยายระยะเวลาในการออกกฎหมายลำดับรอง จำนวน 4 ฉบับดังกล่าว พร้อมทั้งได้ระบุเหตุผลความจำเป็นของการขอขยายระยะเวลาประกอบการพิจารณาด้วยแล้ว ดังนี้
กฎหมายลำดับรอง ที่ รง. ต้องออกตามพระราชบัญญัติความปลอดภัยฯ |
เหตุผลความจำเป็นในการขอขยายระยะเวลา |
|
1. ร่างกฎกระทรวงกำหนดยกเว้นกิจการอื่นหรือแต่บางส่วนที่ไม่อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 พ.ศ. .... |
ต้องดำเนินการสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับกิจการที่อยู่ในเงื่อนไขได้รับการยกเว้นการใช้บังคับตามพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัยฯ จึงต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการพอสมควร |
|
2. ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเป็นผู้ชำนาญการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. .... |
ต้องมีการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ได้ข้อยุติเกี่ยวกับการปรับแก้ไขร่างกฎกระทรวงฯ และร่างกฎหมายลูกบทภายใต้ร่างกฎกระทรวงฯ เพื่อมิให้เกิดผลกระทบกับนายจ้าง ลูกจ้าง และผู้ที่เกี่ยวข้อง |
|
3. ร่างระเบียบกระทรวงแรงงานว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยึด อายัด และขายทอดตลาดทรัพย์สินตามพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 พ.ศ. .... |
ต้องดำเนินการศึกษาและรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการยึด อายัด และขายทอดตลาดทรัพย์สินตามพระราชบัญญัติความปลอดภัยอาชีวอนามัยฯ จึงต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการพอสมควร |
|
4. ร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง การประเมินอันตราย การศึกษาผลกระทบของสภาพแวดล้อมในการทำงาน และการจัดทำแผนควบคุมดูแลลูกจ้างและสถานประกอบกิจการ พ.ศ. .... |
ร่างประกาศฉบับนี้มีเนื้อหาเชื่อมโยงกับ ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเป็นผู้ชำนาญการด้านความปลอดภัย อาชีว อนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. .... ในข้อ 2 จึงเห็นสมควรพิจารณา ร่างกฎกระทรวงดังกล่าวให้แล้วเสร็จก่อน |
____________________
1 มาตรา 22 วรรคสอง บัญญัติให้กฎหมายที่มิใช่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้ต้องมีการออกกฎ หรือกำหนดให้รัฐต้องดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อที่ประชาชนจะสามารถปฏิบัติตามกฎหมาย หรือได้รับสิทธิประโยชน์จากกฎหมายนั้นได้ หากมิได้มีการออกกฎดังกล่าวหรือยังมิได้ดำเนินการนั้นภายในระยะเวลาสองปีนับแต่วันที่กฎหมายนั้นมีผลใช้บังคับ และบทบัญญัติในเรื่องนั้นก่อภาระหรือเป็นผลร้ายต่อประชาชนให้บทบัญญัติดังกล่าวเป็นอันสิ้นผลบังคับ แต่ในกรณีที่บทบัญญัติในเรื่องนั้น ให้สิทธิประโยชน์แก่ประชาชนให้บทบัญญัติดังกล่าวมีผลบังคับได้ โดยไม่ต้องมีกฎหรือดำเนินการดังกล่าว ทั้งนี้ ระยะเวลาสองปีดังกล่าวคณะรัฐมนตรีจะมีมติขยายออกไปอีกก็ได้แต่ไม่เกินหนึ่งปี และต้องมีมติก่อนที่จะครบกำหนดเวลาสองปีดังกล่าว
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 31 ตุลาคม 2566
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
11028