ร่างกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 01 November 2023 01:33
- Hits: 2657
ร่างกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ และมอบหมายกระทรวงพลังงานใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อปรับราคาขายปลีกให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของคณะรัฐมนตรีในการลดราคาขายปลีกน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 ต่อไป
สาระสำคัญและข้อเท็จจริง
ตามที่รัฐบาลได้มีนโยบายเร่งด่วนในการลดค่าครองชีพประชาชนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศผ่านการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน ซึ่งเป็นต้นทุนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการดำรงชีวิตของประชาชน โดยรัฐบาลจะสนับสนุนให้เกิดการบริหารจัดการราคาพลังงานทั้งค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้ม และค่าน้ำมันเชื้อเพลิงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมต่อไป ทั้งนี้ ที่ผ่านมารัฐบาลได้สั่งการให้หน่วยงานภาครัฐดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด อาทิ การลดอัตราค่าไฟ การลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งกระทรวงการคลังโดยกรมสรรพสามิตได้สนับสนุนนโยบายภาครัฐในการรักษาเสถียรภาพราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลให้ต่ำกว่า 30 บาทต่อลิตร โดยลดอัตราภาษีน้ำมันดีเซลลง 2.50 บาทต่อลิตร เป็นระยะเวลากว่า 3 เดือน ตั้งแต่ 20 กันยายน - 31 ธันวาคม 2566 อย่างไรก็ตาม การดำเนินมาตรการด้านภาษีสรรพสามิตที่ผ่านมามุ่งเน้นไปที่เชื้อเพลิงที่ใช้ในภาคขนส่งสาธารณะและต้นทุนอุตสาหกรรมเป็นสำคัญ (น้ำมันดีเซลและน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบินไอพ่น) ดังนั้น เพื่อให้นโยบายในการลดค่าครองชีพประชาชนส่งผลครอบคลุมทั่วถึงยิ่งขึ้น ประกอบกับการที่ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มผันผวนจากปัจจัยการปรับราคาตามฤดูกาลและอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นเมื่อเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาวของทวีปยุโรปและอเมริกา และปัจจัยสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส รัฐบาลจึงเห็นควรให้ดำเนินมาตรการภาษีสรรพสามิตในสินค้าน้ำมันเบนซินเป็นลำดับถัดไป ทั้งนี้ การลดอัตราภาษีน้ำมันเบนซินจะเป็นมาตรการระยะสั้น เพื่อประเมินสถานการณ์และปัจจัยแวดล้อมที่มีผลต่อการปรับตัวของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศอย่างใกล้ชิด
สาระสำคัญของร่างกฎหมาย
ปรับลดอัตราภาษีสินค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันประเภทน้ำมันเบนซินลง 1 บาทต่อลิตร โดยให้อนุพันธ์ของน้ำมันดังกล่าวมีการปรับลดอัตราภาษีตามสัดส่วนเนื้อน้ำมันที่ผสมอยู่ ตั้งแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2567 และหลังจากนั้นให้อัตราภาษีกลับสู่อัตราเดิมก่อนการปรับลด โดยมีรายละเอียดของอัตราภาษี ดังต่อไปนี้
รายการ |
อัตราภาษีที่ใช้ในปัจจุบัน |
อัตราภาษีที่เสนอใหม่ |
(1) น้ำมันเบนซินชนิดไร้สารตะกั่ว |
6.500 บาทต่อลิตร |
5.500 บาทต่อลิตร |
(2) น้ำมันเบนซินนอกจาก (1) |
6.500 บาทต่อลิตร |
5.500 บาทต่อลิตร |
(3) น้ำมันแก๊สโซฮอล์ อี 10 ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด |
5.850 บาทต่อลิตร |
4.950 บาทต่อลิตร |
(4) น้ำมันแก๊สโซฮอล์ อี 20 ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด |
5.200 บาทต่อลิตร |
4.400 บาทต่อลิตร |
(5) น้ำมันแก๊สโซฮอล์ อี 85 ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด |
0.975 บาทต่อลิตร |
0.825 บาทต่อลิตร |
ประโยชน์และผลกระทบ
การลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันเบนซิน จะช่วยลดค่าครองชีพด้านการเดินทางของประชาชน และเมื่อรวมกับมาตรการช่วยเหลือภาครัฐด้านอื่นก็จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนลงได้ รวมทั้งกระตุ้นเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศมากขึ้น
ทั้งนี้ กรมสรรพสามิตจะสูญเสียรายได้จากการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตสินค้าน้ำมัน และผลิตภัณฑ์น้ำมัน ประมาณ 2,700 ล้านบาท (คาดการณ์จากสถิติปริมาณการเสียภาษีในปีงบประมาณ 2566 ทั้งนี้ การลดอัตราภาษีน้ำมันเบนซิน 1 บาทต่อลิตร จะสูญเสียรายได้ประมาณ 900 ล้านบาทต่อเดือน ดังนั้น การลดอัตราภาษีลง 1 บาทต่อลิตร เป็นระยะเวลา 3 เดือน จะส่งผลให้สูญเสียรายได้ภาษี ประมาณ 2,700 ล้านบาท)
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 31 ตุลาคม 2566
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
11027