โครงการสินเชื่อคืนถิ่นแรงงานไทย (อิสราเอล)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 01 November 2023 01:17
- Hits: 2191
โครงการสินเชื่อคืนถิ่นแรงงานไทย (อิสราเอล)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบโครงการสินเชื่อคืนถิ่นแรงงานไทย (อิสราเอล) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และอนุมัติงบประมาณวงเงินรวม 1,200 ล้านบาท จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี เพื่อดำเนินโครงการฯ พร้อมทั้งมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังเสนอว่า จากสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศอิสราเอลที่มีแนวโน้มยืดเยื้อและขยายเป็นวงกว้างมากขึ้น ส่งผลให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งรวมถึงแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานอยู่ในประเทศดังกล่าวได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งได้รับบาดเจ็บ เสียชีวิต หรือถูกจับเป็นตัวประกัน ทั้งนี้ ข้อมูลจากกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ณ เดือนกันยายน 2566 มีแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานยังประเทศอิสราเอลจำนวน 25,887 คน โดยแรงงานไทยบางส่วนทยอยเดินทางกลับประเทศไทยก่อนครบกำหนดระยะเวลาตามสัญญาจ้าง ในขณะที่บางส่วนยังไม่ตัดสินใจเดินทางกลับ เนื่องจากยังมีความกังวลเกี่ยวกับรายได้ที่ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ภาระหนี้สินที่เกิดจากการเดินทางไปทำงานยังประเทศอิสราเอล รวมถึงการเริ่มต้นประกอบอาชีพภายหลังจากเดินทางกลับมาประเทศไทย ดังนั้น เพื่อเป็นการช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้แรงงานไทยที่เดินทางกลับประเทศมีสภาพคล่องที่เพียงพอในการเริ่มต้นประกอบอาชีพหรือแบ่งเบาภาระหนี้สิน กระทรวงการคลังจึงขอเสนอโครงการสินเชื่อคืนถิ่นแรงงานไทย (อิสราเอล) (โครงการฯ) เพื่อบรรเทาและป้องกันความเสี่ยงทาง เศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้น
สาระสำคัญ
โครงการฯ มีรายละเอียด ดังนี้
1. วัตถุประสงค์ : เพื่อชำระหนี้ที่กู้ยืมสำหรับการไปทำงานที่ประเทศอิสราเอลและ/หรือเพื่อลงทุนประกอบอาชีพ
2. กลุ่มเป้าหมาย : เป็นผู้ไปทำงานที่ประเทศอิสราเอล โดยมีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้
2.1 ประกอบอาชีพเดิมคือค้าขายหรืออาชีพอิสระ (ธนาคารออมสิน)
2.2 เป็นเกษตรกรหรือบุคคลในครัวเรือนเกษตกร (ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.))
3. วิธีดำเนินงาน : ธนาคารออมสินและ ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อวงเงินรวม 2,000 ล้านบาท (แห่งละ 1,000 ล้านบาท) สินเชื่อต่อรายไม่เกินรายละ 150,000 บาท อัตราดอกเบี้ยลดต้นลดดอกร้อยละ 3 ต่อปี (Effective Rate) ลูกค้ารับภาระดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี ระยะเวลาชำระคืนเงินงวดสูงสุดไม่เกิน 20 ปี ปลอดชำระหนี้เงินต้นสูงสุด 12 งวดแรก (ชำระดอกเบี้ยปกติ) หรือเป็นไปตามเงื่อนไขที่ธนาคารกำหนด
4. ระยะเวลาการยื่นขอสินเชื่อ : ตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2567 หรือจนกว่าจะครบวงเงินโครงการฯ
5. งบประมาณ : รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 1,200 ล้านบาท แบ่งเป็น
5.1 ชดเชยความเสียหายที่เกิดจากหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loans : NPLs) ร้อยละ 100 สำหรับ NPLs ไม่เกินร้อยละ 20 ของวงเงินสินเชื่อที่อนุมัติทั้งหมด รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 400 ล้านบาท (2,000 ล้านบาท * ร้อยละ 20 * ร้อยละ 100) โดยแบ่งเป็นธนาคารออมสิน 200 ล้านบาท และ ธ.ก.ส. 200 ล้านบาท
5.2 ชดเชยอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ของวงเงินสินเชื่ออนุมัติ เป็นระยะเวลา 20 ปี รวมทั้งสิ้น 800 ล้านบาท (2,000 ล้านบาท * ร้อยละ 2 * 20 ปี) โดยแบ่งเป็นธนาคารออมสิน 400 ล้านบาท และ ธ.ก.ส. 400 ล้านบาท
ทั้งนี้ ธนาคารออมสินและ ธ.ก.ส. จะทำความตกลงกับสำนักงบประมาณ เพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณเป็นรายปีตามความเหมาะสมและความจำเป็นต่อไป
6. เงื่อนไขอื่นๆ :
6.1 แยกบัญชีโครงการเป็นบัญชีธุรกรรมนโยบายภาครัฐ (Public Service Account : PSA)
6.2 ไม่นับรวม NPLs ที่เกิดจากการดำเนินงานของโครงการฯ ไปกำหนดเป็นตัวชี้วัดผลการดำเนินงานของธนาคาร
6.3 สามารถนำส่วนต่างระหว่างค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่เกิดขึ้นจริงและค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่ได้รับชดเชย เพื่อบวกกลับในการคำนวณโบนัสประจำปีของพนักงานได้
6.4 ขอนำผลการดำเนินงานที่เกิดขึ้นจากโครงการฯ นับรวมเป็นผลการดำเนินงานตามตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องกับธนาคาร
ทั้งนี้ ประกาศคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ เรื่อง กำหนดอัตราชดเชยค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้ของหน่วยงานของรัฐในการดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 28 พ.ศ. 2565 ได้กำหนดอัตรายอดคงค้างรวมทั้งหมดของภาระที่รัฐต้องรับชดเชยค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้ในการดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ ต้องมียอดคงค้างทั้งหมดรวมกันไม่เกินร้อยละ 32 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี โดยกระทรวงการคลังรายงานว่า ณ สิ้นวันที่ 27 ตุลาคม 2566 ภาระที่รัฐต้องรับชดเชยตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ มียอดคงค้างจำนวน 939,029.106 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราร้อยละ 29.48 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ไปพลางก่อน (วงเงิน 3,185,000 ล้านบาท) ดังนั้น หากมีการดำเนินโครงการฯ จำนวน 1,200 ล้านบาท จะส่งผลให้ภาระที่รัฐต้องรับชดเชยมียอดคงค้างเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 940,229.106 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราร้อยละ 29.52 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ไปพลางก่อน ซึ่งยังคงไม่เกินอัตราร้อยละ 32 ที่คณะกรรมการฯ ได้ประกาศกำหนดไว้
ประโยชน์และผลกระทบ
การดำเนินโครงการฯ จะมีส่วนช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้แรงงานไทยที่ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบในประเทศอิสราเอลมีสภาพคล่องที่เพียงพอในการเริ่มต้นประกอบอาชีพ รวมถึงแบ่งเบาภาระหนี้สินภายหลังจากเดินทางกลับประเทศไทย เพื่อบรรเทาและป้องกันความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นจากผลกระทบดังกล่าว
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 31 ตุลาคม 2566
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
11023