ผลการประชุมรัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค ประจำปี พ.ศ. 2566
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 01 November 2023 01:10
- Hits: 1960
ผลการประชุมรัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค ประจำปี พ.ศ. 2566
คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมรัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค ประจำปี พ.ศ. 2566 ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ สรุปสาระสำคัญดังนี้
กระทรวงเกษตร สหรัฐอเมริกา เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค ประจำปี 2566 (Food Security Ministerial Meeting : FSMM) (การประชุมฯ) เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2566 ณ เมืองซีแอตเทิล มลรัฐวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบหมายให้เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (นายฉันทานนท์ วรรณเขจร) เข้าร่วมการประชุมฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงเจตนารมณ์ด้านความมั่นคงอาหารร่วมกันของรัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค โดยผลักดันการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านความมั่นคงอาหารในภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก รวมถึงหารือเกี่ยวกับนโยบายและแนวทางในการรับมือกับประเด็นท้าทายต่างๆ สาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. ในการประชุมฯ ได้มีการพิจารณาเอกสาร จำนวน 2 ฉบับ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบไว้เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2566 (เรื่อง ขอความเห็นชอบต่อร่างปฏิญญารัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค ประจำปี 2566 และเอกสารที่เกี่ยวข้อง) ได้แก่ (1) ร่างเอกสารหลักการเพื่อการบรรลุความมั่นคงอาหารผ่านระบบการเกษตรและอาหารอย่างยั่งยืนในภูมิภาคเอเปค (เอกสารหลักการฯ) และ (2) ร่างปฏิญญารัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค ประจำปี 2566 (ร่างปฏิญญาฯ) โดยที่ประชุมฯ ได้รับรองเอกสารหลักการฯ ซึ่งกำหนดแนวทางสำหรับความร่วมมือในภูมิภาค แต่ในส่วนของร่างปฏิญญาฯ ที่ประชุมฯ ไม่สามารถตกลงกันได้ จำนวน 2 ย่อหน้า จึงไม่ได้รับมติเอกฉันท์ ดังนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร สหรัฐอเมริกา จึงได้ออกแถลงการณ์ประธาน สำหรับการประชุมฯ (แถลงการณ์ประธานฯ) โดยมีสาระสำคัญครอบคลุมความเชื่อมโยง นวัตกรรม และความยั่งยืนของระบบการเกษตรและอาหาร ความสำคัญของหลักวิทยาศาสตร์และความโปร่งใส การสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคีตามหลักการขององค์การการค้าโลกการให้ความสำคัญและสร้างความเสมอภาคให้กับกลุ่มต่างๆ รวมถึงส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืนที่คำนึงถึงการใช้ทรัพยากรและปัจจัยการผลิตอย่างเหมาะสมและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม รวมทั้งตระหนักถึงข้อกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์อาหารของโลกที่ยังเผชิญความท้าทายต่างๆ และแสดงความเสียใจที่รัสเซียไม่ต่ออายุข้อริเริ่มว่าด้วยการขนส่งธัญพืชผ่านทะเลดำ และเน้นย้ำปฏิญญาผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ปี 2565 ประเด็นสงครามรัสเซีย - ยูเครน ตลอดจนสร้างความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศและหน่วยงานระดับภูมิภาคที่เกี่ยวข้อง
2. เอกสารหลักการฯ และแถลงการณ์ประธานฯ มีความต่อเนื่องและสอดคล้องกับผลลัพธ์ของการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยในปี 2565 ได้แก่ แผนปฏิบัติการภายใต้แผนงานความมั่นคงอาหารมุ่งสู่ปี พ.ศ. 2573 เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว รวมถึงปฏิญญาผู้นำเศรษฐกิจเอเปค ปี 2565 นอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นการให้ความสำคัญกับประเด็นความเชื่อมโยง นวัตกรรม และ ความยั่งยืนของระบบการเกษตรและอาหาร ความสำคัญของหลักวิทยาศาสตร์และความโปร่งใส การสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคีตามหลักการขององค์การการค้าโลกการให้ความสำคัญและสร้างความเสมอภาคให้กับกลุ่มต่างๆ รวมถึงส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืนที่คำนึงถึงการใช้ทรัพยากรและปัจจัยการผลิตอย่างเหมาะสมและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
3. ผู้แทนสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปคได้รายงานข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่ภาคเอกชนต้องการให้มีการขับเคลื่อน ได้แก่
3.1 การหาแนวทางในการปรับใช้โมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว เพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านการเกษตร การลดการสูญเสียอาหาร และการส่งเสริมแนวทางการจัดการที่ดินแบบองค์รวมเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
3.2 การส่งเสริมการเติบโตของอาหารอนาคต เช่น โปรตีนจากพืช
3.3 การอำนวยความสะดวกทางการค้าสินค้าเกษตรและอาหาร เช่น การลดภาษีหรือมาตรการกีดกันทางการค้า
3.4 การพัฒนาเครื่องมือสำหรับภาครัฐในการส่งเสริมและกำกับดูแลการดำเนินด้านเทคโนโลยีทางการเกษตร
3.5 การส่งเสริมการลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 31 ตุลาคม 2566
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
11020