การยกเว้นการตรวจลงตราเพื่อการท่องเที่ยวให้แก่ผู้ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางสัญชาติอินเดียและไต้หวัน เป็นกรณีพิเศษและเป็นการชั่วคราว
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 01 November 2023 00:54
- Hits: 1972
การยกเว้นการตรวจลงตราเพื่อการท่องเที่ยวให้แก่ผู้ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางสัญชาติอินเดียและไต้หวัน เป็นกรณีพิเศษและเป็นการชั่วคราว
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและเห็นชอบตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอดังนี้
1. อนุมัติในหลักการในการกำหนดให้สาธารณรัฐอินเดียและไต้หวัน เป็นรายชื่อประเทศ/ดินแดนในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดรายชื่อประเทศ/ดินแดนที่ผู้ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง ซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อการท่องเที่ยวเป็นกรณีพิเศษ และให้อยู่ในราชอาณาจักรได้ไม่เกินสามสิบวันโดยมีเงื่อนไขให้มีผลใช้บังคับชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 - 10 พฤษภาคม 2567 เพื่อเป็นประโยชน์ต่อมิติเศรษฐกิจและการต่างประเทศกับสาธารณรัฐอินเดียและไต้หวันในภาพรวม โดยเฉพาะด้านความเชื่อมโยงระหว่างประชาชนสองฝ่ายที่เป็นรากฐานของความสัมพันธ์
2. เห็นชอบร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องกำหนดรายชื่อประเทศ/ดินแดนที่ผู้ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง ซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อการท่องเที่ยวเป็นกรณีพิเศษ และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและกระทรวงมหาดไทยดำเนินการปรับปรุงแก้ไขประกาศหรือกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป อนึ่ง กระทรวงมหาดไทยได้พิจารณาร่างประกาศฉบับนี้ด้วยแล้ว
3. มอบหมายให้หน่วยงานความมั่นคงที่เกี่ยวข้องกำกับติดตามและประเมินผลกระทบจากการออกประกาศกระทรวงมหาดไทยฉบับนี้ภายหลังครบระยะเวลาที่ประกาศไว้ (6 เดือน) ทั้งนี้ หากมีผลกระทบต่อความมั่นคงและผลประโยชน์แห่งชาติ หน่วยงานความมั่นคงที่เกี่ยวข้องอาจเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณายกเลิกประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวต่อไปได้
สาระสำคัญ
1. ภูมิหลัง
1.1 ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยมีนโยบายและมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวผ่านการยกเว้นการตรวจลงตราเพื่อการท่องเที่ยว โดยการออกประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดรายชื่อประเทศที่ผู้ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อการท่องเที่ยวได้รับการยกเว้นการตรวจลงตรา และให้อยู่ในราชอาณาจักรได้ไม่เกินสามสิบวัน (ผ.30) อันเป็นไปตามกฎหมายภายใต้พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 โดยปัจจุบันมีรายชื่อประเทศจำนวน 59 ประเทศ/ดินแดน ซึ่งล่าสุดคือการเพิ่มสาธารณรัฐประชาชนจีนและสาธารณรัฐคาซัคสถาน เป็นการชั่วคราว
1.2 กรณีสาธารณรัฐอินเดีย ประเทศไทยให้ความสำคัญกับสาธารณรัฐอินเดียในฐานะประเทศในภูมิภาคที่มีบทบาทสูงในเวทีระหว่างประเทศ ปัจจุบัน สาธารณรัฐอินเดียมีประชากรประมาณ 1.4 พันล้านคน ซึ่งมากที่สุดในโลก ในจำนวนนี้ มีกลุ่มชนชั้นกลางและมีฐานะดีร้อยละ 25 หรือประมาณ 350 ล้านคน นักท่องเที่ยวชาวอินเดียจึงเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่สำคัญที่สุดในภูมิภาคเอเชียใต้ โดยตั้งแต่เดือนมกราคมถึงกันยายน 2566 มีนักท่องเที่ยวอินเดียเดินทางเข้าประเทศไทยจำนวน 1,162,251 คน และคาดการณ์ว่าภายในสิ้นปี 2566 จะมีนักท่องเที่ยวอินเดียเดินทางเข้าประเทศไทยประมาณ 1.55 ล้านคน โดยนักท่องเที่ยวอินเดียใช้จ่ายในประเทศไทยประมาณ 41,000 บาท/การมาท่องเที่ยว 1 ครั้ง และพำนักในประเทศไทยประมาณ 7-8 วัน
1.3 กรณีไต้หวัน นักท่องเที่ยวไต้หวันเป็นหนึ่งในกลุ่มนักท่องเที่ยวเป้าหมายหลัก โดยข้อมูลจากสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ไทเป คาดว่าภายในปี 2566 น่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวไต้หวันเดินทางเข้าประเทศไทยประมาณ 700,000 คน เมื่อปี 2562 ก่อนการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) มีนักท่องเที่ยวไต้หวันเดินทางเข้าประเทศไทยประมาณ 782,000 คน โดยมีค่าใช้จ่ายในประเทศไทยเฉลี่ย/คน/ครั้ง 42,902.22 บาท (เฉลี่ยวันละ 5,206.58 บาท) มีระยะเวลาพำนักเฉลี่ย 8.24 วัน โดยนำรายได้เข้าประเทศกว่า 33,500 ล้านบาท อนึ่ง หากคำนวณเฉพาะช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเมษายน 2562 ซึ่งเป็นระยะเวลาเดียวกับที่ประเทศไทยมีแผนจะยกเว้นการตรวจลงตราให้ไต้หวัน มีนักท่องเที่ยวไต้หวันเดินทางมาประเทศไทยจำนวน 494,000 คน คิดเป็นรายได้ประมาณ 21,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2559 ไต้หวันประกาศให้สิทธิยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางไทยที่ประสงค์จะเดินทางมาไต้หวันเพื่อวัตถุประสงค์การท่องเที่ยว ระยะเวลาพำนักไม่เกิน 14 วัน เป็นระยะเวลา 1 ปี และมีการต่ออายุมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันตามแนวนโยบาย “มุ่งใต้ใหม่” (New Southbound Policy: NSP) โดยเป็นการให้สิทธิ์แก่ประเทศไทยเพียงฝ่ายเดียว ล่าสุด เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2566 กระทรวงการต่างประเทศไต้หวันประกาศขยายระยะเวลาการยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางไทยจนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2567 และคาดหวังการประติบัติต่างตอบแทนจากประเทศไทย
1.4 การยกเว้นการตรวจลงตราเพื่อการท่องเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยวอินเดียและไต้หวันเป็นการชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษ ตั้งแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 - 10 พฤษภาคม 2567 จะช่วยสนับสนุนการส่งเสริมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งหน่วยงานด้านเศรษฐกิจของประเทศไทยมีเป้าหมายจากการท่องเที่ยวในภาพรวมไว้ที่ 2.38 ล้านล้านบาท โดยล่าสุด รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ประมาณ 7.5 แสนล้านบาท (ข้อมูลเดือนสิงหาคม 2566)
2. ปัจจุบันผู้ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางชาวอินเดียและไต้หวันสามารถขอรับการตรวจลงตราประเภทท่องเที่ยว (รหัส TR) จากสถานเอกอัครราชทูต สถานกงสุลใหญ่ และสำนักงานการค้าและเศษฐกิจไทย ไทเป ซึ่งจะสามารถพำนักในราชอาณาจักรได้ 60 วัน และขอขยายระยะเวลาพำนักกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองได้อีก 30 วัน รวมทั้งสามารถขอรับการตรวจลงตรา ณ ช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมือง (Visa On Arrival: VOA) โดยสามารถพำนักอยู่ในราชอาณาจักรได้เป็นเวลา 15 วัน
3. ตามที่คณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 ในส่วนของการสนับสนุนเศรษฐกิจด้วยการส่งเสริมการเดินทางเข้าราชอาณาจักรของนักท่องเที่ยว กระทรวงการต่างประเทศจึงเห็นควรเสนอการยกเว้นการตรวจลงตราให้แก่ผู้ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางสัญชาติอินเดียและไต้หวัน เพื่อพำนักในราชอาณาจักรได้ไม่เกิน 30 วัน ในลักษณะที่ประเทศไทยให้สิทธิ์ฝ่ายเดียว และเป็นมาตรการชั่วคราว โดยมีผลบังคับใช้เป็นระยะเวลา 6 เดือนตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2566 ถึงเดือนพฤษภาคม 2567 ซึ่งเป็นฤดูกาลท่องเที่ยวของชาวอินเดียและไต้หวันและสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของรัฐบาลไทยที่ต้องการกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของประเทศไทยในระยะสั้น
4. กรณีสาธารณรัฐอินเดีย เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพสูงและสามารถทดแทนนักท่องเที่ยวจีนที่มีจำนวนลดลง โดยประเทศไทยได้รับความนิยมจากชาวอินเดียในการเดินทางมาจัดงานแต่งงานและจัดการประชุม/สัมมนา โดยก่อนการระบาดของโควิด-19 มีคู่แต่งงานอินเดียเดินทางเข้ามาแต่งงานในเมืองไทยกว่า 400 คู่/ปี ซึ่งชาวอินเดียมีแนวโน้มใช้จ่ายเพื่อจัดงานแต่งงานในประเทศไทยประมาณ 10 ล้าน - 50 ล้าน/งาน ใช้เวลาจัดงานเฉลี่ย 5-7 วัน และมีผู้เดินทางมาเข้าร่วมงานจากอินเดียประมาณ 500 คน/งาน ซึ่งจะเพิ่มรายได้และกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นเป็นอย่างมาก
5. กรณีไต้หวัน ประเทศไทยรับรองรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนว่าเป็นรัฐบาลอันชอบด้วยกฎหมายของประเทศจีนเพียงรัฐบาลเดียวตามที่ปรากฏในแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศไทย-สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อปี 2518 โดยไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีนภายใต้หลักการข้างต้น ซึ่งตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2566 ได้มีการยกเว้นการตรวจลงตราให้แก่ผู้ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางสัญชาติจีน เป็นกรณีพิเศษและเป็นการชั่วคราว
นักท่องเที่ยวไต้หวันเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพมีกำลังซื้อค่อนข้างสูงกล่าวคือ กว่าร้อยละ 60 มีรายได้ระดับกลางขึ้นไป ดังนั้น การยกเว้นการตรวจลงตราประเภทท่องเที่ยวน่าจะเป็นปัจจัยช่วยให้นักท่องเที่ยวไต้หวันตัดสินใจเดินทางมาประเทศไทยง่ายขึ้น เนื่องจากได้รับความสะดวกมากขึ้น ทั้งนี้ ปัจจุบัน ญี่ปุ่นและสาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งเป็นจุดหมายเดินทาง 2 อันดับแรกของไต้หวัน ก็ยกเว้นการตรวจลงตราให้แก่นักท่องเที่ยวไต้หวัน ข้อมูลจากกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศไต้หวัน ณ วันที่ 13 ตุลาคม 2566 มีประเทศ/ดินแดนที่ยกเว้นการตรวจลงตราให้แก่ผู้ถือหนังสือเดินทางไต้หวัน จำนวน 109 ประเทศ/ดินแดน รวมถึงมาเลเซีย สาธารณรัฐสิงคโปร์ และเขตบริหารพิเศษมาเก๊า สาธารณรัฐประชาชนจีน
ประโยชน์และผลกระทบ
จะเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวชาวอินเดียและไต้หวัน ในการเดินทางมาท่องเที่ยวในราชอาณาจักรตั้งแต่ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2566 ซึ่งเป็นช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวเพื่อช่วยเพิ่มรายได้ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและเป็นปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทยในภาพรวม
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 31 ตุลาคม 2566
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
11016