สรุปภาพรวมดัชนีเศรษฐกิจการค้าประจำเดือนกันยายน 2566
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 25 October 2023 17:09
- Hits: 2049
สรุปภาพรวมดัชนีเศรษฐกิจการค้าประจำเดือนกันยายน 2566
คณะรัฐมนตรีรับทราบสรุปภาพรวมดัชนีเศรษฐกิจการค้าประจำเดือนกันยายน 2566 ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ
สาระสำคัญ
1. สรุปภาพรวมดัชนีเศรษฐกิจการค้าเดือนกันยายน 2566 ดังนี้
ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย เดือนกันยายน 2566 เท่ากับ 108.02 เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2565 ซึ่งเท่ากับ 107.70 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอตัวอยู่ที่ร้อยละ 0.30 (YoY) จากร้อยละ 0.88 ในเดือนสิงหาคม 2566 ตามการชะลอตัวของราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน เนื่องจากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ และกลุ่มอาหารที่ราคาลดลง ทั้งเนื้อสัตว์ ผักสด และเครื่องประกอบอาหาร ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐาน เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก สูงขึ้นเพียงร้อยละ 0.63 (YoY) ชะลอตัวจากร้อยละ 0.79 ในเดือนสิงหาคม 2566
อัตราเงินเฟ้อของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ (ข้อมูลล่าสุดเดือนสิงหาคม 2566) พบว่า ประเทศไทยยังอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ และยังคงต่ำที่สุดในอาเซียน จาก 7 ประเทศ ที่ประกาศตัวเลข (สปป.ลาว ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม มาเลเซีย) โดยอัตราเงินเฟ้อในหลายประเทศทั่วโลกมีแนวโน้มชะลอตัว โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มยุโรป อาทิ สหราชอาณาจักร อิตาลี และเยอรมนี
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนกันยายน 2566 ที่สูงขึ้นร้อยละ 0.30 (YoY) มีการเคลื่อนไหวของราคาสินค้าและบริการ ดังนี้
หมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 0.59 (YoY) ตามการสูงขึ้นของราคาสินค้าในหมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร ได้แก่ น้ำมันกลุ่มเบนซิน และกลุ่มแก๊สโซฮอล์ (ยกเว้นกลุ่มดีเซลที่ราคาลดลงเนื่องจากมาตรการตรึงราคาของภาครัฐ) ค่าโดยสารสาธารณะ อาทิ ค่าโดยสารเครื่องบิน และค่าโดยสารรถมล์เล็ก/สองแถว หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล อาทิ ยาแก้ไข้หวัด แป้งทาผิวกาย กระดาษชำระ ค่าแต่งผมชายและสตรี สำหรับสินค้าสำคัญที่ราคาลดลง อาทิ ค่ากระแสไฟฟ้า เนื่องจากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ รวมทั้ง ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม เครื่องปรับอากาศ และเครื่องซักผ้า ราคาลดลงเช่นกัน
หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ลดลงครั้งแรกในรอบ 23 เดือน โดยลดลงร้อยละ 0.10 (YoY) หลังจากที่ชะลอตัวต่อเนื่อง ตามการลดลงของเนื้อสัตว์ อาทิ เนื้อสุกร และไก่สด โดยเฉพาะเนื้อสุกรที่ปริมาณผลผลิตมีจำนวนมาก ผักสด อาทิ ผักคะน้า ต้นหอม และพริกสด เนื่องจากสภาพภูมิอากาศเอื้อต่อการเจริญเติบโต ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตเข้าสู่ตลาดมากขึ้น นอกจากนี้ น้ำมันพืช และมะพร้าว (ผลแห้ง/ขูด) ราคายังคงลดลงต่อเนื่องตามราคาต้นทุนวัตถุดิบ สำหรับสินค้าที่ราคาสูงขึ้น อาทิ ข้าวสารเหนียว ข้าวสารเจ้า ไขไก่ นมถั่วเหลือง ผลไม้สด (แตงโม ทุเรียน องุ่น) รวมถึงกาแฟผงสำเร็จรูปกับข้าวสำเร็จรูป และอาหารกลางวัน
ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนกันยายน 2566 เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคม 2566 ลดลงร้อยละ 0.36 (MoM) โดยหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลงร้อยละ 0.50 จากการลดลงของสินค้าในกลุ่มพลังงาน ทั้งค่ากระแสไฟฟ้า และน้ำมันเชื้อเพลิง รวมถึงค่าโดยสารเครื่องบิน นอกจากนี้ ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม ของใช้ส่วนบุคคล (ยาสีฟัน ผ้าอนามัย โฟมล้างหน้า) ราคาลดลง สำหรับสินค้าที่ราคาสูงขึ้นเล็กน้อย อาทิ เสื้อบุรุษและสตรี อาหารสัตว์เลี้ยง เครื่องถวายพระ บุหรี่ สุรา และไวน์ หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ลดลงร้อยละ 0.16 สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง อาทิ เนื้อสุกร ไก่สด กุ้งขาว ผักสด (ต้นหอม มะเขือ ผักคะน้า) ผลไม้สด (เงาะ ลองกอง มังคุด) อาหารโทรสั่ง (delivery) บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และอาหารสำเร็จรูป/แพ็คพร้อมปรุง สำหรับสินค้าที่ราคาสูงขึ้น อาทิ ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว นมเปรี้ยว น้ำพริกแกง และกาแฟผงสำเร็จรูป
ดัชนีราคาผู้บริโภคไตรมาสที่ 3 ปี 2566 เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2565 สูงขึ้นร้อยละ 0.52 (YoY) และเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า สูงขึ้นร้อยละ 0.39 (QoQ) สำหรับดัชนีราคาผู้บริโภคเฉลี่ย 9 เดือน (ม.ค. - ก.ย.) ปี 2566 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 1.82 (AoA)
2. แนวโน้มเงินเฟ้อ
อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ไตรมาสที่ 4 ปี 2566 มีแนวโน้มชะลอตัวจากไตรมาสก่อนหน้าจากราคาเนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำ และเครื่องประกอบอาหารที่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง รวมถึงสินค้าในกลุ่มพลังงาน (ค่ากระแสไฟฟ้า ราคาน้ำมัน) และสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพอื่นๆ ที่มีแนวโน้มลดลงจากมาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐ ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น และฐานราคาในช่วงเดียวกันของปี 2565 อยู่ระดับสูง มีส่วนทำให้อัตราเงินเฟ้อชะลอตัว อย่างไรก็ตาม อุปสงค์ในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้นตามภาคการท่องเที่ยว และการส่งออก รวมถึงรายได้เกษตรกร และค่าจ้างเฉลี่ยที่อยู่ในระดับดี รวมทั้ง สถานการณ์อุปทานพลังงานที่ยังตึงตัว สินค้าเกษตรในหลายประเทศได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ และเงินบาทที่อ่อนค่าต่อเนื่อง อาจเป็นแรงส่งที่ทำให้เงินเฟ้อชะลอตัวน้อยกว่าที่คาดได้
ด้วยปัจจัยดังกล่าว กระทรวงพาณิชย์จึงปรับตัวเลขคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2566 จากเดิมอยู่ที่ระหว่างร้อยละ 1.0-2.0 (ค่ากลางร้อยละ 1.5) ในเดือนกรกฎาคม 2566 เป็นระหว่างร้อยละ 1.0-1.7 (ค่ากลางร้อยละ 1.35) และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญจะมีการทบทวนอีกครั้ง
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม เดือนกันยายน 2566 ปรับสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 55.7 จากระดับ 53.4 ในเดือนก่อนหน้า ปรับเพิ่มขึ้นทั้งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบัน และอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมอยู่ในช่วงเชื่อมั่นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 10 (นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2565) สาเหตุคาดว่ามาจากเศรษฐกิจไทยที่อยู่ในทิศทางฟื้นตัว โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการวีซ่าฟรีให้กับนักท่องเที่ยวจีนและคาซัคสถาน ตลอดจนนโยบายการดำเนินงานของรัฐบาลชุดใหม่ที่ครอบคลุมการกระตุ้นเศรษฐกิจ การลดรายจ่าย การเพิ่มรายได้ และการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับประชาชน รวมทั้งการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการ ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและประชาชน อย่างไรก็ตาม ราคาสินค้าและบริการ รวมถึงราคาน้ำมันยังอยู่ในระดับสูง เป็นปัจจัยทอนต่อความเชื่อมั่นของประชาชน
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 24 ตุลาคม 2566
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A10779