ผลการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน ครั้งที่ 10 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 25 October 2023 15:43
- Hits: 1475
ผลการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน ครั้งที่ 10 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน ครั้งที่ 10 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ
สาระสำคัญ
กค. รายงานว่า
1. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในขณะนั้น (นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ) ได้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน (ASEAN Finance Ministers’ and Central Bank Governors’ Meeting : AFMGM) ครั้งที่ 10 และการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขอาเซียน (ASEAN Finance and Health Ministers’ Meeting : AFHMM) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22 - 25 สิงหาคม 2566 ณ กรุงจาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย โดยมีผลการประชุม สรุปได้ดังนี้
1.1 ผลการประชุม AFMGM 10
(1) ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับการสนับสนุนการเงินเพื่อโครงสร้างพื้นฐานและการส่งเสริมการเงินเพื่อการปรับตัวไปสู่การใช้พลังงานสะอาด รวมทั้งการดำเนินงานของกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย (ASEAN Infrastructure Fund : AIF) ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้กล่าวในที่ประชุมว่า สนับสนุนทิศทางการดำเนินงานของ AIF รวมไปถึงการนำเกณฑ์การจัดหมวดหมู่ด้านการเงินที่ยั่งยืนของอาเซียนเวอร์ชัน 21 (ASEAN Taxonomy Version 2) มาใช้ในการคัดกรองโครงการหรือการดำเนินการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในภาวะที่การค้าการลงทุนและเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัว ภูมิภาคอาเซียนควรพัฒนาความสัมพันธ์ด้านการค้ากับคู่ค้านอกภูมิภาคอาเซียน รวมถึงอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ นอกจากนี้ รัฐบาลควรมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทั้งเชิงกายภาพและดิจิทัลเพิ่มเติม
(2) รับทราบความคืบหน้าของความร่วมมือทางการเงินอาเซียนและแผนงานสำหรับปีงบประมาณ 2566 - 2567 ของคณะทำงานต่างๆ และรับทราบการหารือเกี่ยวกับการจัดการด้านการคลังในประเทศสมาชิกอาเซียน และแนวคิดในการจัดตั้งเวทีการคลังอาเซียน (ASEAN Treasury Forum : ATF) ซึ่งจะช่วยพัฒนาแนวทางการบริหารการคลังภาครัฐให้มีความโปร่งใสและตรวจสอบได้มากยิ่งขึ้น
(3) เห็นชอบแนวทางในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของความร่วมมือด้านการเงินอาเซียน เช่น การยกระดับแนวคิดเริ่มข้ามสาขาภายใต้ความร่วมมือด้านการเงินอาเซียนและด้านความมั่นคงทางอาหาร เป็นต้น และการจัดตั้งคณะทำงานของอาเซียนเพื่อทบทวนพันธกิจของคณะทำงานภายใต้ความร่วมมือด้านการเงินการคลังอาเซียนให้สอดคล้องกับเป้าประสงค์ของอาเซียนหลังปี 2568
1.2 ผลการประชุม AFHMM
ที่ประชุมได้ร่วมหารือในประเด็นการเตรียมความพร้อมสำหรับโรคระบาดและโรคอุบัติใหม่ที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงแนวทางในการจัดหาแหล่งทุนสำหรับการรับมือกับเหตุการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข นอกจากนี้ ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank : ADB) ได้นำเสนอร่างผลการศึกษาการประเมินความต้องการเงินทุน ซึ่งมีประเด็นสำคัญ คือ การเสนอให้ประเทศสมาชิกอาเซียนพิจารณาการให้เงินสนับสนุนแก่กองทุนอาเซียน เพื่อรับมือกับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และเหตุการณ์ฉุกเฉินสาธารณะและโรคอุบัติใหม่อื่นๆ (COVID-19 and Other Public Health Emergencies and Emerging Diseases ASEAN Response Fund : CARF) หรือการขอรับการสนับสนุนจากธนาคารเพื่อการพัฒนาระดับพหุภาคี (Multilateral Development Banks : MDBs)2 ในลักษณะของการบริจาคเงินให้เปล่า หรือเงินกู้ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ให้ความเห็นว่าขนาดของกองทุน CARF ยังคงมีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับความต้องการเงินทุนด้านการรับมือกับโรคระบาด ดังนั้น จึงควรมีความพยายามในการระดมทุนทั้งจากในประเทศและจาก MDBs
2. ที่ประชุม AFHGM ครั้งที่ 10 และที่ประชุม AFHMM ได้รับรองร่างแถลงการณ์ร่วมสำหรับการประชุม AFHGM ครั้งที่ 10 และ AFHMM ซึ่งในช่วงระหว่างการประชุมได้มีการปรับปรุงร่างแถลงการณ์ร่วมดังกล่าว โดยมีบางถ้อยคำแตกต่างจากฉบับร่างที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2566 เพื่อให้มีความเหมาะสมและสะท้อนข้อเท็จจริงมากขึ้น โดยไม่กระทบสาระสำคัญ ไม่กระทบหรือขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย และไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบไว้ เช่น การเพิ่มข้อความที่เสนอให้มีการศึกษาเพิ่มเติมถึงมาตรการริเริ่มระดับทวิภาคีและพทุภาคีในด้านการป้องกันการเตรียมความพร้อม และการรับมือกับโรคระบาค (Pandemic Prevention, Preparedness, and Response : PPR) การเพิ่มข้อความที่มุ่งหวังจะเห็นการขยายขอบเขตของ ASEAN Taxonomy ให้สามารถใช้งานร่วมกับ Taxonomy ในภูมิภาคอื่นได้ เป็นต้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยเพิ่มเติมในการเพิ่มประสิทธิผลของโครงการภายใต้ความร่วมมืออาเซียนทั้งด้านการคลังและสาธารณสุข
_______________________________
1ASEAN Taxonomy คือ มาตรฐานกลางที่ใช้ในการจำแนกและจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของกลุ่มอาเซียน ครอบคลุมวัตถุประสงค์หลัก 4 ด้าน ได้แก่ (1) การลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (2) การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (3) การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ และ (4) การสนับสนุนการบริหารทรัพยากรให้ยืดหยุ่นหรือการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน จัดทำขึ้นโดย ASEAN Taxonomy Board (ATB) ซึ่งเป็นคณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ในกลุ่มอาเซียน สำหรับ ASEAN Taxonomy Version 2 มีการเพิ่มเติมประเด็นเกี่ยวกับการยกเลิกการใช้ถ่านหินในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์และตัวชี้วัดเพิ่มเติม (Plus Standard)
2ธนาคารเพื่อการพัฒนาระดับพหุภาคี (Multilateral Development Banks : MDBS) ประกอบด้วย ธนาคารโลก (World. Bank) ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) และธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของเอเชีย (Asian Infrastructure Investment Bank : AIIB) จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความช่วยเหลือทางด้านการเงินและทางด้านวิชาการแก่ประเทศสมาชิก
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 24 ตุลาคม 2566
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A10774