สรุปผลการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 17 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 25 October 2023 15:31
- Hits: 1537
สรุปผลการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 17 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง
คณะรัฐมนตรีรับทราบสรุปผลการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดลอม ครั้งที่ 17 (17th ASEAN Ministerial Meeting on the Environment: 17 th AMME) และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
ทส. รายงานว่า การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 17 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 23-24 สิงหาคม 2566 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สปป. ลาว ทำหน้าที่ประธานการประชุม) โดยมีปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมฯ (นายกรัฐมนตรีอนุมัติเปลี่ยนแปลงหัวหน้าคณะผู้แทนไทย เนื่องจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมติดภารกิจในช่วงการประชุมดังกล่าว) มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 17 เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2566
1.1 ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้กล่าวถ้อยแถลงถึงความเปราะบางของภูมิภาคอาเซียนต่อปัญหาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และมลพิษ โดยประเทศไทยจะร่วมต่อสู้กับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม โดยมีการดำเนินงาน เช่น ปรับยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศไทย (Thailand's Long-Term Low Greenhouse Gas Emission Development Strategy: LT-LEDS)3 และเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ฉบับปรับปรุงเพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายของประเทศ ซึ่งได้จัดส่งให้กับสำนักเลขาธิการอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยแล้ว รวมถึงการดำเนินงานต่างๆ เพื่อบรรลุเจตนารมณ์ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2065 นอกจากนี้ ประเทศไทยมีการบริหารจัดการการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้สอดคล้องกับกรอบงานคุนหมิง-มอนทรีออลว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของโลกและเน้นถึงการจัดการปัญหามลพิษ โดยเฉพาะมลพิษจากพลาสติก
1.2 ที่ประชุมรับรองประเด็นต่างๆ ที่สำคัญ ดังนี้
(1) การขึ้นทะเบียนอุทยานมรดกอาเซียนของประเทศไทยจำนวน 2 แห่ง4 ได้แก่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว-อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว (จังหวัดเพชรบูรณ์) เป็นอุทยานมรดกอาเซียนแห่งที่ 56 และอุทยานแห่งชาติภูกระดึง (จังหวัดเลย) เป็นอุทยานมรดกอาเซียนแห่งที่ 57
(2) ร่างแถลงการณ์ร่วมอาเซียนว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฯ (UNFCCC COP 28) เพื่อเสนอผู้นำอาเซียนให้การรับรองในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 43 ซึ่งจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 4-7 กันยายน 2566 ณ กรุงจาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย (อินโดนีเซีย)
(3) การมอบรางวัล ASEAN Eco-Schools และรางวัล ASEAN Youth Eco-Champions Award5 ของประเทศสมาชิกอาเซียน โดยประเทศไทยมีโรงเรียนสาธิตเทศบาลบ้านหัวหินเข้ารับรางวัล ASEAN Eco-Schools Award ระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษา และนายมนตรี เจือไทสง อาจารย์โรงเรียนสาธิตเทศบาลบ้านหัวหินเข้ารับรางวัล ASEAN Youth Eco-Champions Award
(4) แผนปฏิบัติการอาเซียนเพื่อการจัดการชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน ซึ่งริเริ่มโดยอินโดนีเซียเพื่อแก้ไขปัญหาการคุกคามต่อการสูญเสียทางธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพที่สำคัญของภูมิภาค
1.3 ที่ประชุมรับทราบประเด็นต่างๆ ที่สำคัญ เช่น
(1) ผลสรุปความสำเร็จความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งศูนย์อาเซียนว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ณ เนการาบรูไนดารุสซาลาม (บรูไน) เพื่อสนับสนุนความร่วมมือและประสานการดำเนินงานข้อริเริ่มด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศสมาชิกอาเซียนกับรัฐบาลของประเทศต่างๆ และองค์กรระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศรวมถึงให้ข้อแนะนำด้านนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของอาเซียน
(2) การดำเนินโครงการ Horizontal Learning for ASEAN Sustainable Cities ณ อินโดนีเซีย เพื่อเป็นเวทีให้ประเทศสมาชิกอาเซียนได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และบทเรียนร่วมกันในเรื่องการพัฒนาเมืองยั่งยืน โดยเฉพาะการจัดการขยะและการพัฒนาเมือง การสร้างเครือข่ายและความร่วมมือที่มีศักยภาพระหว่างผู้ออกนโยบายภาคเอกชนและภาคประชาสังคมในการริเริ่มเมืองยั่งยืนของอาเซียน
(3) การดำเนินการตามแผนปฏิบัติการอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านขยะทะเลของประเทศสมาชิกและความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการและข้อริเริ่มที่เกี่ยวข้องกับขยะพลาสติก เช่น ความสำเร็จของการจัดประชุมปฏิบัติการ ASEAN-Indo Pacific Workshop on Marine Plastic Debris และการประชุม ASEAN Conference on Combating Plastic Pollution ที่อินโดนีเซียกำลังจะจัดขึ้น6
2. การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมกับคู่เจรจา ในวันที่ 24 สิงหาคม 2566
การประชุม |
รายละเอียด |
|
การประชุมรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อม อาเซียนบวกสาม (ASEAN Plus Three Environment Minister Meeting) |
ที่ประชุมรับทราบความก้าวหน้าในการดำเนินความร่วมมือด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของอาเซียนร่วมกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ประเทศญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลีโดยเฉพาะประเด็นปัญหาขยะพลาสติกในทะเล |
|
การประชุมรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อม อาเซียน-ญี่ปุ่น (ASEAN-Japan Ministerial Dialogue on Environment and Climate Change) |
ที่ประชุมร่วมกันรับรองเอกสารข้อริเริ่มฉบับใหม่ “Strategic Program for ASEAN Climate and Environment SPACE” และประเทศญี่ปุ่นเปิดตัว “SPACE” เพื่อสนับสนุนประเทศสมาชิกอาเซียนในการดำเนินงานเพื่อบริหารจัดการวิกฤตสิ่งแวดล้อมโลกที่มีความเชื่อมโยงกัน เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสูญสียความหลากหลายทางชีวภาพ และการแก้ไขปัญหามลพิษ |
|
การประชุมระดับรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อม อาเซียน-สหรัฐอเมริกา (ASEAN-U.S: Ministerial Dialogue on Environment and Climate Change |
ที่ประชุมร่วมกันรับรองเอกสาร ASEAN-US. Environment and Climate Work Plan เพื่อสนับสนุนอาเซียนในการดำเนินงานการมีส่วนร่วมตามที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contributions : NDCs)7 การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ และการเงินเพื่อสภาพภูมิอากาศ |
3. เรื่องอื่นๆ ในที่ประชุม
3.1 บรูไนได้ส่งมอบการลงนามเอกสารการจัดตั้งศูนย์อาเซียนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้กับรองเลขาธิการอาเซียนสำหรับประชาคมสังคมและวัฒนธรรมเพื่อดำเนินการต่อไป
3.2 ประเทศไทยได้หารือร่วมกับ สปป. ลาว และคณะทำงานวิชาการโรงเรียนมัธยมสมบูนนาซอน เพื่อติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินการก่อสร้างสวนรุกขชาติไทย-ลาว ที่สร้างขึ้น ณ โรงเรียนมัธยมสมบูนนาซอน โดยเสนอแนะให้มีการพัฒนาสวนรุกขชาติเป็นศูนย์การเรียนรู้ (Learning Centre) ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพร้อมสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวิชาการด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการเสริมสร้างศักยภาพบุคลากรของ สปป.ลาว ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการอนุรักษ์พื้นที่อุทยานแห่งชาติ เพื่อการดูแลรักษาสวนรุกขชาติไทย - ลาว อย่างยั่งยืนต่อไป
_____________
1 ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน คือ ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่เข้ามาแล้วสามารถตั้งถิ่นฐานและแพร่กระจายได้ในธรรมชาติ เป็นชนิดพันธุ์เด่นในสิ่งแวดล้อมที่อาจทำให้ชนิดพันธุ์พื้นเมืองสูญพันธุ์ รวมถึงคุกคามต่อความหลากหลายทางชีวภาพและก่อให้เถิดความสูญเสียทางสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสุขอนามัย [ประเทศไทยมีพืชต่างถิ่น เช่น วงศ์พืช (เช่น วงศ์ถั่ว วงศ์ดาวเรือง และวงศ์บานไม่รู้โรย) ที่มีถิ่นกำเนิดมาจากทวีปอเมริกา และวงศ์หญ้าที่เป็นวัชพืช (เช่น หญ้าคา)] ซึ่งมีพฤติกรรมรุกรานและเจริญเติบโตรวดเร็ว
2 กรอบงานคุนหมิง-มอนทรีออลว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของโลกมีจุดมุ่งหมายเพื่อพลิกฟื้นการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและทำให้โลกเข้าสู่เส้นทางการฟื้นฟู ประกอบด้วย 4 เป้าประสงค์ คือ (1) เพิ่มพูนความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ทุกระบบนิเวศ (2) ดำรงรักษาหรือเพิ่มพูนประโยชน์ที่ได้รับจากธรรมชาติ (3) แบ่งปันผลประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรพันธุกรรม (สารที่สกัดได้จากทรัพยากรชีวภาพซึ่งสามารถนำไปพัฒนาต่อยอด เช่น ผลิตยารักษาโรค เครื่องสำอาง และอาหารเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ) อย่างยุติธรรมและเท่าเทียม และ (4) แก้ปัญหาช่องว่างทางการเงินและแนวทางการดำเนินงานอื่นๆ
3 คณะรัฐมนตรีมีมติ (19 ตุลาคม 2564) เห็นชอบ (ร่าง) ยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าชเรือนกระจกต่ำของประเทศไทย ตามที่ ทส. เสนอ
4 คณะรัฐมนตรีมีมติ (29 มีนาคม 2565) เห็นชอบการนำเสนออุทยานแห่งชาติภูกระดึงและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว-อุทยานแห่งชาติน้ำหนาวให้เป็นมรดกแห่งอาเซียน ตามที่ ทส. เสนอ
5 เป็นรางวัลโรงเรียนที่มีกระบวนการจัดการเรียนการสอนสิ่งแวดล้อมดีเด่นและครูผู้สอนสิ่งแวดล้อมศึกษาดีเด่น
6 ทส. แจ้งว่า การประชุมดังกล่าวจัดขึ้นในวันที่ 17 ตุลาคม 2566 ณ กรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย
7 การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด NDCs เป็นกลไกสำคัญเพื่อบรรลุความตกลงปารีสในความพยายามกำจัดปริมาณก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมของมนุษย์ โดยให้ประเทศภาคีรายงานการมีส่วนร่วมระดับชาติในการกำหนดเป้าหมายและความก้าวหน้าของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวต่อผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 24 ตุลาคม 2566
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A10771