รายงานสถานการณ์การส่งออกของไทย ประจำเดือนสิงหาคมและ 8 เดือนแรกของปี 2566
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 17 October 2023 01:00
- Hits: 2128
รายงานสถานการณ์การส่งออกของไทย ประจำเดือนสิงหาคมและ 8 เดือนแรกของปี 2566
คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานสถานการณ์การส่งออกของไทย ประจำเดือนสิงหาคมและ 8 เดือนแรกของปี 2566 ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ ดังนี้
สาระสำคัญ
1. สรุปสถานการณ์การส่งออกของไทย ประจำเดือนสิงหาคม 2566
การส่งออกของไทยในเดือนสิงหาคม 2566 พลิกกลับมาขยายตัวในรอบ 11 เดือน มีมูลค่า 24,279.6 ล้านเหรียญสหรัฐ (824,938 ล้านบาท) ขยายตัวร้อยละ 2.6 หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวร้อยละ 3.9 ได้รับแรงหนุนจากสัญญาณการฟื้นตัวของภาคการผลิตโลกที่ดีขึ้นกว่าเดือนก่อนหน้า แม้ว่าจะยังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ การใช้จ่ายของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นตามภาคบริการของประเทศคู่ค้าที่ขยายตัว ส่งผลดีต่อสินค้าส่งออกที่เกี่ยวเนื่อง รวมทั้ง การส่งเสริมนโยบายพลังงานสะอาดและความต้องการสินค้าเทคโนโลยีทำให้สินค้าหมวดอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัวอีกครั้ง ประกอบกับการอ่อนค่าของเงินบาทในระดับที่เหมาะสมส่งผลดีต่อการส่งออก ตลาดคู่ค้าสำคัญฟื้นตัว อาทิ สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น อินเดีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน ออสเตรเลีย ซาอุดีอาระเบีย และแอฟริกาใต้ โดยการส่งออกของไทยในเดือนนี้ยังทำได้ดีกว่าหลายประเทศในภูมิภาค และกลับมาเกินดุลการค้า ทั้งนี้ การส่งออกไทย 8 เดือนแรกของปี 2566 หดตัวร้อยละ 4.5 และเมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย หดตัวร้อยละ 1.5
มูลค่าการค้ารวม
มูลค่าการค้าในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ เดือนสิงหาคม 2566 มีมูลค่าการค้ารวม 48,199.3 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 5.7 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยการส่งออก มีมูลค่า 24,279.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 2.6 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 23,919.7 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 12.8 ดุลการค้า เกินดุล 359.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ภาพรวม 8 เดือนแรกของปี 2566 มีมูลค่าการค้ารวม 383,111.7 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 5.1 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการส่งออก มีมูลค่า 187,593.1 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 4.5 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 195,518.6 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 5.7 ดุลการค้า 8 เดือนแรกของปี 2566 ขาดดุล 7,925.4 ล้านเหรียญสหรัฐ
มูลค่าการค้าในรูปเงินบาท เดือนสิงหาคม 2566 มีมูลค่าการค้ารวม 1,647,414 ล้านบาท หดตัว ร้อยละ 12.1 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยการส่งออก มีมูลค่า 824,938 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 4.4 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 822,476 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 18.6 ดุลการค้า เกินดุล 2,462 ล้านบาท ภาพรวม 8 เดือนแรกของปี 2566 มีมูลค่าการค้ารวม 13,112,568 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 4.6 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการส่งออก มีมูลค่า 6,379,734 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 3.9 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 6,732,833 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 5.3 ดุลการค้า 8 เดือนแรกของปี 2566 ขาดดุล 353,009 ล้านบาท
การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร
มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หดตัวร้อยละ 1.5 สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร หดตัวร้อยละ 7.6 แต่สินค้าเกษตรกลับมาขยายตัวร้อยละ 4.2 ทั้งนี้ สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง ขยายตัวร้อยละ 99.8 (ขยายตัวในตลาดจีน มาเลเซีย สหรัฐฯ เวียดนาม และเกาหลีใต้) ข้าว ขยายตัวร้อยละ 10.8 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ อินโดนีเซีย มาเลเซีย โมซัมบิก และแองโกลา) สิ่งปรุงรสอาหาร ขยายตัวร้อยละ 28.6 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ เนเธอร์แลนด์ และมาเลเซีย) ผักกระป๋องและผักแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 26.5 (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น สหรัฐฯ เกาหลีใต้ จีน และไต้หวัน) นมและผลิตภัณฑ์นม ขยายตัวร้อยละ 13.2 (ขยายตัวในตลาดฟิลิปปินส์ กัมพูชา สิงคโปร์ เวียดนาม และลาว) ผักสด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง ขยายตัวร้อยละ 22.8 (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น ไต้หวัน สหรัฐฯ ออสเตรเลีย และกัมพูชา) ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ ยางพารา หดตัวร้อยละ 32.9 (หดตัวในตลาดจีน มาเลเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง หดตัวร้อยละ 12.8 (หดตัวในตลาดจีน ไต้หวัน มาเลเซีย สหรัฐฯ และฟิลิปปินส์) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป หดตัวร้อยละ 9.7 (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ออสเตรเลีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กัมพูชา และแอฟริกาใต้) น้ำตาลทราย หดตัวร้อยละ 23.1 (หดตัวในตลาดอินโดนีเซีย กัมพูชา มาเลเซีย ไต้หวัน และจีน) ไก่แปรรูป หดตัวร้อยละ 12.8 (หดตัวในตลาดญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ เกาหลีใต้ และเยอรมนี) ไขมันจากน้ำมันจากพืชและสัตว์ หดตัวร้อยละ 57.4 (หดตัวในตลาดเมียนมา มาเลเซีย กัมพูชา ญี่ปุ่น และฮ่องกง) ทั้งนี้ 8 เดือนแรกของปี 2566 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หดตัวร้อยละ 3.5
การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม
มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 2.5 ซึ่งมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 5.2 (ขยายตัวในตลาดออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น มาเลเซีย และแอฟริกาใต้) แผงวงจรไฟฟ้า ขยายตัวร้อยละ 39.8 (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น ไต้หวัน จีน สหรัฐฯ และมาเลเซีย) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 6.4 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น จีน ออสเตรเลีย และเนเธอร์แลนด์) เครื่องโทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 36.9 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ฮ่องกง เม็กซิโก เนเธอร์แลนด์ และสิงคโปร์) อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด ขยายตัวร้อยละ 74.5 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน อินเดีย เกาหลีใต้ และกัมพูชา) หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 59.1 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ เนเธอร์แลนด์ เม็กซิโก ญี่ปุ่น และไต้หวัน) ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 26.9 (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน ฮ่องกง เนเธอร์แลนด์ และมาเลเซีย) ผลิตภัณฑ์ยาง หดตัวร้อยละ 4.7 (หดตัวในตลาดจีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย เวียดนาม และอินเดีย) อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) หดตัวร้อยละ 10.4 (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ อินเดีย เยอรมนี สหราชอาณาจักร และญี่ปุ่น) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 23.4 (หดตัวในตลาดออสเตรเลีย สหรัฐฯ สิงคโปร์ เวียดนาม และอินเดีย) ทั้งนี้ 8 เดือนแรกของปี 2566 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม หดตัวร้อยละ 4.1
ตลาดส่งออกสำคัญ
การส่งออกไปยังตลาดสำคัญส่วนใหญ่กลับมาขยายตัว สอดคล้องกับสัญญาณการปรับตัวดีขึ้นของการผลิตภาคอุตสาหกรรมของโลก ทั้งนี้ ภาพรวมการส่งออกไปยังกลุ่มตลาดต่างๆ สรุปได้ ดังนี้ (1) ตลาดหลัก ขยายตัวร้อยละ 2.3 โดยขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ร้อยละ 21.7 จีน ร้อยละ 1.9 และญี่ปุ่น ร้อยละ 15.7 แต่ยังหดตัวต่อเนื่องในตลาดอาเซียน (5) CLMV และสหภาพยุโรป (27) ร้อยละ 1.5 ร้อยละ 21.3 และร้อยละ 11.6 ตามลำดับ (2) ตลาดรอง ขยายตัวร้อยละ 2.4 โดยขยายตัวในตลาดทวีปออสเตรเลีย ร้อยละ 22.4 แอฟริกา ร้อยละ 4.9 รัสเซียและกลุ่ม CIS ร้อยละ 30.4 และสหราชอาณาจักร ร้อยละ 10.7 ขณะที่ตลาดเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และลาตินอเมริกา หดตัวร้อยละ 0.9 ร้อยละ 12.6 และร้อยละ 11.7 (3) ตลาดอื่นๆ ขยายตัวร้อยละ 62.8 อาทิ สวิตเซอร์แลนด์ ขยายตัวร้อยละ 53.6
2. มาตรการส่งเสริมการส่งออกและแนวโน้มการส่งออกระยะต่อไป
สำหรับแผนการส่งเสริมการส่งออกในช่วงที่เหลือของปี 2566 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้มอบนโยบายแก่ผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ พาณิชย์จังหวัด และทูตพาณิชย์ทั่วโลก เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา โดยยังคงรักษาเป้าหมายการส่งออกในปี 2566 ไว้อยู่ที่ร้อยละ 1 - 2 และมีนโยบาย “เร่งขยับตัวเลขการส่งออก เปลี่ยนจากติดลบให้เป็นบวก” โดย (1) ใช้ประโยชน์จาก Soft Power สร้างเรื่องราวให้กับสินค้าและบริการไทยโดยเชื่อมโยงกับภาคบริการและการท่องเที่ยว (2) จัดทำและนำข้อมูลมาใช้วิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคเชิงลึกในตลาดทั่วโลก เพื่อนำมาพัฒนาสินค้าให้ตอบสนองความต้องการ (3) แก้ไขปัญหาและอุปสรรคการค้าชายแดน เป็นปัญหาคอขวดและเป็นอุปสรรคต่อสินค้าไทยตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ (4) ผลักดันและสร้างระบบนิเวศน์ในการยกระดับผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทย เป็นผู้ให้บริการระดับภูมิภาค นอกจากนี้ มีนโยบาย “ผลักดันให้มีการใช้ประโยชน์จาก FTA” โดยให้ภาครัฐเข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการในการปรับตัว สร้างความรู้ความเข้าใจ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายเล็ก และเตรียมความพร้อมให้ดำเนินธุรกิจสอดรับกับกฎกติกาใหม่ๆ ของโลก เช่น Carbon Credit BCG และ SGDs เป็นต้น อีกทั้งได้มอบหมายให้พาณิชย์จังหวัดและทูตพาณิชย์ วางแผนยุทธศาสตร์หรือแผนบริหารจัดการสินค้าอย่างครบวงจรร่วมกัน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อ “รักษาตลาดเดิม เสริมตลาดใหม่” และเพิ่มบทบาท “พาณิชย์คู่คิด SME” ให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการรายเล็กให้สามารถส่งออกได้
แนวโน้มการส่งออกในระยะถัดไป กระทรวงพาณิชย์ ประเมินว่า การส่งออกในช่วงที่เหลือของปี จะมีแนวโน้มการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป สินค้าที่เกี่ยวข้องกับเมกะเทรนส์ด้านพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีดิจิทัลมีทิศทางที่ขยายตัวได้ดี ส่วนความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารซึ่งเป็นสินค้าศักยภาพของไทยขยายตัวอย่างต่อเนื่อง รวมทั้ง ในช่วงปลายปีมูลค่าการส่งออกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากคำสั่งซื้อที่เกี่ยวข้องกับเทศกาลเฉลิมฉลองในประเทศคู่ค้า สำหรับภาพรวมตลาดส่งออกเริ่มเห็นการฟื้นตัวของตลาดหลัก อย่างสหรัฐฯ จีน และญี่ปุ่น กลับมาบวกซึ่งเป็นสัญญาณที่ดี และตลาดส่งออกใหม่ๆ ที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกจากการคงอัตราดอกเบี้ยระดับสูงยาวนานที่จะชะลอการผลิตและการบริโภคสินค้าโดยเฉพาะสินค้าที่ไม่จำเป็น ภาวะภัยแล้งที่อาจจะกระทบต่อผลผลิตเพื่อการส่งออก และปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังไม่มีที่ท่าว่าจะยุติ ล้วนเป็นปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อมูลค่าการส่งออกแทบทั้งสิ้น ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 16 ตุลาคม 2566
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A10540