รายงานประจำปีผลการดำเนินงานคณะกรรมการคุ้มครองการรับงานไปทำที่บ้าน ชุดที่ 4 ปีที่ 1
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 17 October 2023 00:52
- Hits: 1976
รายงานประจำปีผลการดำเนินงานคณะกรรมการคุ้มครองการรับงานไปทำที่บ้าน ชุดที่ 4 ปีที่ 1
คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานประจำปีผลการดำเนินงานคณะกรรมการคุ้มครองการรับงานไปทำที่บ้าน ชุดที่ 4 ปีที่ 1 (4 ตุลาคม 2564 - 3 ตุลาคม 2565) ตามที่กระทรวงแรงาน (รง.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
รง. รายงานว่า รง. (กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน) ได้จัดทำรายงานประจำปีผลการดำเนินงานคณะกรรมการคุ้มครองการรับงานไปทำที่บ้าน ชุดที่ 4 ปีที่ 1 (4 ตุลาคม 2564 - 3 ตุลาคม 2565) สาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
เรื่อง |
ผลการดำเนินงาน |
|
1. การประชุมคณะกรรมการฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 |
คณะกรรมการฯ มีการประชุม 3 ครั้ง ในประเด็นสำคัญๆ ดังนี้ 1.1) พิจารณาให้ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพิ่มเติมในการจัดทำรายงานผลการดำเนินงานคณะกรรมการฯ ชุดที่ 3 ปีที่ 2 และพิจารณาการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการฯ ชุดที่ 4 1.2) พิจารณาความคืบหน้า (ร่าง) พระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ พ.ศ. ....1 และพิจารณาข้อเสนอแนะเพิ่มเติมการรับฟังความเห็น (ร่าง) พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ. 2553 (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....2 1.3) พิจารณาแนวทางการส่งเสริมผู้จ้างงานและผู้รับงานไปทำที่บ้านและพิจารณาโครงการสรรหากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและการเลือกกรรมการผู้แทนผู้จ้างงาน กรรมการผู้แทนผู้รับงานไปทำที่บ้านในคณะกรรมการฯ ชุดที่ 5 |
|
2. การพัฒนากลไกในการพัฒนาการคุ้มครองงานที่รับไปทำที่บ้าน |
คณะกรรมการฯ ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่คณะกรรมการฯ มอบหมาย รวม 2 คณะ ดังนี้ 2.1) คณะอนุกรรมการพัฒนากฎหมายคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้านได้ดำเนินการประชุม 2 ครั้ง เพื่อพิจารณาในประเด็นสำคัญ ดังนี้ (1) เสนอแนะเพิ่มเติมการรับฟังความเห็น (ร่าง) พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ. 2553 (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และ (2) การปรับปรุง (ร่าง) พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และข้อเสนอแนะเพิ่มเติมจากการรับฟังความคิดเห็น (ร่าง) พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... 2.2) คณะอนุกรรมการด้านยุทธศาสตร์และขับเคลื่อนนโยบายการรับงานไปทำที่บ้าน ได้ดำเนินการประชุม 2 ครั้ง เพื่อพิจารณาในประเด็นสำคัญ ดังนี้ (1) การขับเคลื่อนการดำเนินงานส่งเสริม คุ้มครอง และพัฒนาการรับงานไปทำที่บ้าน ภายใต้แผนยุทธศาสตร์เสริมสร้างหลักประกันทางสังคมและขยายความคุ้มครองให้ทั่วถึงตามแผนปฏิบัติการด้านการบริหารจัดการแรงงานนอกระบบ พ.ศ. 2563 - 2565 และการเตรียมข้อมูลประกอบการบริหารจัดการแรงงานนอกระบบในแต่ละกลุ่มอาชีพให้ได้รับการคุ้มครอง มีหลักประกันทางสังคมและเข้าถึงสิทธิประโยชน์อย่างทั่วถึงตามเป้าประสงค์ของยุทธศาสตร์เสริมสร้างหลักประกันทางสังคมและขยายความคุ้มครองให้ทั่วถึง และ (2) (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการคุ้มครองการรับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ. 2566 - 2570 |
|
3. การส่งเสริมและพัฒนาผู้รับงานไปทำที่บ้าน |
คณะกรรมการฯ ได้ส่งเสริมและพัฒนาผู้รับงานไปทำที่บ้าน เพื่อให้มีความรู้ด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้อง มีอาชีพเสริมเพิ่มจากอาชีพหลัก มีรายได้ที่มั่นคง มีงานทำอย่างต่อเนื่อง สามารถเข้าถึงสวัสดิการแห่งรัฐ หลักประกันทางสังคมและสิทธิประโยชน์ตามที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความเข้มแข็งและยั่งยืน โดยมีการดำเนินกิจกรรมและโครงการต่างๆ เช่น 3.1) โครงการสร้างเครือข่ายการคุ้มครองแรงงานนอกระบบในสังคม สูงวัย โดยจัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายคุ้มครองแรงงานนอกระบบและให้มีช่องทางการติดต่อแบบสองทาง (Two way) เพื่อเป็นช่องทางในการติดต่อสื่อสาร แลกเปลี่ยนความรู้ ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับแรงงานนอกระบบระหว่างสมาชิกในเครือข่าย ตลอดจนสามารถเข้าถึงสิทธิต่างๆ ให้ได้รับการคุ้มครองอย่างทั่วถึงและเป็นธรรมซึ่งมีเป้าหมายเป็นแรงงานนอกระบบกลุ่มผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) และมีผู้เข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 468 คน 3.2) กิจกรรมส่งเสริมความปลอดภัยให้แก่เครือข่ายแรงงานนอกระบบ โดยส่งเสริมให้เครือข่ายแรงงานนอกระบบมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานและสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการดำรงชีวิตและถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องได้ ซึ่งมีเป้าหมายให้หน่วยปฏิบัติดำเนินการทั้ง 86 หน่วยงาน และมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมฯ จำนวน 2,564 คน 3.3) กิจกรรมสร้างความเข้มแข็งชมรมแรงงานนอกระบบ โดยจัดให้มีเวทีแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ด้านแรงงานนอกระบบของจังหวัดเพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดี รวมทั้งได้มีการจัดทำฐานข้อมูลชมรมแรงงานนอกระบบเพื่อใช้ในการบริหารจัดการและส่งเสริมแรงงานนอกระบบให้สอดคล้องกับบริบทในแต่ละพื้นที่ ซึ่งมีเป้าหมายให้เครือข่ายสมาชิกชมรมแรงงานนอกระบบทั้ง 76 จังหวัด และมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมฯ จำนวน 1,575 คน 3.4) กิจกรรมคัดเลือกบุคคลและเครือข่ายแรงงานนอกระบบดีเด่นประจำปี พ.ศ. 2565 เพื่อให้แรงงานนอกระบบได้ตระหนักถึงคุณค่าของตนเอง มุ่นมั่นพัฒนาความรู้ความสามารถให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสมและยั่งยืน พร้อมทั้งช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวหน้าสู่สากล โดยมีเป้าหมายให้ผู้จ้างงาน/นายจ้างแรงงานนอกระบบ และเครือข่ายแรงงานนอกระบบ ซึ่งมีผู้เข้ารับการคัดเลือก จำนวน 44 คน แบ่งเป็นประเภทผู้จ้างงาน/นายจ้าง จำนวน 8 คน ประเภทแรงงานนอกระบบ จำนวน 17 คน และประเภทเครือข่ายแรงงานนอกระบบ จำนวน 19 คน 3.5) กิจกรรมตรวจแรงงานนอกระบบ โดยดำเนินการในรูปแบบการตรวจแรงงานกลุ่มเป้าหมายในสถานประกอบการ/สำนักงานของนายจ้าง/ผู้จ้างงาน/ผู้ส่งมอบงานที่รับไปทำที่บ้าน/ตัวแทนหรือผู้รับเหมาในงานที่รับงานไปทำที่บ้าน สถานที่ทำงานของลูกจ้าง/ผู้รับงานไปทำที่บ้านรวมทั้งติดตามและประเมินผล ซึ่งมีผู้ที่ได้รับตรวจแล้ว จำนวน 302 คน 3.6) กิจกรรมตรวจแรงงานนอกระบบเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน กลุ่มลูกจ้างในงานเกษตรและลูกจ้างทำงานบ้านโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางหรือกลุ่มที่มีความเสี่ยงในการบังคับใช้แรงงานหรือบริการและการค้ามนุษย์ด้วยแรงงาน และเพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจและประชาสัมพันธ์กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้แรงงานหรือบริการและการค้ามนุษย์ด้วยแรงงานหรือการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย และมีผู้ที่ได้รับการตรวจแล้ว จำนวน 15,277 คน |
__________________________
1 ปัจจุบันผ่านการตรวจพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 9) ในวาระที่ 3 แล้ว ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีมีมติ (28 ธันวาคม 2564) อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตฯ ตามที่ รง. เสนอ และคณะกรรมการกฤษฎีกาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและคุ้มครองแรงงานอิสระ พ.ศ. ....”
2 ปัจจุบันผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายของ รง. ครบทุกมาตราแล้ว เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2566
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 16 ตุลาคม 2566
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A10538