ขอความเห็นชอบต่อข้อริเริ่มปักกิ่งเพื่อการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสายแถบและเส้นทาง
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Monday, 16 October 2023 23:47
- Hits: 1995
ขอความเห็นชอบต่อข้อริเริ่มปักกิ่งเพื่อการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสายแถบและเส้นทาง
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอดังนี้
1. เห็นชอบต่อข้อริเริ่มปักกิ่งเพื่อการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสายแถบและเส้นทาง
2. อนุมัติให้ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมลงนามในหนังสือแจ้งร่วมให้การสนับสนุน (co-sponsor) ต่อข้อริเริ่มปักกิ่งเพื่อการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสายแถบและเส้นทาง
3. หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงถ้อยคำในข้อริเริ่มฯ ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ขอให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้ง
ทั้งนี้ สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ขอให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิจารณาร่วมสนับสนุน (co-sponsor) ข้อริเริ่มปักกิ่งเพื่อการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสายแถบและเส้นทาง และแจ้งให้สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนทราบ ซึ่งจะมีการประกาศข้อริเริ่มฯ โดย H.E. Huang Runqiu รัฐมนตรีว่าการกระทรวงนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในระหว่างการประชุม High-Level Forum on Green Development ในวันที่ 18 ตุลาคม 2566
สาระสำคัญ
1. สาระสำคัญของข้อริเริ่มปักกิ่งเพื่อการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสายแถบและเส้นทาง เพื่อระลึกถึงคำมั่นระดับโลกทั้งในเรื่องวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 การดำเนินงานตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) และความตกลงปารีสตลอดจนอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพและกรอบงานความหลากหลายทางชีวภาพของโลก (GBF) รวมถึงให้ความสำคัญกับประเทศกำลังพัฒนาที่ควรได้รับการสนับสนุนที่เพียงพอทั้งกองทุน และการเพิ่มขีดความสามารถเพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายระดับโลก
2. ข้อริเริ่มปักกิ่งเพื่อการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสายแถบและเส้นทางเรียกร้องให้ทุกฝ่ายให้ความร่วมมือ ได้แก่ การหารืออย่างครอบคลุมและดำเนินงานเพื่อส่งเสริมนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาสีเขียวและปล่อยคาร์บอนต่ำ การตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งด้านการลดก๊าชเรือนกระจกและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การส่งเสริมการดำเนินงานของกรอบงานความหลากหลายทางชีวภาพของโลก โดยการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และการเรียนรู้เพื่อการเพิ่มขีดความสามารถ ผ่านการพัฒนากิจกรรมความร่วมมือในประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงส่งเสริมความร่วมมือด้านการปกป้องทางนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อม การควบคุมมลพิษ การแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ นโยบายและเทคโนโลยีการปกป้องสิ่งแวดล้อม การส่งเสริมการเชื่อมโยงโครงสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การก่อสร้างที่มีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปรับปรุงด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล การส่งเสริมความร่วมมือด้านพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การพัฒนาพลังงานที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ การตั้งเป้าหมายการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน การส่งเสริมความร่วมมือด้านการขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ แผนงานและมาตรฐานภาคการขนส่ง การส่งเสริมความร่วมมือด้านการเงินที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การใช้เครื่องมือทางการเงินเพื่อการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การแลกเปลี่ยนการลงทุนด้านภูมิอากาศ สนับสนุนการจัดตั้งหุ้นส่วนการลงทุนและการเงินเพื่อการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนส่งเสริมและสนับสนุนความร่วมมือในเวทีประชุมที่เกี่ยวข้องด้านการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
การร่วมสนับสนุน (co-sponsor) ข้อริเริ่มปักปิ่งเพื่อการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สายแถบและเส้นทาง จะทำให้ประเทศไทยได้รับการสนับสนุนจากสาธารณรัฐประชาชนจีนเพื่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและคาร์บอนต่ำ ผ่านกิจกรรมบนพื้นฐานความสมัครใจ ได้แก่ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์และการเรียนรู้เพื่อการเพิ่มขีดความสามารถ ตลอดจนการได้รับองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีการปกป้องสิ่งแวดล้อม การลดก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงประสบการณ์ในการดำเนินงานตามกรอบงานความหลากหลายทางชีวภาพของโลก การพัฒนาพลังงานที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ และการขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการใช้เครื่องมือทางการเงินเพื่อการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งสนับสนุนการดำเนินงานของประเทศไทยเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2065
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 16 ตุลาคม 2566
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A10527