รายงานผลการดำเนินงานของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประจำครึ่งแรกของปี พ.ศ. 2566
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 11 October 2023 03:02
- Hits: 1698
รายงานผลการดำเนินงานของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประจำครึ่งแรกของปี พ.ศ. 2566
คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานผลการดำเนินงานของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประจำครึ่งแรกของปี พ.ศ. 2566 ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
กค. รายงานว่า
1. เป้าหมายนโยบายการเงินสำหรับปี 2566 คณะรัฐมนตรีมีมติ (27 ธันวาคม 2565) อนุมัติให้ใช้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปช่วงร้อยละ 1-3 เป็นเป้าหมายนโยบายการเงินซึ่งมีความเหมาะสมภายใต้บริบทที่อัตราเงินเฟ้อมีความไม่แน่นอนสูงและมีความยืดหยุ่นเพียงพอสำหรับรองรับความผันผวนของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในระยะปานกลางและเอื้อให้ดำเนินนโยบายการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมา (เดือนเมษายน 2565-มีนาคม 2566) อยู่ที่ร้อยละ 5.86 ซึ่งสูงกว่าขอบบนของกรอบเป้าหมายนโยบายการเงินเนื่องจากอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานและหมวดอาหารสดเฉลี่ยเพิ่มขึ้น1
2. ภาวะและแนวโน้มเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และเสถียรภาพระบบการเงินในช่วงครึ่งแรกปี 2566
2.1 ภาวะเศรษฐกิจและแนวโน้ม เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่อเนื่อง จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นซึ่งส่งผลดีต่อการจ้างงาน รายได้แรงาน และการบริโภคภาคเอกชน ขณะที่การส่งออกฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปและคาดว่าจะขยายตัวดีขึ้นสอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ กนง. ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 3.6 และ 3.8 ในปี 2566 และ 2567 ตามลำดับ นอกจากนี้ การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะภาคบริการ ส่วนภาคการส่งออกซึ่งสินค้าปรับลดลงตั้งแต่ปลายปี 2565 ขณะนี้อยู่ในช่วงทยอยฟื้นตัว
2.2 ภาวะเงินเฟ้อและแนวโน้ม อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 2.5 และมีแนวโน้มกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายตามแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปทานที่ลดลง เนื่องจากการปรับลดลงของราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศและราคาอาหารสด รวมถึงการดำเนินมาตรการลดค่าไฟฟ้าเพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพจากภาครัฐ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 1.9 ลดลงจากช่วงครึ่งหลังของปี 2565 ที่ร้อยละ 3.1 ทั้งนี้ กนง. ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มทยอยปรับลดลงกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย โดยคาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 2.5 และ 2.4 ในปี 2566 และ 2567 ตามลำดับ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังทรงตัวในระดับสูง โดยคาดว่าในปี 2566 และ 2567 จะอยู่ที่ร้อยละ 2.0
2.3 เสถียรภาพระบบการเงินและภาวะการเงิน ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพแต่ยังเปราะบางในบางจุดโดยเฉพาะผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises: SMEs) และครัวเรือนรายได้น้อยที่มีหนี้ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม ระบบธนาคารพาณิชย์มีความมั่นคงและสามารถทำหน้าที่ตัวกลางกระจายสภาพคล่องเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้ต่อเนื่อง ส่วนภาวะการเงินโดยรวมผ่อนคลายลดลงและต้นทุนการกู้ยืมของภาคเอกชนมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นสอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยภาวะการเงินโดยรวมไม่เป็นอุปสรรคต่อการระดมทุนและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
3. การดำเนินนโยบายการเงิน
3.1 การดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ย กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องรวม 3 ครั้ง จากร้อยละ 1.25 ไปเป็นร้อยละ 2.0 โดย กนง. ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน ขณะที่การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังมีความเสี่ยงที่จะปรับสูงขึ้นจากแรงกดดันด้านอุปสงค์ในบริบทที่เศรษฐกิจขยายตัว ดังนั้น การทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายช่วยลดความเสี่ยงในการปรับเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อและยึดเหนี่ยวเงินเฟ้อคาดการณ์
3.2 การดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน เงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 เคลื่อนไหวผันผวนโดยเงินบาทปรับแข็งค่าขึ้นจากมุมมองเชิงบวกที่มีต่อการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวไทยก่อนจะเคลื่อนไหวผันผวนตามความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายการเงินของสหรัฐอเมริกา การอ่อนค่าของเงินหยวน และความกังวลต่อปัญหาสถาบันการเงินในสหรัฐอเมริกาและยุโรป ทั้งนี้ กนง. เห็นควรให้ติดตามพัฒนาการในตลาดการเงินและความผันผวนในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด รวมทั้งผลักดันการสร้างระบบนิเวศใหม่ของตลาดอัตราแลกเปลี่ยน (FX Ecosystem) อย่างต่อเนื่อง โดยมีการกำหนดแผนงานปี 2566 ได้แก่ (1) การสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้อย่างมีประสิทธิภาพ (2) การสนับสนุนให้นักลงทุนไทยไปลงทุนในต่างประเทศได้สะดวก และ (3) การสนับสนุนให้บริษัทและนักลงทุนต่างชาติทำธุรกรรมในไทยได้ง่ายขึ้น
3.3 การดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน กนง. ให้ความสำคัญกับการมีมาตรการเฉพาะจุดและแนวทางแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนสำหรับกลุ่มเปราะบางเนื่องจากฐานะการเงินของภาคธุรกิจโดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs และครัวเรือนบางกลุ่มมีความเปราะบางและอ่อนไหวต่อค่าครองชีพและภาระหนี้ที่สูงขึ้น นอกจากนี้ กนง. ได้ประชุมร่วมกับคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงินเพื่อติดตามและประเมินเสถียรภาพระบบการเงินไทยอย่างต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจจริง (Real Sector)2 และดูแลความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินของไทย
____________________
1ข้อมูลจากจดหมายเปิดผนึก ที่ ธปท.ฝนง.(02) 247/2566 ลงวันที่ 7 เมษายน 2566 เรื่อง ชี้แจงการเคลื่อนไหวของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมาสูงกว่าขอบบนของกรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน
2ภาคเศรษฐกิจจริง หมายถึง ภาคธุรกิจที่มีการผลิตสินค้าและบริการที่สามารถจับต้องได้โดยมีกลไกราคาเป็นเครื่องมือในการกำหนดอุปสงค์และอุปทานของสินค้าและบริการนั้น
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี 10 ตุลาคม 2566
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A10348