รายงานประจำครึ่งปี (มกราคม-มิถุนายน 2566) ของธนาคารแห่งประเทศไทย
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 11 October 2023 02:55
- Hits: 1554
รายงานประจำครึ่งปี (มกราคม-มิถุนายน 2566) ของธนาคารแห่งประเทศไทย
คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานประจำครึ่งปี (มกราคม-มิถุนายน 2566) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
กค. รายงานว่า
1. ภาวะเศรษฐกิจ
1.1 เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 ขยายตัวที่ร้อยละ 2.2 ชะลอตัวลงจากช่วงครึ่งหลังของปีก่อนที่ขยายตัวที่ร้อยละ 2.9 โดยการส่งออกบริการขยายตัวต่อเนื่องตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่องจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ส่วนการลงทุนภาคเอกชนชะลอตัวลงจากการลงทุนในเครื่องจักรและเครื่องมือ ขณะที่การส่งออกสินค้าหดตัวตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัวลงโดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรม และการใช้จ่ายภาครัฐหดตัวจากรายจ่ายเพื่อการบริโภคเป็นสำคัญ
1.2 อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐและดัชนีค่าเงินบาทโดยเฉลี่ยแข็งค่าขึ้นจากช่วงครึ่งหลังของปีก่อนซึ่งเป็นผลจากนักลงทุนคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาจะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายและการเปิดประเทศของสาธารณรัฐประชาชนจีนเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ตาม อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐในไตรมาสที่สองปรับอ่อนค่าลงตามเงินหยวนที่อ่อนค่าลงจากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนที่ต่ำกว่าการคาดการณ์
1.3 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 2.49 ลดลงจากร้อยละ 6.54 ในช่วงครึ่งหลังของปีก่อนตามอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงาน ประกอบกับราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกและมาตรการลดค่าไฟฟ้าภาครัฐชั่วคราว ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.87 ลดลงจากช่วงครึ่งหลังของปีก่อนที่ร้อยละ 3.14 จากผลของฐานสูงในปีก่อน ทั้งนี้ ควรติดตามการส่งผ่านต้นทุนที่อาจเพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของเศรษฐกิจโดยเฉพาะจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและราคาอาหารสดที่อาจสูงขึ้นหากปรากฏการณ์เอลนีโญทำให้เกิดภาวะภัยแล้งสูงกว่าที่คาดการณ์
1.4 เสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยอยู่ในเกณฑ์ดี โดยดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากที่ขาดดุล 5.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงครึ่งหลังของปีก่อน ขณะที่ดุลการค้าที่เกินดุลเพิ่มขึ้นจากมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ดีขึ้น
2. การดำเนินงานของ ธปท.
2.1 แนวทางการดำเนินงานและประเมินผลนโยบายการเงิน ประกอบด้วย
2.1.1 เป้าหมายนโยบายการเงิน คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กำหนดให้ใช้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงร้อยละ 1-3 เป็นเป้าหมายนโยบายการเงินด้านเสถียรภาพราคาสำหรับระยะปานกลางและสำหรับปี 2566
2.1.2 การดำเนินนโยบายการเงิน
(1) นโยบายอัตราดอกเบี้ยในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 กนง. ทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย รวม 3 ครั้ง จากร้อยละ 1.25 เป็นร้อยละ 2.00 ส่งผลให้ต้นทุนการกู้ยืมของภาคเอกชนทยอยปรับเพิ่มขึ้นแต่ไม่เป็นอุปสรรคต่อการระดมทุนโดยรวม ทั้งนี้ การทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะช่วยลดความเสี่ยงด้านสูงของเงินเฟ้อและยึดเหนี่ยวเงินเฟ้อคาดการณ์
(2) นโยบายอัตราแลกเปลี่ยน ค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 เคลื่อนไหวผันผวนตามความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายการเงินของสหรัฐอเมริกา การอ่อนค่าของเงินหยวน และความกังวลต่อปัญหาสถาบันการเงินในสหรัฐอเมริกาและยุโรป ทั้งนี้ กนง. จะติดตามพัฒนาการในตลาดการเงินและความผันผวนในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิดและผลักดัน การสร้างระบบนิเวศใหม่ของตลาดอัตราแลกเปลี่ยน (FX Ecosystem) อย่างต่อเนื่อง โดยได้กำหนดแผนงานปี 2566 ดังนี้ 1) ส่งเสริมการใช้สกุลเงินท้องถิ่น 2) สนับสนุนให้นักลงทุนไทยไปลงทุนในต่างประเทศ และ 3) สนับสนุนให้บริษัทและนักลงทุนต่างชาติทำธุรกรรมในไทย
(3) การรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน กนง. ให้ความสำคัญกับการมีมาตรการเฉพาะจุดและแนวทางแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนสำหรับกลุ่มเปราะบางเนื่องจากฐานะการเงินของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises: SMEs) และครัวเรือนบางกลุ่มมีความเปราะบางและอ่อนไหวต่อค่าครองชีพและภาระหนี้ที่สูงขึ้น
2.2 แนวทางการดำเนินงานและประเมินผลนโยบายสถาบันการเงิน
2.2.1 ด้านนโยบายกำกับสถาบันการเงิน และการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและเศรษฐกิจโดยรวม โดยมีการดำเนินการ เช่น (1) การปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสถาบันการเงินและผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-bank) โดยอยู่ระหว่างทบทวนขอบเขตการประกอบธุรกิจและรูปแบบการลงทุนของธนาคารพาณิชย์ และลด ละ เลิกหลักเกณฑ์ที่ไม่ชัดเจน (2) การพัฒนาการให้บริการทางการเงินแก่คนพิการ โดยกำหนดแนวปฏิบัติขั้นต่ำสำหรับการให้บริการทางการเงินแก่ลูกค้าผู้พิการอย่างเป็นธรรม (3) การกำกับดูแลภัยทุจริตทางการเงินเพื่อยกระดับภัยทุจริตทางการเงินให้เป็นความเสี่ยงสำคัญระดับองค์กรในสถาบันการเงินและเพื่อรองรับพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 และ (4) การกำหนดแนวทางแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่าง ธปท. สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาด้านเสถียรภาพของระบบการเงินและเศรษฐกิจโดยรวมได้
2.2.2 ด้านการพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ได้แก่ (1) การรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณชน เรื่อง แนวทางการขออนุญาตจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) และแนวทางดำเนินการระยะต่อไป โดยคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงินได้มอบหมายให้ ธปท. จัดทำ Consultation Paper ฉบับปรับปรุง เพื่อนำไปใช้ประกอบการจัดทำร่างประกาศกระทรวงการคลังในการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขออนุญาตจัดตั้ง Virtual Bank ต่อไป และ (2) การผลักดันให้สถาบันการเงินสนับสนุนภาคธุรกิจปรับตัวไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม โดย ธปท. ได้สื่อสารความคาดหวังที่ชัดเจนกับสถาบันการเงินเพื่อสนับสนุนให้สถาบันการเงินผนวกปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมในกระบวนการดำเนินธุรกิจและเร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่สนับสนุนการปรับตัวด้านสิ่งแวดล้อมแก่ภาคธุรกิจ
2.3 แนวทางการดำเนินงานและประเมินผลนโยบายระบบการชำระเงินเพื่อให้ระบบการชำระเงินของไทยมีประสิทธิภาพและมั่นคงปลอดภัยและมีการยกระดับการกำกับดูแลระบบการชำระเงินของประเทศให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล โดยมีการดำเนินงาน เช่น (1) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการชำระเงินที่สามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันและเชื่อมโยงกันได้ โดย ธปท. อยู่ระหว่างผลักดันการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินและการชำระเงินสำหรับภาคธุรกิจซึ่งได้ทดสอบการทำงานของระบบแล้วและคาดว่าจะสามารถให้บริการได้ภายในปี 2566 (2) การใช้ประโยชน์จากข้อมูลชำระเงินดิจิทัลผ่านการบูรณาการข้อมูลธุรกรรมชำระเงินของภาคการเงินและภาครัฐ โดย ธปท. ได้ดำเนินโครงการนำร่องการบูรณาการข้อมูลธุรกรรมการชำระเงินในระดับรายธุรกรรมระยะที่สอง โดยจะรวบรวมข้อมูลรายธุรกรรมของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 5 แห่ง และนำมาวิเคราะห์เพื่อสนับสนุนการจัดทำนโยบายการชำระเงินและพัฒนาบริการทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ (3) การสร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการแข่งขันของผู้ให้บริการชำระเงินและใช้เทคโนโลยีใหม่พัฒนานวัตกรรมบริการชำระเงินในประเทศและระหว่างประเทศ โดย ธปท. ได้ผลักดันให้ธนาคารพาณิชย์ 5 แห่ง เข้าร่วมให้บริการ QR Code แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ 6 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนาม มาเลเซีย สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ และสาธารณรัฐสิงคโปร์ และได้ร่วมกับธนาคารกลางของประเทศกลุ่มอาเซียน-5 ได้แก่ ไทย สาธารณรัฐอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ ลงนามในข้อตกลงเกี่ยวกับการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินรายย่อยแบบทันทีระหว่างประเทศแบบพหุภาคี (4) การยกระดับการให้ความรู้การใช้งานการชำระเงินดิจิทัลอย่างปลอดภัย โดย ธปท. อยู่ระหว่างจัดทำแผนงานให้ความรู้เรื่องภัยการเงิน และ (5) การออกหลักเกณฑ์การกำกับดูแลที่ยืดหยุ่นรองรับความเสี่ยงใหม่ โดย ธปท. ได้ออกแนวนโยบายการป้องกันภัยทุจริตจากการทำธุรกรรมทางการเงิน ซึ่งได้ประกาศและมีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2566 และอยู่ระหว่างปรับปรุง และ/หรือออกประกาศหลักเกณฑ์ภายใต้พระราชบัญญัติระบบการชำระเงิน พ.ศ. 2560
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี 10 ตุลาคม 2566
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A10347