แนวทางการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 11 October 2023 02:22
- Hits: 2020
แนวทางการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม
คณะรัฐมนตรีรับทราบแนวทางการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเสนอ และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างต่อเนื่องตามอำนาจและหน้าที่ต่อไป
ข้อเท็จจริง
เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2566 นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายภูมิธรรม เวชยชัย) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า) รับฟังปัญหาความเดือดร้อนของกลุ่มขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม โดยได้รับฟังปัญหาความเดือดร้อนของกลุ่มขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม และชี้แจงทำความเข้าใจถึงนโยบายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหา ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติเป็นเจ้าภาพหลักในการประชุมหารือร่วมกับกลุ่มขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม เพื่อกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกันต่อไป ต่อมา เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2566 รองนายกรัฐมนตรีรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี (นายภูมิธรรม เวชยชัย) ได้มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า) และผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้องประชุมร่วมกับตัวแทนกลุ่มขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม เพื่อพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาตามข้อเรียกร้องของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม และให้นำแนวทางการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อโปรดทราบและมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาตามหน้าที่และอำนาจต่อไป
การดำเนินการ
สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้สรุปผลการการพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาตามข้อเรียกร้องของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ตามที่ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องได้ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาและร่วมประชุมหารือกับตัวแทนกลุ่มขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมที่เดินทางมาปักหลักชุมนุมเรียกร้องขอให้รัฐบาลพิจารณาแก้ไขปัญหา สรุปได้ดังนี้
1. รับทราบข้อเสนอเชิงนโยบาย 10 ด้าน โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับข้อเสนอเชิงนโยบายของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมไปพิจารณาแนวทางดำเนินการต่อไปดังนี้
ลำดับ |
ข้อเสนอเชิงนโยบาย |
หน่วยงานที่รับผิดชอบ |
|
1 |
ด้านสิทธิ เสรีภาพ และประชาธิปไตย เช่น การทบทวนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช .... และเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน |
คณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการจัดทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 |
|
2 |
ด้านการกระจายอำนาจ เช่น การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดโดยตรง เพื่อปฏิรูปการปกครองส่วนท้องถิ่น โดยกระจายอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่น ด้านการจัดการฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บนหลักการสิทธิชุมชน และด้านงบประมาณ |
- กระทรวงมหาดไทย - คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น |
|
3 |
ด้านนโยบายการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมให้ประชาชนมีส่วนร่วมและเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างเท่าเทียม รวมทั้งออกกฎหมายว่าด้วยการนิรโทษกรรมแก่ราษฎร ซึ่งได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบจากการดำเนินการตามนโยบายของรัฐ พ.ศ. …. |
- กระทรวงยุติธรรม - สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี - สำนักงานกองทุนยุติธรรม |
|
4 |
ด้านนโยบายที่ดินและการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม เช่น เสนอให้มีการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม ทบทวนแนวทางการจัดที่ดินภายใต้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษจะต้องคุ้มครองวิถีชีวิตและระบบเศรษฐกิจชุมชนท้องถิ่น ทบทวนพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 กับคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรมโฉนดชุมชนคลองโยง/สหกรณ์ที่ดินคลองโยง จำกัด และขอให้ทบทวนนโยบายการเปลี่ยนที่ดินสํานักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เป็นโฉนด รวมทั้งทบทวนรูปแบบการดำเนินงานของสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน |
- กระทรวงมหาดไทย - กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม - กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ - กระทรวงวัฒนธรรม - กระทรวงคมนาคม - กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ - สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ - คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น - กรมทางหลวงชนบท |
|
5 |
นโยบายการจัดการทรัพยากร เสนอให้ยกเลิกนโยบายทวงคืนผืนป่าอันเกิดจากแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 และทบทวนมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 เรื่องมาตรการและแนวทางการแก้ไขปัญหาชุมชนในพื้นที่ป่าไม้ทุกประเภท ทบทวนแผนการเพิ่มพื้นที่ป่า 40% โดยบังคับให้ราษฎรต้องสูญเสียที่ดินตามนโยบายดังกล่าว และทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562 รวมถึงกฎหมายลำดับรองประกอบกฎหมายทั้ง 3 ฉบับ รวมทั้งทบทวนนโยบายคาร์บอนเครดิต |
- กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม - คณะกรรมการนโยบายป่าไม้แห่งชาติ - สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ |
|
6 |
ด้านนโยบายป้องกันภัยพิบัติ เช่น การกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมมือกับชุมชนในการเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติการบริหารจัดการในภาวะวิกฤตและการฟื้นฟูเยียวยา ส่งเสริมการจัดการภัยพิบัติโดยชุมชนท้องถิ่น ในรูปแบบ 1 ท้องถิ่น 1 ศูนย์ภัยพิบัติ และปรับปรุงพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย พ.ศ. 2550 |
กระทรวงมหาดไทย |
|
7 |
ด้านนโยบายการคุ้มครองชาติพันธุ์และสิทธิความเป็นมนุษย์ เช่น เสนอให้มีคณะกรรมการขับเคลื่อนการฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลและชาวกะเหรี่ยง ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2553 และมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 โดยขอให้มีมติคณะรัฐมนตรีรับรอง เพื่อให้สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง โดยให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม และขอให้เร่งรัดการออกพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิและส่งเสริม วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. .... และพระราชบัญญัติสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย พ.ศ. .... |
- กระทรวงมหาดไทย - กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม - กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ - กระทรวงวัฒนธรรม - กระทรวงสาธารณสุข - กระทรวงศึกษาธิการ - กระทรวงการคลัง (กรมธนารักษ์) - กระทรวงคมนาคม (กรมเจ้าท่า) - กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา - สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ - สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน - สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) - ศูนย์มานุษยวิทยาสิริธร (องค์การมหาชน) |
|
8 |
ด้านนโยบายสิทธิและสถานะบุคคล เช่น เสนอให้มีให้มีกลไกระดับนโยบาย ระดับจังหวัด ระดับอำเภอเพื่อแก้ไขปัญหาด้านสิทธิสถานะบุคคลของคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ กลุ่มชาติพันธุ์ ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยต่อเนื่องมายาวนานเป็นการเร่งด่วน แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ปัญหาสิทธิสถานะเป็นกรรมการกลางที่มีผู้ทรงคุณวุฒิภาคประชาชน องค์กรพัฒนาเอกชน เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะกลุ่มปัญหาอย่างเร่งด่วน และจัดตั้งกองทุนพัฒนาคุณภาพชีวิตของกลุ่มคนที่รอการแก้ปัญหา และการเข้าถึงระบบการรักษาพยาบาลขั้นพื้นฐาน รวมทั้งตั้งสำนักกิจการด้านสิทธิสถานะบุคคล โดยกรมการปกครอง |
- กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ - กระทรวงยุติธรรม - สภาความมั่นคงแห่งชาติ - กรมการปกครอง - สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ |
|
9 |
ด้านนโยบายรัฐสวัสดิการ เสนอให้มีการจัดระบบรัฐสวัสดิการให้ครอบคลุมสวัสดิการเด็กและเยาวชน การศึกษา ระบบสุขภาพ ที่อยู่อาศัยและที่ดิน งานและรายได้ ประกันสังคม ระบบบำนาญ สิทธิทางสังคมพหุวัฒนธรรมประชากรกลุ่มเฉพาะ และระบบภาษีและงบประมาณ |
- กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ - กระทรวงศึกษาธิการ - กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม - กระทรวงสาธารณสุข - กระทรวงแรงงาน - กระทรวงการคลัง - กระทรวงมหาดไทย - สำนักงบประมาณ - กรมส่งเสริมองค์กรปกครองท้องถิ่น - กรมส่งเสริมการเรียนรู้ - กรมบัญชีกลาง - กรมสรรพากร - สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง - สำนักงานประกันสังคม - สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ - กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา - การเคหะแห่งชาติ - สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) - คณะกรรมการค่าจ้าง - คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ - คณะกรรมการส่งเสริมเด็กและเยาวชนแห่งชาติ |
|
10 |
ด้านที่อยู่อาศัย รัฐบาลต้องมีนโยบายให้กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานที่ดูแลที่ดินของรัฐ ให้แบ่งปันที่ดินเพื่อแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนเมือง โดยต้องมีนโยบายที่ชัดเจนเพื่อไม่ให้หน่วยงานของรัฐใช้มาตรการทางกฎหมายดำเนินการไล่รื้อชุมชน แต่ควรใช้กระบวนการพูดคุยหาทางออกในการแก้ไขปัญหาร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและประชาชน และขอให้คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาของภาครัฐ ได้รับงบประมาณสนับสนุนในการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย เช่นเดียวกับโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยริมคลองลาดพร้าวและคลองเปรมประชากร รวมทั้งทบทวน การเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ดินแบบแปลงรวม ที่ประชาชนรวมกลุ่มกันซื้อหรือเช่าที่ดินมาบริหารร่วมกัน โดยให้คิดเกณฑ์การชำระภาษีกับรายแปลงย่อยของแต่ละครัวเรือนตามที่ครอบครองจริง |
- กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ - กระทรวงคมนาคม - กระทรวงมหาดไทย - กระทรวงคมนาคม - กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ - กรมส่งเสริมสหกรณ์ - กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ - สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน - การรถไฟแห่งประเทศไทย - การไฟฟ้านครหลวง - การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค - การประปานครหลวง - การประปาภูมิภาค - สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) |
2. เห็นชอบให้ใช้กลไกคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาต่างๆ โดยมีรองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นรองประธานกรรมการ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายกองตรี ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์) ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี (นายชลธิศ สุรัสวดี) ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายธนสาร ธรรมสอน) รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ที่ได้รับมอบหมาย อัยการสูงสุด ปลัดกระทรวง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้แทนขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมเป็นกรรมการ รวมทั้ง รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย เป็นกรรมการและเลขานุการ มีหน้าที่และอำนาจในการกำหนดนโยบาย แนวทาง มาตรการ และงบประมาณ ดำเนินการแก้ไขปัญหาตามข้อเสนอของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม อำนวยการ เร่งรัดการดำเนินการและตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่ รวมทั้งติดตามผลการดำเนินการของหน่วยงานของรัฐ และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหา
ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี (นายภูมิธรรม เวชยชัย) ได้ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 269/2566 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ลงวันที่ 9 ตุลาคม 2566
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี 10 ตุลาคม 2566
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A10341