WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

การรับรองเอกสารข้อริเริ่มปักกิ่งว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศด้านเศรษฐกิจดิจิทัลภายใต้กรอบสายแถบและเส้นทาง และการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งราชอาณาจักรไทย และสำนักงานข้อมูลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ว่าด้วยการส่งเสริ

Gov ภูมิธรรม02

การรับรองเอกสารข้อริเริ่มปักกิ่งว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศด้านเศรษฐกิจดิจิทัลภายใต้กรอบสายแถบและเส้นทาง และการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งราชอาณาจักรไทย และสำนักงานข้อมูลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัล

          คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดส.) เสนอดังนี้

          1. เห็นชอบเอกสารข้อริเริ่มปักกิ่งว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศด้านเศรษฐกิจดิจิทัลภายใต้กรอบสายแถบและเส้นทาง และร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งราชอาณาจักรไทย และสำนักงานข้อมูลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัล ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องปรับปรุงถ้อยคำที่มิใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ขอให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก

          2. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือผู้แทนที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมมอบหมาย ร่วมรับรองเอกสารข้อริเริ่มฯ และลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจฯ ตามข้อ 1

          สาระสำคัญ

          สาธารณรัฐประชาชนจีนกำหนดจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative for International Cooperation Forum: BRF) ครั้งที่ 3 และการประชุม High-Level Forum on Digital Economy ระหว่างวันที่ 17 - 18 ตุลาคม 2566 ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมมีกำหนดการเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว ทั้งนี้ ในระหว่างการประชุม BRF ครั้งที่ 3 สาธารณรัฐประชาชนจีน ได้เสนอให้ประเทศที่เข้าร่วมการประชุมร่วมรับรองเอกสารข้อริเริ่มปักกิ่งว่าด้วยความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัลระหว่างประเทศภายใต้กรอบสายแถบและเส้นทาง (Beijing Initiative on the Belt and Road International Digital Economy Cooperation) และลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งราชอาณาจักรไทย และสำนักงานข้อมูลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัล (Memorandum of Understanding Between The Ministry of Digital Economy and Society of the Kingdom of Thailand And The National Data Administration of the People’s Republic of China) โดยสาระสำคัญของเอกสารดังกล่าว มีรายละเอียด ดังนี้

          1. เอกสารข้อริเริ่มฯ

               1.1 เป็นเอกสารที่ระบุถึงเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่มีความสำคัญมากขึ้น รวมถึงมีบทบาทสำคัญในการเร่งการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ยกระดับการผลิตของอุตสาหกรรมต่างๆ พัฒนาตลาดและอุตสาหกรรมใหม่ๆ และช่วยให้บรรลุการเติบโตที่ครอบคลุมและยั่งยืน เพื่อขยายความร่วมมือในสาขาเศรษฐกิจดิจิทัล โดยคำนึงถึงหลักการเรื่องการเชื่อมโยงระหว่างกัน นวัตกรรม การเปิดกว้าง ความสามัคคีและความไม่แบ่งแยกผลประโยชน์ร่วมกัน และความร่วมมือแบบได้ประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย (win-win cooperation)

               1.2 เอกสารข้อริเริ่มประกอบด้วยประเด็นความร่วมมือสาขาต่างๆ ได้แก่ การเสริมสร้างการเชื่อมต่อโครงข่ายดิจิทัล การส่งเสริมความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัล การประสานงานเพื่อการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัลและการพัฒนาแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การพัฒนาและความร่วมมือด้านการค้าดิจิทัลและความเป็นผู้ประกอบการ การส่งเสริมการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม การส่งเสริมทักษะดิจิทัล ความเข้าใจและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล การส่งเสริมการลงทุน ด้านเทคโนโลยี และการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างเมืองในมิติเศรษฐกิจดิจิทัล

          2. ร่างบันทึกความเข้าใจฯ

               มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ของสหประชาชาติ และส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของทั้งสองประเทศระหว่างไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างต่อเนื่อง และเน้นย้ำเป้าหมายการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัล โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

               2.1 ขอบเขตความร่วมมือภายใต้บันทึกความเข้าใจฯ ดังนี้

                    1) ทั้งสองฝ่ายจะส่งเสริมการประสานงานด้านนโยบายดิจิทัล เสริมสร้างการประสานงานและความร่วมมือในการพัฒนากลยุทธ์สำหรับการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัล ประสานงานการวางแผนและการดำเนินการตามนโยบายที่เกี่ยวข้อง เสริมสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกันเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลและพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลให้เกิดความครอบคลุมมากขึ้น

                    2) ทั้งสองฝ่ายจะยกระดับนวัตกรรมและการนำใช้เทคโนโลยีดิจิทัลกระชับความร่วมมือด้านนวัตกรรมในสาขาต่างๆ อาทิ ข้อมูลขนาดใหญ่ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร คลาวด์คอมพิวติ้ง เทคโนโลยีบล็อกเชน และปัญญาประดิษฐ์ พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการด้านการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัลอย่างครอบคลุม และหาโซลูชั่นทางเทคโนโลยีที่ไม่ซับซ้อนและสร้างสรรค์มากขึ้น

                    3) ทั้งสองฝ่ายจะส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัลในอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิมโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ได้แก่ เกษตรกรรม การผลิต และบริการ และการนำความร่วมมือในรูปแบบใหม่ไปใช้ในอตุสาหกรรมสาขาใหม่ ได้แก่ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และการชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ

                    4) ทั้งสองฝ่ายจะสร้างแพลตฟอร์มระดับภูมิภาคสำหรับนำเสนอความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัล กระชับความร่วมมือในการสร้างเมืองอัจฉริยะและเขตอุตสาหกรรม (Industrial park)

               2.2 การดำเนินการ และความรับผิดชอบ

                    1) ทั้งสองฝ่ายจะให้การสนับสนุนความร่วมมือระหว่างสถาบันที่เกี่ยวข้อง เช่น มหาวิทยาลัย รัฐวิสาหกิจ และสถาบันวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

                    2) ทั้งสองฝ่ายจะสนับสนุนภูมิภาคที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการแลกเปลี่ยนข้อมูล และความร่วมมือ

                    3) ทั้งสองฝ่ายจะสนับสนุนผู้ประกอบการดิจิทัลและแพลตฟอร์มในการดำเนินการแลกเปลี่ยนข้อมูล และประสานงานความร่วมมือ

                    4) ความร่วมมือต่างๆ ภายใต้บันทึกความเข้าใจฯ ฉบับนี้ จะสอดคล้องกับกฎหมายภายในประเทศของผู้เข้าร่วมทั้งสองฝ่าย ภายใต้หลักการต่างตอบแทน และปฏิบัติตามสิทธิในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาภายใต้อนุสัญญาระหว่างประเทศที่ทั้งสองประเทศได้ให้ภาคยานุวัติ

                    5) บันทึกความเข้าใจฯ ฉบับนี้จะดำเนินการตามทรัพยากรที่มีอยู่ของทั้งสองประเทศ

          การจัดทำความร่วมมือระหว่างประเทศด้านเศรษฐกิจดิจิทัลตามเอกสารข้อริเริ่มฯ และการลงนามบันทึกความเข้าใจฯ มีความสอดคล้องกับนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. 2561 - 2580 และนโยบายของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของประเทศไทยและรองรับเป้าหมายการเพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัลในการสร้างข้อได้เปรียบในการแข่งขันของประเทศ การสร้างความมั่นคงปลอดภัยของเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล และการเพิ่มศักยภาพทุนมนุษย์ของประเทศด้านดิจิทัล นอกจากนี้ ยังเป็นการส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือทั้งด้านการค้า การบริการ และการลงุทน รวมถึงเป็นการกระชับความสัมพันธ์และมิตรภาพระหว่างไทยและจีนให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี 10 ตุลาคม 2566

สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396

 

 

A10332

Click Donate Support Web 

Banner GPF720x100 PX

CKPower 720x100

MTL 720x100

kasat 720x100TOA 720x100

QIC 720x100

วิริยะ 720x100

AXA 720 x100

aia 720 x100

BKI 720 x 100

PTG 720x100

iconmotor

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!