กรอบและงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจประจำปีงบประมาณ 2567
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 27 September 2023 01:04
- Hits: 1880
กรอบและงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจประจำปีงบประมาณ 2567
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและรับทราบตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอดังนี้
1. เห็นชอบกรอบและงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจประจำปีงบประมาณ 2567 วงเงินดำเนินการ จำนวน 1,380,624 ล้านบาท และวงเงินเบิกจ่ายลงทุน จำนวน 258,985 ล้านบาท ประกอบด้วย (1) กรอบการลงทุนสำหรับงานตามภารกิจปกติและโครงการต่อเนื่อง วงเงินดำเนินการ จำนวน 1,180,624 ล้านบาท และวงเงินเบิกจ่ายลงทุน จำนวน 208,985 ล้านบาท และ (2) กรอบการลงทุนสำหรับการเพิ่มเติมระหว่างปี วงเงินดำเนินการ จำนวน 200,000 ล้านบาท และวงเงินเบิกจ่ายลงทุน จำนวน 50,000 ล้านบาท สำหรับโครงการที่ยังไม่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี และการลงทุนที่ใช้เงินงบประมาณตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ให้ดำเนินการได้เมื่อได้รับอนุมัติตามขั้นตอนแล้ว ทั้งนี้ กำหนดเป้าหมายให้รัฐวิสาหกิจเบิกจ่ายลงทุนไม่น้อยกว่า ร้อยละ 95 ของกรอบวงเงินอนุมัติให้เบิกจ่ายลงทุน
2. เห็นชอบให้ สศช. ปรับวงเงินลงทุนของรัฐวิสาหกิจประจำปีงบประมาณ 2567 ให้สอดคล้องกับผลการจัดสรรงบประมาณตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 รวมถึงงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม งบกลาง หรืองบประมาณที่ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตามหลักเกณฑ์และวิธีการงบประมาณหรือได้รับความเห็นชอบจากสำนักงบประมาณ (สงป.) แล้ว และปรับเพิ่มกรอบวงเงินดำเนินการและกรอบวงเงินเบิกจ่ายลงทุนให้สอดคล้องกับการอนุมัติการลงทุนเพิ่มเติมตามมติคณะรัฐมนตรี เพื่อให้รัฐวิสาหกิจสามารถดำเนินการได้ทันทีภายในปีงบประมาณ
3. มอบหมายให้สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒนาฯ) โดยประธานสภาพัฒนาฯ เป็นผู้พิจารณาอนุมัติการเปลี่ยนแปลงงบลงทุนระหว่างปีในส่วนงบลงทุนเพื่อการดำเนินงานปกติและโครงการต่อเนื่องที่การเปลี่ยนแปลงไม่มีผลกระทบต่อสาระสำคัญและกรอบวงเงินโครงการที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติไว้แล้ว
4. เห็นชอบข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ระดับกระทรวง และระดับรัฐวิสาหกิจ โดยให้กระทรวงเจ้าสังกัดและรัฐวิสาหกิจรับข้อเสนอแนะในส่วนที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาดำเนินการ และให้รัฐวิสาหกิจรายงานผลความก้าวหน้าของการดำเนินงานและการลงทุนปี 2567 ให้ สศช. ทราบภายในทุกวันที่ 5 ของเดือนอย่างเคร่งครัด รวมทั้งรายงานผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะและความก้าวหน้าการดำเนินโครงการลงทุนทุกไตรมาส เพื่อประโยชน์ในการติดตามประเมินผลการดำเนินงานและการลงทุนของรัฐวิสาหกิจได้อย่างต่อเนื่อง
5. รับทราบประมาณการงบทำการประจำปีงบประมาณ 2567 ที่คาดว่าจะมีกำไรสุทธิประมาณ 76,756 ล้านบาท และประมาณการแนวโน้มการดำเนินงานช่วงปี 2568 – 2570 ของรัฐวิสาหกิจในเบื้องต้นที่คาดว่าจะมีการลงทุนเฉลี่ยประมาณปีละ 376,367 ล้านบาท และผลประกอบการจะมีกำไรสุทธิเฉลี่ยประมาณปีละ 83,443 ล้านบาท
สาระสำคัญของเรื่อง
สศช. รายงานว่า รัฐวิสาหกิจ จำนวน 46 แห่ง1ภายใต้สังกัด 15 กระทรวง ได้ส่งข้อเสนองบลงทุนประจำปีงบประมาณ 2567 ให้ สศช. ซึ่งสภาพัฒนาฯ ได้กำหนดแนวทางสำหรับกลั่นกรองการลงทุนของรัฐวิสาหกิจประจำปีงบประมาณ 2567 ประกอบด้วย 3 แนวทางหลัก ได้แก่ (1) ความสอดคล้องกับสถานการณ์ แนวนโยบายที่สำคัญของภาครัฐ และกรอบทิศทางการพัฒนาประเทศโดยเฉพาะกรอบนโยบายของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 โดยมีสาระสำคัญ อาทิ หมุดหมายที่ 1 ไทยเป็นประเทศชั้นนำด้านสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง หมุดหมายที่ 4 ไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง และหมุดหมายที่ 7 ไทยมีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่เข้มแข็ง มีศักยภาพสูง และสามารถแข่งขันได้ (2) ความจำเป็นในการลงทุน โดยพิจารณาการลงทุนตามภารกิจและภาระผูกพัน วัตถุประสงค์การจัดตั้งของรัฐวิสาหกิจ และ (3) ความพร้อมในการลงทุนทั้งด้านกายภาพ ฐานะทางการเงิน ตลอดจนการพิจารณาปัจจัยเสี่ยงจากความผันผวนทางเศรษฐกิจ ภาวะอุตสาหกรรม และวิกฤติการณ์ต่างๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ ทั้งนี้ สภาพัฒนาฯ ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณางบลงทุนประจำปีของรัฐวิสาหกิจ2 เพื่อพิจารณารายละเอียดข้อเสนอดังกล่าวก่อนเสนอสภาพัฒนาฯ พิจารณา รวมทั้งได้เชิญผู้แทนกระทรวงเจ้าสังกัดเข้าร่วมพิจารณาด้วย โดยในคราวประชุมเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2566 สภาพัฒนาฯ มีมติ ดังนี้
1. งบลงทุน
เห็นชอบกรอบและงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจประจำปีงบประมาณ 2567 วงเงินดำเนินการ3 จำนวน 1,380,624 ล้านบาท และวงเงินเบิกจ่ายลงทุน4 จำนวน 258,985 ล้านบาท ประกอบด้วย (1) กรอบการลงทุนสำหรับงานตามภารกิจปกติและโครงการต่อเนื่อง (วงเงินดำเนินการ จำนวน 1,180,624 ล้านบาท และวงเงินเบิกจ่ายลงทุน จำนวน 208,985 ล้านบาท) และ (2) กรอบการลงทุนสำหรับการเพิ่มเติมระหว่างปี (วงเงินดำเนินการ จำนวน 200,000 ล้านบาท และวงเงินเบิกจ่ายลงทุน จำนวน 50,000 ล้านบาท) โดยส่วนใหญ่เป็นการเบิกจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจด้านพลังงาน [กระทรวงพลังงาน (พน.) และกระทรวงมหาดไทย (มท.)] คิดเป็นร้อยละ 43.2 และรัฐวิสาหกิจด้านคมนาคมขนส่ง คิดเป็นร้อยละ 34.6 ของวงเงินเบิกจ่ายลงทุนในภาพรวม ทั้งนี้ สภาพัฒนาฯ ได้มีมติปรับปรุงการลงทุนจากที่รัฐวิสาหกิจเสนอมาเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ความจำเป็นและความพร้อมในการลงทุน โดยพิจารณาจากความจำเป็นในการดำเนินงานตามภารกิจหลัก และความพร้อมในการลงทุนของรัฐวิสาหกิจทั้งด้านประสิทธิภาพการดำเนินงาน การรออนุมัติ/อนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ฐานะการเงิน และผลการดำเนินงานที่ผ่านมา รวมถึงได้มีการปรับลดการลงทุนที่เข้าข่ายเป็นโครงการใหม่ที่จำเป็นต้องรอการอนุมัติตามขั้นตอนการดำเนินการจำนวน 31 โครงการ เช่น โครงการอาคารเช่าสำหรับผู้มีรายได้น้อย ปี 2567 – 2571 ของการเคหะแห่งชาติ (กคช.) โครงการปรับปรุงและขยายระบบส่งไฟฟ้าที่เสื่อมสภาพตามอายุการใช้งานระยะที่ 3 ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โครงการปรับปรุงและขยายระบบจำหน่ายพลังไฟฟ้า ระยะที่ 13 ของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และโครงการระบบมิเตอร์อัจฉริยะ ระยะที่ 1 ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เป็นต้น โดยรายละเอียดกรอบและงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจประจำปีงบประมาณ 2567 ในภาพรวม ปรากฏตามตารางดังต่อไปนี้
หน่วย : ล้านบาท
ประเภทการลงทุน |
ข้อเสนอ |
ผลการพิจารณาของสภาพัฒนาฯ |
ปรับเพิ่ม (ลด) |
|||
ดำเนินการ |
เบิกจ่าย |
ดำเนินการ |
เบิกจ่าย |
ดำเนินการ |
เบิกจ่าย |
|
(1) งบปกติ5 |
311,640 |
91,187 |
306,419 |
88,552 |
(5,221) |
(2,635) |
(2) งบโครงการ6 |
961,982 |
136,101 |
855,433 |
117,021 |
(106,549) |
(19,080) |
(3) สัญญาเช่า (TFRS16)7 |
18,772 |
3,413 |
18,772 |
3,412 |
0.04 |
(1) |
รวม [(1) ถึง (3)] |
1,292,394 |
230,701 |
1,180,624 |
208,9858 |
(111,770) |
(21,716) |
(4) กรอบสำหรับเพิ่มเติมระหว่างปี9 |
- |
- |
200,000 |
50,000 |
- |
- |
รวม [(1) ถึง (4)] |
1,292,394 |
230,701 |
1,380,624 |
258,985 |
(111,770) |
(21,716) |
ทั้งนี้ เมื่อรวมการลงทุนของรัฐวิสาหกิจประเภทบริษัทจำกัดและบริษัทมหาชนจำกัดและบริษัทในเครือ จำนวน 5 แห่ง10 (รวมรัฐวิสาหกิจทั้งหมด 51 แห่ง) แล้ว ทำให้ในภาพรวมจะมีการลงทุนตามภารกิจปกติและโครงการต่อเนื่องในปี 2567 ประกอบด้วย วงเงินดำเนินการ จำนวน 1,528,028 ล้านบาท และวงเงินเบิกจ่ายลงทุน จำนวน 449,950 ล้านบาท โดยมีรายละเอียดปรากฏตามตารางดังต่อไปนี้
หน่วย : ล้านบาท
ประเภทการลงทุน |
ดำเนินการ |
เบิกจ่าย |
งบลงทุนเฉพาะรัฐวิสาหกิจ จำนวน 46 แห่ง รวม [(1) ถึง (3)] |
1,180,624 |
208,985 |
งบลงทุนของรัฐวิสาหกิจประเภทบริษัทมหาชนและบริษัทในเครือ จำนวน 5 แห่ง |
347,404 |
240,965 |
ภาพรวมงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ จำนวน 51 แห่ง |
1,528,028 |
449,950 |
สำหรับโครงการที่ยังไม่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี และการลงทุนที่ใช้งบประมาณตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ให้รัฐวิสาหกิจดำเนินการได้เมื่อได้รับอนุมัติตามขั้นตอนแล้ว รวมทั้งให้รัฐวิสาหกิจเบิกจ่ายลงทุนไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ของวงเงินอนุมัติเบิกจ่ายลงทุน
2. งบทำการ
รับทราบงบประมาณทำการประจำปีงบประมาณ 2567 ที่คาดว่าจะมีกำไรสุทธิ จำนวน 76,756 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ประมาณร้อยละ 51.211 โดยมีรายได้รวม 2,247,541 ล้านบาท และรายจ่ายรวม 2,170,785 ล้านบาท อย่างไรก็ดี คณะอนุกรรมการพิจารณางบลงทุนประจำปีของรัฐวิสาหกิจ มีข้อสังเกตว่าเมื่อดำเนินการจริงแล้วงบทำการของรัฐวิสาหกิจในปีงบประมาณ 2567 อาจเปลี่ยนแปลงไปตามสมมติฐานและปัจจัยเสี่ยงที่เกิดจาก (1) สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ (2) ความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านราคาพลังงาน (3) ความสามารถในการดำเนินตามแผนธุรกิจ (4) ผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ (5) ความผันผวนของราคาสินค้าด้านการเกษตร อาทิ ยางพารา และ (6) การจัดสรรเงินงบประมาณเพื่ออุดหนุนการดำเนินงานเมื่อพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ประกาศใช้ โดยมีรายละเอียดปรากฏตามตารางดังต่อไปนี้
หน่วย : ล้านบาท
งบทำการ |
ปี 2566 (เบื้องต้น) |
ปี 2567 (ประมาณการ) |
ร้อยละเพิ่ม (ลด) จากปี 2566 |
ประมาณการรายได้รวม |
2,155,202 |
2,247,541 |
4.3 |
ประมาณการรายจ่ายรวม |
2,104,445 |
2,170,785 |
3.2 |
ประมาณการกำไร (ขาดทุน) สุทธิ |
50,757 |
76,756 |
51.2 |
3. แนวโน้มการดำเนินงานปี 2568 – 2570
รับทราบประมาณการแนวโน้มการดำเนินงานในช่วง 3 ปีข้างหน้าของรัฐวิสาหกิจ จำนวน 46 แห่ง ในเบื้องต้นคาดว่าจะมีผลการเบิกจ่ายลงทุนรวม จำนวน 1,129,100 ล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 376,367 ล้านบาท และผลประกอบการจะมีกำไรสุทธิรวม จำนวน 250,328 ล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ83,443 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นจากฐานปี 2567 ประมาณร้อยละ 8.7 ภายใต้สมมติฐานที่คาดว่ารัฐวิสาหกิจหลายแห่งจะสามารถดำเนินการได้ตามแผนและมีรายได้เพิ่มขึ้น รวมถึงคาดการณ์สถานการณ์เศรษฐกิจมีทิศทางเติบโตขึ้น
4. ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายให้รัฐวิสาหกิจดำเนินการ ดังนี้
ประเด็น |
ข้อเสนอแนะของสภาพัฒนาฯ |
|
4.1 การเบิกจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจ |
ให้รัฐวิสาหกิจเร่งรัดการเบิกจ่ายลงทุนให้ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ของกรอบวงเงินที่ได้รับอนุมัติเบิกจ่ายลงทุน รวมทั้งเร่งรัดการลงทุนที่ได้รับอนุมัติผูกพันสัญญาและการก่อหนี้ในรายการลงทุนที่มีความพร้อมโดยเตรียมดำเนินการต่างๆ ไว้ล่วงหน้า เพื่อให้สามารถลงทุนได้ตั้งแต่ช่วงต้นปีงบประมาณ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนและกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมในประเทศภายหลังวิกฤตการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 คลี่คลาย เพื่อให้การประมาณการและการกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ |
|
4.2 การปรับปรุงงบลงทุนระหว่างปี |
● ให้รัฐวิสาหกิจเร่งดำเนินการขอปรับปรุงเปลี่ยนแปลงงบลงทุนระหว่างปีให้แล้วเสร็จโดยผ่านความเห็นชอบจากกระทรวงเจ้าสังกัดภายในไตรมาสแรกของปีงบประมาณของรัฐวิสาหกิจนั้นๆ ● การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการลงทุนโดยเฉพาะการลดกรอบวงเงินลงทุน ควรเป็นผลกระทบที่เกิดจากปัจจัยภายนอกหรือที่รัฐวิสาหกิจไม่สามารถควบคุมได้ หรือเป็นการดำเนินการเชิงนโยบายเท่านั้น หากไม่ใช่ผลกระทบจากปัจจัยดังกล่าว สศช. อาจไม่พิจารณาดำเนินการ ● สำหรับงบลงทุนที่ใช้เงินงบประมาณและมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตามหลักเกณฑ์และวิธีการงบประมาณหรือได้รับความเห็นชอบจาก สงป. แล้ว ให้รัฐวิสาหกิจปรับปรุงเปลี่ยนแปลงงบลงทุนดังกล่าวได้ โดยให้แจ้งกระทรวงเจ้าสังกัดและ สศช. ทราบเพื่อ สศช. จะได้ปรับปรุงวงเงินลงทุนให้สอดคล้องกับงบประมาณที่เปลี่ยนแปลงไป |
|
4.3 แนวทางการลงทุนในระยะต่อไป |
● รัฐวิสาหกิจควรให้ความสำคัญกับการลงทุนที่สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศเพื่อความยั่งยืนตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ● ให้รัฐวิสาหกิจสนับสนุนการดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลและการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ในการดำเนินงานและการให้บริการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการของรัฐวิสาหกิจและเป็นกลไกสนับสนุนที่ช่วยขับเคลื่อนให้บรรลุตามเป้าหมาย ● ให้รัฐวิสาหกิจพิจารณาการลงทุนที่สอดคล้องกับขอบเขตภารกิจของรัฐวิสาหกิจ ซึ่งจะเป็นการดำเนินงานตามความเชี่ยวชาญของหน่วยงาน ความพร้อมของแหล่งเงินลงทุน และการจัดลำดับความสำคัญของการลงทุน อาทิ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่เพิ่มเติมเปรียบเทียบกับการลงทุนด้านอื่นๆ เพื่อให้การจัดสรรทรัพยากรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น |
|
4.4 การจัดตั้งและกำกับดูแลบริษัทลูกหรือบริษัทในเครือ |
ในการลงทุนเพื่อจัดตั้งบริษัทลูกหรือการเข้าร่วมลงทุน รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรให้ความสำคัญกับการกำหนดเป้าหมายเพื่อเป็นกลไกภาครัฐในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมที่รัฐวิสาหกิจดำเนินกิจการอยู่ ควบคู่กับการกำหนดเป้าหมายในการสร้างรายได้ เพื่อให้การลงทุนดังกล่าวมีส่วนสนับสนุนการสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทาน ตลอดจนขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมและบริการของประเทศ |
|
4.5 การเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ |
● ให้รัฐวิสาหกิจพิจารณานำแนวทางของ (ร่าง) ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการ พ.ศ. 2566 – 2570 ของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาตามขั้นตอน มาปรับใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน เพื่อให้การพัฒนาองค์กรมีกรอบที่ชัดเจนและเป็นมาตรฐาน ● รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรคำนึงถึงความจำเป็นของการดำรงสถานะความเป็นรัฐวิสาหกิจด้วย |
5. ข้อเสนอแนะระดับกระทรวงและรัฐวิสาหกิจ ให้กระทรวงเจ้าสังกัดและรัฐวิสาหกิจเพิ่มผลิตภาพและประสิทธิภาพการดำเนินงาน การให้บริการ การลดต้นทุนการผลิต และการบริหารจัดการที่เหมาะสมของแต่ละรัฐวิสาหกิจ อาทิ
มิติ |
ตัวอย่างข้อเสนอแนะระดับกระทรวงและรัฐวิสาหกิจ |
|
5.1 การเพิ่มผลิตภาพและประสิทธิภาพการดำเนินงาน |
● การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ให้ความสำคัญต่อการดำเนินมาตรการด้านความปลอดภัยและมาตรฐานการก่อสร้างอย่างเคร่งครัด รวมถึงการตรวจสอบความพร้อมของอุปกรณ์ให้พร้อมใช้งานอย่างปลอดภัย เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินและชีวิตของประชาชนผู้ใช้ถนนและผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ก่อสร้าง รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นต่อการทำงานทั้งระหว่างการก่อสร้างและเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ ● องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย เตรียมความพร้อมของแผนดำเนินงานต่างๆ เพื่อรองรับการเปิดให้บริการสวนสัตว์แห่งใหม่หลังจากก่อสร้างแล้วเสร็จ อาทิ แผนการตลาดและประชาสัมพันธ์ การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการบริการ และแผนการบริหารจัดการความเสี่ยงที่สอดคล้องตามสภาวการณ์ปัจจุบันและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงแผนการจัดการด้านคมนาคม โดยประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงคมนาคม (คค.) และหน่วยงานของจังหวัดปทุมธานี เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางและบริหารจัดการจราจรที่ไม่กระทบต่อประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้มีจำนวนผู้เข้าเยี่ยมชมสวนสัตว์และสร้างรายได้ให้เป็นไปตามเป้าหมายของโครงการ |
|
5.2 การให้บริการ |
● การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ให้กำหนดตารางการเดินรถและการจัดหารถจักรและล้อเลื่อนให้สอดคล้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งกำหนดแผนการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานและแนวทางการบริหารสถานีต่างๆ ให้สามารถสร้างรายได้เพิ่มเติม ชดเชยกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น เพื่อลดผลกระทบเชิงลบต่อฐานะการเงินของการรถไฟแห่งประเทศไทย และอาจพิจารณาการเป็นช่องทางจำหน่ายสินค้าชุมชน/สินค้าประจำถิ่น และการสร้างอัตลักษณ์ในแต่ละสถานีที่เชื่อมโยงกับวิถีชีวิตท้องถิ่น เพื่อสนับสนุนวิสาหกิจชุมชน/วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และการเป็นจุดท่องเที่ยวใหม่ที่สร้างความน่าสนใจให้กับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ● บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) เร่งปรับกลยุทธ์ทางการตลาดโดยใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ที่มีการลงทุนจำนวนมากให้สามารถดึงดูดผู้ใช้บริการและสร้างรายได้ให้กับ ปณท และการสร้างการรับรู้/ภาพลักษณ์ของการเป็นบริษัทขนส่งที่มีความเชี่ยวชาญและน่าเชื่อถือ ควบคู่กับการดำเนินมาตรการลดค่าใช้จ่าย/จัดลำดับความสำคัญของการลงทุน รวมถึงการดำเนินธุรกิจในรูปแบบการร่วมลงทุนกับเอกชนรายอื่นให้มีความคืบหน้ามากขึ้นในปีถัดไป ซึ่งอาจช่วยลดภาระทางการเงินของ ปณท ได้ |
|
5.3 การลดต้นทุนการผลิต |
การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จัดลำดับการลงทุนตามความจำเป็นเร่งด่วนที่ไม่กระทบต่อการให้บริการและการสนับสนุนนโยบายของภาครัฐ รวมถึงให้พิจารณาลดภาระค่าใช้จ่ายอื่น อาทิ ค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภค ค่าใช้จ่ายในการเพิ่มทุนให้แก่บริษัทลูก โดยอาจพิจารณาปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นที่มีภาคเอกชนเข้าร่วมด้วย เพื่อเพิ่มความเข้มแข็งในการดำเนินธุรกิจตามวัตถุประสงค์จัดตั้ง |
|
5.4 การบริหารจัดการ |
● องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เร่งรัดการจัดทำแผนขับเคลื่อนเพื่อ ขสมก. จะได้มีกรอบแนวทางที่ชัดเจนสำหรับใช้ในการดำเนินกิจการและใช้เป็นข้อมูลประกอบกรณีต้องเสนอขออนุมัติจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามขั้นตอน ● องค์การเภสัชกรรม เตรียมความพร้อมของการลงทุนในระยะต่อไปอย่างรอบด้าน ก่อนเสนอขออนุมัติตามขั้นตอน โดยเฉพาะปัจจัยภายในที่สามารถบริหารจัดการได้ล่วงหน้า เพื่อให้สามารถดำเนินการลงทุนได้แล้วเสร็จและช่วยสร้างรายได้จากสินทรัพย์ได้ตามเป้าหมาย ซึ่งจะมีส่วนสนับสนุนการขับเคลื่อนภารกิจในการเป็นองค์กรหลักเพื่อความมั่นคงทางยาและเวชภัณฑ์ของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ |
__________________
1 สศช. มีหน้าที่และอำนาจในการจัดทำข้อเสนองบประมาณประจำปีของรัฐวิสาหกิจซึ่งมิใช่บริษัทมหาชนจำกัด ตามมาตรา 20 (7) ของพระราชบัญญัติสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2561
2 ประกอบด้วย กรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิจากสภาพัฒนาฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สงป. สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ธนาคารแห่งประเทศไทย และ สศช.
3 วงเงินดำเนินการ คือ วงเงินสำหรับให้รัฐวิสาหกิจใช้เป็นกรอบลงนามในสัญญาเพื่อลงทุน
4 วงเงินเบิกจ่ายลงทุน คือ วงเงินที่มีการเบิกจ่ายจริงเพื่อใช้ดำเนินงานตามสัญญา
5 งบลงทุนเพื่อการดำเนินงานปกติ คือ วงเงินที่ใช้สำหรับดำเนินงานเพื่อสนับสนุนภารกิจหลัก เช่น งานซ่อมบำรุง งบจัดซื้ออุปกรณ์สำนักงาน เป็นต้น
6 งบลงทุนโครงการ คือ วงเงินที่ใช้ดำเนินภารกิจหลัก (กิจกรรมที่ก่อให้เกิดรายได้) ก่อให้เกิดสินทรัพย์ถาวร เพื่อขยายกำลังการผลิตหรือเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ซึ่งเป็นภาระผูกพันที่รัฐวิสาหกิจจำเป็นต้องดำเนินการต่อเนื่องเพื่อให้การลงทุนบรรลุตามเป้าประสงค์
7สัญญาเช่าสินทรัพย์ประจำเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานที่ไม่เกี่ยวกับภารกิจหลัก
8วงเงินเบิกจ่ายลงทุนแบ่งออกเป็นงบลงทุนผูกพัน จำนวน 166,991 ล้านบาท และงบลงทุนที่เสนอขอใหม่ปีนี้จำนวน 41,994 ล้านบาท
9 สภาพัฒนาฯ ได้เห็นชอบกรอบการลงทุนเพิ่มเติมระหว่างปีไว้รองรับการเปลี่ยนแปลงกรอบลงทุนระหว่างปีเพื่อความคล่องตัวในการบริหารจัดการและให้รัฐวิสาหกิจสามารถดำเนินการได้ทันทีภายในปีงบประมาณ และเพื่อปรับงบลงทุนให้สอดคล้องกับผลการจัดสรรงบประมาณตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 รวมถึงงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม งบกลาง หรืองบประมาณที่ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงที่ได้รับความเห็นชอบจาก สงป. แล้ว
10 ได้แก่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท โรงแรมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จำกัด บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)
11 ส่วนใหญ่เกิดจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของการใช้บริการโครงสร้างพื้นฐานด้านการจราจรของภาครัฐภายหลังภาวะโรคระบาด การประมาณการรายได้เงินอุดหนุนบริการสาธารณะ (Public Obligation Service: PSO) เพิ่มขึ้น อัตราดอกเบี้ยของต้นทุนทางการเงินลดลง และผลกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ประกอบกับช่วงที่ผ่านมามีการหดตัวของรายได้ ทั้งผลกระทบจากการออกมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพให้แก่ประชาชน ภาระต้นทุนโดยเฉพาะค่าเชื้อเพลิงที่อยู่ในเกณฑ์สูง และความพร้อมด้านเงินอุดหนุน ทั้งนี้ ผลประกอบการในปี 2567 อาจเปลี่ยนแปลงไปจากการได้รับจัดสรรเงินงบประมาณซึ่งจะปรับปรุงภายหลังการประกาศใช้พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 26 กันยายน 2566
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A9975