WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

มาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้รายย่อยตามนโยบายรัฐบาล (ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566)

Gov 11

มาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้รายย่อยตามนโยบายรัฐบาล (ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566)

          คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบ เห็นชอบ และอนุมัติตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ดังนี้

          1. รับทราบการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อกำหนดมาตรการในการพักหนี้เกษตรกรและผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) (คณะทำงานฯ)

          2. เห็นชอบมาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้รายย่อยตามนโยบายรัฐบาล (มาตรการพักชำระหนี้) และการพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ผู้เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้รายย่อยตามนโยบายรัฐบาล ภายใต้หลักการ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” (การพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ของ ธ.ก.ส.)

          3. อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี จำนวนรวมทั้งสิ้น 12,096 ล้านบาท ดังนี้

               3.1 มาตรการพักชำระหนี้ฯ จำนวนทั้งสิ้น 11,096 ล้านบาท

               3.2 การพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ของ ธ.ก.ส.ฯ จำนวนทั้งสิ้น 1,000 ล้านบาท

          โดยมอบหมายให้ ธ.ก.ส. ทำความตกลงกับสำนักงบประมาณ (สงป.) เพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณเป็นรายปีตามความเหมาะสมโดยคำนึงถึงสภาพคล่องของ ธ.ก.ส. ต่อไป

          สาระสำคัญ 

          1. ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติ 13 กันยายน 2566 มอบหมายให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์) แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อกำหนดมาตรการในการพักหนี้เกษตรกรและผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นระยะเวลา 3 ปี และ 1 ปี ตามลำดับ โดยให้เสนอมาตรการพักชำระหนี้ฯ ต่อคณะรัฐมนตรีโดยด่วนภายใน 2 สัปดาห์ ซึ่ง กค. ได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว ดังนี้

               1.1 แต่งตั้งคณะทำงานฯ ตามคำสั่งกระทรวงการคลังที่ 2142/2566 เรื่อง การแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อกำหนดมาตรการในการพักหนี้เกษตรกรและผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สั่ง ณ วันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2566 โดยมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์) เป็นประธาน สำนักงานเศรษฐกิจการคลังเป็นฝ่ายเลขานุการในคณะทำงานที่มีอำนาจและหน้าที่ที่สำคัญ เช่น ศึกษา วิเคราะห์รูปแบบมาตรการในการพักหนี้เกษตรกรและผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises : SMEs) ที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด 19 เป็นต้น

               1.2 จัดทำมาตรการพักชำระหนี้ฯ มีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้

 

หัวข้อ

รายละเอียด

วัตถุประสงค์

1) เพื่อลดภาระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ ... ที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด 19 ซึ่งยังไม่ฟื้นตัวและกระทบต่อเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง

2) เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนภาระดอกเบี้ยให้แก่ลูกหนี้ ...

3) เพื่อเพิ่มโอกาสนำเงินไปใช้ลงทุนปรับเปลี่ยนหรือขยายการประกอบอาชีพและฟื้นฟูศักยภาพของตนเอง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้ดียิ่งขึ้น

กลุ่มเป้าหมาย

เกษตรกรและบุคคลตามข้อบังคับ ... (ฉบับที่ 44 และ 45) ทุกจังหวัดทั่วประเทศ ที่มีต้นเงินคงเป็นหนี้คงเหลือทุกสัญญารวมกัน วันที่ 30 กันยายน 2566 ไม่เกิน 300,000 บาท และมีสถานะเป็นหนี้ปกติและ/หรือเป็นหนี้ค้างชำระหนี้ 0-3 เดือน และหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loans : NPLs) จำนวน 2.698 ล้านราย รวมต้นเงินคงเป็นหนี้ทั้งหมด 283,327.99 ล้านบาท (ข้อมูล วันที่ 16 กันยายน 2566) ทั้งนี้ ลูกหนี้ที่สามารถเข้าร่วมมาตรการต้องไม่เป็นลูกหนี้ดำเนินคดี หรือบุคคลล้มละลาย หรือสมาชิกของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรที่ได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐแล้ว รวมทั้งต้องเป็นประเภทสัญญาตามที่ ... กำหนด สำหรับลูกหนี้ที่มีสถานะเป็น NPLs จะสามารถเข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ได้ เมื่อได้มีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์ของ ... แล้ว

ระยะเวลาโครงการ

ระยะที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2567 (1 ปี)

วิธีดำเนินโครงการ

เกษตรกรลูกค้า ... ที่ต้องการรับสิทธิ์พักชำระหนี้สามารถแสดงความประสงค์เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ดังกล่าวได้ตามความสมัครใจ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2567 ทั้งนี้ ให้ ... สามารถพิจารณาขยายระยะเวลาแจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ดังกล่าวได้ตามความเหมาะสม

งบประมาณ

รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้แทนเกษตรกรลูกค้า ... ที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ฯ ในอัตราร้อยละ 4.50 ต่อปี ในระยะที่ 1 ระยะเวลาดำเนินการ 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2567 รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 11,096 ล้านบาท

เงื้อนไขอื่นๆ 

1) ลูกหนี้ที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ฯ สามารถคงชั้นหนี้เดิมไว้ได้ตลอดระยะเวลาการพักชำระหนี้และได้งดเว้นเบี้ยปรับทั้งจำนวน หากลูกหนี้ดังกล่าวแสดงความประสงค์เข้าร่วมมาตรการภายในระยะเวลาที่กำหนด นอกจากนี้ในระหว่างการพักชำระหนี้หากลูกหนี้ประสงค์ชำระหนี้ ... จะมีการเปลี่ยนลำดับการตัดชำระหนี้เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระ รวมทั้ง ... จะมีการพิจารณาสนับสนุนสินเชื่อเพื่อฟื้นฟูการประกอบอาชีพ (Extended Loan) ให้แก่ลูกหนี้ที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ดังกล่าวด้วย

2) ... จะสามารถดำเนินมาตรการพักชำระหนี้ฯ ได้ต่อเมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบแล้ว และ ... ขอแยกบัญชีโครงการเป็นบัญชีธุรกรรมนโยบายรัฐ (Public Service Account : PSA) และนำผลกระทบในการดำเนินงานมาปรับตัวชี้วัดทางการเงินที่เกี่ยวข้องตามบันทึกข้อตกลงการประเมินผลการดำเนินงานของ ... สำหรับผลกระทบที่เป็นตัวเงิน นอกเหนือจากวงเงินชดเชยจากรัฐบาล อันได้แก่ ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.35 ต่อปี ที่ ... รับภาระจากการขอชดเชยในอัตราร้อยละ 4.50 และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการตามมาตรการ ให้ ... สามารถนำมาบวกกลับในการคำนวณโบนัสประจำปีของพนักงานได้ ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้ ... ประสบปัญหาสภาพคล่องจากการดำเนินมาตรการพักชำระหนี้ดังกล่าวให้ ... หารือร่วมกับหน่วยงานภาครัฐหรือกองทุนที่มีศักยภาพในการระดมทุนที่เหมาะสมต่อไป

 

               1.3 การพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ของ ธ.ก.ส.ฯ มีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้

 

หัวข้อ

รายละเอียด

วัตถุประสงค์

1) เพื่อพัฒนาศักยภาพการประกอบอาชีพของเกษตรกร ลดต้นทุนการผลิต ลดความสูญเสีย ลดความเสี่ยง เพิ่มรายได้ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพิ่มมาตรฐานผลผลิตและผลิตภัณฑ์ สร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างความสามารถในการชำระหนี้

2) เพื่อเพิ่มทักษะของเกษตรกรให้สามารถนำเทคโนโลยี นวัตกรรม ความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่นมาประยุกต์ในการประกอบอาชีพ

3) เพื่อเชื่อมโยงตลาดห่วงโซ่อุปทาน โดยใช้หลักตลาดนำการผลิต

4) เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงินด้วยทักษะทางการเงินและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล

เป้าหมาย

1) พัฒนาศักยภาพอาชีพเกษตรกรลูกหนี้ จำนวน 300,000 ราย (ปีบัญชี 2567)

2) ผู้ผ่านการพัฒนามีรายได้เพิ่มขึ้นหรือมีต้นทุนลดลงมากกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 15

3) ผู้ผ่านการพัฒนามีความสามารถในการชำระหนี้ได้เมื่อสิ้นสุดโครงการ

กลุ่มเป้าหมาย

เกษตรกรลูกค้าที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ฯ และสมัครใจเข้ารับการพัฒนาตามศักยภาพ

วิธีดำเนินการ

จัดอบรมเพื่อส่งเสริมฟื้นฟูการประกอบอาชีพแก่ลูกหนี้ที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ฯ

งบประมาณ

1,000 ล้านบาท

 

          2. กค. ได้จัดทำรายละเอียดข้อมูลที่ต้องนำเสนอตามบทบัญญัติในมาตรา 27 มาตรา 28 และมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 เรียบร้อยแล้ว โดย กค. (ธ.ก.ส.) พิจารณาแล้วเห็นว่า ตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ เรื่อง กำหนดอัตราชดเชยค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้ของหน่วยงานของรัฐในการดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 28 พ.ศ. 2565 ได้กำหนดอัตรายอดคงค้างรวมทั้งหมดของภาระที่รัฐต้องรับชดเชยค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้ในการดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ต้องมียอดคงค้างทั้งหมดรวมกันไม่เกินร้อยละ 32 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่ง ณ สิ้นวันที่ 22 กันยายน 2566 ภาระที่รัฐต้องรับชดเชยตามมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 มียอดคงค้างจำนวน 1,000,295.186 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราร้อยละ 31.41 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 (วงเงิน 3,185,000 ล้านบาท) ดังนั้น หากมีการอนุมัติการดำเนินการตามมาตรการพักชำระหนี้ฯ งบประมาณ 11,096 ล้านบาท และการพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ ธ.ก.ส.ฯ ผู้เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ฯ งบประมาณ 1,000 ล้านบาทจะส่งผลให้ภาระที่รัฐต้องรับชดเชย ซึ่งเมื่อรวมที่อยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีด้วยแล้ว จะมียอดคงค้างเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 1,012,391.186 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตรา ร้อยละ 31.79 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ซึ่งยังคงไม่เกินอัตราร้อยละ 32 ที่คณะกรรมการฯ ได้ประกาศกำหนดไว้

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 26 กันยายน 2566

สำนักโฆษก   สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396

 

 

A9973

Click Donate Support Web 

Banner GPF720x100 PX

CKPower 720x100

MTL 720x100

kasat 720x100TOA 720x100

QIC 720x100

วิริยะ 720x100

AXA 720 x100

aia 720 x100

BKI 720 x 100

PTG 720x100

iconmotor

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!