สรุปภาพรวมดัชนีเศรษฐกิจการค้าประจำเดือนสิงหาคม 2566
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 27 September 2023 00:37
- Hits: 1863
สรุปภาพรวมดัชนีเศรษฐกิจการค้าประจำเดือนสิงหาคม 2566
คณะรัฐมนตรีรับทราบสรุปภาพรวมดัชนีเศรษฐกิจการค้าประจำเดือนสิงหาคม 2566 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ดังนี้
สาระสำคัญ
1. สรุปภาพรวมดัชนีเศรษฐกิจการค้าเดือนสิงหาคม 2566 ดังนี้
ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย เดือนสิงหาคม 2566 เท่ากับ 108.41 เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคม 2565 ซึ่งเท่ากับ 107.46 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้นร้อยละ 0.88 (YoY) เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก ร้อยละ 0.38 ในเดือนกรกฎาคม 2566 ตามการสูงขึ้นของสินค้าในกลุ่มพลังงานเป็นสำคัญ ขณะที่กลุ่มอาหารสดราคาทรงตัว ส่วนเนื้อสัตว์ และเครื่องประกอบอาหารราคาลดลง ส่งผลให้สินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ราคาโดยรวมชะลอตัวต่อเนื่อง
อัตราเงินเฟ้อของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ (ข้อมูลล่าสุดเดือนกรกฎาคม 2566) พบว่า อัตราเงินเฟ้อของหลายประเทศมีแนวโน้มชะลอตัวลง ยกเว้นบางประเทศประสบปัญหาภัยแล้งและสภาพอากาศแปรปรวน อาทิ อินเดีย ที่อัตราเงินเฟ้อเร่งสูงขึ้นค่อนข้างมาก ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำ และยังคงต่ำที่สุดในอาเซียนต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 จาก 7 ประเทศที่ประกาศตัวเลข (สปป.ลาว ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม)
อัตราเงินเฟ้อเดือนสิงหาคม 2566 ที่สูงขึ้นร้อยละ 0.88 (YoY) มีการเคลื่อนไหวของราคาสินค้าและบริการ ดังนี้
หมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 0.98 (YoY) ตามการสูงขึ้นของราคาสินค้าในหมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร โดยเฉพาะราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาในตลาดโลกเกือบทุกประเภท ยกเว้นกลุ่มดีเซลราคาปรับลดลง รวมทั้งค่าโดยสารสาธารณะ อาทิ เครื่องบิน จักรยานยนต์รับจ้าง และรถเมล์เล็ก/สองแถว ที่ปรับเพิ่มขึ้นตามต้นทุน นอกจากนี้ ค่ากระแสไฟฟ้า ราคาก๊าซหุงต้ม ค่าของใช้ส่วนบุคคล (แป้งทาผิวกาย กระดาษชำระ ยาสีฟัน) ค่าแต่งผมชายและสตรี และค่ายา (ยาแก้ปวดลดไข้ ยาแก้ไอ) ราคายังคงอยู่ระดับสูงกว่าปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้าสำคัญที่ราคาลดลง อาทิ เสื้อบุรุษและสตรี เสื้อและกางเกงเด็ก เครื่องใช้ไฟฟ้า (ตู้เย็น เตารีด เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า) สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด (ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม ผลิตภัณฑ์ฟอกผ้าขาว ไม้ถูพื้น) และหน้ากากอนามัย
หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นเพียงร้อยละ 0.74 (YoY) ราคาชะลอตัวต่อเนื่องจากปลายปีที่ผ่านมา ทั้งนี้มีสินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น อาทิ ไข่และผลิตภัณฑ์นม (ไข่ไก่ นมสด นมถั่วเหลือง) ผักและผลไม้สด (มะนาว ขิง กระเทียม เงาะ แตงโม ส้มเขียวหวาน) เนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวน ปริมาณผลผลิตจึงออกสู่ตลาดน้อย เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (กาแฟผงสำเร็จรูป น้ำหวาน) ข้าวสารเหนียว และอาหารสำเร็จรูป (กับข้าวสำเร็จรูป ข้าวราดแกง) ส่วนสินค้าสำคัญที่ราคาลดลง อาทิ เนื้อสุกร ไก่สด น้ำมันพืช มะพร้าว (ผลแห้ง/ขูด) มะขามเปียก และผักสดบางชนิด (ต้นหอม พริกสด ผักชี ผักคะน้า)
เงินเฟ้อพื้นฐาน เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก สูงขึ้นร้อยละ 0.79 (YoY) ชะลอตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 8 (นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2566) สะท้อนให้เห็นว่า แรงกดดันของต้นทุนการผลิตที่นอกเหนือจากราคาพลังงานน้อยลง
ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนสิงหาคม 2566 เมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2566 สูงขึ้นร้อยละ 0.55 (MoM) ตามราคาสินค้าในหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ที่สูงขึ้นร้อยละ 0.76 (MoM) โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิงที่ราคาสูงขึ้นทุกประเภท ทั้งกลุ่มน้ำมันเบนซิน แก๊สโซฮอล์ และดีเซล รวมทั้ง ค่าเช่าบ้าน น้ำยาล้างจาน น้ำยารีดผ้า และน้ำยาปรับผ้านุ่ม ราคาเปลี่ยนแปลงตามโปรโมชัน สำหรับสินค้าที่ราคาลดลง อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้า (เครื่องรับโทรทัศน์ เครื่องซักผ้า เครื่องปรับอากาศ) ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว ยาสีฟัน ผงซักฟอก และสบู่ถูตัว ส่วนหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นเพียงร้อยละ 0.23 (MoM) ตามการสูงขึ้นของข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว ไข่ไก่ นมเปรี้ยว อาหารเช้า และข้าวราดแกง ขณะที่เนื้อสุกร ไก่สด กุ้งขาว ปลาทู ผักและผลไม้บางชนิด (กะหล่ำปลี ขึ้นฉ่าย แตงโม มะม่วง) นมสด น้ำมันพืช และซีอิ๊ว ราคาลดลง
ดัชนีราคาผู้บริโภคเฉลี่ย 8 เดือน (ม.ค. - ส.ค.) ปี 2566 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 2.01 (AoA) ซึ่งอยู่ในกรอบเป้าหมายที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และคณะกรรมการ นโยบายการเงิน (กนง.) กำหนด (ร้อยละ 1.0 – 3.0)
2. แนวโน้มเงินเฟ้อ
แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือนกันยายน 2566 มีแนวโน้มทรงตัวหรือปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อย โดยมีปัจจัยที่ส่งผลบวกต่ออัตราเงินเฟ้อ ได้แก่ ราคาพลังงาน ทั้งน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าไฟฟ้า และก๊าซหุงต้มที่ยังคงอยู่ในระดับสูง รวมทั้งอุปสงค์ในประเทศที่อาจเพิ่มขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่สถานการณ์ภัยแล้งที่รุนแรงกว่าปีที่ผ่านมาในหลายประเทศทั่วโลก ทำให้ปริมาณพืชผลการเกษตรและปศุสัตว์ลดลง ส่งผลให้ราคาสินค้ากลุ่มอาหารและสินค้าที่เกี่ยวเนื่องสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยที่ชะลอตัว และการใช้มาตรการทางการเงินที่เข้มงวดขึ้นของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งส่งผลต่ออุปสงค์และการลงทุนภายในประเทศ รวมทั้งฐานการคำนวณในเดือนกันยายน 2565 ที่อยู่ในระดับสูงเป็นปัจจัยกดดันให้เงินเฟ้อทรงตัวและเพิ่มขึ้นไม่มาก นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยที่เกิดจากมาตรการของภาครัฐที่คาดว่าจะออกมาในระยะอันใกล้ และส่งผลต่อเงินเฟ้ออย่างมีนัยสำคัญ อาทิ มาตรการลดค่าครองชีพ และการลดต้นทุนภาคการผลิตและบริการ (ลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า ราคาน้ำมัน ค่าไฟฟ้า ราคาก๊าซหุงต้ม) และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2566 อยู่ระหว่างร้อยละ 1.0 – 2.0 (ค่ากลางร้อยละ 1.5) และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญจะมีการทบทวนอีกครั้ง
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม เดือนสิงหาคม 2566 ปรับสูงขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับ 53.4 จากระดับ 53.3 ในเดือนก่อนหน้า จากการปรับเพิ่มขึ้นของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันปรับลดลงเล็กน้อย ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมอยู่ในช่วงเชื่อมั่นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 9 (นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2565) สาเหตุคาดว่ามาจาก เศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและบริการ การจัดตั้งรัฐบาลที่มีความชัดเจนมากขึ้น ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและประชาชน อย่างไรก็ตามราคาพลังงาน สินค้าและบริการที่ยังอยู่ในระดับสูง ยังคงเป็นปัจจัยทอนที่ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของประชาชนปรับตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 26 กันยายน 2566
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A9972