แผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2567
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 27 September 2023 00:34
- Hits: 1842
แผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2567
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่คณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ (คณะกรรมการฯ) เสนอ ดังนี้
1. อนุมัติแผนการบริหารหนี้สาธารณะ (แผนฯ) ประจำปีงบประมาณ 2567 เฉพาะในส่วนที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติแล้ว การบริหารหนี้ที่ครบกำหนด และการชำระหนี้ที่ประกอบด้วย (1) แผนการก่อหนี้ใหม่ วงเงินรวม 194,434.53 ล้านบาท (2) แผนการบริหารหนี้เดิม วงเงินรวม 1,621,135.22 ล้านบาท และ (3) แผนการชำระหนี้ วงเงินรวม 390,538.63 ล้านบาท ทั้งนี้ การดำเนินการตามแผนฯ หน่วยงานภายใต้แผนฯ จะต้องดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องด้วย
2. อนุมัติให้รัฐวิสาหกิจ จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ การเคหะแห่งชาติ (กคช.) บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด (ธพส.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ที่มีสัดส่วนความสามารถในการหารายได้เทียบกับภาระหนี้ของกิจการ (Debt Service Coverage Ratio: DSCR) ต่ำกว่า 1 เท่า สามารถกู้เงินและบริหารหนี้ภายใต้แผนฯ ประจำปีงบประมาณ 2567 โดยให้รัฐวิสาหกิจทั้ง 4 แห่ง ดังกล่าวและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของคณะกรรมการฯ ไปดำเนินการด้วย ทั้งนี้ ขอให้ รฟท. และ ขสมก. เร่งรัดการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการของหน่วยงานเพื่อเพิ่มรายได้ให้เพียงพอสำหรับการชำระหนี้และเพื่อทำให้ฐานะทางการเงินของหน่วยงานดีขึ้นตามข้อสังเกตของคณะกรรมการฯ รวมทั้งขอให้ รฟท. และ ขสมก. รายงานความก้าวหน้าและปัญหาอุปสรรคในการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการของหน่วยงานต่อคณะกรรมการฯ เพื่อทราบต่อไป
3. อนุมัติการกู้เงินเฉพาะในส่วนที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติแล้วในส่วนของรัฐบาลสำหรับการก่อหนี้ใหม่ การกู้มาและการนำไปให้กู้ต่อ การกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ และการค้ำประกันเงินกู้ให้กับรัฐวิสาหกิจ ตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 7 แห่งพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (กองทุน Financial Institutions Development Fund: FIDF) พ.ศ. 2541 และมาตรา 7 แห่งพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุน FIDF ระยะที่สอง พ.ศ. 2545 รวมทั้งขออนุมัติการกู้เงินของรัฐวิสาหกิจเฉพาะในส่วนที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติแล้วเพื่อลงทุนในโครงการพัฒนา และการกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ ภายใต้กรอบวงเงินของแผนฯ ประจำปีงบประมาณ 2567 และให้กระทรวงการคลัง (กค.) เป็นผู้พิจารณาการกู้เงิน วิธีการกู้เงิน เงื่อนไขและรายละเอียดต่างๆ ของการกู้เงิน การค้ำประกัน และการบริหารความเสี่ยงในแต่ละครั้งได้ตามความเหมาะสมและจำเป็น ทั้งนี้ หากรัฐวิสาหกิจสามารถดำเนินการกู้เงินได้เอง ให้สามารถดำเนินการได้ตามความเหมาะสมและจำเป็นของรัฐวิสาหกิจนั้นๆ
สาระสำคัญ
1. แผนฯ ประจำปีงบประมาณ 2567 ที่คณะกรรมการฯ เสนอในครั้งนี้เป็นไปตามมติของคณะกรรมการฯ ในคราวประชุม ครั้งที่ 2/2566 เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2566 ซึ่งเป็นช่วงคณะรัฐมนตรีรักษาการ ทำให้แผนฯ ครอบคลุมเฉพาะในส่วนที่คณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติอนุมัติโครงการหรือแผนงานไว้แล้วและสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเป็นการบริหารหนี้เดิมเพื่อให้สามารถปรับโครงสร้างหนี้ที่ครบกำหนดในปีงบประมาณ 2567 เพื่อมิให้เกิดผลกระทบต่อการกู้เงินทั้งของรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐทั้งในส่วนของการกู้เงินเพื่อการลงทุนในโครงการต่างๆ การปรับโครงสร้างหนี้ และการชำระหนี้ที่สามารถเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ โดยที่ยังไม่ได้มีการรวมยอดการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณปี 2567 และเพื่อดำเนินโครงการลงทุนใหม่ ซึ่งคาดว่าจะบรรจุไว้ในแผนฯ ฉบับปรับปรุง และคณะกรรมการฯ จะได้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดต่อไป
2. คณะกรรมการฯ ในการประชุมครั้งที่ 2/2566 เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2566 มีมติ ดังนี้
2.1 เห็นชอบแผนฯ ประจำปีงบประมาณ 2567 โดยมีรายละเอียด ดังนี้
รายการ |
วงเงิน (ล้านบาท) |
||
แผนฯ ปี 2566 (ปรับปรุงครั้งที่ 1)1 |
แผนฯ ปี 2567 |
การเปลี่ยนแปลง (+เพิ่ม/-ลด) |
|
(1) แผนการก่อหนี้ใหม่ |
1,134,028.36 |
194,434.53 |
-939,593.83 |
(1.1) รัฐบาล |
819,765.19 |
97,435.28 |
-722,329.91 |
(1.2) รัฐวิสาหกิจ |
203,763.17 |
96,999.25 |
-106,763.92 |
(1.3) หน่วยงานอื่นของรัฐ |
110,500.00 |
0.00 |
-110,500.00 |
(2) แผนการบริหารหนี้เดิม |
1,729,680.42 |
1,621,135.22 |
-108,545.20 |
(2.1) รัฐบาล |
1,603,561.83 |
1,493,131.90 |
-110,429.93 |
(2.2) รัฐวิสาหกิจ |
126,118.59 |
128,003.32 |
1,884.73 |
(3) แผนการชำระหนี้ |
361,004.99 |
390,538.63 |
29,533.64 |
(3.1) แผนการชำระหนี้ของรัฐบาลและหนี้หน่วยงานของรัฐจากงบประมาณรายจ่าย |
306,617.96 |
336,807.00 |
30,189.04 |
(3.2) แผนการชำระหนี้จากแหล่งอื่นๆ |
54,387.03 |
53,731.63 |
-655.40 |
โดยสาระสำคัญของแผนฯ ประจำปีงบประมาณ 2567 มี 3 ประเด็นหลัก ได้แก่
2.1.1 แผนการก่อหนี้ใหม่ ประกอบด้วย (1) การก่อหนี้ใหม่ของรัฐบาล ส่วนใหญ่เป็นการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณปี 2566 ที่มีการขยายเวลากู้เงินออกไปภายหลังจากวันสิ้นปีงบประมาณสำหรับการเบิกจ่ายกันเหลื่อมปี วงเงิน 40,000 ล้านบาท และการกู้เงินเพื่อดำเนินโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ2 เช่น โครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก (ก่อสร้างทางวิ่งและทางขับที่ 2) (กองทัพเรือ) วงเงิน 16,210.90 ล้านบาท โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน - ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) (การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย) วงเงิน 11,700 ล้านบาท โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและจีนในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพ - หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพ - นครราชสีมา) (รฟท.) วงเงิน 15,800 ล้านบาท เป็นต้น และ (2) การก่อหนี้ใหม่ของรัฐวิสาหกิจ3 เป็นการกู้เงินเพื่อลงทุนในโครงการพัฒนาที่สำคัญ เช่น โครงการพัฒนาระบบส่งและจำหน่ายไฟฟ้าระยะที่ 2 [การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)] วงเงิน 12,078 ล้านบาท โครงการพัฒนาพื้นที่ส่วนขยายศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม พื้นที่โซน C (ธพส.) วงเงิน 3,500 ล้านบาท เป็นต้น รวมถึงเป็นการกู้เงินเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการทั่วไปของรัฐวิสาหกิจ เช่น เงินกู้เพื่อใช้ในการดำเนินงาน (กรณีรายได้ไม่พอสำหรับรายจ่าย) ของ รฟท. วงเงิน 18,000 ล้านบาท เงินกู้เพื่อดำเนินงานปกติของ กฟภ. วงเงิน 6,000 ล้านบาท เป็นต้น
2.1.2 แผนการบริหารหนี้เดิม ส่วนใหญ่เป็นการกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้เดิมที่ครบกำหนดในปีงบประมาณ 2567 เช่น หนี้เงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ/เมื่อรายจ่ายสูงกว่ารายได้และการบริหารหนี้ วงเงิน 1,110,587,98 ล้านบาท หนี้เงินกู้เพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด 19 วงเงิน 201,264.49 ล้านบาท หนี้เงินกู้เพื่อชดใช้ความเสียหายให้กองทุน FIDF วงเงิน 83,353.50 ล้านบาท หนี้โครงการรับจำนำผลิตผลทางการเกษตร (ธ.ก.ส.) วงเงิน 58,452.64 ล้านบาท เป็นต้น
2.1.3 แผนการชำระหนี้ ประกอบด้วย แผนการชำระหนี้ของรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และหนี้หน่วยงานของรัฐจากงบประมาณ ปี 2567 วงเงิน 336,807 ล้านบาท (เป็นวงเงินชำระต้นเงินกู้ 117,250 ล้านบาท และชำระดอกเบี้ย 219,557 ล้านบาท) และแผนการชำระหนี้จากแหล่งเงินอื่นๆ วงเงิน 53,731.63 ล้านบาท (เป็นวงเงินชำระต้นเงินกู้ 19,464.80 ล้านบาท และชำระดอกเบี้ย 34,266.83 ล้านบาท)
2.2 ในแผนฯ ประจำปีงบประมาณ 2567 มีรัฐวิสาหกิจ จำนวน 4 แห่ง ที่มีสัดส่วนความสามารถในการหารายได้เทียบกับภาระหนี้ของกิจการ (Debt Service Coverage Ratio: DSCR) ต่ำกว่า 1 เท่า ที่ต้องเสนอขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรีตามระเบียบคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะว่าด้วยหลักเกณฑ์การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2561 ข้อ 12 ได้แก่ กคช. ธพส. รฟท. และ ขสมก. ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้พิจารณาแล้วเห็นควรเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติให้รัฐวิสาหกิจทั้ง 4 แห่ง สามารถกู้เงินใหม่และบริหารหนี้เดิม ภายใต้แผนฯ ประจำปีงบประมาณ 2567 โดยให้รัฐวิสาหกิจทั้ง 4 แห่ง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของคณะกรรมการฯ ไปดำเนินการด้วย สรุปได้ ดังนี้
รัฐวิสาหกิจ |
DSCR (เท่า) |
ความเห็นของคณะกรรมการฯ เช่น |
กคช. |
0.53 |
- กคช. ควรเร่งดำเนินการตามแผนการบริหารจัดการทรัพย์สิน (Sunk Cost) อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง - กคช. ควรร่วมมือกับภาครัฐในการจัดทำแผนการใช้ที่ดินเพื่อพัฒนาโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์การเคหะแห่งชาติ เพื่อนำที่ดินไปใช้ในการพัฒนาโครงการในอนาคต |
ธพส. |
0.32 |
- ธพส. ควรเร่งรัดการดำเนินโครงการศูนย์ราชการฯ พื้นที่โซน C ให้มีความก้าวหน้าตามแผนการดำเนินงานและแผนการใช้เงิน และควรบริหารสินทรัพย์และหนี้สินให้มีประสิทธิภาพ - ธพส. ควรพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานทั้งในด้านธุรกิจและด้านการเงิน เพื่อเพิ่มระดับความน่าเชื่อถือและความเชื่อมั่นในการระดมทุน |
รฟท. |
0.31 |
- รฟท. ควรเร่งดำเนินการตามแผนฟื้นฟูฯ โดยเฉพาะการเร่งโอนทรัพย์สินให้แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์ของ รฟท. ให้เป็นไปตามแผนงานที่กำหนด เพื่อให้เกิดรายได้มาชำระคืนหนี้คงค้างที่สะสม - รฟท. ควรเร่งรัดดำเนินโครงการรถไฟทางคู่ ซึ่งจะทำให้การขนส่งสินค้ามีจำนวนมากขึ้นและเกิดรายได้เพิ่มมากขึ้น |
ขสมก. |
0.06 |
- ขสมก. ควรเร่งรัดการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการและแผนต่างๆ อย่างครบถ้วน และจัดทำแผนดังกล่าวเป็นตัวชี้วัด (KPI) ของ ขสมก. - ขสมก. ควรมีการจัดการข้อมูลเกี่ยวกับการบริหารหนี้สาธารณะที่ถูกต้อง ครบถ้วนและทันสมัย |
2.3 เนื่องจากการกู้เงินของรัฐวิสาหกิจบางแห่งมีข้อกำหนดตามกฎหมายจัดตั้งให้ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติ จึงจะสามารถกู้เงินได้โดยเมื่อเงินกู้ของรัฐวิสาหกิจได้รับการบรรจุไว้ในแผนฯ แล้ว รัฐวิสาหกิจจะต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขออนุมัติการกู้เงินตามกฎหมายจัดตั้งอีกครั้ง คณะกรรมการฯ จึงเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติการกู้เงินเพื่อลงทุนในโครงการพัฒนา และปรับโครงสร้างหนี้ของรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายจัดตั้ง จำนวน 13 แห่ง เช่น ธ.ก.ส. การยางแห่งประเทศไทย รฟท. กคช. เป็นต้น
2.4 ประมาณการหนี้สาธารณะคงค้างต่อ GDP ณ สิ้นปีงบประมาณ 2567 จากการดำเนินการตามแผนฯ ที่เสนอในครั้งนี้จะยังอยู่ภายใต้กรอบการบริหารหนี้สาธารณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐกำหนดที่ไม่เกินร้อยละ 70 (กค. แจ้งว่า แผนฯ ที่เสนอครั้งนี้ยังไม่ได้มีการประมาณการหนี้สาธารณะคงค้างต่อ GDP ณ สิ้นปีงบประมาณ 2567 ที่ชัดเจน เนื่องจากยังไม่ได้มีการรวมยอดการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ปี 2567 และเพื่อดำเนินโครงการลงทุนใหม่ ซึ่งคาดว่าจะบรรจุไว้ในแผนฯ ฉบับปรับปรุงต่อไป)
___________________
1 คณะรัฐมนตรีมีมติ (21 กุมภาพันธ์ 2566) อนุมัติและรับทราบการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2566 ครั้งที่ 1 ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2566
2 เป็นการกู้เงินของรัฐบาลเพื่อให้รัฐวิสาหกิจกู้ต่อ
3 การก่อหนี้ของรัฐวิสาหกิจในส่วนนี้เป็นคนละส่วนกับโครงการตาม (1) การก่อหนี้ใหม่ของรัฐบาล
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 26 กันยายน 2566
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A9971