การบริจาคเงินอุดหนุนตามความสมัครใจให้แก่ศูนย์ทุ่นระเบิดภูมิภาคอาเซียน
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 26 September 2023 23:55
- Hits: 1705
การบริจาคเงินอุดหนุนตามความสมัครใจให้แก่ศูนย์ทุ่นระเบิดภูมิภาคอาเซียน
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการให้ไทยบริจาคเงินอุดหนุนสำหรับศูนย์ทุ่นระเบิดภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Regional Mine Action Centre: ARMAC) (ศูนย์ ARMAC) เป็นเวลา 3 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 - พ.ศ. 2569) วงเงินรวม 30,000 ดอลลาร์สหรัฐ ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
ปีงบประมาณ พ.ศ. |
2567 |
2568 |
2569 |
รวม |
วงเงิน |
10,000 ดอลลาร์สหรัฐ (400,000 บาท) |
10,000 ดอลลาร์สหรัฐ (400,000 บาท) |
10,000 ดอลลาร์สหรัฐ (400,000 บาท) |
30,000 ดอลลาร์สหรัฐ (1,200,000 บาท) |
หมายเหตุ: อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 40 บาท |
ทั้งนี้ กต. จะเบิกจ่ายเงินอุดหนุนดังกล่าวจากงบประมาณของ กต.
สาระสำคัญของเรื่อง
1. ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติ 12 พฤศจิกายน 2555 และ 1 ตุลาคม 2556 ได้มีการจัดตั้งศูนย์ ARMAC ณ กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา และมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2559
2. ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาศูนย์ ARMAC ได้รับเงินสนับสนุนจากประเทศสมาชิกอาเซียน รวม 1,148,349 ดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (operational budget) ของศูนย์ ARMAC ส่วนเงินบริจาคจากภาคีภายนอก (ประเทศคู่เจรจาและองค์การระหว่างประเทศ) จะถูกนำไปใช้ในการดำเนินโครงการของศูนย์ ARMAC1 เพียงอย่างเดียว โดยสำนักเลขาธิการศูนย์ ARMAC จะมีการคิดค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมจากเงินที่ได้รับบริจาคเพื่อดำเนินโครงการดังกล่าว และนำมาสมทบเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของศูนย์ ARMAC อย่างไรก็ดี รายรับของศูนย์ ARMAC ยังคงไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอื่นๆ ของศูนย์ ARMAC ซึ่งส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายประจำ
3. กต. เห็นว่า ไทยควรพิจารณามอบเงินอุดหนุนตามความสมัครใจสำหรับการดำเนินงานของศูนย์ ARMAC เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์และบทบาทของไทยในการแก้ไขปัญหาทุ่นระเบิด และแสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ที่มุ่งมั่นของไทยที่จะสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์ ARMAC อย่างต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมาไทยได้ใช้ประโยชน์จากศูนย์ ARMAC ในการส่งเสริมความพยายามในการเก็บกู้ทุ่นระเบิดของไทย ตลอดจนการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิด ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยยังมีพื้นที่ปนเปื้อนหรืออาจปนเปื้อนทุ่นระเบิดเหลืออยู่ประมาณ 27 ตารางกิโลเมตร2 ซึ่งตามพันธกรณีภายใต้อนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคล (Anti-Personnel Mine Ban Convention: APMBC) ไทยต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จในวันที่ 31 ธันวาคม 2569 (ขยายระยะเวลาครั้งที่ 3) นอกจากนี้ เนื่องจากศูนย์ ARMAC เป็นองค์กรที่รัฐบาลกัมพูชาให้ความสำคัญเป็นอย่างมากภายใต้ความร่วมมือในกรอบอาเซียน ดังนั้น การบริจาคเงินอุดหนุนตามความสมัครใจของไทยจะมีส่วนช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทย - กัมพูชา และเป็นการสนับสนุนการดำเนินนโยบายของไทยในกรอบทวิภาคีอีกทางหนึ่งด้วย
_____________________________
1นับตั้งแต่การจัดตั้งศูนย์ ARMAC ได้มีการจัดกิจกรรมและโครงการจำนวน 17 โครงการ เพื่อแบ่งปันแนวปฏิบัติที่ดีระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนในการเก็บกู้ทุ่นระเบิด และการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิด ตลอดจนเสริมสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับทุ่นระเบิดและวัตถุระเบิดที่ตกค้างจากสงคราม โดยในส่วนของไทยได้เคยให้การสนับสนุนแล้ว จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ (1) การจัดกิจกรรมเนื่องในวันทุ่นระเบิดสากลประจำปี พ.ศ. 2562 และ (2) การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการระดับภูมิภาคว่าด้วยการเก็บกู้ทุ่นระเบิดตามแนวชายแดนในภูมิภาคอาเซียน (อยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อดำเนินโครงการ)
2ปัจจุบันไทยได้ดำเนินการเก็บกู้ทุ่นระเบิดและปลดปล่อยพื้นที่ไปแล้วมากกว่าร้อยละ 99 โดยยังคงเหลือพื้นที่ที่ยังไม่ได้ดำเนินการประมาณ 27 ตารางกิโลเมตร ใน 6 จังหวัด คือ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ สระแก้ว และตราด โดยอุปสรรคที่สำคัญ คือ ปัญหาการเข้าถึงพื้นที่สำรวจและจัดทำหลักเขตแดน (Areas to be Demarcated - AD) เพื่อเก็บกู้ในบริเวณชายแดนไทย - กัมพูชา อนึ่ง ปัจจุบันบริเวณชายแดนไทย - เมียนมา และชายแดนไทย – ลาว ไม่มีพื้นที่ปนเปื้อนทุ่นระเบิดแล้ว
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 26 กันยายน 2566
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A9962